จันทน์แดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

จันทน์แดง งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร จันทน์แดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จันผา (ภาคเหนือ), ลักกะจันทน์, ลักกะจั่น (ภาคกลาง), จันทน์แดง (สุราษฎร์ธานี, ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dracaena loureiroi Gagnep.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen., Draco saposchnikowii Regel.
วงศ์ Dracaenaceae

ถิ่นกำเนิดจันทร์แดง

จันทน์แดงเป็นไม้ป่าชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ซึ่งในธรรมชาติ จันทน์แดงจะพบได้ตามภูเขาสูง หรือ เกาะแก่งกลางทะเลที่ห่างไกลจากฝั่ง รวมไปถึงภูเขาหินปูนสูงๆ ที่มีแสงแดดจัดๆ และมักขึ้น ในสภาพของดินที่เป็นดินปนทราย หรือ หินที่มีการระบายน้ำได้ดี และมีความชื้นปานกลาง โดยมักพบมากในภูเขาหินปูนในแถบภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน ฯลฯ และรวมไปถึงตามเกาะต่างๆ ทางภาคใต้ ในปัจจุบันจันทน์แดง จัดเป็นพืชหวงห้ามตามกฎหมายของไทยอีกด้วย

สรรพคุณของจันทร์แดง 

  1. แก้พิษไข้ภายนอกและภายใน แก้ไข้ทุกชนิด
  2. แก้ไข้อันเกิดจากซางและดี
  3. แก้ซางเด็ก
  4. แก้กระสับกระส่าย 
  5. แก้ร้อนดับพิษไข้
  6. แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  7. ช่วยลดความร้อน ทำให้หัวใจชุ่มชื่น 
  8. แก้เหงื่อตก
  9. ช่วยบำรุงหัวใจ
  10. แก้พิษฝีที่มีอาการอักเสบและปวดบวม
  11. แก้บาดแผล
  12. แก้เลือดออกตามไรฟัน
  13. แก้ฟกบวม
  14. แก้ฝี
  15. รักษาดีซ่าน
  16. ช่วยแก้อาจมไม่ปกติ
  17. แก้อาการปวดศีรษะ
  18. ช่วยแก้ดีพิการ แก้น้ำดีพิการ
  19. บำรุงตับ
  20. บำรุงปอด
  21. บำรุงหัวใจ
  22. บรรเทาอาการไข้จากหัด
  23. บรรเทาอาการอิสุกสุกใส


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับขนาน และวิธีใช้จันทน์แดง เป็นสมุนไพรชนิดเดียวนั้น ไม่พบข้อมูล แต่หากเป็นตำรับยาที่มีส่วนผสมของจันทน์แดงนั้น มีดังนี้

ยาหอมเทพจิตร       ชนิดผง รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม เมื่อมีอาการ หรือ ทุก 3-4 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง

                                ชนิดเม็ด รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม เมื่อมีอาการ หรือ ทุก 3-4 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง

ยาหอมนวโกฐ         ชนิดผง รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ละลายในน้ำกระสายในน้ำกระสาย เมื่อมีอาการทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 3 ครั้ง

                                ชนิดเม็ด รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ละลายในน้ำกระสายในน้ำกระสาย เมื่อมีอาการทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 3 ครั้ง

ยาเขียวหอม            ชนิดผง ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เด็ก 6 -12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4 -6 ชั่วโมง

                                ชนิดเม็ด ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เด็ก 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง

ยาจันทน์ลีลา           ชนิดผง ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง เด็ก 6-12 ปี รับประทาน ครั้งละ 500 มิลลิกรัม-1 กรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง

                                ชนิดเม็ดและชนิดแคปซูล  ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 กรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง เด็ก 6-12 ปี รับประทาน ครั้งละ 500 มิลลิกรัม-1 กรัม ทุก 3-4 ชั่วโมง


ลักษณะทั่วไปของจันทร์แดง
   

จันทน์แดงจัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1.5-4 เมตร (ต้นโตเต็มที่อาจมีความสูงถึง 17 เมตร) เรือนยอดเป็นรูปทรงไข่ อาจมีเรือนยอดได้ถึง 100 ยอด เมื่อต้นโตขึ้นจะแผ่กว้าง ลำต้นตั้งตรง กลม มีแผลใบเป็นร่องขวางคล้ายข้อถี่ๆ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล หรือ สีน้ำตาลอมสีเทา แตกเป็นร่องตามยาว ไม่มีกิ่งก้าน ใบจะออกตามลำต้น ส่วนแก่นไม้ด้านในเป็นสีแดง ต้นเมื่อมีอายุมากขึ้นแก่นจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดง เราจะเรียกแก่นสีแดงว่า “จันทน์แดง” เมื่อแก่นเป็นสีแดงเต็มต้น ต้นก็จะค่อยๆ โทรมและตายลงใบเป็นเดี่ยว เรียงสลับถี่ที่ปลายยอด รูปใบแคบเรียวยาว ปลายแหลม กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 45-80 เซนติเมตร ฐานใบจะโอบคลุมลำต้น ไม่มีก้านใบ เนื้อใบหนา ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อห้อยเป็นพวงขนาดใหญ่ตามซอกใบ และปลายยอด โค้งห้อยลง ช่อยาวประมาณ 45-100 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมากมายหลายพันดอก ดอกขนาดเล็กสีขาวครีม หรือ เขียวอมเหลือง กลางดอกมีจุดสีแดงสด กลีบดอก 6 กลีบ ขนาดดอก 0.7-1 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 6 อัน ก้านเกสรกว้างเท่ากับอับเรณู ก้านเกสรตัวเมียปลายแยก 3 พลู ชั้นกลีบเลี้ยง เป็นหลอด ปลายกลีบแยกเป็นพลูแคบๆ 6 พลู ไม่ซ้อนกัน ผลเป็นช่อพวงโต ผลมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร รูปทรงกลม สีน้ำตาลอมเขียว ผิวผลเรียบ มักจะมี 1 เมล็ด เมื่อสุกมีสีแดงคล้ำ ออกดอกราวเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม

ต้นจันทร์แดง

จันทร์แดง

การขยายพันธุ์จันทร์แดง

จันทน์แดงสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การปักชำ และ การเพาะเมล็ด ซึ่ง การขยายพันธุ์จันทน์แดง ในสมัยก่อนนิยมใช้วิธีการปักชำโดยการตัดหน่อ หรือ กิ่งของจันทน์แดง จากต้นเดิมแล้วนำมาปักชำ ในกระบะเพาะชำ หรือ จะใช้วิธีการหักต้นจันทน์แดง ไปเพาะชำ หรือ ปักลงในแปลงปลูกโดยตรงจันทน์แดง ก็สามารถจะเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ แต่ในปัจจุบันจันทน์แดงเป็นไม้หวงห้าม และมักจะขึ้นในป่าสงวนหรือเขตวนอุทยาน ซึ่งหากไปขุดเอามาก็จะผิดกฎหมาย จึงทำให้เกิดการทดลองนำเมล็ดที่สุกของจันทน์แดงมาเพาะขยายพันธุ์ขึ้น และก็ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ เป็นที่นิยมใการขยายพันธุ์จันทน์แดง ในปัจจุบัน ส่วนวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกจันทน์แดงมีดังนี้ หลังจากเก็บเมล็ดพันธุ์จันทร์ผาสุกแล้วให้นำเมล็ด จันทน์แดงที่สุก มาล้างทำความสะอาด แล้วนำไปเพาะในวัสดุเพาะชำ ซึ่งจะจัดทำเป็นแปลงขนาดพอเหมาะกับจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่เรามีโดยใช้วัสดุเพาะสำคัญ ที่มีส่วนผสม คือ ทราย:แกลบดำ = 1:1 แล้วนำเมล็ดพันธุ์จันทน์แดงมาหว่าน จากนั้นกลบเมล็ดจันทน์แดง ด้วยวัสดุเพาะชำเล็กน้อยพอมิดเมล็ดแล้วรดน้ำ ให้หมั่นรดน้ำ นานประมาณเดือนเศษ เมล็ดจันทน์แดงก็จะแตกให้ต้นใหม่ พอต้นจันทน์แดงขึ้นสูงประมาณ 3-4 นิ้ว ก็แสดงว่าต้นจันทน์แดง พร้อมที่จะนำไปแยกปลูกในแปลงที่เตรียม ไว้ต่อไป ส่วนในแปลงปลูกนั้น ก็จะเตรียมดินธรรมดา แล้ววางระยะปลูกให้ต้นห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วดูแลเหมือนการปลูกพืชทั่วๆ ไป (ข้อแนะนำ) โดยธรรมชาติจันทน์ผาเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชโดยทั่วไป เช่น ตามหน้าผาสูงชัน ระบบรากดีมาก ไม่ควรปลูกใกล้ต้นไม้ขนาดเล็ก จันทน์ผาเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตช้า ไม่ค่อยมีการแตกกิ่งก้านสาขา ไม่จำเป็นไม่ควรตัดแต่ง

องค์ประกอบทางเคมีจันทร์แดง

จากการศึกษาทางพฤกษเคมีของจันทน์แดง พบ loureiriol,5,7-dihydroxy-3- (4-hydroxybenzyl) -4-chromanone, 4,4'-dihydroxy-2, 6-dimethoxydihydrochalcone, 2, 4'-dihydroxy-4, 6-dimethoxydihydrochalcone, 4'-hydroxy-2,4, 6-trimethoxydihydrochalcone, 4,6,4'-trihydroxy-2-methoxydihydrochalcone, 4,3',5'-trihydroxystilbene, 4,3'-dihydroxy-5' -methoxystilbene  และ4-hydroxy-3',5'-dimethoxystilbene และสารกลุ่ม homoisoflavanones, retrodihydrochalcone, stilbenes

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของจันทร์แดง

โครงสร้างจันทร์แดง 

                                                                                                    ที่มา : wikipedia  -5,7-Dihydroxy-3-(4-hydroxybenzyl)-4-chromanone

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของจันทร์แดง

ฤทธิ์ต้านการเกิดลิ่มเลือด สกัดสารสำคัญจากจันทน์แดง ด้วย ethanol (EA) และ precipitate B (PB) fraction ให้หนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดก้อนลิ่มเลือด (thrombosis) ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 เป็นกลุ่มควบคุม (control group), กลุ่ม 2  ได้รับ 0.5% CMC-Na, กลุ่ม 3 เป็นตัวควบคุมเชิงบวก (positive group) ได้รับ Xuesaitong tabletsขนาด 0.10 กรัม/กิโลกรัม/วัน, กลุ่ม 4 ได้รับสารสกัดเอทานอลของจันทน์แดง และกลุ่ม 5 ได้รับ precipitate B (PB) ขนาดสารทดสอบ กลุ่ม 4 และ 5 คือ 0.10, 1.07 และ 0.82 g/kg/วันเป็นเวลา 7 วัน ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลของจันทน์แดง มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิดก้อนลิ่มเลือด (thrombosis) (p < 0.05), ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด (p < 0.01) และมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด (p < 0.05–0.01) ที่ดีกว่า precipitate B (PB) fraction อย่างมีนัยสำคัญ

           ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Diphtheria bacilli และ Bacillus anthracis พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้น 0.25 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อได้ และเมื่อเพิ่มความเข้มข้นจนถึง 50 mg/ml จะสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Candida albicans และ Cryptococcus neoformansได้ นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์ต่อการยับยั้งเชื้อ  Staphylococcus aureus, S. lemon, S. diphtheria มีค่า MIC50 เท่ากับ 3.12 mg/kg และฤทธิ์ต่อการยับยังเชื้อ Escherichia coli, Salmonella typhi, Pseudomonas aeruginosa, Nessler cocci และ Shigella flexneri โดยมีค่า MIC น้อยกว่า 50 mg/kg นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารฟลาโวนอยด์ที่แยกได้ คือ 6,7- และ (2S)-4',7-dihydroxy-8-methylflavan ออกฤทธิ์แรงในการยับยั้งเชื้อ H. pylori โดยมีค่า MIC เท่ากับ 29.5, 29.5 และ 31.3 μM ตามลำดับ สาร Pterostilbene มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราหลายชนิด ได้แก่ Trichophyton rubrum, T. mentogrophtes, Candida albican, C. parapsilosis, Cryptococcus neoformans และ Aspergrillus fumigates

           ฤทธิ์ในการรักษาแผล ใช้สารสกัดเอทานอลของจันทน์แดง ในหนูแรทเพศผู้สายพันธุ์ Sprague Dawley ที่มีแผลผ่าตัด (excision wound) และแผลเปิดที่เกิดจากการตัดผิวหนังส่วน full thickness ออกไป (incision wound) ทำการแบ่งหนูทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับการรักษาด้วยยาพื้น (ointment base) เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่สองได้รับการรักษาด้วยยามาตรฐาน คือ moist exposed burn ointment (MEBO) ส่วนกลุ่มสามได้รับสารสกัดเอทานอลของจันทน์แดง และติดตามเปอร์เซ็นต์ของการเกิดการหดตัวของแผล (wound contraction), ระยะเวลาการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (epithelialization period) ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดเอทานอล ของจันทน์แดงและ MEBO มีการหดตัวของแผล และการสมานแผลดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีการสร้าง bloodcapillaries, collagen fibres และ fibroblasts cellsได้ตั้งแต่วันที่ 7 หลังเกิดแผล และมีการสร้างเนื้อเยื่อสมบูรณ์ในวันที่ 21


การศึกษาทางพิษวิทยาของจันทน์แดง

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเนื้อไม้จันทน์แดง ด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1, 111 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

           การศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ในระยะยาวของจันทน์แดง โดยการให้สารสกัดจันทน์แดงในขนาด 3 กรัม/กิโลกรัม และ 1.5 กรัม/กิโลกรัม วันละครั้ง ในกระต่าย เป็นเวลา 90 วัน ผลการทดลองพบว่าสารสกัดจันทน์แดง ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพยาธิสภาพ เช่น จำนวน erythrocytes, leukocytes, เอนไซม์ alanine aminotransferase (ALT), urea nitrogen และน้ำหนักตัวในสัตว์ทดลอง ไม่มีการทำลายไต หรือ ตับ ส่วนการศึกษาพยาธิโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ พบเพียงการขยายตัวของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ส่วนของจันทน์แดงที่จะนำมาใช้เป็นสมุนไพรนั้น คือ แก่นของต้นที่มีเชื้อราลง ที่เป็นสีแดงและมีกลิ่นหอมเท่านั้น
  2. ในปัจจุบันจันทน์แดงเป็นสมุนไพรที่มีการนำไปใช้ร่วมกับตัวยาอื่นๆ เท่านั้น ส่วนการนำไปใช้เป็นยาเดี่ยวนั้นเป็นการนำไปใช้ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น และตามตำรายาไทยในอดีตเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีการศึกษาทางคลินิกแต่อย่างใด
  3. ยาที่มีส่วนผสมของจันทน์แดง ก็เหมือนกับยาสมุนไพรอื่นๆ ที่ควรใช้ตามปริมาณที่กำหนดไว้เท่านั้น และไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

เอกสารอ้างอิง จันทน์แดง
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.ริจศิริ เรืองรังสี, อาจารย์กัญจนา ดีวิเศษ. “จันทน์ผา”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติ ภาคกลาง. หน้าที่ 89.
  2. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  3. อรุณ จันทน์คำ, กาญจนา วงศ์กระจ่าง. สารสกัดสมุนไพรไทยต่อการต้านมะเร็งและต้านอนุมูลอิสระ. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์.ปีที่ 9. ฉบับที่ 9.มกราคม - มิถุนายน 2560. หน้า 112-122
  4. จันทน์แดง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=34
  5. Reanmongkol W, Subhadhirasakut S, Bouking P.Antinociceptive and antipyretic activtic of extracts and fractions from Dracaena loureirin in experimental animals. Songklanakarin J Sci Technol 2003; 25(4): 467-76.
  6. Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001. 810 p.
  7. Sawasdee K.lnhibitors of cyclooxygenase-2 from Dracaena loureirin stem. Master of Science in Pharmacy, Chulalongkorn University, 2001.
  8. จันทน์แดง. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedruy.com/main.php?action=viewpage&pid=49
  9. BGO Plant Database, The Botanical Garden Organization, Ministry of Environment and Natural Resources, Thailand
  10. Liu H, Lin S, Xiao D, Zheng X, Gu Y, Guo S. Evaluation of the wound healing potential of resina draconis (Dracaena cochinchinensis) in animal models. Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine. 2013;page 1-10.
  11. Xin N, Li Y-J, Li Y, Dai R-J, Meng W-W, Chen Y, et al. Dragon's Blood extract has antithrombotic properties, affecting platelet aggregation functions and anticoagulation activities. J Ethnopharmacology. 2011;135:510-514.