วิตามินบี 2

วิตามินบี 2

ชื่อสามัญ Riboflavin

ประเภทและข้อแตกต่างวิตามินบี 2

วิตามินบี 2 หรือ ไรโบเฟลวิน ( Riboflavin ) เป็นวิตามินชนิดที่ละลายในน้ำได้เช่นเดียวกันกับวิตามินบี 1 และเป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติที่สามารถเรืองแสงได้ โดยจะมีสูตร C17H20N406 ส่วนโครงสร้างจะประกอบด้วยวงแหวนไอโซอัลลอกซาซีน (Isoallaxazine) และน้ำตาลไรโบส (Ribose) มีลักษณะเป็นผลึกรูปสีส้มปนเหลืองเมื่อเป็นสารละลายจะให้สีเหลืองอมเขียว และเรืองแสงออกมา

           นอกจากนี้วิตามินบี 2 สลายตัวได้ง่ายเมื่อยู่ในสภาวะเบส หรือ โดนแสงอัลตราไวโอเลต แต่ค่อนข้างเสถียรต่อความร้อน และในสภาวะกรด ในธรรมชาติร้อยละ 90 วิตามินบี 2 จะอยู่ในรูป flavin mononudeotide (FMN) และ flavin adenine dinucleotide (FAD) ที่เหลืออยู่ในรูปไรโบฟลาวินอิสระ โดยทั้ง FMN และ FAD นับเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญในขบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกายของคน

           สำหรับประเภทของวิตามินบี 2 นั้น ในอดีตเราจะได้รับวิตามินบี 2 (Riboflavin) จากอาหารที่เป็นแหล่งของ Riboflavin เพียงอย่างเดียว ปัจจุบันนั้นได้มีการสกัดสาร Riboflavin จากตับ น้ำนม ไข่ และผักใบเขียว โดยใช้ชื่อว่า Heptoflavin Lactoflavin Ovoflavin และ Veroloflavin เป็นต้น

           ดังนั้นในปัจจุบันเราจึงสามารถเลือกรับวิตามินบี 2 ได้ทั้งจากอาหารที่รับประทาน หรือ สารสกัดวิตามินบี 2 ที่อยู่ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ และยังเป็นการเพิ่มทางเลือกเพื่อสุขภาพของเราอีกด้วย

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาวิตามินบี 2 

โดยปกติแล้วแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ของคนเราจะสามารถสังเคราะห์วิตามินบี 2 ขึ้นมาใช้ได้ แต่ปริมาณที่ดูดซึมได้มักจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้นร่างกายจึงมีความต้องการวิตามินบี 2 เพิ่มขึ้นโดยแหล่งที่มาที่สำคัญของ วิตามินบี 2 (riboflavin) คือ อาหารที่เรารับประทานเข้าไป เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ ตับ ไต หัวใจ นม จมูกข้าว ข้าวซ้อมมือ ชีส ไข่ เนยแข็ง โยเกิร์ต ถั่วเมล็ดแห้ง ผลไม้เปลือกแข็ง และผักใบเขียว 

ปริมาณวิตามินบี 2 ในอาหารที่กินได้ 100 กรัม

อาหาร                        มิลลิกรัม                    อาหาร                        มิลลิกรัม

ตับไก่                            4.49                             ไข่แดง                           0.7

ไตหมู                             4.36                             เห็ดหูหนู                        0.71

 ตับหมู                            3.03                             ใบขี้เหล็ก                       0.69

นกพิราบ, เนื้ออก           1.82                             ปลาทูสด                       0.62

นมผง                            1.70                             ขาหมู                            0.50

หัวใจหมู                        1.56                             เห็ด                               0.44

ปูทะเล                          0.89                             ใบมันสำปะหลัง            0.43

ปลาเจ่า ไข่นกกระทา     0.85                           ปอดหมู ไส้หมู               0.41

หัวใจไก่                         0.80                             ดอกโสน                        0.40

ตับวัว                            0.76                             เนยแข็ง                         0.26

           แต่อย่างไรก็ตาม วิตามินบี 2 (Riboflavin) ในธรรมชาติจะสูญสลายไปเมื่อโดนแสง เพราะจะไวต่อแสงมาก ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าบรรจุภัณฑ์ของนมจึงต้องทึบแสงแต่จะทนต่อความร้อนได้ดีในระดับหนึ่ง ส่วนความเย็นพบว่าสามารถคงสภาพของวิตามินบี 2 (Riboflavin) ไว้ได้ เช่น การเก็บอาหารไว้ในตู้เย็นโดยไม่เปิดมาให้โดนแสงเลย 3 วัน ปรากฏไรโบฟลาวินในอาหารลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในปัจจุบันยังมีการสกัด วิตามินบี 2 (Riboflavin) จากแหล่งอาหารต่างๆ ดังที่กล่าวมาให้อยู่ในรูปแบบอาหารเสริม เพื่อให้ง่ายต่อการรับประทานอีกรูปแบบหนึ่ง

ปริมาณที่ควรได้รับวิตามินบี 2

สำหรับความต้องการไรโบเฟลวินในแต่ละวันจะขึ้นกับปริมาณอาหารที่รับประทาน หากได้รับแคลอรี่สูงความต้องการไรโบเฟลวินมากตาม เช่น ชายอายุ 20-39 ปี ต้องการไรโบเฟลวินวันละ 1.4 มิลลิกรัม อายุ 40-49 ปี ความต้องการลดลงเป็น 1.3 มิลลิกรัม อายุ 50-59 ความต้องการ 1.2 มิลลิกรัม อายุ 60-69 ปี ต้องการ 1.1 มิลลิกรัม อายุ 70 ปีขึ้นไปต้องการวันละ 1.0 มิลลิกรัม เป็นต้น

            แต่อย่างไรก็ตามการได้รับวิตามินบี 2 (Riboflavin) ในอาหารอาจลดลงได้ โดยการละลายน้ำ และการสลายตัวเมื่อถูกแสง ดังนั้นจึงควรหุงต้มอาหารโดยใช้น้ำน้อยไม่หั่นผักแช่น้ำไว้นานๆ และไม่ควรปอกหั่นผักผลไม้ไว้ล่วงหน้าเพราะเมื่อถูกแสงสว่างปริมาณไรโบเฟลวินลดลง ส่วนในตารางสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (THAI RDT) แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ.2541 ระบุไว้ว่าการบริโภค วิตามินบี 2 (Riboflavin) 1.7 มิลลิกรัม/วัน

ประโยชน์และโทษวิตามินบี 2

ประโยชน์ของวิตามินบี 2 มีหลายประการ เช่น มีส่วนช่วยในการเผาผลาญอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และโปรตีน, ช่วยในกระบวนการสร้างการเจริญเติบโตและสืบพันธุ์, ช่วยต้านอนุมูลอิสระ บำรุงผิวพรรณ เล็บ และเส้นผม, ลดความเจ็บปวดจากไมเกรม, ช่วยบรรเทาอาการอ่อนล้าของสายตา และเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น, กำจัดอาการเจ็บแสบในปาก ริมฝีปาก และลิ้น, ช่วยต่อมหมวกไตผลิต Corticosteroids โดยจะควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมมากขึ้น

            ส่วนโทษของวิตามินบี 2 นั้นมีน้อยมาก โดยเฉพาะโทษที่จะเกิดจากการได้รับเกินขนาด ซึ่งพบได้ยาก และยังไม่มีรายงานการตรวจไม่พบเลย แต่สำหรับการขาดวิตามินบี 2 นั้น อาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายเหมือนการขาดวิตามินเอ และวิตามินบี 3 แต่ก็ทำให้ร่างกายเกิดภาวะผิดปกติได้ เช่น อาการทางปาก จะเห็นได้ว่าริมฝีปากแห้ง และแตก ส่วนใหญ่บริเวณมุมปากทั้ง 2 จะซีดและแตกเป็นรอย หรือ ที่เรียกว่า ปากนกกระจอก (Angular Stomatitis) โดยอาการดังกล่าวนี้เริ่มแรกจะเป็นแผลรอยแตกลึก เมื่อแผลหายจะเห็นเป็นแผลเป็นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ลิ้นจะมีสีแดงปนม่วง มีลักษณะเป็นมัน ส่วนใหญ่จะเรียกอาการนี้ว่า Glossitis และริมฝีปากมีสีแดงเลือดหมู อาการทางตา ตาจะไวต่อแสงแดด และอาจพร่าเลือน หรือ อักเสบ น้ำตาไหล และอาจจะมีอาการตาแดง มีอาการเจ็บตา หรือ อาจมีเส้นเลือดตาดำ (coeneal vacculari zation) ร่วมด้วย อาการทาผิวหนัง สังเกตได้ว่าผิวหนังจะมีลักษณะเป็นสะเก็ดมันๆ ผิวบริเวณเปลือกตาอาจมีการอักเสบ และเป็นขุย หรือ อาจมีคราบไขมันตามซอก จมูก ใบหู และหัวตา (Seborrheric dermatitis) เป็นต้น

            สำหรับกลุ่มเสี่ยง ที่จะเกิดภาวะขาดวิตามินบี 2 เช่น มักพบในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็กวัยเรียนในชนบทห่างไกล ที่มีภาวะทุพโภชนาการ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่บริโภคเนื้อสัตว์น้อย ไม่ดื่มนม และไม่ชอบผัก โดยมีสาเหตุของการเกิดโรคขาดวิตามินบี 2 มีดังนี้

  • ร่างกายได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ
  • ร่างกายมีความต้องการมากขึ้น เช่น ภาวะตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร เด็กที่กำลังเจริญเติบโต ผู้สูงอายุ
  • โรคหรือพยาธิสภาพบางอย่างทำให้ความต้องการวิตามินบี 2 เพิ่มมากขึ้น เช่น ไรโบฟลาวินไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสารออกฤทธิ์ได้ในผู้ป่วยภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ (Hypothyroidism) การใช้ยาบางชนิดขัดขวางเมตาบอลิซึมของวิตามินบี 2 เช่น ยารักษาโรคจิตบางชนิด (Chlorpromazineimipramine) ยารักษาโรคมะเร็ง (doxorubicin) ยารักษามาลาเรีย  (quinacrine)
  • การดื่มสุรา ซึ่งแอลกอฮอลล์จะเข้าไปขัดขวางการย่อย และการดูดซึม riboflavin บริเวณลำไส้

วิตามินบี 2

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยงข้องวิตามินบี 2

มีผลการศึกษาวิจัยระบบเมตาโบลิซึม (metabolism) ของวิตามินบี 2 (riboflavin) ระบุว่า เมื่อร่างกายดูดซึมไรโบเฟลวินจากลำไส้เล็ก ในขณะที่ดูดซึมผ่านชั้นเมือกที่ผนังลำไส้ กลุ่มฟอสเฟตเกาะกับโมเลกุลของไรโบเฟลวิน ร่างกายดูดซึมได้มาก หรือ น้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของไรโบเฟลวินในอาหาร ซึ่งร่างกายจะสะสมสารนี้ไว้ได้เพียงเล็กน้อย ในตับมีไรโบเฟลวินประมาณ 16 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตับ 1 กรัม ในไตมี 20-25 ไมโครกรัมต่อเนื้อไต 1 กรัม ในโลหิตมีไรโบเฟลวินประมาณ 3.2 ไมโครกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนเนื้อเยื่ออื่นๆ จะมีไรโบเฟลวินน้อยกว่านี้ ทั้งนี้การเมตาบอลิซึมของวิตามินบี 2 จะอยู่ในรูปของ FMN และ FAD อยู่ในอาหารที่มาจากสัตว์ เมื่อกินเข้าไปจะเปลี่ยนในลำไส้ก่อนถูกดูดซึมไปเป็น ไรโบฟลาวิน แล้วดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนต้นแบบมีพลังงาน (active transport mechanism) ส่วนที่ไม่ดูดซึมจะถูกขับออกทางอุจาระ บางส่วนถูกแบคทีเรียลำไส้ทำลาย หรือ ขับถ่ายทางน้ำดี ส่วนที่ดูดซึม และเกินความต้องการจะถูกขับออกทางปัสสาวะประมาณ 200 ไมโครกรัมต่อวัน แต่ถ้าคนขาดวิตามินนี้จะขับถ่ายเพียง 40 ไมโครกรัมต่อวัน

            นอกจากนี้สภาพสิ่งแวดล้อม และสภาพร่างกายอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของไรโบเฟลวินในร่างกายเมื่อนอนหลับร่างกายขับถ่ายไรโบเฟลวินลดลง แต่หากป่วย และต้องนอนพักร่างกายจะขับถ่ายไรโบเฟลวินมากขึ้น และยังมีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของวิตามินบี 2 (riboflavin) เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยเปลี่ยน oxidized glutathione ที่ได้ไฮโดรเจนอิออนแก่อนุมูลอิสระไปแล้ว กลับมาเป็น riboflavinglutathione ที่ใช้งานได้เหมือนกัน เปลี่ยน hypoxanthine และ xanihine เป็นกรดยูริค ซึ่งกรดยูริคเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพในเลือด เป็นต้น อีกทั้งยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีก และยังร่วมกับวิตามินบี 12 เปลี่ยน homocysteine เป็น methionine เพื่อควบคุมสมดุลของ homocysteine ในเลือด เปลี่ยนวิตามินบี 6 ไปเป็น pyridoxal 5-phosohate ที่ออกฤทธิ์ฯลฯ

            ส่วนการศึกษาทางพิษวิทยามีรายงานว่าเมื่อให้ไรโบเฟลวิน ในสุนัข และหนู 2-10 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ปรากฏว่าไม่พบอาการความเป็นพิษใดๆ (เมื่อเทียบกับร่างกายมนุษย์ที่ต้องการวิตามินบี 2 วันละ 1.2-1.7 มิลลิกรัม)

โครงสร้างวิตามินบี 2

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

  1. มีรายงานว่าวิตามินบี 2 อาจเข้าไปลดประสิทธิภาพของยา Methtrexate ที่ใช้ต้านมะเร็ง ดังนั้นผู้ที่ใช้ยาชนิดนี้อยู่ไม่ควรรับประทานวิตามินบี 2 ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
  2. วิตามินบี 2 หรือ riboflavin มีคุณสมบัติ ไวต่อแสง และละลายได้ในน้ำ ดังนั้นควรเก็บให้พ้นแสง และความชื้นทั้งในรูปแบบอาหาร เช่น นม เนย ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ฯลฯ รวมถึงในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
  3. วิตามินบี 2 ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะมีประสิทธิภาพ หรือ ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดเมื่อทำงานร่วมกับวิตามินบี 3 และวิตามินบี 6 หรือ อยู่ในรูปแบบของวิตามินบีรวม โดยขนาดที่ใช้รับประทานโดยทั่วไปคือ 100-300 มิลลิกรัมต่อวัน

 

เอกสารอ้างอิง วิตามินบี 2
  1. ธนัชพร มุลิกะบุตร. เอกสารการสอน บทที่ 4 ปัญหาโภชนาการสาเหตุ และผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย. รายวิชาโภชนศาสตร์สาธารณสุข. มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม. 137 หน้า
  2. พัชรี บุญศิริ เปรมใจ อารีจิตรานุสรณ์ อุบล ชาอ่อน และปิติ ธุวจิตต์.(2550) ตำราชีวเคมี พิมพ์ครั้งที่ 5. ขอนแก่น. คลังนานาวิทยา.
  3. ความเป็นพิษของวิตามินเกินขนาด. คอลัมน์ เรื่องน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 195. กรกฏาคม 2538
  4. แอพเพิลเกต, ลิซ. 101 อาหารรักษาหัวใจ.–กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 342 หน้า. 1. อาหารเพื่อสุขภาพ. 2.โภชนบำบัด. I.จงจิต อรรถยุกติ, ผู้แปล. II.ชื่อเรื่อง. 641.56311 ISBN 974-00-8692-6.
  5. Squires, Victor R. (2011). The Role of Food, Agriculture, Forestry and Fisheries in Human Nutrition – Volume IV. EOLSS Publications. p. 121. ISBN 9781848261952. Archived from the original on 2016-12-30.
  6. Earl Mindell and Hester Mundis Armonk.The New vitamin bible.New York U.S.A;2004
  7. Barbara J.Henriques,et al.2010. “Emenging Roles for Riboflavin in Functional Rescue of Milochondeial β-Oxidation Flavoenzmes. Current Medicinal Chemistry 2010.17(32).3842-54.
  8. Board, NIIR (2012). The Complete Technology Book on Dairy & Poultry Industries With Farming and Processing (2nd Revised Edition). Niir Project Consultancy Services. p. 412.