มะระขี้นก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะระขี้นก งานวิจัยและสรรพคุณ 49 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะระขี้นก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะไห่, มะห่อย, ผักไห่, ผักไซ (ภาคเหนือ), มะระหนู, มะร้อยรู (ภาคกลาง), ผักสะไล, ผักไส่ (ภาคอีสาน), ระ (ภาคใต้), ผักไห (นครศรีธรรมราช), ผักเหย (สงขลา), สุพะซู, สุพะซู, สุพะเด (กะเหรี่ยง- มะฮ่องสอน), โกควยเกี๋ย, โคงกวย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantin Linn
ชื่อสามัญ Bitter cucumber, Balsam pear, Balsam apple, Bitter melon, Bitter gourd, Carilla fruit
วงศ์ Cucurbitaceae
ถิ่นกำเนิดมะระขี้นก
มีข้อมูลว่ามะระขี้นกเป็นสมุนไพรที่ใช้กันมานานนับพันปี ในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวรวมกับข้อมูลการค้นคว้าถิ่นกำเนิดของมะระขี้นกที่ได้มีการค้นคว้ากันมากในอดีตพอจะสรุปได้ว่า ถิ่นกำเนิดของมะระขี้นก นั้นอยู่ในเขตร้อนของเอเชีย และทางตอนเหนือของแอฟริกาเขตร้อน ซึ่งอาจรวมไปถึงเขตร้อนในอเมริกาใต้ หรือ แถบประเทศลาตินอเมริกาอีกด้วย เพราะในปัจจุบันนั้นมะระขี้นกสามารถเพาะปลูก หรือ มีให้เห็นได้ในประเทศเขตร้อนชื้น เช่น ประเทศในแถบอเมริกาใต้ เช่น บราซิล, อาร์เจนตินา, ปารากวัย ฯลฯ แอฟริกาตะวันออก เช่น เคนยา, แทนซาเนีย, ยูกันดา ฯลฯ และเอเชีย เช่น พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณของมะระขี้นก
- แก้ท่อน้ำดีอักเสบ
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร
- ช่วยแก้ไข
- แก้ตัวร้อน ดับพิษร้อน
- แก้ปากเปื่อย เป็นขุม
- แก้พิษฝี
- บำรุงน้ำดี
- แก้ตับม้ามพิการ
- แก้อักเสบฟกบวม
- แก้ปวดเนื่องจากลมคั่งในข้อ
- แก้หอบหืด
- ช่วยบำรุงร่างกาย
- บำรุงโลหิตระดู
- แก้ตับม้ามอักเสบ
- ช่วยขับพยาธิ
- แก้เจ็บปวดจากพิษต่างๆ
- เป็นยาระบายอ่อนๆ
- แก้เบาหวาน
- แก้ไข้หวัด
- ช่วยต้านไวรัสเอดส์
- ช่วยต้านมะเร็ง
- ใบช่วยสมานแผล
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ใช่เป็นยาระบาย
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคมาลาเรีย
- รักษาอาการอาการกรดไหลย้อน
- รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
- ลดการสร้างน้ำตาลจากตับ
- ช่วยเสริมการเผาผลาญน้ำตาล
- ทำให้ตาสว่าง
- แก้บิดต่างๆ
- แก้ตาบวมแดง
- ใช้ตำพอกแก้แผลบวมเป็นหนอง
- แก้ฝีอักเสบ
- เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
- เพิ่มพูนลมปราณ
- ช่วยบำรุงธาตุ
- ช่วยบำรุงกำลัง
- แก้โรคกระเพาะ
- แก้บวมอักเสบ
- แก้ปวดฟัน
- แก้ปวดฝี
- รักษาแผลสุนัขกัด
- แก้คัน
- แก้หิด
- โรคผิวหนังต่างๆ
- ช่วยบำรุงระดู
- แก้ริดสีดวงทวาร
- ใช้เป็นยาธาตุ
มะระขี้นก สามารถนำมารับประทาน หรือ นำมาประกอบเป็นอาหารได้ เช่น ใบอ่อน ยอดอ่อน และผลอ่อน นึ่ง หรือ ลวกให้สุก รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกปลาทู น้ำพริกตาแดง และยังสามารถใช้เป็นส่วนผสมของแกงแค และคั่วแคได้มะระขี้นกมีรสขมมากกว่ามะระจีน จึงนิยมกินในหมู่ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ผลอ่อนนำไปต้ม หรือ เผากินได้ทั้งลูก ผลแก่ต้องนำมาผ่ากลาง คว้านเมล็ดออกเสียก่อน การลดความขมของมะระขี้นกนั้นทำได้โดยต้มน้ำให้เดือดจัด ใส่เกลือสักหยิบมือ ลวกมะระในน้ำเดือดสักครู่ แต่มะระจะยังคงมีผลสีเขียวสด การปรุงแกงจืดมะระขี้นก ยัดไส้หมูสับ ต้องต้มนานหน่อยให้ความขมจางลง หรือ ปรุงอาหารเผ็ด เช่น พะแนงมะระขี้นกยัดไส้ หรือ เป็นแกงเผ็ดก็ได้ ถ้าจะนำไปปรุงอาหารผัด เช่น ผัดกับไข่ ให้ต้มน้ำแล้วเททิ้งหนึ่งครั้ง หรือ คั้นกับน้ำเกลือแล้วล้างออกเพื่อลดความขมก็ได้ อีกทั้งสมัยโบราณมีการนำมะระขี้นกมาปรุงเป็นกับข้าวต้มเค็มกินด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ผลสด 6-15 กรัม ต้มรับประทาน หรือ ผิงไฟให้แห้งบดเป็นผงรับประทาน ใช้แก้ร้อน ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้ตาสว่าง แก้บิด ตาบวมแดง หรือ ใช้ตำพอกแก้แผลบวมเป็นหนอง ฝีอักเสบ
- เมล็ดแห้ง 3 กรัม ต้มน้ำดื่ม เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ เพิ่มพูนลมปราณ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง
- ใบสด 30-60 กรัม ต้มน้ำดื่ม แก้โรคกระเพาะ ขับพยาธิ หรือ ใช้ใบสด คั้นเอานำทา หรือ ต้มเอาน้ำชะล้าง แก้ แผล ฝี บวมอักเสบ
- รากสด 30-60 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม ใช้แก้ร้อน แก้พิษ บิดถ่ายเป็นเลือด หรือ ใช้ชะล้าง แก้แผลฝีบวมอักเสบ และปวดฟัน
- เถาแห้ง 3-12 กรัม ต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ร้อน แก้พิษ บิด หรือใช้ชะล้างแก้ฝีอักเสบ ปวดฟัน
ในตำรับยา
- แก้ไข้ที่เกิดจากกระทบความร้อนใช้ผลสด 1 ผล ควักไส้ในออกใส่ใบชาเข้าไปแล้วประกบกันน้ำไปตากแห้งในที่ร่ม รับประทานครั้งละ 6-10 กรัม โดยต้มน้ำดื่ม หรือ ชงน้ำดื่มต่างชาก็ได้
- แก้ร้อนในกระหายน้ำใช้ผลสด 1 ผล ขูดไส้ในออก หั่นฝอยต้มน้ำดื่ม
- แก้บิด ใช้น้ำคั้นจากผลสด 1 แก้ว ผสมน้ำดื่ม
- แก้บิดเฉียบพลัน ใช้ดอกสด 20 ดอก ตำคั้นเอาน้ำมาผสมน้ำผึ้งพอสมควรดื่ม บิดถ่ายเป็นเลือด ก็เพิ่มข้าวแดงเมืองจีน (อั่งคัก Monascus pur-pureus, Went.) อีก 2-3 กรัม บิดมูกให้เพิ่มอิ๊ชั่ว (ยาสำเร็จรูปชนิดหนึ่ง) 10 กรัม ผสมน้ำสุกรับประทาน
- แก้บิดปวดท้อง ถ่ายเป็นเมือกๆ ใช้รากสด 60 กรัม น้ำตาลกรวด 60 กรัม ต้มน้ำดื่ม ถ่ายเป็นเลือด ใช้รากสด 120 กรัม ต้มน้ำดื่ม
- แก้บิดถ่ายเป็นมูกเลือดหรือเลือด ใช้เถาสด 1 กำมือ แก้บิดมูก ใส่เหล้าต้มดื่ม แก้บิดเลือด ให้ต้มน้ำดื่ม
- แก้แผลบวม ใช้ผลสดตำพอก
- แก้ปวดฝี ใช้ใบแห้ง บดเป็นผงชงเหล้าดื่มแก้ฝีบวมปวดอักเสบ ใช้ใบสดตำคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็นหรือใช้รากแห้งบดเป็นผงผสมน้ำพอก
- แผลสุนัขกัด ใช้ใบสดตำพอก
- แก้ปวดฟัน ใช้รากสดตำพอก
- ขับพยาธิ ใช้ใบสด 120 กรัม ตำคั้นเอาน้ำดื่ม นอกจากนี้ยังใช้เมล็ด 2-3 เมล็ด รับประทานขับพยาธิตัวกลม
- แก้คัน แก้หิดและโรคผิวหนังต่างๆ ใช้ผลแห้งบดเป็นผง ใช้โรยแผลแก้คัน หรือ ทำเป็นขี้ผึ้ง ใช้ทาแก้หิด และโรคผิวหนังต่างๆ
- ใช้ผลอ่อนคั้นเอาน้ำอมแก้ปากเปื่อย ปากเป็นขุย ปากเป็นฝ้าขาวขุน
- คั้นน้ำจากผลมะระขี้นก ช่วยบำรุงระดู แก้ริดสีดวงทวาร และเป็นยาธาตุ
ลักษณะทั่วไปของมะระขี้นก
ต้น เป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันตามต้นไม้อายุเพียง 1 ปี มีมือเกาะ หรือ หนวดเล็กยาวสำหรับยึดเกาะกับพืชอื่น ลำต้นเป็นเหลี่ยมมีขนปกคลุม ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับกัน ลักษณะคล้ายใบ แตงโม แต่เล็กกว่า มีสีเขียวทั้งใบ ขอบหยักเว้าลึก มี 5-7 หยัก ปลายใบ แหลมใบกว้าง ประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาว 4-10.5 เซนติเมตร ดอกออกเดี่ยว เป็นดอกเดี่ยวแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน ขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีสีเหลืองอ่อน มี 5 กลีบ เกสรสีเหลืองแก่ส้ม มีเกสรตัวผู้และอับเรณูอย่างละ 3 อัน ดอกตัวเมีย มีรังไข่ 1 อัน กลีบดอกบาง ผล เป็นผลเดี่ยว รูปกระสวย ผิวขรุขระ มีปุ่มยื่นออกมา ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเหลืองส้ม เส้นผ่าศูนย์กลางผล 2-3.5 ซม. ยาว 5-8 ซม. ผลแก่แตกอ้าออกภายในมีเมล็ดรูปร่างกลม แบน หรือ รูปไข่ เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีแดง ส่วนที่ได้ชื่อว่ามะระขี้นกนั้น เนื่องจากพืชชนิดนี้เป็นผักพื้นบ้านธรรมชาติที่ขึ้นได้ทั่วๆ ไป นกจึงชอบมาจิกกินทั้งผลและเมล็ด จากนั้นก็ถ่ายเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ ถ้าเมล็ดได้ดินดีมีน้ำพอเหมาะก็จะงอก และทอดลำต้นเลื้อยไปเกาะตามที่ๆ มันเกาะได้ เหตุนี้เองมะระลูกเล็กลูกนี้จึงถูกเรียกว่า "มะระขี้นก"
การขยายพันธุ์มะระขี้นก
ความจริงแล้วมะระขี้นกนั้นเป็นพืชตามธรราติ สามารถขึ้นได้ง่ายมาก และไม่มีโรค หรือ แมลงศัตรูพืชมารบกวน และสามารถขึ้นได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศตามสถานที่ต่างๆ เช่น ที่โล่งแจ้ง ที่รกร้างทั่วไป หรือ แม้กระทั่งในป่าที่มีแสงแดดส่องถึงซึ่งไม่จำเป็นต้องปลูกแต่อย่างใด แต่หากจะปลูก และขยายพันธุ์เพื่อการค้าแล้วนั้นก็มีวิธีการขยายพันธุ์ดังนี้ การเตรียมดิน สำหรับปลูกมะระขึ้นกนั้น เริ่มจากการไถดินตาก 7-10 วัน พรวนดินจะปลูกแบบยกร่อง หรือ ปลูกแบบผืนใหญ่ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 75 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร ขุดหลุมลึกประมาณ 1 หน้าจอบ ใส่ปุ๋ย คอก หรือ ปุ๋ยหมักคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน ส่วนการปลูก นำ กล้ามะระขี้นก ที่เพาะในถุงดำ หรือ นำเมล็ดแก่ของมะระขี้นกลงปลูกได้เลย จำนวน 2-3 เมล็ดต่อหลุมกลบดินบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อต้นกล้างอกพ้นดิน เริ่มทอดยอดทำการปักค้างด้วยไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้วทุกหลุม ขึงตาข่ายเอ็นใช้เชือกมัดติดกับหลักด้านบนและด้านล่างหลักทุกหลักและมัด เชือกยึดหัว-ท้ายร่อง หมั่นจับเถามะระขี้นกให้เกาะยึดและเลื้อยกระจายทิศทางกันไปการให้นํ้า ให้นํ้ามะระขี้นกเช้า-เย็นทุกวัน และเว้นหรือหยุดการให้นํ้าในฤดูฝน การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนแกงต่อหลุมทุกๆ 15-20 วัน การเก็บเกี่ยว มะระขี้นก มีอายุได้ 50-60 วัน ก็ออกดอกติดผลสามารถเก็บผลผลิตได้โดยใช้มือเด็ด หรือ กรรไกรตัดขั้วผลแต่ต้องระวัง ไม่ให้เถากระทบกระเทือนมากเกินไป
องค์ประกอบทางเคมี
สารเคมีที่พบในมะระขี้นก ได้แก่ ในผลพบสาร Charantin (b - Sitosterol b - D - glucoside กับ 5, 25 stigmastadien 3b - ol -b - D - Glucoside), Serotonin และ Amino acids เช่น Glutamic acid, Alanine, b - Alanine Phenylalanine, Proline, a - Aminobutyric acid, Citrulline, Galacturonic acid ในเมล็ดมีความชื่น 8.6% เถ้า 21.8% Cellulose 19.5% เถ้าที่ละลายน้ำ 16.4% ไขมัน 31.0 % (ประกอบด้วย Butyric acid 1.8% Palmitic acid 2.8%, Stearic acid 21.7% Oleic acid 30%, a - Elaeostearic acid 43.7%, Momordicine, Protein ในใบสดพบสาร Momordicine ต่อมาได้ค้นพบว่าสารสำคัญในมะระขี้นก ที่อาจมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ คือ charantin, momocharin และ momordicin โปรตีนที่เรียกว่า polypeptide-P, momordicosides, momordicins, karaviloside K1 และ charantoside ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของมะระขี้นกมีดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของผลมะระขี้นก ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 17 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 9.80 กรัม
- น้ำตาล 1.95 กรัม
- เส้นใย 12 กรัม
- ไขมัน 0.18 กรัม
- โปรตีน 2.90 กรัม
- น้ำ 93.95 กรัม
- วิตามินเอ 2924 หน่วยสากล
- เบตาแคโรทีน 68 ไมโครกรัม
- ลูทีนและซีแซนทีน 1,323 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.09 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 190 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 5 0.193 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.041 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 9 51 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 0.4 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 0.14 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 4.8 ไมโครกรัม
- ธาตุแคลเซียม 9 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.38 มิลลิกรัม
- ธาตุแมกนีเซียม 16 มิลลิกรัม
- ธาตุแมงกานีส 0.086 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 36 มิลลิกรัม
- ธาตุโพแทสเซียม 319 มิลลิกรัม
- ธาตุโซเดียม 6 มิลลิกรัม
- ธาตุสังกะสี 0.77 มิลลิกรัม
สูตรโครงสร้างทางเคมีของ Momorcharin (1), Momordicin (2) และ Charantin (3)
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะระขี้นก
ที่มา : wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะระขี้นก
ตั้งแต่อดีตงานวิจัยสมุนไพรมะระขี้นกได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ค.ศ.1962 ซึ่ง Lotlika และ Rao ได้ค้นพบชาแรนตินในผลมะระ ที่แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง ในปี 1965 Sucrow ได้พิสูจน์โครงสร้างเคมีของชาแรนติน พบว่าเป็นสารผสมของ sitosteryl- และ 5,25-stigmastadien-3-beta-ol-D-glucosides ในอัตราส่วน 1:1 ปี 1977 Baldwa และคณะ ได้แยกสารคล้ายอินซูลินจากผลมะระ และมีฤทธิ์ลดน้ำตาล ในปี 1981 Khana และคณะได้พิสูจน์โครงสร้างของสารคล้ายอินซูลิน พบว่าเป็นโพลีเปปไทด์ที่มีน้ำหนักโมเลกุล 11,000 ดาลตัน และมีกรดอะมิโน 166 residues เรียกสารนี้ว่า โพลีเปปไทด์ พี สารขมกลุ่มคิวเคอร์บิตาซินซึ่งเป็น chemotaxonomic character ของพืชวงศ์ Cucurbitaceae คิวเคอร์บิตาซินในมะระ คือ มีรายงานว่าสารขมดังกล่าวมีฤทธิ์ลดน้ำตาลได้
นอกจากนี้จากการศึกษาของ Joseph B และคณะ (2013) พบว่าสารทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ charantin, monocharin, monordicin จัดเป็นสารสำคัญ active complound ของมะระขี้นกในการลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง charantin มีฤทธิ์ระดับน้ำตาลในเลือดที่แรงกว่ายา tolbutamide และยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมะระขี้นก ซึ่งมีผลดังนี้
ฤทธิ์ลดไข้มีการศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของมะระขี้นก โดยใช้สารสกัดเอทานอลและน้ำในอัตราส่วน 1:1 ให้เข้าทางกระเพาอาหาร (gastric intubation) ของกระต่าย พบว่ามีฤทธิ์ลดไข้ และยังได้ทดลองกรอกเข้าทางกระเพาะอาหาร (intragastric) ของหนูขาว ปรากฎว่า สามารถลดไข้ได้เช่นเดียวกัน
ฤทธิ์แก้ปวด สารสกัดเมทานอล มีฤทธิ์แก้ปวด สารสกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์แก้ปวดในหนูขาว และหนูถีบจักร นอกจากนี้ยังมีการทดลองใช้สารสกัดเมทานอลฉีดเข้าใต้ผิวหนังในหนูถีบจักรที่ 50% ของขนาดที่ทำให้หนูตาย (LD50) เท่ากับ 5 มก./กก. มีฤทธิ์แก้ปวด แต่สารสกัดเอทานอลและน้ำในอัตราส่วน 1:1 กรอกเข้าทางกระเพาะอาหาร (intragastric) ของหนูถีบจักรไม่มีฤทธิ์ดังกล่าว
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะระขี้นก
การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อฉีดสารสกัดพืชทั้งต้น ด้วยเอทานอล (50%) เข้าใต้ผิวหนังในขนาด 20 ก./กก. หรือ ให้หนูถีบจักรกินในขนาด 10 ก./กก. ไม่พบพิษ สารสกัดส่วนเหนือดิน และไม่ระบุส่วนที่ใช้ด้วยเอทานอล (50%) เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 681 มก./กก. และมีค่าสูงกว่า 1,000 มก./กก. แอลคาลอยด์ที่แยกได้จากมะระขี้นก เมื่อให้กระต่ายกินขนาด 56 มก./ตัว หรือ ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร 14 มก./กก. ไม่พบพิษ ฉีดน้ำคั้นจากผลเข้าช่องท้องหนูขาวขนาด 15 ซีซี/กก. หรือ 40 ซีซี/กก. พบว่าทำให้สัตว์ทดลองตายภายใน 18 ชม. และเมื่อฉีดน้ำคั้นผลเข้าช่องท้องของกระต่ายในขนาด 15 ซีซี/กก. พบว่าทำให้กระต่ายตายภายใน 18 ชม. แต่เมื่อให้เข้าทางกระเพาะของกระต่ายในขนาด 6 ซีซี/กก. พบว่ากระต่ายตายหลังจากได้รับสารสกัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 23 วัน ขณะที่อีกการทดลองหนึ่งให้สารสกัด (ไม่ระบุชนิด) เข้าทางกระเพาะในขนาด 8 ก./กก. กับกระต่ายไม่พบพิษ เมื่อให้คนรับประทานน้ำคั้นจากผลในขนาด 50 ซีซี/วัน น้ำต้มผลแห้ง ขนาด 500 มก. ไม่พบพิษ
ส่วนน้ำต้มผลสดฉีดเข้าช่องท้อง หรือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูถีบจักร ค่า LD50 เท่ากับ 16 มคก./ซีซี และ 270 มคก./ซีซี ตามลำดับ เมื่อฉีดสารสกัดผลด้วยเอทานอล (50%) เข้าช่องท้องหนูถีบจักรพบว่า LD50 เท่ากับ 681 มก./กก. ให้หนู gerbil กินสารสกัดผลด้วยเอทานอล (95%) ขนาด 1.1 ก./กก. นานติดต่อกัน 30 วัน และสารสกัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ด้วยเอทานอล (95%) เมื่อผสมอาหารในขนาด 50 มคก./ตัว ให้หนูถีบจักรกิน พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษ แต่เมื่อฉีดสารสกัดเมล็ดด้วยน้ำเข้าช่องท้องหนูขาวพบว่า LD50 เท่ากับ 25 มก./กก. สารสกัดผลด้วยคลอโรฟอร์ม เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรในขนาด 1000 มก./กก. ทำให้สัตว์ทดลองอ่อนแรง และตายหลังได้รับสารสกัดเป็นเวลา 24 ชม. ในขณะที่ส่วนสกัดที่ได้จากสารสกัดส่วนผลของมะระด้วยเอทานอล (80%) เมื่อฉีดให้หนูถีบจักรในขนาด 15 มล./กก. พบว่าทำให้สัตว์ทดลองตายภายหลังได้รับสารสกัด 4 ชม. และส่วนสกัดที่ได้จากสารสกัดส่วนใบ ฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรในขนาด 24.3 มล./กก. หลังฉีด 10 นาที หนูมีอาการชักและอ่อนแรงและตายภายใน 1.15 ชม.
พิษต่อระบบสืบพันธุ์ เมื่อให้น้ำคั้นจากผลในขนาด 6 ซีซี/กก. ในกระต่ายที่ตั้งท้องทำให้มีเลือดออกจากมดลูกและมีกระต่ายตายจากการตกเลือด เมื่อฉีดสารสกัดผลซึ่งมีสาร charantin และเมล็ดซึ่งมีสาร vicine เข้าทางช่องท้องของสุนัขในขนาด 1.75 ก./ตัว พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งขบวนการสร้างอสุจิ และในหนูถีบจักรเพศเมียเมื่อได้รับสารสกัด (ไม่ระบุชนิด) พบว่ามีผลยับยั้งการผสมพันธุ์ เมื่อให้ใบ และเปลือกลำต้น (ไม่ระบุขนาด) เข้าทางกระเพาะในหนูขาวที่ตั้งท้องพบว่ามีเลือดออกผิดปกติจากมดลูก น้ำคั้นผลสด เมื่อให้ในหนูถีบจักรเพศเมียมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญพันธุ์ และน้ำคั้นผลสดเมื่อให้เข้าทางกระเพาะของหนูขาวเพศผู้ในขนาด 5 ซีซี/กก. เป็นเวลา 49 วัน พบว่ามีผลยับยั้งการผสมพันธุ์ และพบว่ามีผลฆ่าอสุจิในหนูขาว เมื่อให้น้ำคั้นจากผล (ไม่ระบุขนาด)
สารสกัดด้วยน้ำ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ในขนาด 200 มก./กก. เมื่อให้หนูขาวที่ท้องกินไม่พบว่าเป็นพิษต่อตัวอ่อน หรือ ทำให้แท้ง และสารสกัดด้วยเอทานอลในขนาดที่เท่ากันก็ไม่พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนหรือทำให้แท้ง น้ำต้มจากใบเมื่อให้หนูขาวเพศเมียกินในขนาด 500 มก./กก. พบว่าไม่มีฤทธิ์ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อน และไม่เป็นพิษต่อตัวอ่อน สารสกัดด้วยเบนซิน สารสกัดด้วยเอทานอล และสารสกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) เมื่อให้ทางกระเพาะ หรือ ฉีดเข้าทางช่องท้องหนูขาวในขนาด 250 มก./กก. พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างอสุจิ สารสกัดน้ำจากเมล็ด มีผลทำให้แท้งเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูขาวที่ตั้งท้องในขนาด 8 มก./กก. และหนูถีบจักรในขนาด 0.04 มก./ซีซี สารสกัดเมล็ดด้วยอะซีโตน ซึ่งประกอบด้วยสาร 0.08% b-momorcharin และ 0.10% a-momorcharin เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรที่ตั้งท้องได้ 12 วัน ในขนาด 4 มคก./ก. ทำให้แท้ง (กรายงานหนึ่งพบว่าสารสกัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) ด้วยน้ำเมื่อฉีดในขนาด 80 มก./กก. มีผลทำให้แท้ง สาร momorcharins ในเมล็ดมะระขี้นก พบว่าทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนหนูถีบจักรในระยะแรกของการสร้างอวัยวะโดยทำให้เกิดความผิดปกติส่วนหัว ลำตัว และแขนขา
ผลต่อเม็ดเลือดขาวน้ำคั้นจากผลในขนาดที่มีผลทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวปกติ (lymphocyte) ตายครึ่งหนึ่งมีค่าเท่ากับ 0.35 มก./จานเพาะเชื้อ สารสกัดด้วยน้ำเกลือ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้) เมื่อทดสอบกับเซลล์เม็ดเลือดขาว (lymphocyte) ในขนาด 40 มคก./จานเพาะเชื้อั พบว่ามีความเป็นพิษต่อยีน lectin และโปรตีนบางชนิดในเมล็ดของมะระมีผลยับยั้งบางขั้นตอนการสังเคราะห์ DNA ของทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติและเซลล์มะเร็ง ป้อนน้ำคั้นจากผลสดและเมล็ดของมะระให้หนูขาวเพศผู้ในขนาด 1 ซีซี/น้ำหนักตัว 100 ก. เป็นเวลา 30 วัน พบว่าทำให้ enzyme serum g-glutamyltransferase และ alkaline phosphatase มีความเข้มข้นสูงขึ้น จึงคาดว่าน่าจะมีสารที่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- การใช้มะระขี้นกรักษาอาการของโรคใดควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์แผนไทยอย่างเคร่งครัด
- อาการไม่พงประสงค์ที่พบได้ เมื่อบริโภคมะระขี้นกมากเกินไปแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
o ระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ ง่วงซึม
o ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด และคลื่นไส้อาเจียน
o ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
o ระบบผิวหนัง ได้แก่ ผื่น คัน
o ระบบอื่นๆ ได้แก่ ใจสั่น เพิ่มความอยากอาหาร
- ผลมะระขี้นก ที่สุกแล้วจะมีสารซาโปนิน (Saponin) ในปริมาณมาก หากรับประทานอาจทำให้มีอาการอาเจียน ท้องร่วง และอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ผู้ที่มีภาวะม้ามเย็นพร่อง กระเพาะเย็นพร่อง เมื่อรับประทานมะระขี้นกเข้าไปจะอาเจียน ถ่ายท้องปวดท้องได้
เอกสารอ้างอิง มะระขี้นก
- รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ.มะระขี้นก. คอลัมน์ บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 367. พฤศจิกายน. 2552
- ผศ.ภก.วิระพล ภิมาลย์, ผศ.ดร.ภญ. ปวิตรา พูลบุตร. ผลของมะระขี้นกในการรักษาโรคเบาหวาน. กลไกออกฤทธิ์และประสิทธิภาพทางคลินิก .คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
- รศ.ดร.วิณา จิรัจฉริยากูล.มะระขี้นก.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- รัตนา พรหมพิชัย. (2542). ห่อย, บ่า..ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 14, หน้า 7539-7540). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
- กัญจนา ดีวิเศษ และคณะ, ผู้รวบรวม. (2548). ผักพื้นบ้านภาคเหนือ. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี: ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.
- มะระขี้นก.สมุนไพร ที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ผักพื้นบ้าน อาหารไทย. (2548). กรุงเทพฯ: แสงแดด.
- มะระขี้นก.กลุ่มยารักษา เหา หิด จี๊ด. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_22_3.htm.
- Frame AD, Riosolivares E, De Jesus L, Ortiz D, Pagan J, Mendez S. Plants from Puerto Rico with anti- Mycobacterium tuberculosis properties. P R Health Sci J 1998;17(3):243-53.
- Naseem MZ, Patil SR, Patil SR, Patil SB. Antispermatogenic and androgenic activities of Momordica charantia (Karela) in albino rats. J Ethnophamacol 1998;61(1):9-16.
- Singh J, Cumming E, Manoharan G, Kalasz H, Adeghate E. Medicinal Chemistry of the Anti-Diabetic Effects of Momordica Charantia: Active Constituents and Modes of Actions. The Open Medicinal Chemistry Journal 2011; 5:(Supple 2-M2): 70-77.
- Ng TB, Feng Z, Li WW, Chan SH, Yeung HH. Investigation of ribosome inactivating protein-like activity in tissues of Cucurbitaceae plants. Int J Biochem 1989;21(2): 1353-8.
- Biswas AR, Ramaswamy S, Bapna JS. Analgesic effect of Momordica charantia seed extract in mice and rats. J Ethnopharmacol 1991;31(1):115-8.
- Ogunlana EO, Ramstad E. Investigations into the antibacterial activities of local plants. Planta Med 1975;27:354.
- Basaran AA, Yu TW, Plewa MJ, Anderson D. An investigation of some Turkish herbal medicines in Salmonella typhimurium and in the comet assay in human lymphocytes. Teratogen Carcinogen Mutagen 1996;16(2):125-38.
- Joseph B, Jini D. Antidiabetic effects of Momordica charantia (bitter melon) and its medicinal potency. Asian Pac J Trop Dis 2013; 3(2): 93–102
- Dhawan BN, Dubey MP, Mehrotra BN, Rastogi RP, Tandon JS. Screening of Indian plants for biological activity. Part IX. Indian J Exp Biol 1980;18:594-606.
- Stepka W, Wilson KE, Madge GE. Antifertility investigation on Momordica. Lloydia 1974;37(4):645.
- Mokkhasmit M, Ngarmwathana W, Sawasdimongkol K, Permpipat U. Pharmacological evaluation of Thai medicinal plants. (continued). J Med Ass Thailand 1971;54(7):490-504.
- Gasperi-Campani A, Barbieri L, Morelli P, Stirpe F. Seed extracts inhibiting protein synthesis in vitro. Biochem J 1980;186:439-41.
- Shum LKW, Coi VEC, Yeung HW. Effects of Momordica charantia seed extract on the rat mid-term placenta. Abstr International Symposium on Chinese Medicinal Materials Research, Hong Kong, June 12-14, 1984:78.
- Fuangchan A, Sonthisombat P, Seubnukarn T, Chanouan R, Chotchaisuwat P, Sirigulsatien V, et al. Hypoglycemic effect of bitter melon compared with metformin in newly diagnosed type 2 diabetes patients. Journal of Ethnopharmacology 2011; (134) : 122-126
- Ahmed I, Cummings E, Sharma AK, Adeghate E, Singh J. Beneficial effects and mechanism of action of Momordica charantia fruit juice in the treatment of streptozotocin-induced diabetes mellitus in rats. Mol. Cell Biochem 2004, 261, 63-70
- Raman A, Lau C. Anti-diabetic properties and phytochemistry of Momordica charantia L. (Curcubitaceae). Phytomedicine 1996;2(4):349-62.
- Takemoto DJ, Dunford C, Mc Murray MM. The cytotoxic and cytostatic effects of the bitter melon (Momordica charantia) on human lymphocytes. Toxicon 1982;20: 593-9.
- Bhakuni DS, Goel AK, Jain S, Mehrota BN, Patnaik GK, Prakash V. Screening of Indian plants for biological activity: part XIII. Indian J Exp Biol 1988;26(11):883-904.
- Prakash AO, Mathur R. Screening of Indian plants for antifertility activity. Indian J Exp Biol 1976;14:623-6.
- Akhtar MS. Hypoglycaemic activities of some indigenous medicinal plants traditionally used as antidiabetic drugs. J Pak Med Ass 1992;42(11):271-7.
- Tennekoon KH, Jeevathayaparan S, Angumawala P, Karunnayako EH, Jayasinghe KSA. Effect of Momordica charantia on key hepatic enzymes. J Ethnopharmacol 1994;44:93-7.
- Kintanar QL, Sison F. Pharmacological screening of Philippine plants using a multidimensional observation technique in mice. Philippine J Sci 1978;107(1-2):71-94.
- Basaran AA, Yu TW, Plewa MJ, Anderson D. An investigation of some Turkish herbal medicines in Salmonella typhimurium and in the comet assay in human lymphocytes. Teratogen Carcinogen Mutagen 1996;16(2):125-38.
- Khan AH, Burney A. A preliminary study of the hypoglycaemic properties of indigenous plants. J Pak Med Res 1962;2:100-16.
- Yeung HW, Li WW, Law LK, Chan WY. Purification and partial characterization of momorcharins, abortifacient proteins from the Chinese drug, Kuguazi (Momordica charantia seeds). Chang HM, Yeung HW, Tso WW, Koo A (eds): In Advances in Chinese medicinal materials research. Philadelphia:Philadelphia World Scientific Press, 1984:311-8.
- Chan WY, Tam PP, Choi HL, Ng TB, Yeung HW. Effects of momorcharins on the mouse embryo at the early organogenesis stage. Contraception 1986;34(5):573-44.
- Saksena SK. Study of antifertility activity of the leaves of Momordica (Karela). Indian J Physiol Pharmacol 1971;15:79-80.
- Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P. Study on toxicity of Thai medicinal plants. Bull Dept Med Sci 1970;12(2/4):36-65.
- Jilka C, Strifler B, Fortner GW, Hays EF, Takemoto DJ. In vivo antitumor activity of the bitter melon (Momordica charantia). Cancer Res