หญ้าหวาน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หญ้าหวาน งานวิจัยและสรรพคุณ 11ข้อ

ชื่อสมุนไพร หญ้าหวาน
ชื่อวิทยาศาสตร์  Stevia rebaudiana Bertoni
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์  Eupatorium rebaudianum Bertoni, Stevia rebaudiana (Bertoni) Hemsl.)
ชื่อสามัญ Stevia
วงศ์  Asteraceae



ถิ่นกำเนิดหญ้าหวาน  

หญ้าหวานเป็นพืชที่มนุษย์รู้จักมาเป็นเวลานานกว่า 1,500 ปี ชนพื้นเมืองแถบอเมริกาใต้เป็นผู้ค้นพบและนำมาใช้เป็นครั้งแรก มนุษย์ได้นำสารสกัดของหญ้าหวานมาเป็นส่วนประกอบในชาที่ชงดื่มรวมถึงยาสมุนไพรโบราณ โดยเฉพาะในประเทศปารากวัย และบราซิล ซึ่งชื่อเดิมของหญ้าหวานที่ชาวพื้นเมืองปารากวัยเรียก คือ kar-he-e หรือภาษาสเปน เรียกว่า yerba ducle แปลว่า สมุนไพรหวาน เป็นสมุนไพรที่ชาวพื้นเมืองของปารากวัย และบราซิล ใช้ผสมในอาหาร หรือเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มความหวาน และใช้ชงเป็นชาดื่ม ที่เรียกว่า “ มะเตะ” มานานมากกว่า 400 ปีแล้วส่วนในแถบเอเชียพบว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆที่มีการใช้สารสกัดจากหญ้าหวานอย่างแพร่หลาย โดยนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เช่น ผักดอง ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว เนื้อปลาบด เป็นต้น 

สำหรับในประเทศไทยหญ้าหวานเริ่มเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยเป็นการนำมาทดลองปลูก ในภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้อนุญาตให้มีการใช้สารสตีวิโอไซด์เพื่อการบริโภค หญ้าหวานจึงจัดอยู่ในพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง

 

ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าหวาน  

  1. ลดระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวาน
  2. ยารักษาเบาหวาน
  3. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  4. ช่วยลดอาการฟันผุหรือเหงือกบวมอักเสบ
  5. ช่วยป้องกันโรคฟันผุ
  6. ความดันโลหิต
  7. โรคไขมันในเลือดสูง
  8. โรคอ้วน และโรคหัวใจ
  9. ช่วยบำรุงร่างกาย
  10. ช่วยบำรุงตับ
  11. ช่วยสมานแผลภายนอกและภายใน



รูปแบบและขนาดวิธีใช้

จากผลงานวิจัยของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สรุปว่า สารสกัดจากหญ้าหวานมีความปลอดภัยในทุก ๆ กรณี โดยค่าสูงสุดที่กินได้อย่างปลอดภัยคือ 7,938 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(น้ำหนักตัว)/วัน ซึ่งสูงมากถ้าเทียบกับการผสมในเครื่องดื่มหรือกาแฟถึง 73 ถ้วยต่อวัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะคนส่วนใหญ่กินกันประมาณ 2-3 ก็ถือว่ามากเพียงพอต่อวันแล้ว ซึ่งการใช้หญ้าหวานอย่างปลอดภัย คือ ประมาณ 1-2 ใบต่อเครื่องดื่ม 1 ถ้วย ถือเป็นปริมาณที่เหมาะสมและไม่หวานมากจนเกินไป  แต่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลกที่เกี่ยวกับสารเจือปนในอาหาร ได้กำหนดค่าความปลอดภัย เบื้องต้นไว้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวันอย่างไรก็ตามอาจต้องระมัดระวังการใช้ในใช้ในขนาดสูงติดต่อกันโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะโรคไตและตับ 

           ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 360 พ.ศ.2556 เรื่องสตีวิออลไกลโคไซด์) สตีวิออลไกลโคไซด์ หมายความว่า สารสกัดบริสุทธิ์จากใบหญ้าหวาน ซึ่งประกอบด้วย สตีวิโอไซด์ รีบาวดิโอไซด์ เอ รีบาวดิโอไซด์ บี รีบาวดิโอไซด์ ซี รีบาวดิโอไซด์ ดี รีบาวดิโอไซด์ โคไซด์ เอ รูบุโซไซด์ และ สตีวิออลไบโอไซด์ สารสกัดจากหญ้าหวานที่อนุญาตให้ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารต้องมีปริมาณสารในกลุ่มสตีวิออลไกลโคไซด์ รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งอ้างอิงจากมาตรฐาน องค์การอาหารและเกษตร และองค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ

หญ้าหวาน

หญ้าหวาน

 

ลักษณะทั่วไปหญ้าหวาน 

  • ลำต้น หญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นแตกกิ่งสาขาตั้งแต่ระดับโคนต้น ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง มีลักษณะทรงกลม เปลือกลำต้นบาง สีเขียวอ่อน หุ้มติดกับแกนลำต้น แกนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย
  • ใบ หญ้าหวานเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกใบออกเดี่ยวๆเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ตามลำต้น และกิ่ง และเหนือซอกใบจะแตกยอดสั้นๆทั้งสองข้าง แต่ละใบมีรูปหอกกลับ กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ สีเขียวสด ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย และงุ้มเข้ากลางแผ่นใบ เมื่อเคี้ยวหรือต้มน้ำดื่มจะมีรสหวานจัด
  • ดอก หญ้าหวานออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด มีก้านดอกสั้น กลีบดอกมีจำนวน 5 กลีบ รูปหอกหรือรูปไข่ แผ่นกลีบดอกมีสีขาว ด้านในมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอมน้ำตาล และเกสรตัวเมีย 1 อัน ที่มีก้านเกสรสีขาวยาวยื่นออกมาจากกลางดอก คล้ายหนวดปลาดุก ทั้งนี้ หญ้าหวานจะออกดอกตลอดปี ในฤดูฝนจะออกดอกสีม่วง ส่วนฤดูอื่นๆออกดอกสีขาว
  • ผล  ผล เป็นผลแห้งขนาดเล็ก ไม่ปริแตก ภายในมีเมล็ดเดี่ยวจำนวนมาก เมล็ดสีดำ มีขนปุยปกคลุม

การขยายพันธุ์หญ้าหวาน 

หญ้าหวาน เป็นพืชที่ชอบอากาศที่ค่อนข้างเย็น ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส เป็นพืชที่ชอบดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี และพืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีเมื่อเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600-700 เมตร ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2518 ที่แถบภาคเหนือ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา ซึ่งปรากฏว่าให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ จึงมีการส่งเสริมให้มีการปลูกจนถึงปัจจุบัน

หญ้าหวานขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ

  1. การเพาะกล้าจากเมล็ด มีข้อดี คือ ทำได้รวดเร็ว ลำต้นแตกกิ่งมาก ให้ผลผลิตสูง และนานหลายฤดู รวมถึงทนต่อโรค และแมลงได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ มีค่าเมล็ดพันธุ์สูง และเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์สูง อาจมีผลทำให้ปริมาณสารให้ความหวานลดลงหรือให้ผลผลิตใบต่ำลง
  2.  การปักชำกิ่ง มีข้อดี คือ ประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ ไม่เสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ แต่มีข้อเสีย คือ ใช้เวลานาน มีต้นทุนการปักชำ ลำต้นแตกกิ่งน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ผลผลิตให้ต่ำกว่ากล้าจากเมล็ด รวมถึง ลำต้นอ่อนแอ ไม่ทนต่อโรค และแมลง


สำหรับการเก็บเกี่ยว
 

การเก็บใบหญ้าหวานจะเริ่มเก็บครั้งแรกได้ 25-30 วัน หลังปลูก หากต้นสมบูรณ์พอ จะเก็บได้ต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้ง ตลอดทั้งปี จะเก็บได้ประมาณ 10-12 ครั้ง แต่ละครั้งเก็บใบสดได้ประมาณ 40-60 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตใบสูงสุดในฤดูฝน และให้ผลผลิตต่ำในช่วงฤดูหนาว และฤดูแล้ง ทั้งนี้ หญ้าหวาน 1 รุ่นจะมีอายุเก็บเกี่ยวไดนานถึง 3 ปี

สำหรับหญ้าหวานสดที่เก็บเกี่ยวได้ จะต้องล้างทำความสะอาด และตากแดดให้แห้งก่อนส่งโรงงาน แบ่งออกเป็น 2 เกรด คือ เกรด Aและเกรด B หากสภาพใบไม่สมบูรณ์ ใบมีสีเหลืองหรือซีด จะถูกคัดเป็นเกรด B แต่เกรดของใบไม่มีผลทำให้ความหวานแตกต่างกัน

หญ้าหวานแห้ง เกรด B จะพบประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณหญ้าหวานแห้งทั้งหมด หญ้าหวานแห้งเกรด A อาจขายเป็นใบชา ในราคา 200-500 บาท/กิโลกรัม ส่วนเกรด B จะถูกขายในราคาประมาณ 150 บาท/กิโลกรัม และใช้บดเป็นผงหญ้าหวานแห้ง ที่ขายในกิโลกรัมละ 500 บาท [5] ส่วนราคารับซื้อหญ้าหวานแห้งหน้าโรงงาน อาจมีราคาในช่วงเดียวกันหรือสูงกว่า (ข้อมูล ราคาปี 2555)


องค์ประกอบทางเคมี
 

ใบหญ้าหวานแห้ง สกัดด้วยน้ำได้สารหวานประมาณร้อยละหนึ่ง ซึ่งสารหวานเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า สตีวิโอไซด์ (Stevioside) ซึ่งมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 150 - 300 เท่า มีความคงตัวสูงทั้งในตัวทำละลาย กรดอ่อน เบสอ่อน และทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส จึงไม่สลายตัวหรือเปลี่ยนสภาพจากความร้อนในการปรุงอาหาร ใช้ในปริมาณน้อย ไม่มีพิษและปลอดภัยในการบริโภคซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสารสกัดจากหญ้าหวานประกอบไปด้วยกลุ่มสารที่มีชื่อเรียกว่า ไกลโคไซด์ (Glycoside) และ อะไกลโคน (Aglycone) สารไกลโคไซด์จะประกอบไปด้วยโมเลกุลของน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ส่วนสารอะไกลโคนจะประกอบไปด้วยน้ำตาลที่มีโมเลกุลใหญ่ขึ้นหรืออาจเรียกรวมๆว่า โพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharides) ซึ่งกลุ่มน้ำตาลเหล่านี้นี่เองที่ทำให้สารสกัดของหญ้าหวานมีรสหวาน

โดยสารสำคัญต่างๆ ที่พบในหญ้าหวานมีหลายชนิด ได้แก่

– Stevioside พบมากที่สุด 2.0-7.7%

– Rebaudioside A ถึง F พบลำดับรองลงมา ประมาณ 0.8-2.9%

– Steviol

– Steviolbioside

– Dulcoside A

สารสติวิออลไกลโคไซด์ (รูปที่ 1) มีลักษณะเป็นผงสีขาวถึงสีเหลืองอ่อนไม่มีกลิ่น มีความคงตัวสูงในตัวทำละลาย กรดอ่อน เบสอ่อน และทนความร้อน

                                                                                                                     หญ้าหวาน

คุณสมบัติทางกายภาพ และเคมีของ stevioside

– สูตรทางเคมี : C35H60O18

– น้ำหนักโมเลกุล : 804.9

– จุดหลอมเหลว : 198 °C

                                                                                     หญ้าหวาน

                                                                                          รูปที่   2    Stevioside

ที่มา : อ้างถึงใน ศิวาพร (2546) และสาโรจน์ (2547)

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ในปี ค.ศ.1991 มีนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า Emily Procinska และคณะ ได้ออกมาค้นคว้ารายงานวิจัยของ John M. Pezzuto ว่าอาจมีข้อผิดพลาด โดยตีพิมพ์ในวารสาร Mutagenesis ระบุว่า หญ้าหวานไม่มีผลทำให้เกิด Mutagenic (สารก่อกลายพันธุ์) แต่อย่างใด ทั้งนี้ได้ทำการทดลองซ้ำอยู่หลายครั้ง หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้มีรายงานต่าง ๆ ออกตามมาอีกมากมายที่ระบุว่าผลของ mutagenic ในสารสกัดหญ้าหวานมีผลน้อยมาก หรืออาจจะไม่มีผลเลย และต่อมาจึงได้มีการตรวจสอบความเป็นพิษพบว่า งานวิจัยส่วนมากระบุว่าหญ้าหวานไม่มีพิษ และไม่มีหลักฐานใด ๆ ระบุว่าหญ้าหวานให้เกิดโรคมะเร็งแต่อย่างใด และยังมีการศึกษาทางคลินิกอีกหลายๆฉบับ ซึ่งส่ววนใหญ่มีผลการศึกษาระบุถึงกลไกการออกฤทธิ์ในร่างกายมนุษย์คือ กลไกการออกฤทธิ์ของหญ้าหวานคือ สารสกัดของหญ้าหวานที่เป็นไกลโคไซด์ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคสและสารอะไกลโคนซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น (Polysaccharides) จะทำปฏิกิริยากับต่อมรับรสของลิ้น ทำให้เรารับรสชาติความหวานซึ่งมีมากกว่าน้ำตาลถึง 150 เท่า และต่อมรับรสบางส่วนจะทำปฏิกิริยากับสารอะไกลโคนซึ่งทำให้รู้สึกถึงรสขมได้เล็กน้อย และระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ก็สามารถย่อยสลายและแยกไกลโคไซด์ของหญ้าหวานออกมาเป็นน้ำตาลกลูโคสได้อีกด้วย โดยน้ำตาลกลูโคสที่ได้นี้ส่วนใหญ่จะถูกแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ดึงไปใช้เป็นพลังงานของตัวลำไส้เอง จึงมีกลูโคสจากสารสกัดหญ้าหวานเพียงส่วนน้อยที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนสารสตีวิออลและสารโพลีแซคคาไรด์ (Poly saccharides) บางส่วนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และส่วนใหญ่ที่เหลือจะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ


การศึกษาทางพิษวิทยา

จากการศึกษาความเป็นพิษในหนูหลายๆ การศึกษา โดยให้สาร สตีวิโอไซด์ ผสมในอาหารในขนาดต่างๆ จนถึง 5% (ขนาดสูงถึง 2 g/kg น้ำหนักตัว ให้ติดต่อกัน 3 เดือน จนถึง 2 ปี ไม่พบความเป็นพิษที่รุนแรงต่อตับ และไต อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าหนูที่ได้รับ สตีวิโอไซด์ โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังในขนาดสูงถึง 1.5 g/kg น้ำหนักตัว มีผลต่อไตโดยมี blood urea nitrogen (BUN) และ creatinine ในเลือดสูงขึ้น แต่ขนาดดังกล่าวเป็นขนาดที่สูงกว่าขนาดที่ใช้รับประทานในคนมากประกอบกับเป็นการให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ดังนั้นผลการศึกษาถึงความปลอดภัยของสตีวิโอไซด์ในอาหาร เป็นเวลานานจนถึงปัจจุบันปรากฏว่ามีแนวโน้มทางด้านความปลอดภัยที่ดี เมื่อต้นปี ค.ศ. 2009 ประเทศสหรัฐอเมริกาโดย USFDA ได้พิจารณาและประกาศว่า หญ้าหวานได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าปลอดภัย "Generally Recognized As Safe (GRAS)  ส่วนการทดสอบการกลายพันธุ์ของสารสกัดหญ้าหวาน โดย Fujita และคณะ (1979), Okumura และคณะ (1978) และ Tama Biochemical Co-Ltd. (1981) ทำการทดลองกับเชื้อ Salmonella typhimurium, Escherichia coli และ Bacillus subtilis ผลการทดลอง พบว่า สารดังกล่าวไม่ก่อกลายพันธุ์แต่อย่างใด


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

แม้ปัจจุบันยังไม่พบข้อห้ามใช้หญ้าหวานที่เด่นชัด แต่ข้อควรระวังคือ

  1. ไม่ควรบริโภคหญ้าหวานใน ปริมาณที่เกินกว่าที่กำหนดในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับคำรับรองความปลอดภัยการบริโภคจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย)
  2. เลี่ยงบริโภคหญ้าหวานในกรณีที่แพ้พืชตระกูลเดียวกับหญ้าหวาน เช่น ดอกเบญจมาศ ดาวเรือง เป็นต้น เนื่องจากผู้ที่แพ้พืชเหล่านี้อาจเสี่ยงมีอาการแพ้หญ้าหวานได้เช่นกัน
  3. ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานหญ้าหวานควรหมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งปรึกษาแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติใด ๆ เนื่องจากหญ้าหวานหรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากหญ้าหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้
  4. สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร และเด็ก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภคหญ้าหวานเสมอ
  5. ผู้บริโภคหญ้าหวานบางรายอาจเกิดอาการท้องอืด คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือชาตามร่างกายได้
  6. ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์หญ้าหวานที่หมดอายุ

เอกสารอ้างอิง

  1. รศ.ดร.ภก.พิสมัย กุลกาญจนาธร. หญ้าหวาน.....หวานทางเลือก....เพื่อสุขภาพ.ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. มตรี สุทธจิตต์ และคณะ, 2540, การรวบรวม การทบทวน การวิเคราะห์ข้อมูลวิจัยและการสังเคราะห์แนวความคิดที่-เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของหญ้าหวาน-และผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวาน.
  3. เชาวนี สุวรรณโชติ, 2556, การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน-โรงงานสกัดผงหญ้าหวาน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่.
  4. Rajab R., Mohankumar C., Murugan K., Harish M. and Mohanan PV. Purification and toxicity studies of stevioside from Stevia rebaudiana Bertoni.Article. 2009; 16(1):49-54.
  5. มัทนียา วังประภา, 2548, การผลิตสารสตีวิโอไซด์-โดยการเพาะเลี้ยงหญ้าหวาน-ในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ.
  6. หญ้าหวาน.วิกิพีเดีย.สารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.th.wikipedia.org/wiki/
  7. กล้าณรงค์ ศรีรอต. 2542. สารให้ความหวาน(sweeteners) : คุณสมบัติและการใช้ประโยชน์.
  8. หญ้าหวาน(Stevia) สรรพคุณและการปลูกหญ้าหวาน.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพือเกษตรกรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  9. CODEX-2010: JECFA Monograph (2010) INS no. 960
  10. Kroyer G. Stevioside and Stevia-sweetener in food: application, stability and interaction with food ingredients. J. Verbr. Lebensm. 2010; 5:225-229
  11. หญ้าหวานต้านโรค พิสูจน์ได้จริงหรือไม่.พบแพทย์ดอทคอม(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  12. Goyal SK., Samsher And Goyal RK. Stevia (Stevia rebaudiana) a bio-sweetener: a review. International Journal of Food Sciences and Nutrition. 2010; 61(1):1-10.
  13. การใช้หญ้าหวานมีผลอย่างไรต่อผู้ป่วยเบาหวาน.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6687
  14. Munish P, Deepika S, Ashok T and Kdownstream. Processing of stevioside and its potential applications. Biotechnology Advances 2011; 29: 781-791.
  15. Madan S, Ahmad S; Singh G.N, Kohli, Kanchan, Kumar Y, Singh R, Garg M. Stevia rebaudiana (Bert.) Bertoni-A review. Indian Journal of Natural Products and Resources 2010; 1:267-286.