กระเบากลัก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กระเบากลัก งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กระเบากลัก
ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น กระเบาลิง, กระเรียน (ภาคกลาง), จ๊าเมี่ยง (ภาคเหนือ), กระเบาหิน (ภาคอีสาน), กระเบาซาวา, กระเบียน, กระเบาพนม, ขี้มอด (ภาคตะวันออก), หัวค่าง, คมขวาน, คูกช้าง (ภาคใต้), ปักกรวย, พะโลลูตุ้ม (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydnocarpus ilicifolius King
วงศ์ ACHARIACEAE
ถิ่นกำเนิดกระเบากลัก
กระเบากลัก จัดเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์กระเบา (ACHARIACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชียบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้เรื่อยมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ในอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าชายทะเล ป่าเบญจพรรณ และตามเขาหินปูนที่มีความสูงจะระดับน้ำทะเลจนถึง 800 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณกระเบากลัก
- ใช้ดับพิษทั้งปวง
- แก้เสมหะเป็นพิษ
- ช่วยรักษาแผล
- แก้โรคผิวหนัง
- ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนังต่างๆ
- แก้คุดทะราด
- แก้เรื้อน
- แก้มะเร็งผิวหนัง
- ใช้ทำยาถ่ายพยาธิ
- รักษาโรคผมร่วง
- ใช้แก้พิษบาดแผลสด
- แก้กลากเกลื้อน
- ช่วยฆ่าพยาธิบาดแผล
มีการนำเนื้อไม้ใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ทำกระดาน วงกบ หน้าต่าง ประตู ใช้ในงานแกะสลัก ทำด้านเครื่องมือทางการเกษตร หรือ เครื่องมือใช้สอยต่างๆ เมล็ด เปลือก ใบ และดอก จากกระเบากลัก มีการนำมาใช้สกัดเป็นน้ำมันกระเบา เนื้อในเมล็ดมีการนำไปบดสกัดเอาน้ำมันเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสบู่ เทียนไข น้ำมันใส่ผม และน้ำมันหล่อลื่น นอกจากนี้กระเบากลัก ยังเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ที่มีรูปทรงสวยงาม แผ่นใบหนา มีผลสีดำกำมะหยี่แปลกและสวยงาม จึงมีการนำกระเบากลัก มาปลูกเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงา หรือ ปลูกตกแต่งบริเวณบ้าน อาคารสถานที่ หรือ บริเวณสวนหย่อมต่างๆ อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้เป็นยาดับพิษทั้งปวง แก้เสมหะเป็นพิษ โดยนำรากและเนื้อไม้กระเบากลักมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ โดยนำเมล็ดกระเบากลักทุบพอแตกต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้พิษบาดแผล ฆ่าพยาธิบาดแผล และแก้กลากเกลื้อน โดยนำใบกระเบากลัก สดตำให้แหลกใช้ประคบ หรือ ทาบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้โรคผิวหนัง คุดทะราด เรื้อน มะเร็งผิวหนัง โดยนำเมล็ดกระเบากลักมาสกัดเป็นน้ำมันทาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของกระเบากลัก
กระเบากลัก จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-20 เมตร ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง เปลือกลำต้นเรียง หรือ อาจแตกล่อนเป็นสะเก็ดเล็กน้อย เปลือกต้นสีเทา เปลือกด้านในสีเขียวครีม กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุม เนื้อไม้ละเอียดเสี้ยนตรงมีสีขาวแกมเหลือง แก่นไม้สีเหลือง
ใบกระเบากลัก เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับบริเวณกิ่งลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน หรือ รูปใบหอก หรือ รูปไข่แกมใบหอก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7.5 เซนติเมตร ยาว 8-16 เซนติเมตร ปลายใบเรียว หรือ ค่อนข้างเรียวแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ หลังใบสีเขียวเข้มเรียบเป็นมันเช่นเดียวกับท้องใบเรียบ เนื้อใบกระเบากลัก สามารถมองเห็นเส้นแขนงใบเยืองกันข้างละ 6-9 เส้น ได้ชัดเจน ส่วนเส้นใบย่อยเป็นร่างแหทั่วทั้งใบและมีก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร
ดอกกระเบากลัก ออกเป็นช่อกระจุกบริเวณซอกใบ ช่อละประมาณ 2-10 ดอก โดยจะเป็นแบบแยกเพศต่างต้นมีก้านช่อดอกยาว 1-2 เซนติเมตร และมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นปกคลุมส่วนดอกย่อยมีสีขาว หรือ สีเหลืองอมเขียวมีกลีบดอก 4 กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดตื้นๆ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ปลายตัด มีขนที่ปลายกลีบ ส่วนด้านนอกเกลี้ยงและมีกลีบเลี้ยงที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 มิลลิเมตร จำนวน 4 กลีบ ลักษณะค่อนข้างกลม ดอกเพศผู้มีเกสรประมาณ 14-20 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น มีขน ส่วนดอกเพศเมีย จะมีเกสรเพศผู้เป็นหมันจำนวน 15 อัน รังไข่เป็นรูปไข่ สีขนสีน้ำตาลแดง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 4 แฉก
ผลกระเบากลัก เป็นผลสดออกเดี่ยวๆ บริเวณปลายกิ่งมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมเปลือกผลแข็งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-8 เซนติเมตร ผิวผลเรียบและมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่สีดำ หรือ สีน้ำตาลดำ ภายในผลมีเมล็ดสีขาวและมีเนื้อหุ้มเมล็ดอัดกันแน่นรวมกันประมาณ 10-15 เมล็ด ซึ่งลักษณะของเมล็ดจะเป็นรูปไข่มีขนาดกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.3-2.2 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์กระเบากลัก
กระเบากลัก สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด โดยการนำเมล็ดมาเพาะให้เป็นต้นกล้า แล้วจึงนำลงปลูก ในปัจจุบันเริ่มมีความนิยมนำเมล็ดกระเบากลักมาเพาะกล้าปลูกบ้างแล้ว เนื่องจากเริ่มมีความต้องการเนื้อไม้และน้ำมันจากเมล็ดของกระเบากลัก มากขึ้น สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกกระเบากลัก สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันจากเมล็ดและสารสกัดจากเมล็ดของกระเบากลัก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญต่างๆ ดังนี้
พบกรดไขมัน กลุ่ม Cyclopentenyl ประกอบด้วย chaulmoogric acid, hydnocarpic acid และ gorlic acid กลุ่ม Sterols เช่น ergosterol และพบสารกลุ่ม Flavonoids ได้แก่ hydnocarpin, isohydnocarpin, 5′-methoxyhydnocarpin, quercetin derivative และ kaempferol derivatives เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระเบากลัก
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดกระเบากลัก จากเมล็ดและใบของกระเบากลักระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีรายงานผลการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองระบุว่า สารกลุ่ม cyclopentenyl fatty acids ที่พบในน้ำมันจากเมล็ดของกระเบากลัก มีฤทธิ์ ยับยั้งเชื้อโรคเรื้อน (Mycobacterium leprae) และแบคทีเรียวัณโรค (M. tuberculosis) ส่วนสาร Hydnocarpin มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, E. coli และเชื้อราชนิดต่างๆ ได้
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ hydnocarpin ซึ่งเป็นสารกลุ่ม flavonoids ที่พบในเมล็ดของกระเบากลัก แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (DPPH, ABTS assays) และยังช่วยลดการอักเสบในเซลล์ทดลองอีกด้วย อีกทั้งสาร hydnocarpin ยังแสดงฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งหลายชนิด ยังมีฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งสูงกว่าเซลล์ปกติอีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระเบากลัก
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้กระเบากลัก เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง กระเบากลัก
- นิจศิริ เรืองรังสี และพะยอม ตันติวัฒน์. 2534.พืชสมุนไพร โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ
- ราชบัณฑิตยสถาน 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร. เพื่อนพิมพ์.
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังสี, กัญจนา ดีวิเศษ, กระเบากลัก, หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง, หน้า 60
- เต็ม สมิตินันท์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. กรุงเทพฯ 810 หน้า.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังสี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. กระเยากลัก (Kra Bao Klak) หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 33.
- Gupta, V. K., & Sharma, S. K. (2006).Chemical composition of oil from Hydnocarpus species.Journal of Medicinal and Aromatic Plant Sciences, 28, 55-60.
- Sahoo, N., Manchikanti, P., & Dey, S. (2014).Herbal drugs: Standards and regulation.Journal of Ethnopharmacology, 158, 413-421.
- De, B., & De, A. K. (2005).Antimicrobial activity of seed oils from Hydnocarpus species.Indian Journal of Experimental Biology, 43, 1093-1096.
- Sharma, N., & Sharma, R. K. (2015).Phytochemical screening and antioxidant potential of Hydnocarpus kurzii.Indian Journal of Traditional Knowledge, 14(3), 430-435.
- Alam, M. I., Gomes, A. (2003).Isolation of a pharmacologically active flavonolignan-hydnocarpin-from Hydnocarpus wightiana.Fitoterapia, 74, 695-700.
- Patel, S., & Bhattacharya, A. (2013).Chaulmoogra oil: Historical use and modern evidence.Pharmacognosy Reviews, 7(14), 132-137.
- Alam, M. I., & Gomes, A. (2001).Toxicological studies on hydnocarpin isolated from Hydnocarpus wightiana.Phytomedicine, 8(5), 362-366