สายน้ำผิ้ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
สายน้ำผึ้ง งานวิจัยและสรรพคุณ 32ข้อ
ชื่อสมุนไพร สายน้ำผึ้ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เหยิ่นตงเถิง,จินหยิงฮวา,จินหยิงฮัง,ซวงฮัง(จีนกลาง),หยิ่มตังติ่ง,กิมงิ่งฮวย(จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lonicera japonica Thunb.
ชื่อสามัญ Honeysuckle,Japanese Honeysuckle, Chinese Honeysuckle, Woodbine
วงศ์ Caprifoliaceae
ถิ่นกำเนิดสายน้ำผึ้ง
ต้นสายน้ำผึ้งเป็นพืชจากต่างประเทศโดย มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชียตะวันออก เช่นในญี่ปุ่นและจีน ดังนั้นจึงมีชื่อภาษาอังกฤษ ว่า Japanese Honey suckle และ Chinese Honey suckleสำหรับในประเทศไทยสันนิษฐานว่ามีผู้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อไม่เกิน 100 ปีมานี้เอง ชื่อสายน้ำผึ้งที่เรียกก็ภาษาไทยคงมาจากชื่อภาษาอังกฤษที่มีคำว่า Honey นั่นเอง ในปัจจุบันสามารถพบได้ประปรายในประเทศไทยส่วนมากมักพบขึ้นมากทางป่าแถบภูเขาทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้
ประโยชน์และสรรพคุณสายน้ำผึ้ง
- ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้
- แก้อาการร้อนใน
- แก้กระหายน้ำ
- รักษาไข้หวัดใหญ่
- รักษามีไข้ตัวร้อน ครั่นเนื้อครั่นตัว
- รักษาโรคผิวหนัง
- แก้ลำไส้อักเสบ
- แก้ท้องเสีย
- แก้พิษงูสวัด
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร
- เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ
- ช่วยทะลวงลมปราณ
- แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด
- แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยลดไข้
- แก้ไข้หวัด
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
- แก้แผลฝีต่างๆ
- รักษาเหงือกอักเสบ ปากนกกระจอก
- แก้เจ็บคอ
- แก้เมา
- แก้ท้องร่วง
- รักษาโรคลำไส้
- รักษาโรคกระเพาะอาหาร
- มีฤทธิ์ผ่อนคลาย
- ช่วยกระจายความร้อน
- ช่วยขับพิษ
- รักษาแผลเปื่อย บวม
- แก้สตรีที่มีอาการตกเลือด
- แก้อาเจียนเป็นเลือด
- รักษาเลือดกำเดาไหล
ต้นสายน้ำผึ้ง ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มและขนมหวานต่างๆ ยังถูกนำมาใช้เป็นน้ำหอม มีการใช้เป็นหัวน้ำมันในอุตสาหกรรมน้ำหอมหรือใช้ในทางสุคนธบำบัด(Aromatherapy) ส่วนชาวตะวันตก เชื่อว่ากลิ่นของสายน้ำผึ้งสามารถทำให้จิตใจร่าเริงเบิกบาน คลายความโศกเศร้าและความกลัวได้ ทำให้รู้สึกเป็นสุข อบอุ่น และปลอดภัย และเชื่อว่าสายน้ำผึ้งเหมาะกับผู้ป่วยทางจิต เพราะกลิ่นของสายน้ำผึ้งช่วยปลอบประโลมจิตใจ ทำให้ปล่อยวางความเครียดหรือความวิตกกังวลที่คั่งค้างในใจ และหันมามีความสุขกับชีวิตในปัจจุบันได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป หรือปลูกให้ขึ้นพันกับต้นไม้หรือรั้วบ้านเพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับรั้วบ้าน เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่ดอกมีกลิ่นหอมและสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย
ลักษณะทั่วไปสายน้ำผึ้ง
ต้นสายน้ำผึ้งจัดเป็นไม้เลื้อยยืนต้น หรือไม้เถาเลื้อยพันโดยมี ลำต้น เป็นเถาแข็งยาวราว 5-8 เมตร ลำต้นและ กิ่งอ่อนมีขนนุ่มปกคลุม กิ่งแก่เปลือกเป็นสีน้ำตาลเกลี้ยงมัน ใบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ตามข้อของลำต้นก้านใบยาว 4-10 มิลลิเมตร ใบเป็นรูปไข่ขอบขนานโคนใบมน ปลายแหลม มีหางสั้น ขอบใบเรียบท้องใบสีอ่อน หน้าใบสีเขียวเข้มเรียบเป็นมัน แผ่นใบค่อนข้างหนาและแข็ง กว้างราว 2.5 ซม. ยาวราว 5 ซม. ดอก ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ออกเป็นช่อๆ ช่อละประมาณ ๑๕ ดอก ก้านช่อดอกสั้น โคนดอกของแต่ละดอกมีใบประดับ 1 คู่ กลีบดอกติดกันเป็นท่อยาวราว 5 ซม. ปลายดอกเป็นกลีบแยกออกจากกัน ด้านบนติดกันเป็น 4 กลีบ ด้านล่างแยกออกมา 1 กลีบ มีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยื่นออกมากลางดอก 5 เส้น มีเกสรตัวเมีย 1 อัน กลีบดอกตูมและเมื่อเริ่มบานมีสีขาว จากนั้น 2-3 วัน เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนและเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอมเย็นและกลิ่นแรงขึ้นในเวลากลางคืน ผลเป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผิวผลเกลี้ยง เรียบเป็นมันเงา ผลเมื่อสุกจะเป็นสีดำ
การขยายพันธุ์สายน้ำผึ้ง
สายน้ำผึ้งสามารถขยายพันธุ์ได้โดย วิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่ให้ผลดีที่สุดและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการปักชำ ส่วนวิธีการปักชำก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปักชำไม้เถาเลื้อยอื่นๆ เช่น เถาวัลย์เปรียง , ตำลึง , เถาเอ็นอ่อน เป็นต้น
องค์ประกอบทางเคมี
ผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสายน้ำผึ้งพบว่าในส่วนต่างๆพบสารดังนี้
- ใบ มี lonicerin และ luteolin-7-rhamnoglucoside
- ดอก มี luteolin , luteolin-7-glucoside, inositol , lonicerin และ saponin
- ผล มี Cryptoxanthin
- เถา มี lonicerin , loganin , syringin , luteolin – 7 – rhamnoglucoside , sweroside
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสายน้ำผึ้ง
ที่มา : wikipedia
รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้
แก้อาการท้องเสีย , ท้องร่วง , โรคบิด ใช้เถาสด 100 กรัม สับเป็นท่อนเล็กๆ ใส่ลงในหม้อเคลือบ เติมน้ำลงไป 200 มิลลิลิตร แช่น้ำไว้ 12 ชั่วโมง แล้วต้มด้วยไฟอ่อนๆ 3 ชั่วโมง แล้วเติมน้ำให้ได้ 100 มิลลิลิตร กรองเอาน้ำรับประทานวันละ 1.6-2.4 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้เพิ่มหรือลดขนาดของยาตามอาการ โดยทั่วไปเริ่มต้นให้รับประทาน 20 มิลลิลิตร ทุก 4 ชั่วโมง เมื่ออาการดีขึ้นให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิลิตร ทุก 6 ชั่วโมง หลังจากอาการท้องร่วงหายไปให้รับประทานต่ออีก 2 วัน แก้ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ใช้ดอกตูมแห้ง 10-30 กรัม ทำเป็นยาชง หรือต้มดื่มต่างน้ำชา แก้ฝีฝักบัว และแผลเปื่อย ใช้เถาหรือใบ หรือดอกแห้งจำนวนพอควร ดองเหล้ากิน ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด แก้คอแห้ง ให้ใช้ใบหรือเถา หรือดอกแห้ง 30 กรัม ถ้าเป็นสดให้ใช้ 90 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินบ่อย ๆ แก้ปากมดลูกอักเสบเป็นหนอง ให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้งแห้ง 1,000 กรัม นำมาบดให้เป็นผง แล้วนำไปแช่กับเหล้าขาว 40 ดีกรี ในปริมาณ 1,500 ซีซี โดยให้แช่ทิ้งไว้ 2 วัน จากนั้นให้กรองเอาแต่เหล้าประมาณ 400 ซีซี ใช้ทาบริเวณปากมดลูก โดยให้ทาติดต่อกันประมาณ 7-12 วัน รักษาแผลงูสวัด ให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้ง 10 กรัม, ใบโด่ไม่รู้ล้ม 10 กรัม, ข้าวเย็นเหนือ 30 กรัม, และข้าวเย็นใต้ 30 กรัม (แบบแห้งทั้งหมด) นำมาต้มรวมกันในน้ำ 1 ลิตร จนเดือด ใช้ดื่มในขณะอุ่นครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น โดยให้ดื่มไปเรื่อย และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด
ส่วนขนาดที่ใช้รักษาโรคต่างๆ ตามสรรพคุณในตำราจีนที่กล่าวมาให้ใช้เถาหรือดอกแห้งในขนาด 6-15 กรัม นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม แต่ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเย็นพร่องของม้ามและกระเพาะอาหาร
นอกจากนี้ในตำรับยาแก้ไข้หวัดของจีน อีกตำรับหนึ่งระบุให้ใช้ดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม, โหล่วกิง 20 กรัม, เหลี่ยงเคี้ยว 15 กรัม, ใบไผ่เขียว 15 กรัม, เต่าซี่แห้ง 10 กรัม, เก็งสุ่ย 6 กรัม, หงู่ผั่งจี้ 5 กรัม, กิ๊กแก้ 5 กรัม, ใบสะระแหน่ 3 กรัม, และชะเอม 3 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต้านเบาหวาน การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb.) ในหนูแรทที่ป้อนอาหารที่มีไขมันสูงและฉีดสาร streptozotocin เพื่อเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน จากนั้นป้อนสารสกัด 70% เอทานอลจากต้นสายน้ำผึ้ง ขนาด 100 มก./กก.น้ำหนักตัว เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดจากต้นสายน้ำผึ้งช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และปรับปรุงภาวะดื้ออินซูลินในหนูที่เป็นเบาหวาน นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มน้ำหนักตัว และความอยากอาหารที่ลดลงจากการเกิดเบาหวานให้กลับสู่ค่าปกติ และยังช่วยป้องกันความเสียหายต่อเบต้าเซลล์ของตับอ่อน โดยพบว่าสารสกัดจากต้นสายน้ำผึ้งมีผลเพิ่มการแสดงออกของ peroxisome proliferator-activated receptor gamma และ insulin receptor subunit-1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมตาบอลิสมของกลูโคสและการหลั่งอินซูลินในร่างกาย การศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าสายน้ำผึ้งมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยอาศัยการกระตุ้นทำงานของ peroxisome proliferator-activated receptor gamma เป็นกลไกสำคัญ
ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน การศึกษาแยกสาร sweroside จากต้นสายน้ำผึ้ง และทดสอบในเซลล์ melan-a พบว่า sweroside 300 ไมโครโมล มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานิน โดยไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ และมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์รวมทั้งโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน ได้แก่ tyrosinase, tyrosinase-related protein-1 (TRP-1) และ TRP-2 ผ่านกลไกกระตุ้นกระบวนการ phosphorylation ของ Akt และ ERK โดยขึ้นอยู่กับขนาดของสาร นอกจากนี้จากการทดสอบในปลาม้าลาย (in vivo) พบว่า sweroside มีฤทธิ์ยับยั้งเม็ดสีและเอนไซม์ tyrosinase เช่นเดียวกัน จากผลการทดสอบจึงสรุปได้ว่าสาร sweroside ที่แยกได้จากต้นสายน้ำผึ้ง มีฤทธิ์ช่วยทำให้ผิวขาวขึ้นผ่านการควบคุมการแสดงออกของกระบวนการ phosphorylation ของ mitogen activated protein kinase และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมลานิน
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัย ระบุว่า สารลูทีโอลิน (luteolin) ที่ได้จากดอกมีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ โดยทดลองกับลำไส้เล็กของกระต่ายนอกร่างกาย แต่มี ฤทธิ์อ่อนกว่าปาปาเวอรีน (papaverine) และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะอย่างอ่อนด้วย และลูทีโอลินที่ความเข้มข้น 1 : 2,000 ทำให้ความแรงในการบีบตัว และอัตราการเต้นของหัวใจกบ ซึ่งทดลองนอกร่างกายลดลงเล็กน้อย รวมทั้ง ทำให้ปริมาณของเลือดที่ฉีดออกมาแต่ละครั้งลดลง แต่ถ้าใช้ความเข้มข้น 1 : 5,000 ทำให้ความแรงในการบีบตัวและอัตราการเต้นของหัวใจหนูตะเภา ที่ทดลองนอกร่างกายเพิ่มขึ้น
น้ำที่ต้มได้จากดอกสายน้ำผึ้ง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Stepto coccus, Staphelo coccus, Bacillus inuza, เชื้อไทฟอยด์ในลำไส้ และเชื้อวัณโรคได้ ซึ่งจากการทดลองดังกล่าวยังพบว่า น้ำที่ใช้แช่ดอกสายน้ําผึ้งจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อมากกว่าน้ำที่ต้มกับดอกสายน้ำผึ้งและสาร Luteolin ที่ความเข้มข้น 1 : 350,000 สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Bacillus subtilis และ Staphylococcus spp. ได้
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีผลการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดไม่ระบุส่วนที่ใช้ (parts used) ของสายน้ำผึ้ง ไม่มีความเป็นพิษเฉียบพลันหลังจากป้อนสารสกัด 5000 มก/กก. ให้หนูขาวแล้วปรากฏว่าหนูขาวไม่ตาย แต่พบว่าสารสกัดสายน้ำผึ้ง มีผลก่อกลายพันธุ์
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง
ในการใช้สมุนไพรสายน้ำผึ้งก็มีข้อควรระวังเช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ระบุไว้ในตำรับยาหรือตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ส่วนในตำรายาจีนได้มีข้อห้ามใช้สมุนไพรสายน้ำผึ้ง ในผู้ที่มีภาวะเย็นพร่อง (หยางพร่อง) ของม้ามและกระเพาะอาหาร
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “สายน้ำผึ้ง”. หน้า 554.
- ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสายน้ำผึ้ง.ข่าวความเคลื่อนไหว.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สายน้ำผึ้ง (Sai Nam Phueng)”. หน้า 299.
- ปิยะ เฉลิมกลิ่น. หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย. บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กซ์เพรส จำกัด. 2546 กรุงเทพฯ 336 หน้า (221)
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “สายน้ำผึ้ง Japanese Honey-suckle”. หน้า 134.
- ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินของสายน้ำผึ้ง(Lonicera japonica) .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “สายน้ําผึ้ง”. หน้า 781-782.
- เดชา ศิริภัทร.สายน้ำผึ้ง.คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 346.กุมภาพันธ์ .2551
- สายน้ำผึ้ง.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.rspg.or.th/plant_data/herbs2herbs_28_7.htm.
- ดอกสายน้ำผึ้ง.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.manidol.ac.th/user/reply.asp?id=5354