กระดังงาสงขลา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กระดังงาสงขลา งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กระดังงาสงขลา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระดังงาสงขลา (ภาคกลาง, ทั่วไป), กระดังงาเบา, ดังงา, กระดังงง, กระดังงางอ (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cananga odora (Lam.) Hook.f. & Thomson var. fruticose (Craib) J.Sinelair.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Canangium, futicosum Craib, Cananga odorata vac. futicosa (Crailb), J. Sinclair, Cananga odorata Hook.f. &Thomson var. fruticosa (Craib) Corner
ชื่อสามัญ Drawf ylang ylang
วงศ์ ANNONACEAE
ถิ่นกำเนิดกระดังงาสงขลา
กระดังงาสงขลา จัดเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) ที่ถูกค้นพบชนิดใหม่ โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในหมู่บ้านจะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งได้จากการเพาะเมล็ดกระดังงาไทยแล้วเกิดการกลายพันธุ์ ดังนั้นชื่อพฤกษศาสตร์ จึงเป็นชื่อเดียวกัน เพียงแต่แยกเป็นสายพันธุ์ย่อย (variety) ย่อยออกไป ในปัจจุบันสามารถกระดังงาสงขลา พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักถูกนำมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับตามบ้านเรือน หรือ ตามสวนสาธารณะ หรือ ตามอาคารสถานที่ต่างๆ แต่จะพบตามธรรมชาติได้มากในภาคใต้
ประโยชน์และสรรพคุณกระดังงาสงขลา
- ช่วยบำรุงธาตุ
- ช่วยบำรุงร่างกาย
- ช่วยบำรุงหัวใจ
- ช่วยบำรุงโลหิต
- ช่วยชูกำลัง
- แก้อ่อนเพลีย
- ช่วยทำให้หัวใจชุ่มชื้น
- แก้ไข้
- แก้จุกเสียด
- แก้ลมวิงเวียน
- ใช้ขับปัสสาวะ
- แก้ปัสสาวะพิการ
- ใช้คุมกำเนิด
- ใช้รักษามะเร็งเพลิง
- แก้ท้องเสีย
- ใช้รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
- แก้คัน
- ช่วยให้เจริญอาหาร
- แก้ร้อนใน
- แก้กระหายน้ำ
- แก้ไข้จับสั่น
- แก้ไข้เผื่อลม
- แก้ไข้เผื่อแก้ปถวีธาตุ
มีการนำดอก ใบและเนื้อไม้ มาใช้ทำบุหงา น้ำหอมและน้ำอมร่ำ นอกจากนี้ยังใช้ดอกมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ylang ylangoil โดยใช้ทำเป็นน้ำหอมและเครื่องหอม ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางประเภทครีมทาหน้า โลชั่นและเครื่องสำอางอื่นๆ อีกทั้งยังนิยมใช้ปลูกกระดังงาสงขลาเป็นไม้ประดับ ตามสวนสาธารณะ ตามอาคารสถานที่ต่างๆ เนื่องจากดอกกระดังงาสงขลา มีสีสันสดใสสวยแปลกตาและยังมีกลิ่นหอมแรงในช่วงเช้าและเย็น ดอกออกได้ตลอดทั้งปี สามารถดูแลรักษาง่าย ไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย แก้ไข้ แก้จุกเสียด โดยนำดอกกระดังงาสงขลามาอบให้แห้งบดให้ละเอียดเล็กน้อย
- ใช้ชงดื่มเป็นชา ใช้แก้ลมวิงเวียน ทำให้หัวใจชุ่มชื้น บำรุงหัวใจ โดยนำดอกกระดังงาสงขลามาใช้เป็นส่วนผสมทำเป็นยาหอมกิน หรือ ใช้ดอกกระดังงาสงขลา มาทำเป็นน้ำมันหอมระเหยใช้สูดดมก็ได้
- ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ โดยนำเนื้อไม้กระดังงาสงขลาตากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้มะเร็งเพลิง ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้ท้องเสีย โดยนำเปลือกกระดังงาสงขลาต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ปถวีธาตุ แก้ไข้เผื่อลม แก้ไข้จับสั่น โดยนำเกสรกระดังงาสงขลา มาป่นละเอียด ใช้ชงดื่ม
- ใช้รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน แก้คัน โดยนำใบกระดังงาสงขลาสดมาตำให้แหลกใช้พอกหรือทาบริเวณที่เป็น
ลักษณะทั่วไปของกระดังงาสงขลา
กระดังงาสงขลา จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ทรงพุ่มโปร่งแตกกิ่งในระดับต่ำขึ้นไป ความสูงของต้นประมาณ 1-4 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมน้ำตาล มีกลิ่นฉุน เนื้อไม้เปราะหักง่าย มักแตกกิ่งตั้งฉากกับลำต้นปลายกิ่งย้อยลู่ลง กิ่งมีขนอ่อน
ใบกระดังงาสงขลา เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับบริเวณปลายกิ่งเป็นรูปรี หรือ รูปขอบขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10-14 เซนติเมตร โคนใบมนเว้าเลี้ยวเล็กน้อยปลายใบแหลมขอบใบเรียบ หรือ เป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางมีสีเขียว ด้านบนของใบกระดังงาสงขลา มองเห็นเส้นแขนงของใบชัดเจน โดยจะมี 8-9 คู่ ก้านใบยาว 1-2.5 เซนติเมตร
ดอกกระดังงาสงขลา เป็นดอกเดี่ยว แต่จะออกเป็นกระจุกบริเวณปลายกิ่ง โดยดอกจะมีกลีบดอก 15-24 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอมแรงแต่จะหอมน้อยกว่ากระดังงาไทย กลีบดอกมีลักษณะเรียวยาวอ่อนนิ่ม บิดเป็นเกลียว ปลายกลีบแหลมกระดกขึ้น กลีบชั้นนอกจะยาวและใหญ่กว่ากลีบชั้นใน อีกทั้งกลีบดอกจะมีความกว้าง 0.5-2 เซนติเมตร ยาว 5-9 เซนติเมตร เป็นหลายชั้น โดนในแต่ละชั้นจะมีชั้นละ 3 กลีบ ในแต่ละดอกมีเกสรเพศผู้และเพศเมียจำนวนมาก อีกทั้งมีกลีบเลี้ยงดอกสีเขียว รูปไข่ ปลายแหลมความกว้าง 6 มิลลิเมตร ยาว 1.2 เซนติเมตร และมีก้านดอกยาว 4-6 เซนติเมตร
ผลกระดังงาสงขลา ออกเป็นผลกลุ่ม โดยจะออกเป็นพวงเช่นเดียวกันกับกระดังงาไทยและในแต่ละพวงจะมีผลย่อย 8-10 ผล ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมรี รูปไข่ปลายผลแหลม ผิวผลเรียบและผลจะมีขนาดกว้าง 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด
การขยายพันธุ์กระดังงาสงขลา
กระดังงาสงขลา สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีการตอนกิ่งไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากกิ่งเปราะหักง่าย ดังนั้นวิธีการที่นิยมกันในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด เนื่องจาก มีความสะดวก รวดเร็วในการทำและสามารถทำได้ครั้งละมากๆ อีกทั้งต้นกระดังงาสงขลาที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีและมีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าต้นที่เกิดจากการตอนสำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกกระดังงาสงขลา สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) เช่น กระดังงาไทย การเวก น้อยหน่า ฯลฯ ที่ได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้กระดังงาสงขลาเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความต้องการความชื้นและต้องการน้ำค่อนข้างมาก แต่ไม่ทนกับสภาพน้ำท่วมขัง
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของกระดังงาสงขลาระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ส่วนใบพบสารกลุ่ม lignan diesters เช่น canangafruticoside A รวมถึงสาร β-sitosterol ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากดอกกระดังงาสงขลา พบสารกลุ่ม Monoterpenes เช่น linalool, geranyl acetate สารกลุ่ม Sesquiterpenes เช่น β-caryophyllene, germacrene D, α-humulene, ylangene (β‑ylangene) และยังพบสาร farnesene, farnesol, benzyl acetate, methyl benzoate และ p‑cresyl methyl ether เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระดังงาสงขลา
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของกระดังงาสงขลา รวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากส่วนดอกกระดังงาสงขลา ระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่าจากการศึกษาวิจัยด้วยวิธี DPPH test พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยมีค่า IC50 0.00925 mg/mL และยับยั้งการสร้าง nitric oxide โดยมีค่า IC50 = 37.6 µg/mL อีกทั้งสารสกัดดอกกระดังงาสงขลา ก็ยังแสดงฤทธิ์ลดการอักเสบได้เช่นกัน โดยเข้าไปลดการสร้าง cytokines และ arachidonic metabolites ส่วนสารสกัดกระดังงาสงขลา จากดอกรวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากดอก พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ เช่น แบคทีเรีย รา และยีสต์ โดยเข้าไปยับยั้งกระบวนการสร้าง biofilm ของเชื้อจุลชีพ
นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยในสารสกัดจากส่วนเหนือดินของกระดังงาสงขลา ระบุว่ายังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ดังนี้ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฤทธิ์ยับยั้งมะเร็ง ฤทธิ์ลดความวิตกกังวล ฤทธิ์ลดภาวะเครียด เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระดังงาสงขลา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้กระดังงาสงขลา เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง กระดังงาสงขลา
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. กระดังงาสงขลา (Kradang Nga Songkhla). หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 22.
- เดชา ศิริภัทร. กระดังงา:กลิ่นที่ล้ำค่าเมื่อนมาลนไฟ. คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 287. มีนาคม 2546.
- ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น 2546. 1,488 หน้า. (31)
- ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพรสวนสิริยาขชาติ. กระดังงาสงขลา. หน้า 71
- ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ 2542 หน้า (10)
- ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย. มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา. (2549) พฤกษชาติสมุนไพร. หน้า 35.
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สมุนไพรสวนสิริรุกขชาติ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด 2535.
- Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001. 810 p. (102)
- Inta, A., et al. (2008). Ethnobotanical study of medicinal plants used by Karen people in Northern Thailand. Journal of Ethnopharmacology, 116, 173-182.
- Chae, Y., & Kim, S. (2020). Comparative analysis of volatile organic compounds in Cananga odorata var. fruticosa and Cananga odorata var. odorata flowers using HS-SPME-GC/MS. Journal of Applied Biological Chemistry, 63, 53-61.
- Sinlapadeelerdkul, T., et al. (2021). Antioxidant activity of ethanolic extract from Cananga odorata var. fruticosa leaves. Journal of Science and Technology Mahasarakham University, 40(4), 564-572.
- Hsouna, A. B., et al. (2011). Chemical composition and biological activities of the essential oils from flowers of Cananga odorata cultivated in Tunisia. Natural Product Research, 25(14), 1292-1303.
- Shou, D., et al. (2015). Transcriptome analysis of Cananga odorata reveals the sesquiterpene synthase genes involved in floral scent biosynthesis. Plant Molecular Biology Reporter, 33, 1393-1405.
- Sattayasai, J., et al. (2011). Effects of inhalation of ylang-ylang oil on blood pressure and heart rate in healthy men. Journal of the Medical Association of Thailand, 94(5), 598-606.
- Dougnon, V. T., et al. (2023). In vivo toxicity studies of essential oils: A review of the literature. Toxicology Reports, 10, 209-221.
- Shou, D., et al. (2015). Transcriptome analysis of Cananga odorata reveals the sesquiterpene synthase genes involved in floral scent biosynthesis. Plant Molecular Biology Reporter, 33, 1393-1405.
- Jirovetz, L., et al. (2006). Essential oil analysis and olfactory evaluation of ylang-ylang (Cananga odorata) flower oil from Madagascar. Natural Product Communications, 1(12), 1065-1070.
- Balangcod, T. D., & Balangcod, A. K. D. (2011). An ethnobotanical study of medicinal plants in Benguet Province, Philippines. Indian Journal of Traditional Knowledge, 10(4), 589-595.
- Manosroi, A., et al. (2006). Anti-inflammatory activities of the essential oil extracted from the flowers of Cananga odorata (Lam.) Hook. f. & Thomson var. fruticosa (Craib) J. Sinclair. Phytomedicine, 13(4), 344-351.