แก้วลืมวาง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

แก้วลืมวาง งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แก้วลืมวาง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผีเสื้อ, ดอกผีเสื้อ (ไทย, ทั่วไป), เก็งซุ้งล้อ, ฉวีม่าย, ฉวีไม่, สืองู (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dianthus chinensis Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dianthus altaicus Willd.ex Ledeb.
ชื่อสามัญ Chinese pink, Rainbow pink
วงศ์ CARYOPHYLLACEAE


ถิ่นกำเนิดแก้วลืมวาง

แก้วลืมวาง จัดเป็นพืชในวงศ์คาร์เนชั่น (CARYOPHYLLACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตอบอุ่นของทวีปเอเชีย เช่นใน จีนตอนเหนือ, มองโกเลีย, เกาหลี, ญี่ปุ่น รวมถึงทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัสเซีย ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตอบอุ่นต่างๆ ของโลก เช่นในยุโรป และอเมริกา สำหรับในประเทศไทยพบแก้วลืมวาง การนำมาปลูกเป็นไม้กระถางเพื่อประดับตกแต่งตามอาคารสถานที่ต่างๆ บ้างประปราย


ประโยชน์และสรรพคุณแก้วลืมวาง

  1. เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อหัวใจ
  2. แก้กระเพาะปัสสาวะ
  3. แก้ลำไส้เล็ก
  4. ใช้แก้ร้อนใน
  5. แก้กระหายน้ำ
  6. ช่วยขับปัสสาวะ
  7. แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  8. รักษานิ่ว ในทางเดินปัสสาวะ
  9. ใช้ขับระดูในสตรี
  10. แก้โรคหนองใน (โกโนเรีย) 
  11. รักษาฝี
  12. รักษาบาดแผล
  13. แก้แผลเน่าเปื่อย
  14. แก้โรคผิวหนังผดผื่นคัน
  15. แก้โรคมะเร็งผิวหนัง
  16. แก้โรคเรื้อน
  17. แก้ไอ
  18. ใช้แก้หนองใน
  19. ช่วยลดอาการบวม

           แก้วลืมวาง ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเพื่อเป็นไม้ประดับและไม้กระถาง เพื่อใช้ตกแต่งอาคารสถานที่ สวนสาธารณะ หรือ ตามสถานที่สำคัญต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการนำแก้วลืมวาง มาใช้เป็นยาสมุนไพร


รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

  • ใช้แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ขับระดูในสตรี แก้โรคหนองใน (โกโนเรีย) โดยนำทั้งต้นแก้วลืมวาง แห้ง 5-12 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ลดอาการบวม โดยนำทั้งต้นแก้วลืมวางแห้ง 100 กรัม มาแช่ในน้ำร้อน 1 ชั่วโมง แล้วนำมาดื่ม
  • ใช้แก้ฝี โดยนำทั้งต้นแก้วลืมวางสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้รักษาบาดแผล แก้แผลเน่าเปื่อย แก้ผดผื่นคัน โดยนำต้นแก้วลืมวางสดมาตำ หรือ คั้นเอาน้ำมาล้างบาดแผล
  • ส่วนในเกาหลี มีการใช้แก้วลืมวาง แก้ไอ ขับปัสสาวะ ขับระดู ใช้แก้หนองใน อีกด้วย


ลักษณะทั่วไปของแก้วลืมวาง

แก้วลืมวางจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุปีเดียว ลำต้นตั้งตรงมีความสูง 30-50 เซนติเมตร ลำต้นมีขนาดเล็ก สีเขียว ผิวลำต้นเรียบ มักแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มจำนวนมาก ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็กดอกเรียงเป็นคู่ ตรงข้ามกัน โคนใบเชื่อมติดกัน ไม่มีก้านใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอกแคบ ปลายใบแหลม รอบใบเรียบไม่มีหยัก แผ่นใบบางเรียบสีเขียวอ่อน ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายยอด ใน 1 ช่อจะมีดอกย่อย 1-3 ดอก ดอกย่อยมีกลีบดอกยาว 16-25 มิลลิเมตร ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 2-2.5 เซนติเมตร ปลายกลีบแยกออกจากันเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ขอบกลีบดอกหยักเป็นซี่ ๆ ห่างกันโดยดอกจะมีหลากหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ เช่น สีแดงแกมขาว สีแดงสีม่วงอ่อน สีแดงแกมสีแดงดำ และบริเวณกลางดอกจะมีเกสรเพศผู้ 10 อัน และท่อเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 2 แฉก นอกจากนี้ยังมีกลีบรองกลีบดอก ยาว 16-24 เซนติเมตร อีกด้วย ผลเป็นผลแห้งแบบแคปซูลอยู่ในโคนกลีบ บริเวณปลายผลหยักเป็นซี่เลื่อย มี 4 ซีก เมื่อผลแห้งจะแตกออกด้านใน มีเมล็ดแบนกลมสีดำหลายเมล็ด


การขยายพันธุ์แก้วลืมวาง

แก้วลืมวางสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด โดยแก้วลืมวางจะสามารถเจริญเติบโตได้ในดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำได้ดี เป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น ความชื้นปานกลางแต่ก็ชอบแสงแดดตลอดวัน และไม่ชอบอากาศร้อนจนเกินไป สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูก แก้วลืมวางนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกพืชล้มลุกเมื่องหนาวอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนเหนือดินรวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากดอกระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของแก้วลืมวางระบุว่า พบสาร Astragalin, Clitorin, Isoorientin, Kurarinone, jopanin , 1-O-Vanilloylglucose  , Kaempferol glucosides 1-6, methyl ferulate, luteolin-3’-O-glucoside, luteolin-4’-O-glucoside, genistein 8-C-apiosyl glucoside และ apigenin 8-C-xylosyl glucoside เป็นต้น

            ส่วนสารที่มีรายงานว่าพบน้ำมันระเหยจากส่วนดอก ได้แก่ Eugenol , melosides A,L , Phenytethylalcohol, dianchinenoside A-D , Benzyl benzoate, Benzyl salicylate และ Methyl salicylate


การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแก้วลืมวาง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดน้ำจากส่วนของทั้งต้น และสารสกัดจากทั้งต้นของแก้วลืมวาง พบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

            มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่า เมื่อให้ยาต้มจากทั้งต้นของแก้วลืมวางในขนาด 2 กรัม/กิโลกรัม ทาปากแก่กระต่าย พบว่าปริมาณปัสสาวะเพิ่มขึ้นและเพิ่มการขับคลอไรด์ได้อีกด้วย และเมื่อนำยาต้มดังกล่าวมาฉีดเข้ากระเพาะอาหารของกระต่ายในปริมาณ 2 กรัม/กิโลกรัม พบว่าภายใน 6 ชั่วโมงกระต่ายจะมีปัสสาวะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2.5 เท่าของปกติ นอกจากนี้ยังมีการน้ำต้มจากทั้งของแก้วลืมวางมาใช้ทดสอบในสุนัข พบว่ายาต้มมีฤทธิ์เพิ่มปริมาณปัสสาวะในสุนัขที่สลบ เท่ากับ 1-2.5 และ 5-8 เท่า ตามลำดับ โดยกลไกการออกฤทธิ์อาจเนื่องจากไพแทสเซียมที่มีมากในยาต้มนี้  นอกจากนี้ยาต้มยังมีฤทธิ์กระตุ้นสำไส้ที่แยกจากตัวกระต่าย และลำไส้ที่ไม่ได้แยกจากตัวอีกด้วย

            นอกจากนี้สารสกัดแอลกอฮอล์จากทั้งต้นของแก้วลืมวางยังมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกกระต่ายที่ทำให้สลบ ส่วนยาต้มที่เตรียมจากช่อดอกของแก้วลืมวาง พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของหัวใจที่แยกจากกายกบและกระต่าย ส่วนอีกรายงานหนึ่งระบุว่าเมื่อฉีดยาต้มจากช่อดอกในขนาด 0.5 กรัม/กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำสุนัขที่ทำให้สลบ พบว่าทำให้ความดันโลหิตลดลงอีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแก้วลืมวาง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้แก้วลืมวางเป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการับประทานเนื่องจากมีฤทธิ์บีบตัวของมดลูก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพดีหากจะนำแก้วลืมวางมาใช้เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง แก้วลืมวาง
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์,แก้วลืมวาง,หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า94.
  2. Bensky D, Gamble A. Chinese Herbal Medicine: Materia Medica. Revised ed.Washington: Eastland Press Inc.,
  3. 1993.ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.แก้วลืมวาง,หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย,ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.หน้า76-77.
  4. The State Pharmacopocia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People's Republic of China. Vol. 1.English ed. Beijing: People's Medical Publishing House, 2005.
  5. Yan, X., Yang, Y., Hu, F., Zhang, Z., & Zhang, L. (2021). Phytochemistry, pharmacological effects, and application of Dianthus superbus and Dianthus chinensis: A review. Frontiers in Pharmacology, 12, 729880.
  6. Li, S., & Zhang, Q. (2020). Safety assessment of long-term use of Dianthus chinensis as traditional medicine. Toxicology Reports, 7, 1632-1638.
  7. Park, H. R., & Lee, S. J. (2021). Isolation and identification of flavonoids from Dianthus chinensis flowers. Molecules, 26(14), 4213.
  8. Zhang, Y., & Xu, Z. (2017). Toxicological evaluation of Dianthus chinensis L. extract on reproductive function in animal models. Regulatory Toxicology and Pharmacology, 91, 187-193.
  9. Zhu Y. Chinese Materia Medica: Chemistry, Pharmacology and Applications. Amsterdam: Harwood Academic Publishers 1998.
  10. Li, J., Zhou, H., & Zhao, Y. (2016). Pharmacognostical identification of Qumai (Dianthus chinensis L.) and related species in Chinese Materia Medica. Journal of Ethnopharmacology, 194, 221-227.
  11. Lee, K. M., Cho, I. H., & Kim, J. S. (2019). Induction of apoptosis by ethanol extract of Dianthus chinensis in HepG2 cells. Journal of Ethnopharmacology, 235, 208-216.
  12. Park, D. H., & Lee, H. Y. (2022). Hypolipidemic effect of Dianthus chinensis extract in high-fat diet-induced rats. Journal of Functional Foods, 89, 104931.
  13. Chen JK, Chen TT. Chinese Medical Herbology and Pharmacology. CA: Art of Medicine Press Inc., 2004.
  14. Song, M., & Li, Z. (2018). Chemical constituents from Dianthus chinensis L. Chemistry of Natural Compounds, 54(3), 496-498.
  15. Li, C. Y., & Wang, X. (2015). Diuretic and uterine contraction activities of Dianthus chinensis extracts. Chinese Journal of Integrative Medicine, 21(5), 345-351.