น้ำนมราชสีห์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

น้ำนมราชสีห์ งานวิจัยและสรรพคุณ 35 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร น้ำนมราชสีห์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น น้ำนมราชสีห์ใหญ่, นมราชสีห์, ผักขมแดง (ภาคกลาง), หญ้าน้ำหมึก (ภาคเหนือ), หญ้าหลังอึ่ง (ไทยใหญ่), ไต่ป่วย, เอี่ยงเช่า, ป่วยเอี้ยง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia hirta Linn. 
ชื่อสามัญ Asthma weed, Garden spurge, Snake weed.
วงศ์ EUPHORBIACEAE

ถิ่นกำเนิดน้ำนมราชสีห์ 

น้ำนมราชสีห์ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกากลาง และมีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ทั่วไปในเขตร้อนแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และคาริบเบียน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นตามริมทางที่รกร้าง ชายป่า และในพื้นที่โล่ง รวมถึงตามแปลงเพาะปลูกพืชต่างๆ นอกจากนี้ในประเทศไทย ยังได้จัดน้ำนมราชสีห์ เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งอีกด้วย


ประโยชน์และสรรพคุณน้ำนมราชสีห์

  • ใช้ดับร้อน
  • แก้พิษ
  • ช่วยขับน้ำนม ใช้เพิ่มน้ำนม และฟองน้ำนมให้สะอาด
  • แก้ชื้น
  • แก้ผดผื่นคัน
  • แก้ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน
  • แก้หนองใน
  • แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  • แก้ฝีในปอด
  • แก้ฝีที่เต้านม
  • แก้ฝีพิษบวมแดง
  • แก้ขาเป็นกลาก
  • แก้แผลเน่าเปื่อย
  • ใช้เป็นยาบำรุง
  • ใช้บำรุงธาตุ
  • ขับปัสสาวะ
  • แก้ไอหือ
  • แก้อาเจียน
  • แก้ไข้มาเลเรีย
  • แก้หืดหอบ
  • แก้หลอดลมอักเสบ
  • แก้แพ้อากาศ
  • แก้กษัย
  • แก้ไตพิการ
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • ถ่ายพยาธิ
  • แก้เด็กเป็นซาง
  • ใช้กัดหูด ตาปลา
  • ใช้แก้ไอ
  • แก้หมดสติ
  • ใช้ลดไข้
  • รักษาโรคบิด
  • แก้บิดมูกเลือด
  • แก้เบาขัด
  • แก้เด็กศีรษะมีแผลเปื่อยเน่า มีน้ำเหลือง

           สำหรับประโยชน์ของน้ำนมราชสีห์ นั้น ในบางพื้นที่มีการนำยอดอ่อนของต้นน้ำนมราชสีห์มารับประทานเป็นอาหาร และยังมีการนำต้นน้ำนมราชสีห์ มาเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เพราะเป็นพืชที่มี Growth hormone สูง เมื่อนำมาใช้เลี้ยงสัตว์จะทำให้อัตราการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตจากสัตว์ดีขึ้น เช่น ช่วยทำให้เป็ดออกไข่ดี ทำให้ไก่เนื้อมีน้ำหนักเนื้อเพิ่มขึ้น ส่วนปลาก็เจริญเติบโตได้ดี 

น้ำนมราชสีห์

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • แก้บิดมูกเลือด ใช้ทั้งต้นแห้ง 15-25 กรัม บิดถ่ายเป็นเลือดให้ผสมน้ำตาลทราย หากบิดถ่ายเป็นมูกให้ผสมน้ำตาลทรายแดง ใช้น้ำต้มสุกตุ๋นเอาน้ำกิน
  • แก้เบาขัด หนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด ใช้ต้นสด 20-60 กรัม ผสมน้ำต้มกินวันละ 2 ครั้ง
  • แก้ฝีในปอด ใช้ต้นน้ำนมราชสีห์ สด 1 กำมือ ตำคั้นเอาน้ำครึ่งแก้ว ผสมน้ำดื่ม
  • แก้ฝีที่เต้านม ใช้ต้นสด 60 กรัม ร่วมกับเต้าหู้ 120 กรัม ต้มกิน และใช้ต้นสด 1 กำมือ ผสมเกลือเล็กน้อยตำผสมน้ำร้อนเล็กน้อยพอกบริเวณที่เป็น
  • แก้เด็กเป็นตานขโมย (ผอม พุงโร ก้นปอด) ใช้ต้นสด 30 กรัม กับตับหมู 120 กรัม ตุ๋นกิน
  • ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะแดงหรือขุ่นข้น ใช้ต้นแห้ว ชงกับน้ำร้อนดื่ม
  • ใช้เพิ่มน้ำนม และฟองน้ำนม ให้สะอาด ระงับอาการชัก แก้ไอ แก้หืด โดยใช้ต้นสด ต้มกับน้ำดื่ม
  • แก้เด็กศีรษะมีแผลเปื่อยเน่า มีน้ำเหลือง ใช้ต้นสด 1 กำมือ ต้มเอาน้ำชะล้างแผล
  • แก้ขาเน่าเปื่อย ใช้ต้นสด 100 กรัม แช่ในแอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์ ครึ่งลิตร 3-5 วัน เอาไว้ทาบริเวณที่เป็นบ่อยๆ
  • แก้บาดแผลมีเลือดออก ใช้ใบสดขยี้หรือตำพอกแผล ห้ามเลือด
  • ยางใช้กัดหูด ตาปลา ใช้ยางขาวทาที่เป็นบ่อยๆ

           นอกจากนี้ตามตำราแพทย์แผนจีน ระบุขนาดทางใช้ไว้ดังนี้

  • แก้ฝีมีหนองลึกๆ ใช้ใบสด 1 กำมือ ผสมเกลือ และน้ำตาลแดงอย่างละเล็กน้อยตำพอก
  • แก้ลำไส้อักเสบอย่างเฉียบพลัน บิดจากแบคทีเรีย ใช้ทั้งต้นวันละ 30-160 กรัม ต้มน้ำแบ่งให้กินเป็น 3 ครั้ง หรือ ทำเป็นยาเม็ดกินครั้งละ 5 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง


ลักษณะทั่วไปของน้ำนมราชสีห์
 

น้ำนมราชสีห์ จัดเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร เลื้อยแผ่ไปตามผิวดิน ชูส่วนยอดตั้งขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านมีสีแดง มีขนสีน้ำตาลปนเหลืองปกคลุมและมียางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน มีลักษณะรีๆ คล้ายปีกแมลง ยาว 1-4 ซม. ปลายใบแหลมสั้น ฐานใบโค้งเข้าไม่เท่ากัน ขอบใบมีรอยหยักเล็กๆ คล้ายฟันเลื่อย กลางใบมักมีจุดสีม่วงแดง เห็นเส้นกลางใบและเส้นใบชัดๆ ออกใกล้โคนใบอีก 3-4 เส้น ท้องใบมีขนสีน้ำตาลเหลือง ดอกออกจากซอกใบเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีดอกย่อยออกเป็นกระจุกแน่นเป็นกลุ่มกลมๆ 2-3 กลุ่ม มีสีเขียวปนม่วงแดง กลุ่มหนึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ดอกย่อยไม่มีก้านดอกหรือมีก็สั้นมากเกสรตัวผู้มีหลายอันอยู่บนฐานดอก รังไข่มี 1 อัน ลักษณะทรงกลมออกสามเหลี่ยม มีก้านยื่นออกมาจากกลางดอก ที่ปลายมียอดเกสรตัวเมียเป็นเส้นสีแดงสั้นๆ 3 เส้น ผลมีลักษณะกลมแกมรูปสามเหลี่ยม หรือ แบบแคปซูล มี 3 พู ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีขนสั้นนุ่ม และมีรอยแยก 3 รอย และเมื่อผลแห้งแล้วจะแตก มี 1 เมล็ดในแต่ละซีก เมล็ดมีขนาดเล็กผิวเรียบสีน้ำตาลแก่ หรือ สีแดง ลักษณะเป็นรูปรี และเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย มีความยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร

การขยายพันธุ์น้ำนมราชสีห์

น้ำนมราชสีห์ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการใช้กิ่งปักชำ แต่ในปัจจุบันน้ำนมราชสีห์ ถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง จึงไม่ค่อยมีกรนำไปเพาะปลูก ส่วนมากที่พบตามภาคต่างๆ ในประเทศไทยจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดตามธรรมชาติมากกว่า

น้ำนมราชสีห์
องค์ประกอบทางเคมี

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญของน้ำนมราชสีห์ ได้แก่สารเคมีกลุ่ม ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) โพลีฟีนอล (polyphenols) แทนนิน (tannins) ไตรเทอร์ปีน (friterpenes) ไฟโตสเตอรอล (phytosterols) และแอลเคน (alkanes) ส่วนสาระสำคัญที่พบในต้นน้ำนมราชสีห์ ที่มีประโยชน์ในการบำบัดรักษาโรค ได้แก่ β-amyrin euphosterol β-sitosterol และ tannic acid

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีน้ำนมราชสีห์
โครงสร้างน้ำนมราชสีห์

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของน้ำนมราชสีห์

มีรายงานเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ เช่น ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือด ลดน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด ลดการอักเสบ ลดไข้ แก้ปวด ยับยั้งเนื้องอก ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านวัณโรคต้านเชื้อรา ต้านยีสต์ ต้านไวรัส ต้านเชื้อบิด ยับยั้งอะฟลาทอกซิน ยับยั้งมะเร็งกล่องเสีย ต้านไวรัสเอดส์ รวมถึงเพิ่มการผลิตน้ำนม

          และจากผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของน้ำนมราชสีห์ ในหลายๆ แหล่งทั้งในและต่างประเทศ จากผลการศึกษาของ EI-Mahmood พบว่าสารสกัดน้ำเมทานอล และเฮกเซนจากพืชทั้งต้น (whole plant) ของน้ำนมราชสีห์ มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียแกรมลบที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในช่องท้อง ได้แก่ Escherichia coil, Klebsiella pneumonia, Shigella dysenteriae, Salmonella typhi และ Proteus mirabillis


การศึกษาทางพิษวิทยาของน้ำนมราชสีห์ 

มีการทดสอบพิษเฉียบพลันของน้ำนมราชสีห์ โดยการกรอกสารสกัดทางปาก และการฉีดใต้ผิวหนังแก่หนูถีบจักร โดยใช้สารสกัด (ทั้งต้น) ในขนาด 0.3 กรัม ผลปรากฏว่า ขนาดที่ไม่แสดงอาการเป็นพิษในหนูถีบจักร โดยการกรอกทางปาก คือ 10 กรัม (1 กิโลกรัม) เช่นกัน


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. มีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาบางฉบับระบุว่า มีการพบสารพิษไฮโดรเจนไซยาไนด์ ในสารสกัดจากต้นน้ำนมราชสีห์ ดังนั้นก่อนนำไปใช้ประโยชน์ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน
  2. ต้นน้ำนมราชสีห์ มีสารบางตัวที่ทำให้ถ่ายท้องได้ดังนั้น จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
  3. ในการใช้ส่วนต่างๆ ของต้นน้ำนมราชสีห์ควรใช้ในปริมาณที่พอดี ตามที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับสตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่รับประทานยาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง น้ำนมราชสีห์
  1. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. น้ำนมราชสีห์และน้ำนมราชสีห์เล็ก. คอลัมน์อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที 14. มิถุนายน 2523
  2. ฤทธิ์รงค์ ทองออน, เกษศิรินทร์ ภูมลี, พรรณรัตน์ อานิษฐาภิชาติ, ศิริมา สุวรรณกูฎ จันต๊ะมา. ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสารสกัดสมุนไพรจากน้ำนมราชสีห์ และน้ำนมราชสีห์เล็ก. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่ 15. ฉบับที่ 2.พฤษภาคม-สิงหาคม 2556. หน้า 41-47
  3. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร.2541.สมุนไพรพื้นบ้าน (2) กรุงเทพมหานคร. บริษัทประชาชนจำกัด.
  4. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544.ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม).พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544.
  5. นิจศิริ เรื่องรังสี และธวัชชัย มังคละคุปต์.2547. สมุนไพรไทย เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร.สำนักพิมพ์ บี เฮลท์ตี้.
  6. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์.สยามไภษัชพฤกษ์ ภูมิปัญญาของชาติ, ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.พิมพ์ที่ บริษัทอมรินทร์พริ้งติ้งแอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). 2538.
  7. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ์ สาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 13. ฉบับที่ 1. มกราคม-มีนาคม 2514. หน้า 32
  8. น้ำนมราชสีห์.กลุ่มยารักษาหูด.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herbs_24_2.htm.
  9. Patil,S.B.;Naikwade, N.S.; Magdum, C.S. 2009. “Reviewon phytochemistry and pharmacological aspects of Euphorbia hirta Linn.” Journal of Pharmaceutical Reseach and Health Care. 1(1).113-133.