การะวานเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระวานเทศ งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระวานเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระวาน, กระวานแท้, กระวานขาว, ลูกเอ็น, ลูกเอล (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Eletteria cardamomum (L.) Maton
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์

  • Amomum cardamomum L.
  • Amomum racemosum Lam., illegitimate superfluous name
  • Alpinia cardamomum (L.) Roxb.
  • Cardamomum officinale Salisb.
  • Zingiber cardamomum (L.) Stokes
  • Matonia cardamomum (L.) Stephenson & J.M.Churchill

ชื่อสามัญ Cadamom, Small cardamom
วงศ์ ZINGIBERACEAE


ถิ่นกำเนิดกระวานเทศ

กระวานเทศ จัดเป็นพืชในวงศ์ ขิง (ZINGIBERACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียใต้ บริเวณอินเดีย ศรีลังกา และบังกลาเทศ ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังมาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยพบกระวานเทศ การปลูกในบางพื้นที่เช่นใน อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอลานสกา และอำเภอพรหมคีรี ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และในจังหวัดจันทบุรี


ประโยชน์และสรรพคุณกระวานเทศ

  1. ใช้ขับลม ขับผายลม
  2. แก้ท้องอืดเฟ้อ 
  3. แก้อาการเกร็งของลำไส้
  4. ช่วยบำรุงธาตุ
  5. ช่วยเจริญอาหาร
  6. ช่วยกระจายโลหิต
  7. ช่วยขับเสมหะ
  8. ช่วยขับโลหิต
  9. แก้ลมในอกให้ปิดธาตุ
  10. แก้รำมะนาด หรือ โรคปริทันต์ (Periodontal Disease)
  11. ช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง
  12. ช่วยกระตุ้นจิตใจในผู้ที่มีภาวะอ่อนล้า
  13. แก้เกร็ง
  14. แก้อาเจียน
  15. ใช้ฟอกโลหิต
  16. แก้โลหิตเน่าเสีย
  17. แก้เสมหะให้ปิดธาตุ
  18. แก้ลม
  19. ใช้ขับพยาธิในเนื้อให้ออกทางผิวหนัง
  20. ใช้แก้ไข้
  21. แก้ผอมเหลือง
  22. แก้ไข้อันง่วงเหงา
  23. แก้ไข้อันเป็นอชินโรคและอชินธาตุ
  24. รักษาโรคผิวหนัง
  25. ใช้แก้ลมสันนิบาต
  26. แก้สันนิบาตลูกนก
  27. แก้ไข้เพื่อลม
  28. แก้ไข้เซื่องซึม
  29. แก้ลมเสมหะให้ปิดธาตุ
  30. แก้จุกเสียด

           กระวานเทศ จัดเป็นเครื่องเทศที่มีความสำคัญมากมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงขั้นมีการทำสงครามเครื่องเทศ โดยกองกำลังอังกฤษ ที่หมู่เกาะโมลุกกะของอินโดนีเซียและในปัจจุบันก็ยังเป็นเครื่องเทศที่มีราคาสูงมาก มีราคาต่อหน่วยของน้ำหนักเป็นอันดับสามรองจากหญ้าฝรั่น (Saffron) และวานิลลา (Vanilla) โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ทำเครื่องเทศ คือ ผลและเมล็ดแห้ง โดยนิยมใช้แต่งกลิ่นอาหารต่างๆ เช่น แต่งกลิ่นกาแฟ กลิ่นเค้ก เบเกอรี่ เหล้า เครื่องดื่ม น้ำซุปและน้ำพริกแกง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำกระวานเทศมาใช้แต่กลิ่นสบู่ น้ำหอม ผงซักฟอก รวมถึงนำมาใช้แต่งกลิ่นยาแผนปัจจุบันอีกด้วย ในส่วนของหน่ออ่อนของกระวานเทศ ก็ยังมีการนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด โดยได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

           นอกจากนี้กระวานเทศ ยังสามารถใช้เป็นส่วนประกอบในพิกัดยาไทย ได้อีกหลายตำรับ เช่น

  • พิกัดศรีธาตุ ที่ประกอบด้วย กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย มีสรรพคุณ แก้ธาตุพิการ แก้ลมเสมหะ แก้วิงเวียน บำรุงดวงจิต
  • พิกัดตรีทุราวสา ที่ประกอบด้วย ผลกระวาน ผลโหระพาเทศ ผลราชคัด มีสรรพคุณ แก้บิด บำรุงน้ำดี แก้ลม แก้พิษตานขาว

           ส่วนในประเทศจีนและอินเดีย มีการใช้กระวานเทศเป็นยาขับลมและรักษาอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ อีกทั้งในอังกฤษและอเมริกา ก็มีการใช้กระวานเทศ เป็นยาขับลม แต่งกลิ่นยาและมีการนำผลกระวานเทศมาผสมกับขิง ผงกานพลู และเทียนตากบ ใช้เป็นยาธาตุขับลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อีกด้วย

กระวานเทศ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร ขับลม ขับเสมหะ กระจายโลหิต ขับโลหิต แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ลำไส้เกร็ง โดยนำผลและเมล็ดกระวานเทศมาใช้ป่นเป็นเครื่องเทศประกอบอาหาร หรือ นำมาชงดื่มแบบชาก็ได้
  •  ใช้ฟอกโลหิต แก้โลหิตเน่าเสีย แก้ลม แก้เสมหะให้ปิดธาตุ แก้รำมะนาด หรือ โรคปริทันต์ (Periodontal Disease) โดยนำรากกระวานเทศมาต้มน้ำดื่มและกลั้วปาก
  • ใช้บำรุงธาตุ แก้ไข้ผอมเหลือง แก้ไข้อันง่วงเหงา ขับเสมหะ แก้ไข้อันเป็นอชินโรค และอชินธาตุ โดยนำเปลือกต้นกระวานเทศ มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้กระตุ้นจิตใจ กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้วิงเวียนศีรษะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โดยนำน้ำมันหอมระเหยจากผลและเมล็ดกระวานเทศ มาสูดดม หรือ ทาถูกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของกระวานเทศ

กระวานเทศ จัดเป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปีมีเหง้า หรือ หัวใต้ดินและมีลำต้นเทียมโผล่พันออกมาจากพื้นดินโดยทุกส่วนของลำต้นมีกลิ่นหอมและจะมีความสูงประมาณ 1-5 เมตร ในส่วนของลำต้นเทียมจะเกิดจากการซ้อมกันของกาบใบและจะแตกออกหลายต้นรวมกัน จนมีลักษณะเป็นกอ

           ใบกระวานเทศ เป็นใบเดี่ยวรูปหอกแกมรูปแถบแคบยาว 15-25 เซนติเมตร ปลายใบแหลมและจะออกแบบเรียงสลับกันเป็น 2 แถว โดยใน 1 ต้นจะมีใบ 10-20 ใบ ผิวใบด้านหลังมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบสีจะจางกว่า

           ดอกกระวานเทศ ออกเป็นช่อโดยจะชูออกจากเหง้า หรือ บริเวณโคนต้นขึ้นมาเหนือดินคอกเป็นรูปทรงกระบอก มีความยาว15-30 เซนติเมตร (รวมก้านช่อดอก) ใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อย 1-3 ดอก ลักษณะของดอกย่อยจะมีสีขาว หรือ สีเขียวอ่อน กลีบดอกเป็นหลอดแคบ กลีบบางส่วนของลาเบลลัมจะเป็นสีขาวและประด้วยขีดม่วง

           ผลกระวานเทศ เป็นผลสดมีลักษณะยาวรี รูปไข่ หัวท้ายแหลม ปลายผลงอน ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร ผลสดมีสีขาวนวล เมื่อผลแกและแห้งจะมีสีน้ำตาลเข้ม ด้านในผลมี 3 พู ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลอมดำรูปสามเหลี่ยมแบน จำนวนขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร 15-20 เมล็ด โดยผลและเมล็ดกระวานเทศ จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ส่วนเมล็ดจะมีรสเผ็ดหอมฉุน

กระวานเทศ
กระวานเทศ

การขยายพันธุ์กระวานเทศ

กระวานเทศ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีหลักๆ 2 วิธี คือ การแยกกอและการเพาะเมล็ด โดยวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ การแยกกอปลูก เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายใช้เวลาไม่นานและมีอัตราการรอดรวมถึงการเจริญเติบโตเร็วกว่าการเพาะกล้าจากเมล็ด สำหรับวิธีการแยกกอกระวานเทศ มาปลูกนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการแยกกอพืชล้มลุกในวงศ์ ขิง (ZIGIBERACEAE) ชนิดอื่นๆ เช่น ขิง, ข่า, กระชาย, กระวาน ฯลฯ ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของส่วนเหง้า ลำต้น และน้ำมันหอมระเหยจากส่วนผลของกระวานเทศ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดเมทานอล จากส่วนเหง้าและลำต้นพบสาร protocatechuic acid, syringic acid, caffeic acid และ 5‑O‑caffeoylquinic acid เป็นต้น ส่วนสารสกัดจากเอทานอลพบสาร kaempferol, quercetin, rosmarinic acid, ferulic acid, chrysin, galangin และ pinocembrine เป็นต้น

           ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนผลและเมล็ดกระวานเทศ จะมีลักษณะเป็นน้ำมันสีเหลืองอ่อน มีองค์ประกอบทางเคมี อาทิเช่น 1,8 cineol, alpha-terpinyl acetate, alpha-pinene, beta-pinene, sabinene, limonene, aipha-terpineol, terpinen-4-ol, linalyl acetate, geranyl acetate, geraniol, linalool, myrcene, menthone, nerolidol, nerol, beta-peta-phellandrene, beta-caryophyllene


การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระวานเทศ

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนผลและเหง้ากระวานเทศ รวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากส่วนผลระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหง้าและผลกระวานเทศ รวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าและผลมีฤทธิ์ลดการอักเสบในหนูทดลอง โดยลดการแสดงออกของยีน pro‑inflammatory (NF‑κB, TNF‑α, IL‑6, COX2) และ ROS ในเซลล์ลำไส้และเซลล์ macrophage ภายใต้ LPS stim. (ตัวกระตุ้นภูมิคุ้นกัน) โดยมีค่าเท่ากัน 200-800 µg/mL และสารสกัดเอทานอลจากเหง้าและผลกระวานเทศ ยังแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ โดยมีฤทธิ์ต้านเชื้อ B.subtilis, E.coli, C.albicans, S.aureus, A.tumigatus และ C.albicans ได้ โดยมีค่า MIC 6.25-12.5 mg/mL ส่วนสารสกัดกระวานเทศ จากผลและเมล็ดของกระวานเทศ พบว่ามีคุณสมบัติต้านเชื้อในแบคทีเรียในช่องปาก เช่น เชื้อ A.actinomycetemcomitans, F.nucleatum, P.gingivalis, P.intermedia ได้อีกด้วย

           ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยและการทดสอบฤทธิ์การยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร พบว่าเมื่อทดลองในหนูทดลองโดยเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหนู (rat) ด้วย เอทานอล พบว่า สารสกัดเมทานอลจากผลและเมล็ดของกระวานเทศในขนาด 500 มก./กก. ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 70% ส่วนสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ในขนาด 50 และ 100 มก./กก. ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 50% และเมื่อเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหนู ด้วย ยาแอสไพริน พบว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ในขนาด 12.5 มก./กก. สามารถลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 100% และที่ขนาดมากกว่า 12.5 มก./กก. โดยจะออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน รานิทิดีนที่ให้ในขนาด 50 มก./กก. และยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดความวิตกกังวลในแบบจำลอง PTSD ในหนู Wistar ของสารสกัดเมทานอลในขนาด (200-800 mg/kg) ผลกระวานเทศ พบว่าในขนาดสารสกัด 400 mg/kg แสดงฤทธิ์ลดความวิตกกังวลใน หนูทดลองในแบบ open‑field, elevated plus‑maze และ rotarod tests (P < 0.05) 

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาทางคลินิกแบบปกปิดสองทาง โดยมีการสุ่มและมียาหลอกเป็นกลุ่มควบคุม (double-blind randomized placebo controlled clinical trial) ในผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับ ที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์และมีภาวะอ้วน (ค่าดัชนีมวลกาย 25-35 กก./ตร.ม.) จำนวน 87 คน โดยสุ่มแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 43 คน รับประทานแคปซูลผงเมล็ดกระวานเขียว (green cardamom; Elettaria cardamomum) ในขนาด 500 มก. ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง พร้อมมื้ออาหารและกลุ่มที่ 2 จำนวน 44 คน รับประทานยาหลอก ซึ่งได้ทำการศึกษาเป็นเวลานาน 3 เดือน พบว่ากลุ่มที่ได้รับผงกระวาน มีระดับฮอร์โมน irisin คอเลสเตอรอลชนิด HDL และค่าความไวต่ออินซูลิน (Quantitative insulin sensitivity check index; QUICKI) เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ระดับอินซูลิน ไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลชนิด LDL และค่าความดื้อต่ออินซูลิน (Homeostasis model assessment-insulin resistance; HOMA-IR) ลดลง รวมถึงสามารถลดระดับไขมันสะสมในตับได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก อีกทั้งยังไม่พบผลของกระวานต่อระดับน้ำตาล คอเลสเตอรอลรวมและค่าดัชนีมวลกายของผู้ป่วย จากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่ากระวานสามารถช่วยปรับปรุงค่าไขมันสะสมในตับ ดัชนีน้ำตาลและไขมันในเลือด และระดับฮอร์โมน irisin ในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนได้


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระวานเทศ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดเอทานอลจากเมล็ดของกระวานเทศระบุว่า เมื่อให้หนูทดลองได้รับสารสกัดเอทานอลของเมล็ดกระวานเทศ ทางปากในขนาด 0.3 มก./กก. เป็นเวลา 7 วัน พบว่าเริ่มเกิดอาการพิษ คือ ทำให้หนูมีน้ำหนักตัวลดลง


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้กระวานเทศเป็นสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง กระวานเทศ
  1. สมใจ นครชัย, ยุวดี วงษ์กระจ่าง, ปราณี ใจอาจ. พิสมัย ทิพย์ธนทรัพย์, ปัญญา เต็มเจริญ. พิษวิทยาเมล็ดกระวานไทย, วารสารสมุนไพร ๑๙๙๕๒(๑) :๗-๑
  2. ณรงค์ โทณานนท์. 2538. กระวาน. พิมพ์ครั้งที่ 1.T.P.PRINT CO., LTD. กรุงเทพฯ. 48 หน้า.
  3. ภัสรา ชวประดิษฐ์, เฉลิมเกียรติ โภคาวัฒนา และปราณี บุญปาน. 2545. เครื่องเทศ: คู่มือ พืชสมุนไพร และเครื่องเทศ ชุดที่ 4. กอง ส่งเสริมพืชสวน กรมส่งเสริมการเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ. 39 หน้า,
  4. อรุณรัตน์ ทองคำ. (2563, สิงหาคม), กระวาน สมุนไพรมากคุณค่า. สารนครศรีธรรมราช, 50(8), 94-97.
  5. ผลของกระวานเขียวต่อระดับฮอร์โมน irsin ดัชนี. น้ำตาลและไขมันในผู้ป่วยไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอลล์. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ฐานข้อมูลเครื่องยาไทย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กระวานเทศ, (ออนไลน์), 2025, แหล่งที่มา https://phar.ubu.ac.th/herb-DetailThaicrudedrug/10
  7. Sreedharan S, Lekshmi M, Vishnu KS, et al. Phenolic compounds and antioxidant activity of Elettaria cardamomum (L.) Maton: In vitro and in silico perspectives. Nutrients. 2023;15(13):2965.
  8. Ravindran R, Rathinasamy SD, Muralidharan P. Evaluation of anxiolytic activity of Elettaria cardamomum (L.) Maton in posttraumatic stress disorder model in rats. Planta Med. 2016;82(3):236-244.
  9. Rao BRR, Kaul PN, Syamasundar KV, Ramesh S. Chemical profiles of essential oils of Indian and Guatemalan cardamoms. J Essent Oil Res. 2000;12(5): 491-498.
  10. Sharma A, Yadav KN, Srivastava M, et al. Antibacterial and anti-inflammatory potential of Elettaria cardamomum against periodontal pathogens: An in vitro study. J Herb Med. 2020;21:100337.
  11. Ashokkumar K, Murugan M, Dhanya MK, et al. Pharmacognostic, phytochemical and pharmacological properties of Elettaria cardamomum (L.) Maton -A review. J Ethnopharmacol. 2020;246:112244.
  12. Sowmya PRR, Narendhirakannan RT. Pharmacological and nutritional effects of Elettaria cardamomum: A review. J Pharm Res Int. 2023;35(6):33-42.
  13. Shah G, Shri R, Panchal V, et al. Scientific basis for the therapeutic use of Elettaria cardamomum (small cardamom) in gastrointestinal disorders. Phytother Res. 2011;25(4):531-536.
  14. Abdelaziz DH, Ali SA. The potential role of cardamom in modulating cyclophosphamide-induced toxicity and tumor growth in Ehrlich solid tumor-bearing mice. BMC Complement Med Ther. 2021;21:133.
  15. Baskaran K, Krishnan V, Kumar MS, et al. A review on Elettaria cardamomum (L.) Maton-its phytochemistry and pharmacological activity. Asian J Pharm Clin Res. 2020;13(1):8-13.
  16. Khan MA, Kumar V, Ahmad A, et al. Antidiarrheal and antispasmodic activities of cardamom essential oil via dual blockade of muscarinic receptors and calcium channels. Molecules. 2021;26(9):2546.