เกล็ดนาคราช ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เกล็ดนาคราช งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เกล็ดนาคราช
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เบี้ยไม้, ม้าถีบลม, กีบมะรุม (ภาคเหนือ), เถานาคราช, เถาเกล็ดนาคราช (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dischidia imbricata (Blume) Steud.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dischidia depressa C.B.Clarke ex King & Gamble, Conchophyllum imbricatum Blume.
วงศ์ ASCLEPIADACEAE


ถิ่นกำเนิดเกล็ดนาคราช

เกล็ดนาคราช จัดเป็นพืชในวงศ์ นมตำเลีย (ASCLEPIADACAEA) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ในพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา จีนตอนใต้ รวมถึงในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเกล็ดนาคราช ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณบนต้นไม้ในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณเกล็ดนาคราช

  1. แก้ไข้
  2. ใช้เป็นยาถอนพิษไข้
  3. แก้พิษไข้กาฬ
  4. แก้พิษตานซาง
  5. แก้ปวดบวมตามร่างกาย
  6. แก้อักเสบ
  7. แก้ปวดบวม
  8. แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  9. ใช้แก้แผลพุพอง
  10. ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน
  11. ใช้แก้ปวดเอว
  12. แก้ปวดสันหลัง
  13. แก้เส้นเอ็น
  14. แก้ระดูไม่ปกติ
  15. ช่วยขับระดูในสตรี

           เกล็ดนาคราช ถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรในประเทศไทยมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาถอนพิษไข้ พิษไข้กาฬ พิษตานซาง แก้ปวดบวมตามร่างกาย โดยนำทั้งต้นเกล็ดนาคราช มาต้มกับน้ำดื่มและใช้อมควบคู่ไปด้วย
  • ใช้แก้อาการปวดเอว แก้ปวดสันหลัง แก้ปวดเส้นเอ็น แก้เลือดระดูไม่ปกติ ขับเลือดระดูของสตรี โดยนำเกล็ดนาคราช เอามาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปคั่วไฟให้เหลือง ใช้ดองกับเหล้าดื่มวันละเป๊ก
  • ใช้รักษาพิษแมงป่อง พิษตะขาบ และพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยนำเถาเกล็ดนาคราชสดมาฝนกับเหล้าทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้กลากเกลื้อน โดยนำน้ำคั้นจากใบเกล็ดนาคราชสดมาทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้แผลพุพองทั่วไป โดยนำใบเกล็ดนาคราช สดมาตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของเกล็ดนาคราช

เกล็ดนาคราช จัดเป็นไม้ล้มลุก หรือ ไม้เลื้อยอิงอาศัยเกาะได้ไปตามต้นไม้อื่นและจะมีเกล็ดเล็กๆ ลายตลอดเถา เป็นสีด่างๆ เหลืองขาว ลำต้นมีลักษณะเล็กเรียว เป็นข้อๆ และมีรากลักษณะเป็นฝอยเล็กๆ ออกดอกตามข้อเถาเป็นกระจุก โดยทุกส่วนจะมีน้ำยางสีขาว

           ใบเกล็ดนาคราช เป็นใบเดี่ยวแตกออกมาตามเถาเป็นตอนๆ ตรงข้ามข้อของลำต้นใบเป็นรูปโค้งคล้ายกระทะคว่ำ อวบน้ำมีขนาดกว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 1.5-4 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวอ่อน หรือ เขียวอมเหลือง สีแดงคล้ำ ขอบใบสีเขียว มักเกยขึ้นเล็กน้อย เนื้อใบมีลักษณะเป็นตุ่ม เหมือนกับมีถุงลมอยู่ข้างใน มีก้านใบยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร อยู่ด้านล่าง

           ดอกเกล็ดนาคราช ออกเป็นช่อกระจะขนาดเล็ก โดยจะออกบริเวณซอกใบโดยใน 1 ช่อดอก จะมีก้านช่อดอกยาว 4 เซนติเมตร ปลายก้านเป็นแกนช่อดอกแยกได้ 2-4 แกน ส่วนดอกย่อยจะออกบริเวณปลายสูงของแกนประมาณ 1-5 ดอก ดอกเกล็ดนาคราช มีขนาดเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปโคนโท หรือ รูปไข่ กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ปลายแยก 5 แฉก แต่ละแฉกเล็กประมาณ 1 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว หรือ สีเหลืองอ่อน ข้างในกลีบดอกมีขนยาวสีขาวและมีเกสรเพศผู้ 5 อัน เชื่อมติดกัน รังไข่มี 2 อัน แยกออกจากกัน แต่ติดกันตรงปลาย ส่วนก้านดอกย่อยจะยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร

           ผลเกล็ดนาคราช ออกเป็นฝักลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาว 2-3 เซนติเมตร ฝักมีสีเขียวเมื่อฝักแก่จะแตกออกแนวเดียว ด้านในฝักจะมีเมล็ดขนาดเล็ก สีน้ำตาล จำนวนมาก โดยเมล็ดจะมีขนยาวเป็นพู่สีขาวที่ปลายด้านหนึ่ง

เกล็ดนาคราช
เกล็ดนาคราช

การขยายพันธุ์เกล็ดนาคราช

เกล็ดนาคราช สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกลำต้น ซึ่งการขยายพันธุ์ของเกล็ดนาคราชนั้น โดยทั้งหมดจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ เนื่องจากไม่พบข้อมูลการนำเกล็ดนาคราชมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์และในส่วนที่พบเจอเกล็ดนาคราช ทั้งหมดก็จะเป็นการเกิดขึ้นเองบนต้นไม้ในธรรมชาติเท่านั้น สำหรับวิธีการแยกลำต้นเกล็ดนาคราชนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการแยกต้นปลูกของพืชไม้เลื้อย หรือ ไม้เลื้อยอิงอาศัยชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนใบของเกล็ดนาคราช ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ß-amyrin, friedelin, lupeol, lupenone, Dischidiol, Disformone, 3α‑hydroxyglutin-5-en, 30-norcyclopterospemol, capnesterone A, B, 4β-hydroxy-24-methylene-5-cholesten-7-one, gorgostan-5, 25-dien-3β-ol, 3β‑hydroxy-24-methylene-5-cholesten-7-one รวมถึงสารในกลุ่ม Flavonoids เช่น isovitexin และ 2-O-rhamnosyivitexin เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเกล็ดนาคราช

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากใบของเกล็ดนาคราชระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชหลายประการดังนี้

          มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่า สาร isovitexin และ 2-O-rhamnosylvitexin ที่สกัดได้จากส่วนใบของเกล็ดนาคราช แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (free radical scavenging )> 90%โดยเข้าไปช่วยลดการผลิต ROS, TNF-α, IL-6, myeloperoxidase, malondialdehyde และยับยั้งเอนไซม์ iNOS/COX‑2 ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบในงานวิจัยแบบ in vivo/in vitro ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ยังได้ระบุว่าสารสกัดเกล็ดนาคราช จากส่วนใบของเกล็ดนาคราชยังมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านแบคทีเรีย และต้านเชื้อราได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเกล็ดนาคราช

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ห้ามใช้เกล็ดนาคราช เป็นยาสมุนไพร เนื่องจากมีสรรพคุณขับระดู ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับการใช้ในบุคคลกลุ่มอื่นๆ ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง เกล็ดนาคราช
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.เกล็ดนาคราช, หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 74. 
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืชอักษร ก. กรุงเทพมหานคร. เพื่อนพิมพ์.
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. เถาเกล็ดนาคราช, หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า340-341. 
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพรเขตอีสานใต้ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. เกล็ดนาคราช. (ออนไลน์). 2025, แหล่งที่มา: https://phar.ubu.ac.th/herb-DetailPhargarden/16.
  5. Krumsri R. et al. (2019). Evaluation of the Allelopathic Potential of Leaf Extracts from Dischidia imbricata. Notulae Botanicae Horti Agrobotanici Cluj-Napoca, 47(4):1019-1024.
  6. Chen S. et al. (1993). “Disformone and dischidiol from Dischidia formosana.” Phytochemistry, 34(3), 783-78