ผักบุ้งรั้ว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักบุ้งรั้ว งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักบุ้งรั้ว

ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  ผักบุ้งฝรั่ง(ทั่วไป),บ้วยเลน(ภาคอีสาน),มันหมู(ภาคตะวันออก),มันจระเข้(ภาคใต้),หูบีบอยอ(มลายู),อู่จ่าวหลง,อู๋จว่าหลง,อู๋จว่าจินหลง,โหงวเหยียวเล้ง(จีน)

ชื่อวิทยาศาสตร์Ipomoea cairica (L.)Sweet.

ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์Convolvulus cairicus L. , lpomoea palmata Forssk. Lpomoea stipulacea Jacq. , lpomoea tuberculata (Desr.)Roem.&Schult.

ชื่อสามัญRailway creeper

วงศ์ CONVOLVULACEAE

ถิ่นกำเนิด ผักบุ้งรั้วจัดเป็นพืชในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ บริเวณ เม็กซิโกจนถึงเปรู จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนของแอฟริกา และเอเชียสำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าผักบุ้งรั้วถูกนำเข้ามาจากประเทศอินเดียไม่เกิน 120 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณที่รกร้างว่างเปล่า หรือตามสองข้างทางที่มีความชุ่มชื้นหรือเคยมีน้ำท่วมขัง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1000 เมตร

ประโยชน์/สรรพคุณ ในประเทศไทยผักบุ้งรั้วถูกนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามซุ้มประตูหรือตามรั้วบ้านเนื่องจากเป็นไม้เถาขนาดเล็กใบมีสีเขียวสดลักษณะใบสวย มีดอกสีม่วงสดใสทางยาออกดอกได้ตลอดปี และยังมีรายงานว่าในต่างประเทศโดยเฉพาะในอเมริกาใต้และแอฟริกายังพบการนำผักบุ้งรั้วมาใช้รับประทานเป็นอาหารอีกด้วย สำหรับสรรพคุณทนทานของผักบุ้งรั้วนั้นตามตำรายาไทยและตำรายาจีนได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ดังนี้ 

  • ทั้งต้นมีรสขมหว่านชุ่ม ใช้เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ ไต และการเพาะปัสสาวะ ใช้ขับพิษร้อนถอนพิษไข้ ขับน้ำขึ้นในร่างกาย (ทั้งต้น) ใช้แก้ไอ แก้ไอร้อนในปอด ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกระปริกระปรอย แก้ขัดเบา แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้ผดผื่นคัน แก้ฝีหนอง ฝีบวม
  • เมล็ดใช้เป็นยาถ่ายใช้แก้ฟกช้ำ
  • ใบใช้แก้ผดผื่น
  • ราก ใช้บำรุงร่างกาย ช่วยขับน้ำนม ขับน้ำเหลือง แก้พิษแมงป่อง

รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้ 

  • ใช้ขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับลมขึ้น ขับน้ำขึ้นในร่างกาย ขับปัสสาวะแก้ขัดเบา ปัสสาวะเป็นเลือด โดยนำทั้งต้นแห้ง 5-10 กรัมมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 เวลา
  • ใช้บำรุงร่างกาย ขับน้ำเหลือง ขับน้ำนม โดยใช้ราก 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้นิ่วที่ถ่ายปัสสาวะออกมาเป็นเลือด โดยใช้ต้นสด 30-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยใช้ดื่ม
  • ใช้แก้ผดผื่นคัน แก้ฝีบวม ฝีหนอง โดยนำทั้งต้นหรือใบสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้เป็นยาถ่ายโดยนำเมล็ด 5-8 กรัมมาตำพอแตกต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไป ผักบุ้งรั้วจัดเป็นไม้เถาเลื้อยหรือไม้เถาล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน ลำต้นเป็นเถาขนาดเล็ก เป็นปล้อง เถาแก่สีเขียวอมเทามีความเหนียวแต่ส่วนยอดของเถามีสีเขียวสดไม่ค่อยเหนียว ลำต้นหรือเถาสามารถเลื้อยได้ ไกลประมาณ 5 เมตร มีตุ่มเล็กๆ ติดอยู่ตามปล้อง ใบเป็นใบเดี่ยวมีสีเขียว ออกเรียบสลับกันบริเวณข้อของเถา มีลักษณะเป็นรูปรี หรือรูปไข่แกมใบหอกแบ่งออกคล้างรูปฝ่ามือ ใบมีขนาดประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร โดยจะแยกออกเป็นแฉกลึกถึงโคน 5 แฉก ปลายใบแต่ละแฉกมีลักษณะแหลมแฉกกลางมีขนาดใหญ่กว่าแฉกอื่นๆ ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงหรืออาจมีขนทั้งหน้าใบและหลังใบ และมีก้านใบยาว 2-8 เซนติเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือบางที่อาจออกดอกเป็นช่อซหลายดอกบริเวณซองใบหรือยอดเถา โดยดอกที่ออกเป็นช่อจะออกดอกประมาณ 1-3 ดอก ต่อ 1 ช่อ ดอกมีลักษณะเป็นรูปแตร มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกมีสีม่วง ม่วงอ่อน ม่วงแดง มีลักษณะเป็นรูปแตรหรือรูปลำโพง มีขนาดยาว 2.5-7 เซนติเมตร บริเวณใจกลางดอกจะมีสีเข้มกว่าปลายกลีบดอกและมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ขนาดยาวไม่เท่ากัน รังไข่เกลี้ยงส่วนก้านเกสรเพศเมียเป็นรูปเส้นด้าย อยู่ภายในหลอดกลีบดอกสำหรับกลีบเลี้ยงมีลักษณะติดทน ขยายในผล ขนาดไม่เท่ากัน ยาว 0.4-0.9 เซนติเมตร ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร และก้านดอกย่อยจะยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร  ผลเป็นผลแบบแคปซูล พบได้ด้านในหลอดดอกผล มีลักษณะกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลเมื่อแก่มีสีน้ำตาลอ่อนและจะแห้งและแตกออก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอมเทาหรือสีดำลักษณะกลมและสั้น ด้านหนึ่งเป็นแง่ง ประมาณ 1-4 เมล็ด โดยเมล็ดจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร และมีขนนุ่มสีขาวขึ้นปกคลุมหนาแน่น

การขยายพันธุ์ ผักบุ้งรั้วสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีการนิยมนำมาปลูก โดยจะพบเห็นได้มากตามที่รกร้างว่างเปล่า หรือตามสองข้างทางมากกว่า สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกผักบุ้งรั้วนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้เถาชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี มีรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ รวมถึงสารสกัดจากส่วนต่างๆของผักบุ้งรั้วระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่นใบและรากพบสาร cyanogenetic glycoside และβ-sitosterol ใบและเมล็ดพบสาร cyanogenetic glycoside เมล็ดพบสาร Muricatin A , Muricatin B , oleic acid , palmitic acid , linolenic acid,  stearic acid  , arachidic acid , behenic acid , β-sitosterol   นอกจากนี้สารสกัดจากส่วนใบลำต้นและรากของผักบุ้งรั้วยังพบสาร mono-caffeoylquinic acid , dicaffeoylquinic acid , isochlorogenic acids A, B และ C และในสารสกัดเมทานอลจากส่วนใบของผักบุ้งรั้วยังพบสาร ombuin-3-sullphate , rhamnetin-3-sulphate , kaempferol 7-O-α-L-rhamnopyranoside , kaempferol 3,7-di-O-α-L-rhamnopyranoside และ quercetin 3-O-α-L-arabinopyranoside อีกด้วย                                         

การศึกษาทางเภสัชวิทยา  มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของผักบุ้งรั้วระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

            สารสกัดจากส่วนใบของผักบุ้งรั้ว แสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และ เอนไซม์ α-amylase ในหลอดทดลอง โดยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารสกัด ส่วนสาร Muricatin A ที่ได้จากเมล็ดผักบุ้งรั้วพบว่ามีฤทธิ์เป็นยาถ่าย เมื่อทดลองให้หนูกินขนาด 0.5 กรัม/กิโลกรัม และสาร Muricatin A ที่แยกได้จากส่วนเมล็ดของผักบุ้งรั้ว มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในสุนัข เมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 20-40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นอกจากนี้ในรายงานการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ยังระบุว่าสารสกัดจากรากของผักบุ้งรั้ว ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ ฤทธิ์แก้ปวด คลายกล้ามเนื้อ ลดการชักกระตุก และมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง อีกด้วย

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง ในการใช้ผักบุ้งรั้วเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เนื่องจาก ส่วนใบและส่วนรากของผักบุ้งมีสารพิษประเภทสารไซยาไนด์ ซึ่งมีความเป็นพิษต่อระบบหายใจ แต่พิษดังกล่าวจะถูกทำลายได้ด้วยความร้อน ส่วนของเถามีรายงานว่าหากนำมารับประทานสดจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะคลื่นไส้ อาเจียน โดยต้องนำมาต้มหรือคั่วให้เกรียมก่อนจึงจะหมดพิษ

อ้างอิงผักบุ้งรั้ว

  1. วิทยา บุญวรพัฒน์.ผักบุ้งรั้ว,หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย,ฉบับพิมพ์ครั้งที่5.หน้า496-497.
  2. ราชันย์ ภู่มา และคณะ.สารานุกรมพืชในประเทศไทย(ฉบับย่อ),หน้า279 พ.ศ.2559.โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรุงเทพฯ.
  3. เดชา ศิริภัทร.ผักบุ้งฝรั่ง.ความงามสาธารณะสำหรับผู้ยากไร้.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่336.เมษายน2550
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม,ผักบุ้งรั้ว,หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย.ฉบับพิมพ์ครั้งที่5.หน้า496-497
  5. Clifford, M.N., Johnston, K.L., Knight, S., Kuhnert, N., 2003. Hierarchical scheme forLC–MSn identification of chlorogenic acids. J. Agric. Food Chem. 51, 2900–2911
  6. Meira, M., da Silva, E.P., David, J.M., David, J.P., 2012 . Review of the genus Ipomoea: chemistry and biological activities. Rev. Bras. Farmacogn. 22, 682–713.
  7. Ishiguro, K., Yahara, S., Yoshimoto, M., 2007. Changes in polyphenols content and radical-scavenging activity of sweetpotato (Ipomoea batatas L.) during storage at optimal and low temperatures. J. Agric. Food Chem. 55, 10773–10778