บอระเพ็ด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

บอระเพ็ด งานวิจัยและสรรพคุณ 28 ข้อ

ชื่อสมุนไพร บอระเพ็ด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จุ้งจาลิง, จุ่งจิง, เครือเขาฮอ (ภาคเหนือ), เจตมูลหนาม (หนองคาย), หางหนู (อุบลราชธานี), เถาหัวด้วน, ตัวเจตมูลยาน (สระบุรี)
ชื่อสามัญ Heart leaved moonseed
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tinospora crispa (L.) Miers ex Hook.f. & Thomson
ชื่อพ้อง Tinospora tuberculata Miers, Tinospora rumphii Boerl.
วงศ์ Menispermaceae


ถิ่นกำเนิดบอระเพ็ด

บอระเพ็ด เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบมากในประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น รวมถึงบางประเทศในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย และศรีลังกา สำหรับในประเทศไทยนั้นบอระเพ็ด นับเป็นพืชที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีมาช้านานแล้ว เพราะคนไทยในสมัยก่อนได้นำบอระเพ็ดมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาอาการป่วยต่างๆ เช่น ใช้ลดไข้ บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร ฯลฯ แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังนิยมใช้บอระเพ็ด เพื่อสรรพคุณทางยาเหล่านี้อยู่ ซึ่งในประเทศไทยนั้นสามารถพบบอระเพ็ดได้ทุกภาคของประเทศ ส่วนมากพบในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทั่วไป

ประโยชน์และสรรพคุณบอระเพ็ด

  1. แก้ไข้ทุกชนิด
  2. แก้พิษฝีดาษ
  3. เป็นยาขมเจริญอาหาร
  4. ช่วยย่อยอาหาร
  5. บำรุงน้ำดี
  6. บำรุงไฟธาตุ
  7. แก้โรคกระเพาะอาหาร
  8. บำรุงร่างกาย
  9. แก้สะอึก
  10. แก้มาลาเรีย
  11. เป็นยาขับเหงื่อ
  12. ช่วยดับกระหาย
  13. แก้ร้อนในดีมาก ทำให้เนื้อเย็น
  14. แก้อหิวาตกโรค
  15. แก้ท้องเสีย
  16. แก้ไข้จับสั่น  
  17. แก้โลหิตพิการ
  18. เป็นยาพอกบาดแผล ทำให้เย็น
  19. บรรเทาอาการปวด
  20. ช่วยดับพิษปวดแสบปวดร้อน
  21. ช่วยพอกฝี
  22. แก้ฟกช้ำ
  23. แก้คัน
  24. แก้รำมะนาด
  25. แก้ปวดฟัน
  26. แก้เสมหะเป็นพิษ
  27. เป็นยาอายุวัฒนะ
  28.  รักษาอาการเบื่ออาหาร

           น้ำสกัด หรือ น้ำต้มจากบอระเพ็ด สามารถใช้ฉีดพ่นกำจัด และป้องกันหนอนแมลงศัตรูพืช อาทิ หนอนใยผัก และเพลี้ยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนลำต้น และใบของบอระเพ็ดสามารถใช้ผสมในอาหารสัตว์ หรือ ให้สัตว์กินโดยตรง เพื่อให้สัตว์มีร่างกายแข็งแรง และรักษาโรคในสัตว์ ทั้งโค กระบือ สุกร ไก่ และอื่น ซึ่งชาวบ้านนิยมให้ไก่ชนกินในระยะก่อนออกชน นอกจากนี้ลำตัน และใบยังสามารถนำมาบด และใช้พอกศีรษะหรือสระผม สำหรับกำจัดเหาได้อีกด้วย 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

รักษาอาการไข้ ใช้เถาบอระเพ็ดที่ไม่แก่ หรือ อ่อนจนเกินไป (เถาเพสลาก) ประมาณ 1-1.5 ฟุต (2.5 คืบ) หรือเถา น้ำหนัก 30-40 กรัม โดยตำ เติมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำดื่ม หรือ ต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน หรือ บดเป็นผง ทำให้เป็นลูกกลอนรับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า เย็น

           รักษาอาการเบื่ออาหาร : ใช้เถาที่โตเต็มที่ ประมาณ 1-1.5 ฟุต (2.5 คืบ) น้ำหนัก หรือ เถา 30-40 กรัม โดยตำ เติมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำ หรือ ต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน หรือ บดเป็นผง ทำให้เป็นลูกกลอนรับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า เย็น ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยการใช้บอระเพ็ด / เมล็ดข่อย / หัวแห้วหมู / เมล็ดพริกไทย / เปลือกต้นทิ้งถ่อน / เปลือกต้นตะโกนา ในสัดส่วนเท่ากันนำมาบดเป็นผง ปั้นเป็นยาลูกกลอนเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานก่อนนอนครั้งละ 2-3 เม็ด หรือ จะนำเถาบอระเพ็ดมาหั่นตากแห้งแล้วนำมาบดให้เป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนก็ได้  ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้เถาสดที่โตเต็มที่ตากแห้งแล้วบดเป็นผง นำมาชงน้ำร้อนดื่มครั้งละ 1 ช้อน เช้าและเย็นแก้โรคกระเพาะอาหารด้วยการใช้บอระเพ็ด 5 ส่วน / มะขามเปียก 7 ส่วน / เกลือ 3 ส่วน / น้ำผึ้งพอควร นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วรับประทานก่อนอาหาร 3 เวลา นำทุกส่วนของบอระเพ็ด (เถา, ใบ, ราก) มาบดแล้วใช้ประคบฝี เพื่อลดน้ำหนอง, ลดอาการปวดบวม หรือ แผล(สำหรับห้ามเลือด) 

ต้นบอระเพ็ด

บอระเพ็ด

ลักษณะทั่วไปของบอระเพ็ด

บอระเพ็ด จัดเป็น ไม้เลื้อย เนื้อแข็ง ไม่มีขน ยาวถึง 15 เมตร เถากลม ขรุขระไม่เรียบ เป็นปุ่มเปลือกของเถาบางลอกออกได้ เป็นปุ่มกระจายทั่วไป เมื่อแก่เห็นปุ่มปมเหล่านี้หนาแน่น และชัดเจนมาก เปลือกเถา คล้ายเยื่อกระดาษ มียางขาว ใส เถามีรสขมจัด สีเทาแกมเหลือง มีรากอากาศคล้ายเส้นด้ายยาว กลม ยาว สีน้ำตาลเข้ม ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ มักเป็นรูปหัวใจ รูปไข่กว้าง หรือรูปกลม กว้าง 6-12 เซนติเมตร ยาว 7-14 เซนติเมตร โคนเรียวแหลมยาว ปลายจักเป็นรูปหัวใจลึก หรือ ตื้น เนื้อคล้ายแผ่นกระดาษบาง มักมีต่อม ใบด้านล่างบางครั้งพบต่อมแบนตามโคนง่ามของเส้นใบ เส้นใบออกจากโคนใบรูปฝ่ามือมี 3-5 เส้น และมีเส้นแขนงใบอีก 1-3 คู่ ก้านใบยาว 5-15 เซนติเมตร บวมพอง และเป็นข้องอ ดอกออกเป็นช่อตามกิ่งแก่ๆ ที่ไม่มีใบ มักออกดอกเมื่อใบหลุดร่วงหมด มี 2-3 ช่อ เล็กเรียว ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอมเหลือง ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันอยู่ต่างดอก ช่อดอกเพศผู้ ยาว 5-9 เซนติเมตร ดอกมี 1-3 ดอก ติดเป็นกระจุก ดอกเพศผู้ มีก้านดอกย่อยเล็กเรียว ยาว 2-4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน วงนอกมี 3 กลีบ รูปไข่ หนาที่โคน ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร วงในมี 3 กลีบ รูปไข่กลับ มีก้านกลม หรือโคนแหลม ยาว 3-4 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 3 กลีบ กลีบวงนอกเท่านั้นที่เจริญขึ้น รูปใบหอกกลับแคบ แบน ไม่มีตุ่ม ยาว 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบวงในลดรูป เกสรเพศผู้มี 6 อัน ยาว 2 มิลลิเมตร ช่อดอกเพศเมีย ยาว 2-6 มิลลิเมตร ดอกส่วนมากเกิดเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยง และกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้ปลอมมี 6 อัน เป็นรูปลิ่มแคบ ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมี 3 อัน ทรงรี ยาว 2 มิลลิเมตร ยอดเกสรเพศเมียเป็นพูสั้นมาก ผลออกเป็นช่อ มีก้านช่อยาว 1.5-2 เซนติเมตร มีก้านผลเป็นรูปกึ่งปิรามิด ยาว 2-3 มิลลิเมตร ใต้ลงมาเป็นกลีบเลี้ยงที่ติดแน่น รูปไข่ ยาว 2 มิลลิเมตร โค้งกลับ ผลสด เมื่อสุกมีสีเหลืองหรือสีส้ม ทรงรี ยาว 2 เซนติเมตร ผนังผลชั้นในสีขาว ทรงรี กว้าง 7-9 มิลลิเมตร ยาว 11-13 มิลลิเมตร ผิวย่นเล็กน้อย หรือ เกือบเรียบ มีสันที่ด้านบนชัด มีช่องเปิดรูปรีเล็กที่ด้านบน ออกดอกปลายเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ติดผลราวเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม


การขยายพันธุ์บอระเพ็ด

การขยายพันธุ์บอระเพ็ดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง การเพาะเมล็ดนั้นจะต้องใช้เมล็ดจากผลที่สุกจัด ผลมีสีเหลืองเข้ม ยิ่งเป็นผลที่ร่วงแล้วยิ่งดี จากนั้น นำผลมาตากแดดให้แห้ง นาน 15-20 วัน และเก็บไว้ในร่มก่อนจนถึงต้นฤดูฝนจึงนำออกมาเพาะในถุงเพาะชำ หรือ ใช้หยอดปลูกตามจุดที่ต้องการ การปลูกด้วยเมล็ดนี้ จะได้เครือบอระเพ็ด ที่ใหญ่ยาวมากกว่าการปักชำ การปักชำเถา เป็นวิธีหนึ่งที่สะดวกรวดเร็ว ด้วยการตัดเถาบอระเพ็ดที่แก่จัด เถามีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป ตัดเถายาว 20-30 เซนติเมตร หลังจากนั้น ค่อยนำลงปักชำในถุง หรือ กระถาง วิธีนี้ จะได้ต้นที่งอกใหม่ภายใน 15-30 วัน แต่ลำต้นมักมีเครือไม่ยาวเหมือนการเพาะเมล็ด แต่ไม่แตกต่างกันมากนัก


องค์ประกอบทางเคมี

  1. สารขมชื่อ picroretin, columbin, picroretroside, tinosporide, tinosporidine
  2. สารกลุ่มไตรเทอปีนอยส์ เช่น Borapetosides (Borapetoside A, Borapetoside B, Borapetol A), Tinocrisposide, tinosporan
  3. สารกลุ่มอัลคาลอยด์ เช่น N-formylannonaine, N-acetylnornuciferine เป็นต้น
  4. สารประเภทอามีนที่พบ เช่น N-trans-feruloyl tyramine, N-cis-feruloyl tyramine
  5. สารฟีนอสิคไกลโคไซด์ เช่น tinoluberide
  6. สารอื่นๆ เช่น berberine, β-sitostero

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของบอระเพ็ด

                Borapetoside A                             Borapetoside B

              บอระเพชร

ที่มา : wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของบอระเพ็ด

ฤทธิ์ลดไข้ มีผู้ทำการศึกษาฤทธิ์ลดไข้ของบอระเพ็ด โดยทดลองกับสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยสารต่างๆ ได้แก่ การทดลองกรอกสารสกัดบอระเพ็ด ด้วยอัลกอฮอล์และน้ำ (1:1) ให้กระต่ายที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยยีสต์ พบว่าสารสกัดไม่มีฤทธิ์ลดไข้ บุญเทียม และคณะ ได้ทดลองให้สารสกัดบอระเพ็ดด้วยน้ำกับหนูเพศผู้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วยวัคซีนไทฟอยด์ในขนาด 100 มก./กก. โดยการผสมกับน้ำดื่ม พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดไข้ และต่อมาได้ทำการทดลองโดยให้สารสกัดบอระเพ็ดกับกระต่าย และหนูขาวเพศผู้ที่เหนี่ยวนำให้เกิดไข้ด้วย LPS (Lipopolysaccharide) ในขนาด 200 มก./กก. และ 600 มก./กก. ตามลำดับ พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดไข้ได้เช่นเดียวกัน จากการศึกษาเชื่อว่ากลไกในการยับยั้งการเกิดไข้ของสารสกัดบอระเพ็ดน่าจะเกิดขึ้นจากการไปยับยั้งการสร้าง interleukin-1 หรือ prostaglandins (PGs) ซึ่งกลไกนี้เป็นกลไกที่อยู่ในระบบ CNS นอกจากนี้ยังมีผู้พบว่าส่วนสกัดด้วยบิวทานอลมีฤทธิ์ลดไข้ ไม่มีการทดลองแยกสารออกฤทธิ์ลดไข้จากบอระเพ็ด แต่มีรายงานฤทธิ์ลดไข้ของสารที่พบในบอระเพ็ด คือ berberine เมื่อป้อนให้หนูในขนาด 10 มก./กก. และ b-sitosterol ซึ่งออกฤทธิ์ในขนาด 160 มก./กก.

            ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีผู้ทำการศึกษาฤทธิ์ลดการอักเสบของชาชงบอระเพ็ด โดยการกรอกให้แกะเพศผู้ (ตอน) ในขนาด 8 มล./ตัว พบว่าชาชงบอระเพ็ดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบเทียบเท่ากับแอสไพริน 30 มก./น้ำหนักตัว 200 ก. Higashino และคณะ ได้ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเถาบอระเพ็ดด้วยเมทานอล (50%) กับหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วย carrageenin โดยให้กินสารสกัดในขนาด 10 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยส่วนสกัดด้วยบิวทานอลออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด ไม่ว่าจะให้โดยการกิน ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง  หรือ ฉีดเข้าช่องท้อง และพบว่าส่วนสกัดในขนาด 3 มก./กก. เมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังมีฤทธิ์เทียบเท่ากับ sulpyrine 250 มก./กก. และ diphenhydramine 10 มก./กก.

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสาร borapetosides A การศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสาร borapetosides A สารสำคัญที่พบในต้นบอระเพ็ด โดยการฉีด borapetosides A ให้แก่หนูเม้าส์ที่เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 และหนูเม้าส์ปกติ วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน พบว่า borapetosides A จะช่วยเพิ่มระดับของไกลโคเจน และลดน้ำตาลในเลือดได้ทั้งหนูปกติ และหนูที่เป็นเบาหวาน โดยฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของ borapetosides A เกี่ยวข้องกับการเพิ่มปริมาณอินซูลินในหนูปกติ และหนูที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ไม่มีผลต่อระดับอินซูลินในหนูที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นอกจากนี้ยังพบว่าสาร borapetosides A กระตุ้นการสังเคราะห์ไกลโคเจนในเซลล์เนื้อกล้ามเนื้อ รวมทั้งลดการแสดงออกของโปรตีน phosphoenolpyruvate carboxylase ที่เพิ่มขึ้นจากการเป็นเบาหวานได้ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสาร borapetosides A จากต้นบอระเพ็ดสามารถออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ทั้งชนิดที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับอินซูลิน โดยผ่านกลไกกระตุ้นการใช้กลูโคสของกล้ามเนื้อ ลดการสะสมน้ำตาลในเซลล์ และกระตุ้นการสร้างอินซูลิน

           การทดลองในสัตว์ทดลองพบว่าบอระเพ็ดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานโดยให้ทานบอระเพ็ด วันละ 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าช่วยลดระดับน้ำตาลได้ แต่ขณะทำการทดลองผู้ป่วยหลายรายมีอาการตับอักเสบ  พบว่าการใช้บอระเพ็ดในขนาดสูงและติดต่อกันนานจะเป็นพิษต่อตับ และไต มีรายงานการวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่าเมื่อให้อาสาสมัครสุขภาพดี 12 ราย กินบอระเพ็ดขนาด 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 8 สัปดาห์ พบว่าแนวโน้มทำให้ระดับเอนไซม์ในตับเพิ่มขึ้น แสดงว่ามีแนวโน้มจะทำให้เกิดพิษต่อตับ


การศึกษาทางพิษวิทยาของบอระเพ็ด

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเถาด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,786 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ เมื่อป้อนสารสกัดด้วยเอทานอล ให้หนูถีบจักร ขนาด 4 ก./กก. เทียบเท่าผงยาแห้ง 28.95 ก./กก. ไม่ทำให้เกิดอาการพิษ การศึกษาพิษเรื้อรัง พบว่าเมื่อป้อนสารสกัดด้วยเอทานอล ให้หนูขาวพันธุ์วิสตาร์ทั้ง 2 เพศ ในขนาด 0.02, 0.16 และ 1.28 ก./กก./วัน หรือ เทียบเท่าผงแห้ง 0.145, 1.16 และ 9.26 ก./กก. เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าหนูขาวทั้งสองเพศที่ได้รับสารสกัดในขนาด 1.28 ก./กก. มีผลทำให้น้ำหนักหนูต่ำกว่ากลุ่มควบคุม และเกิดอาการผิดปกติของการทำงานของตับ และไตได้ มีแพทย์ผู้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ลดเบาหวานของบอระเพ็ด พบว่าผู้ป่วยมีอาการตับอักเสบหลายราย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ส่วนที่นิยมนำเถาบอระเพ็ดมาใช้ทำเป็นยาจะ คือ ส่วนของ “เถาเพสลาก” เพราะมีลักษณะไม่แก่หรืออ่อนเกินไปนัก และมีรสชาติขมจัด แต่ถ้าเป็นเถาแก่จะแตกแห้ง รสเฝื่อน ไม่ขม หรือ ถ้าอ่อนเกินไปก็จะมีรสไม่ขมมาก
  2. การศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี 12 คน ที่กินบอระเพ็ด ในขนาด 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 8 สัปดาห์ พบแนวโน้มระดับเอนไซม์ในตับเพิ่มขึ้นแสดงว่าน่าจะก่อให้เกิดพิษต่อตับ
  3. หากนำบอระเพ็ดมาใช้ และพบอาการผิดปกติของการทำงานตับ และไต ควรหยุดการใช้
  4. ห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะเอนไซม์ตับบกพร่อง หรือ ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคตับ หรือ โรคไต
  5. สมุนไพรบอระเพ็ด สำหรับการรับประทานในส่วนของรากอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจมีผลต่อหัวใจ เนื่องจากเป็นยารสขม สิ่งที่ต้องระวังก็ คือ ไม่ควรใช้ติดกันต่อเนื่องเกิน 1 เดือน ถ้าหากจำเป็นต้องใช้ในเดือนถัดไปก็ควรเว้นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ เป็นอย่างน้อยเพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสภาพได้ก่อน ถ้าใช้ไปแล้วมีอาการมือเท้าเย็น แขนขาหมดเรี่ยวแรงก็ควรหยุดรับประทาน

เอกสารอ้างอิง บอระเพ็ด
  • บอระเพ็ด. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล, ยุวดี วงษ์กระจ่าง และคณะ. รายงานฉบับสมบูรณ์ขององค์การเภสัชกรรม, 2541:18pp.
  • Higashino H, Suzuki A, Tanaka Y, Pootakham K. Inhibitory effects of Siamese Tinospora crispa extracts on the carrageenin-induced foot pad edema in rats (the 1st report). Nippon Yakurigaku Zasshi 1992;100(4):339-44.
  • บอระเพ็ด. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=vienpage&pid=64
  • Kongsaktrakoon B, Temsiririrkkul R, Suvitayavat W, Nakornchai S, Wongkrajang Y. The antipyretic effect of Tinospora crispa Mier ex Hook.f. & Thoms. Mahidol Univ J Pharm Sci 1994;21(1):1-6.
  • บอระเพ็ด. ชาสมุนไพรบรรเทาอาการไข้. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 3-5
  • กัมปนาท รื่นรมย์. ประสิทธิภาพและการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากบอระเพ็ดในการเป็นสารกำจัดแมลงต่อหนอนใยผัก (Plutella xylostella L.)
  • Sabir M, Akhter MH, Bhide NK. Further studies on pharmacology of berberine. Indian J Physiol Pharmacol 1978;22:9.
  • บอระเพ็ด ประโยชน์/สรรพคุณบอระเพ็ด. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
  • บุญส่ง คงคาทิพย์ และสมนึก วงศ์ทองการแยกสารออกฤทธิ์ฆ่าหนอนเจาะเสมอฝ้ายจากต้นบอระเพ็ดและการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างของสารกับการออกฤทธิ์
  • บอระเพ็ด. ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=76
  • ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสาร borapetosides A จากต้นบอระเพ็ด. ข่าวความเคลื่อนไหนสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  • Rivai Y. Antiinflammatory effects of Tinospora crispa (L) Miers ex Hook.f & Thoms stem infusion on rat. MS Thesis, Dept Pharm, Fac Math & Sci, Univ Andalas, Indonesia, 1987.
  • บอระเพ็ดกับเบาหวาน. กระทู้ถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.madplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6178
  • Gupta M, Nath R, Srivastava N, Shanker K, Kishor K, Bhargava KB. Anti-inflammatory and antipyretic activities of b-sitosterol. Planta Med 1980;39:157-63.
  • Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P. Study on toxicity of Thai medicinal plants. Bull Dept Med Sci 1971;12(2/4):36-65.
  • บอระเพ็ด. ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ. สำนังานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  • Chavalittumrong P, Attawish A, Chuthaputti A, Chuntapet P. Toxicological study of crude extract of Tinospora crispa Miers ex Hook.f. & Thoms. Thai J Pharm Sci 1997;21(4):199-210.