โกฐเขมา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
โกฐเขมา งานวิจัยและสรรพคุณ 19ข้อ
ชื่อสมุนไพร โกฐเขมา
ชื่ออื่นๆ / ชื่อท้องถิ่น โกฐหอม (ไทย) , ซังตุ๊ก (จีนแต้จิ๋ว) , ซางจู๋ (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Atractylodes lancea (Thunb.) DC.
ชื่อสามัญ Atractylodes
วงศ์ Compositae
ถิ่นกำเนิดโกฐเขมา
โกฐเขมามีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีนและแมนจูเรีย แถมมณฑลเหอหนาน เจียงซู หูเป่ย ซานตง อันฮุย เจ๋อเจียง เจียงซี เสฉวน ฯลฯ แหล่งผลิตที่มีคุณภาพดีที่สุด คือ มณฑลเหอหนาน แต่แหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุด คือ มณฑลหูเป่ย ทั้งนี้โกฐเขมามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และรัสเซีย โดยมักจะพบหญ้า ในป่า และตามซอกหิน
ประโยชน์สรรพคุณโกฐเขมา
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ
- เป็นยาบำรุงกำลัง
- แก้โรคเข้าข้อ
- เป็นยาเจริญอาหาร
- เป็นยาขับปัสสาวะ
- แก้โรคในปากในคอ
- แก้หวัดคัดจมูก
- แก้ไข้
- แก้ไข้รากสาดเรื้อรัง
- ระงับอาการหอบคล้ายยาอีเฟรดริน
- ช่วยขับลม
- แก้โรคในปากในคอเป็นแผลเน่าเปื่อย
- แก้เสียดแทงสองราวข้าง
- แก้จุกแน่น
- แก้หอบหืด
- แก้ลมตะกัง
- แก้เหงื่อออกมาก
- แก้ขาปวดบวม ขาไม่มีแรง ปวดข้อ
- แก้ท้องเสีย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้โกฐเขมา
ในตำรายาแพทย์แผนจีนระบุให้ใช้เหง้าต้ม รับประทานครั้งละ 3-9 กรัม แต่ในบางตำราก็ระบุให้ใช้ 5-12 กรัม ส่วนในตำรายาไทยมักจะใช้เป็นเครื่องยาตามตำรับยา มีวิธีการเตรียมเหง้าโกฐเขมาเพื่อใช้ทำยา 3 วิธีคือ
- ตากแห้ง โดยแช่เหง้าโกฐเขมาในน้ำสักครู่ เพื่อให้นุ่มลง แล้วหั่นเป็นแว่นหนาๆ นำไปตากให้แห้ง จะได้ตัวยารสชาติเผ็ดขม อุ่น จะให้สรรพคุณ ขับความชื้นเสริมระบบการย่อยอาหารแก้ความชื้นกระทบส่วนกลาง (จุกเสียด อึดอัดลิ้นปี่ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย) แก้ปวดข้อและกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการไข้หวัดจากลมเย็นหรือความชื้น (จับไข้ หนาวๆ ร้อนๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว)
- ผัดรำข้าวสาลี โดยนำรำข้าวสาลีใส่ลงในกระทะตั้งไฟปานกลางจนควันขึ้น แล้วนำเหง้าโกฐเขมาตากแห้งใส่ลงไป คนอย่างรวดเร็วจนกระทั่งผิวของตัวยาเป็นสีเหลืองเข้ม นำออกจากเตา แล้วร่อนเอารำข้าวสาลีออก ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น จะทำให้ความเผ็ดลดลง แต่เนื้อยาจะนุ่มนวลขึ้น และมีกลิ่นหอม จะให้สรรพคุณ ช่วยรักษาอาการของม้ามและกระเพาะอาหารทำงานไม่สัมพันธ์กัน (กระเพาะอาหารทำหน้าที่ย่อยอาหารจนได้สารจำเป็น ส่วนม้ามทำหน้าที่ลำเลียงสารจำเป็นนี้ไปใช้ทั่วร่างกาย) แก้เสมหะเหนียวหนืด แก้ต้อหิน แก้ตาบอดกลางคืน
- ผัดเกรียม โดยนำเหง้าโกฐเขมาตากแห้งใส่กระทะ ผัดโดยใช้ไฟปานกลาง จนกระทั่งผิวนอกมีสีน้ำตาลไหม้ พรมน้ำเล็กน้อย แล้วผัดต่อโดยใช้ไฟอ่อนๆ จนตัวยาแห้ง นำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นแล้วร่อนเอาเศษเล็กๆ จะได้ตัวยารสออกเผ็ด จะให้สรรพคุณ ช่วยให้การทำงานของลำไส้แข็งแรง แก้ท้องเสียเป็นหลัก ใช้รักษาอาการท้องเสียเนื่องจากม้ามพร่อง โรคบิดเรื้อรัง
ลักษณะทั่วไปโกฐเขมา
โกฐเขมาจัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 30-100 เซนติเมตร เหง้าทอดนอนหรือตั้งขึ้น มีรากพิเศษขนาดเท่าๆ กันจำนวนมาก โดยเหง้าค่อนข้างกลมหรือยาว รูปทรงกระบอกมีกลิ่นหอมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผิวมีลักษณะขรุขระ เป็นปุ่มปม เปลือกนอกคล้ายผิวมะกรูด มีสีน้ำตาลอมเทา สีน้ำตาลเข้ม หรือสีน้ำตาลแกมดำ มีรอยย่นและรอยบิดตามขวาง เนื้อในแน่น เมื่อฝานหัวออกใหม่ ๆ จะเป็นสีขาวขุ่นที่เนื้อใน และมีแต้มสีแสดของชันน้ำมันอยู่ประปรายทั่วไป มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสหวานอมขมเล็กน้อย และเผ็ดร้อน โดยเหง้าใต้ดินนี้เป็นส่วนที่ใช้ทำยาโดยจะเรียกว่า “โกฐเขมา” ส่วนลำต้นขึ้นเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ไม่แตกกิ่งหรือแตกกิ่งเฉพาะตอนบน มีขนคล้ายใยแมงมุมเล็กน้อย
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ซึ่งมีหลายรูปแบบแต่โดยมากเป็นรูปหอกหยักซี่ฟัน ใบใกล้โดนต้นรูปไข่ กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-12 เซนติเมตร ขอบเรียบหรือหยักแบบขนนก 3-5 แฉก แฉกข้างรูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรี แฉกปลายรูปกลม รูปไข่กลับ รูปไข่ หรือรูปรี ก้านใบสั้น ใบบริเวณกลางต้นรูปไข่กลับ รูปไข่กลับแกมรี รูปรีแคบ หรือรูปใบหอกกลับ
ช่อดอกออกเป็นแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยวหรือหลายช่อ ตามปลายกิ่ง วงใบประดับมี 5-7 แถว ขอบมีขนคล้ายใยแมงมุมเล็กน้อย ปลายมน ใบประดับวงนอกรูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง 2-3 มิลลิเมตร ยาว 3-6 มิลลิเมตร ใบประดับกลางรูปไขถึงรูปไข่แกมรี หรือรูปรี กว้าง 3-4 มิลลิเมตร ยาว 0.6-1 เซนติเมตร ใบประดับวงในรูปรีถึงรูปแถบ กว้าง 2-3 มิลลิเมตร ยาว 1.1-1.2 เซนติเมตร ปลายใบประดับในสุดอาจมีสีแดง ด้านบนของฐานดอกแบน มีเกล็ดหนาแน่น ดอกสีขาว เป็นดอกสมบูรณ์เพศ หรือดอกเพศเมียที่มีเกสรเพศผู้ลดรูป กลีบเกลี้ยงเป็นขน สีน้ำตาลถึงขาวหม่น มี 1 แถว โคนติดกันเป็นวง ยาว 7-8 มิลลิเมตร กลีบดอกยาวประมาณ 9 มิลลิเมตร ปลายเป็น 5 หยัก เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดที่หลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ได้วงกลีบ มี 1 ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นสามเหลี่ยม มีขนนุ่ม เกสรเพศเมีย แยกเป็น 2 แฉก ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปไข่กลับ
การขยายพันธุ์โกฐเขมา
โกฐเขมาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เหง้า เช่นเดียวกับพืชหัวทั่วๆไป โดยโกฐเขมาสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 700-2500 เมตร และอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 15-22 องศาเซลเซียส เป็นพืชที่สามารถทนต่ออากาศหนาวเย็นได้ และเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตดีมาก โดยสามารถเจริญเติบโตได้ในดินที่หลากหลายทั้งบนเขา หุบเขา ที่ราบบนเขา ซึ่งต้องการชั้นดินที่หนาและลึก เป็นดินร่วนอุดมสมบูรณ์ การระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำท่วมขัง และจะเจริญเติบโตได้ดีมาก บริเวณพื้นดินที่ไม่สูงนักและเป็นดินร่วนปนทราย โกฐเขมาออกดอกและเป็นผลตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคมมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 2 ปี
องค์ประกอบทางเคมี
โกฐเขมามีองค์ประกอบทางเคมีเป็นน้ำมันระเหยง่ายร้อยละ 3.5-5.6 น้ำมันระเหยง่ายนี้มีสารสำคัญคือ สารเบตา-ยูเดสมอล (beta-eudesmol) สารอะแทร็กทีโลดิน (atractylodin), beta-selinene, alpha-phellandrene, สารไฮนีซอล (hinesol) สารเอลีมอล (elemol) และสารอะแทร็กทีลอน (atractylon) และ สารกลุ่ม polyacetyletylenes เช่น1-(2-furyl)-E-nonene-3,5-diyne-1,2-diacetata, erythro-(1,5E,11E)-tridecatriene-7,9-diyne-3,4-diacetate, threo-(1,5E,11E)-tridecatriene-7,9-diyne-3,4-diacetate, (3E,5E,11E)-tridecatriene-7,9-diyne-3,4-diacetate, (3Z,5Z,11Z)-tridecatriene-7,9-diyne-3,4-diacetate, (3E,5Z,11E)-tridecatriene-7,9-diyne-3,4-diacetate,(3Z,5E,11E),tridecatriene-7,9-diyne-5,6-diyldiacetate,(1Z)-atractylodin,(1Z)-atractylodinol,(1Z)-acetylatractylodinol(4E,6E,12E)-tetradecatriene-8,10-diyne-1,3-diyl diacetate,4,6,12-tetradecatriene-8,10-diyne-1,3,14-triol,(2E,8E)-2,8-decadiene-4,6-diyne-1,10-diol 1-O-β-D-gluco-pyranoside
รูปภาพองค์ประทางเคมีของโกฐเขมา
ที่มา : Wikipedin
สารกลุ่ม polysacchaccharides เช่น arabino-3,6-galactans,galacturonic acid รวมถึงสารกลุ่มอื่นๆ เช่น coumarins (osthol) วิตามินเอ (vetinol) วิตามินบี (thiamine) วิตามินดี (calcifrol) กรดไขมัน (linoleic acid, oleic acid และ palmitic acid)
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดเหง้าโกฐเขมา และน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเหง้า คือ β-eudesmol ต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก และระยะเวลาที่ทำให้กระเพาะอาหารว่างในหนูเม้าส์เพศผู้ ที่ถูกกระตุ้นด้วย atropine, dopamine และ 5-hydroxytryptamine (5-HT)โดยให้สารสกัดโกฐเขมาในขนาด 500 หรือ 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ β-eudesmol ขนาด 50 หรือ 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และยามาตรฐาน itopride hydrochloride ขนาด 10 หรือ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ผลการทดลองพบว่าสารสกัดโกฐเขมามีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก และทำให้อาหารเคลื่อนผ่านกระเพาะอาหารเร็วขึ้น ในหนูที่ถูกกระตุ้นด้วยdopamine ขนาด 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสารสกัดโกฐเขมาในขนาด 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ β-eudesmol ขนาด 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กในหนูที่ถูกกระตุ้นด้วยatropine แต่ไม่มีผลต่อระยะเวลาที่ทำให้กระเพาะว่างนอกจากนี้สารสกัดโกฐเขมาในขนาด 500 หรือ 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ β-eudesmol ขนาด 25, 50 หรือ 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์กระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก และทำให้อาหารเคลื่อนผ่านกระเพาะอาหารเร็วขึ้น ในหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย 5-HT ขนาด 4 มิลลิกรัม/กิโลกรัมหรือ 5-HT3 receptor agonist จากงานวิจัยนี้จึงสรุปว่าสารสกัดโกฐเขมาและน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากโกฐเขมา คือ β-eudesmolทำให้อาหารเคลื่อนผ่านกระเพาะอาหารเร็วขึ้น และกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ผ่านกลไลการยับยั้ง dopamine D2 receptor และ 5-HT3 receptor สามารถนำมาพัฒนายารักษาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอาเจียน อึดอัดแน่นจากอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหาร รักษาโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งมีต้นเหตุมาจากเส้นประสาทของกระเพาะอาหารถูกทำลาย (gastroparesis) เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อกระเพาะอ่อนแรง ทำให้ไม่สามารขับเคลื่อนอาหารให้ผ่านไปยังส่วนต้นของลำไส้ (duodenum) ได้ จึงมีอาหารเหลือตกค้างในกระเพาะอาหาร
ฤทธิ์ต้านการปวด การทดลองในหนูพบว่า สาร β-eudesmol มีฤทธิ์ต้านปวดโดยยับยั้ง nicotinc Ach receptor channels ที่ neuromuscular junction และพบว่ามีผลต่อกล้ามเนื้อของหนูที่เป็นเบาหวานมากกว่าหนูปกติ
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สาร β-eudesmol , atractylochromene , 2-[(2E0-3,7-dimethyl-2,6-octadienyl] -6-methyi-2,5-cyclohexadiene-1,4-dione , 2-[(2’E)-3’7’-dimethyl-2’6’-octadienyl]-4-methoxy-6-methylphenol,(3Z,5E,11E)-tridecatriene-7,9-diynyl-1-0-(E)-fenulate มีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยยับยั้งเอนไซม์ 5-lipoxygenase และ cyclooxygenase-1
ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร สารสกัดจากเหง้าของโกฐเขมา เมื่อป้อนให้หนูแรทสายพันธุ์ sprague-dawley ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารโดยใช้กรด acetic acid ทำการเก็บเลือด และเซลล์เนื้อเยื่อกระเพาะอาหารของหนู วัดระดับของ epidermal growth factor (EGF), trefoil factor 2 (TFF2), tumor necrosis factor-α(TNF-α), interleukin 6, 8 (IL-6, 8) และ prostaglandin E2 (PGE2) ที่เกิดขึ้น โดยใช้เทคนิค (ELISA) และวัดการแสดงออกของ mRNA ได้แก่ EGF, TFF2, TNF-α และ IL-8 ในกระเพาะอาหาร จะถูกวิเคราะห์โดยใช้เทคนิค real-time-PCR ผลการทดลองพบว่าการถูกทำลายจากกรดของเซลล์เนื้อเยื่อกระเพาะอาหารลดลงและยังยับยั้งการสร้างสารที่เกี่ยงข้องกับการอักเสบ ได้แก่ TNF-α, IL-8, IL-6, และ PGE2และมีฤทธิ์ปกป้องกระเพาะอาหารโดยเพิ่มการแสดงออกของ mRNA ของ EGF, TFF2เพิ่มการสร้าง EGF, TFF2
ฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน สารสกัดน้ำที่ประกอบด้วยสาร polysaccharides ที่มีน้ำตาลเชิงเดี่ยวเป็น galacturonic acid มีฤทธิ์กระตุ้นระบบคุ้มกันในหนูที่ติดเชื้อรา Candida albicans ทำให้หนูมีชีวิตรอดมากขึ้น และสารกลุ่ม arabino-3,6-galactan มีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในหนู
ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร สารสกัดน้ำมีฤทธิ์ทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะนานขึ้นสารสำคัญคือสารกลุ่ม polyacetylenes
ฤทธิ์ต้านการขาดออกซิเจนในร่างกาย สารสกัดอะซิโตนมีฤทธิ์ต้านการขาดออกซิเจนในร่างกายหนูถีบจักร เนื่องจากสารโปตัสเซียมไซยาไนด์ สาระสำคัญคือ β-eudesmol
ฤทธิ์แก้ท้องอืดเฟ้อ ฤทธิ์เพิ่มระยะเวลาที่ทำให้กระเพาะอาหารว่าง ของน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าโกฐเขมา ในหนูแรทเพศผู้ สายพันธุ์วิสตาร์ ที่อยู่ในภาวะเครียด และผลของฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งหลั่งจากต่อมไฮโปธาลามัส หรือ corticotropin-releasing factor (CRF) ทดสอบโดยป้อนน้ำมันหอมระเหยจากเหง้า ในขนาดต่างๆ คือ 30,60 และ 120 mg/kg ต่อวัน แก่หนูเป็นเวลา 7 วัน พบว่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาที่ทำให้กระเพาะอาหารว่างในหนูปกติ แต่มีผลทำให้เพิ่มระยะเวลาที่ทำให้กระเพาะอาหารว่างได้ในหนูที่มีภาวะเครียด น้ำมันหอมระเหยสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมน motilin (MTL) และ gastrin (GAS) และลดระดับ somatostatin (SS) และ CRF อย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่ากลไกสำคัญเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมน คือยับยั้งการหลั่ง CRF ซึ่งผลเหล่านี้ทำให้เพิ่มระยะเวลาที่ทำให้กระเพาะอาหารว่างเร็วขึ้น จึงลดอาการไม่สบายท้อง ท้องอืดเฟ้อจากความเครียดในหนู (ภาวะเครียดทำให้การทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง)
การศึกษาทางพิษวิทยา
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,786 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่พบอาการเป็นพิษ
ข้อแนะนำและข้อความระวัง
- ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย ที่มีอุจจาระร่วงเป็นน้ำ ควรใช้โกศเขมาด้วยความระมัดระวัง
- สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ และผู้เชียวชาญก่อนใช้เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
- อาการข้างเคียงที่พบได้ในผู้ที่ใช้โกศเขมาคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง และมีกลิ่นปาก
- ไม่ควรใช้โกฐเขมาในปริมาณที่มากเกินไปหรือใช้เป็นระยะเวลานานเพราะอาจส่งผลต่อระบบต่างๆของร่างกายได้
เอกสารอ้างอิง
- วิทยา บุญวรพัฒน์.“โกฐเขมา”.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 102.
- นพมาศ สุนทรเจริญนนท์.โกฐเขมา จุลสารข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่28 .ฉบับที่ 3 เมษายน 2554.หน้า 17-19
- ชยันต์ พิเขียรสุนทร แม้นมาส ชวลิต วิเชียร จีรวงศ์.คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์.กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อมรินทร์.2542
- “โกฐเขมา Atractylis”. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 217.
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
- โกฐเขมา.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpaye&pid=27
- Yu KW, Kiyohara H, Matsumoto T, Yang HC, Yamada H. lntestinal immune system modulating poly-saccharides from rhizomes of Atractylodes lancea. Planta Med 1998;64(8):714-9.
- Kimura Y, Sumiyoshi M. Effects of an Atractylodes lancea rhizome extract and a volatile component beta-eudesmol on gastrointestinal motility in mice. J Ethnopharmacology. 2012;141:530-536.
- Yu Y, Jia T-Z, Cai Q, Jiang N, Ma M-Y, Min D-Y, et al. Comparison of the anti-ulcer activity between the crude and bran-processed Atractylodes lancea in the rat model of gastric ulcer induced by acetic acid. J Ethnopharmacology. 2015;160:211-218.
- Nakai Y, Kido T,Hashimoto K, Kase Y, Sakakibara l, Higuchi M, Sasaki H. Effect of the rhizomes of Atractylodes lancea and its constituents on the delay of gastric emptying. J Ethnopharmacol 2003;84(1):51-5.
- Lehner MS, Steigel A, Bauer R. Diacetoxy-substituted polyacetyenes from Atractylodes lancea. Phyto-chemistry 1997;46(6):1023-8
- Resch M, Heilmann J,Steigel A, Bauer Rauer R. Futher phenols and polyacetyenes from the rhizomes of Atractylodes lancea and their anti-inflammatory activity. Planta Med 2001;67(5):437-42.
- Zhang H, Han T, Sun L-N, Huang B-K, ChenY-F, Zheng H-C, et al. Regulative effects of essential oil from Atractylodes lancea on delayed gastric emptying in stress-induced rats. Phytomedicine. 2008;15:602–611.
- Chiou LC, Chang CC. Antagonism by β-eudesmol of neostigmine-induced neuromudcular failure in mouse diaphragms. Eur J Pharmacol 1992;216(2):199-206.
- Kimura M, Nojima H, Muroi M, Kimura l. Mechanism of the blocking action of β-eudesmol on the nicotic acetylcholine receptor channel in mouse skeletal muscles. Neuropharmacology 1991;30(8):835-41.
- Kimura M, Tanaka K, Takamura Y, Nojima H, Kimura l, Yano S, Tanaka M. Structural componets of beta-eudesmol essential for its potentiating effect on succinylcholine-induced neuromuscular blockade in mice. Biol Pharm Bull 1994;17(9): 1232-40.
- Yamahara J, Matsuda H, Naitoh Y, Fujimura H, Tamai Y. Antianoxic action and active constituents of atractylodis lanceae rhizome. Chem Pharm Bull 1990;38(7):2033-4.
- Lnagaki N, Komatsu Y, Sasaki H, Kiyohara H, Yamada H, lshibashi H, Tansho S, Yamaguchi H, Abe S, Acidic polysaccharides from rhizomes of Atractylodes lancea as protective principle in Candida-lnfected mice. Planta Med 2001;67(5):428-31.