มะแว้งต้น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะแว้งต้น งานวิจัยและสรรพคุณ 22ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะแว้งต้น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะแคว้งขม, มะแคว้งดำ, มะแคว้ง (ภาคเหนือ) ,หมากแข้ง , หมากแข้งขม (ภาคอีสาน) , มะแว้ง (ภาคกลาง) , แว้งกาม (สงขลา,สุราษฎร์ธานี,ภาคใต้) , สะกั้งแค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) , หมากแซ้งคง (ไทยใหญ่ – แม่ฮ่องสอน , ฉาน) , เทียนเฉีย ,ชื่อเทียนเฉีย (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum indicum L. (มีหนาม) Solanum sanitwongsei (ไร้หนาม)
ชื่อพ้องทางวิทยาศาสตร์ Solanum violaceum (มีหนาม)
ชื่อสามัญ Sparrow’s Brinjal , Indian nightshade
วงศ์ Solanaceae
ถิ่นกำเนิดมะแว้งต้น
มีการคาดการณ์กันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะแว้งต้นนั้นอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียซึ่งอาจอยู่ในประเทศ แถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ เนปาล ฯลฯ รวมถึงประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย, พม่า,ลาว,กัมพูชา ฯลฯ มะแว้งต้นเป็นพืชที่มักพบในไร่นา หรือเพาะปลูกโดยเกษตรกรมากกว่ามะแว้งเครือ แต่จะพบขึ้นเองตามธรรมชาติน้อยกว่ามะแว้งเครือ สันนิษฐานว่ามะแว้งต้นคงได้รับการคัดเลือกปรับปรุงโดยมนุษย์มาบ้างแล้ว เช่นเดียวกับมะเขือพวง ที่ไม่ใช่พืชป่าตามธรรมชาติบริสุทธิ์เหมือนมะแว้งเครือ ส่วนในประเทศไทย สามารถพบได้เองตามธรรมชาติในบริเวณที่ราบ ชายป่าที่โล่งแจ้งและที่รกร้างริมทาง และยังสามารถพบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ
ประโยชน์และสรรพคุณของมะแว้งต้น
- เป็นยาเย็น
- ใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ
- แก้ปวดฟัน
- แก้ไซนัส
- ช่วยขับลม
- แก้ปวดหัว ปวดบวมอักเสบ
- รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
- แก้ปวดกระเพาะ
- แก้ฟกช้ำดำเขียว
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงน้ำดี
- ช่วยเจริญอาหาร
- แก้โรคเบาหวาน ละลายก้อนนิ่ว
- แก้ไข้สารพัดพิษ
- ช่วยเจริญอาหาร
- แก้กินผิดสำแดง
- ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
- แก้ไข้สันนิบาต
- รักษามะเร็งเพลิง
- รักษาวัณโรค
- แก้ท้องอืดเฟ้อ
- ขับพยาธิ
- แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา
มะแว้งต้นสามารถใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือเครื่องเคียงได้ ซึ่งส่วนของมะแว้งที่ใช้เป็นผักได้ก็คือ ยอดอ่อนและผลอ่อน สำหรับยอดอ่อนนั้นต้องนำมาต้มให้สุกเสียก่อน แล้วจึงนำไปใช้เป็นผักจิ้ม ส่วนผลอ่อนดิบใช้เป็นผักจิ้มได้เลย นิยมกินกับปลาร้า แต่ก็ใช้จิ้มน้ำพริกได้เหมือนกัน รสชาติของมะแว้งค่อนข้างขื่นขม แต่เมื่อเคี้ยวสักครู่จะรู้สึกออกรสหวานเล็กน้อย ถือเป็นเอกลักษณ์ของผลมะแว้งดิบ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร แก้ไอ และแก้โรคหอบหืด ใช้มะแว้งต้น ผลแก่ในเด็ก ใช้ 2-3 ผล ใช้เป็นน้ำกระสายยา กวาดแก้ไอ ขับเสมหะผู้ใหญ่ ใช้ 10-20 ผล รับประทาน เคี้ยว แล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ รับประทานบ่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น ใช้ลดน้ำตาลในเลือด รักษาเบาหวาน ใช้มะแว้งต้นโตเต็มที่ 10-20 ผล รับประทานเป็นอาหารกับน้ำพริก
ตำรายาไทยใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ใช้ ผลแห้งและสด ประมาณ 5-10 ผล ตำให้แหลก คั้นเอาแต่น้ำ ผสมเกลือเล็กน้อย รับประทานส่วนรายละเอียดวิธีการใช้ของตำรับยาประสะมะแว้งตามบัญชียาหลักดังนี้
ขนาดและวิธีใช้ ชนิดผงผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทาน เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 200-400 มิลลลิกรัม เมื่อมีอาการ ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทาน
ชนิดเม็ดและชนิดลูกกลอนผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-1.4 กรัม เมื่อมีอาการ ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทาน หรือใช้อม เด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม เมื่อมีอาการ ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือรับประทาน หรือใช้อม
ลักษณะทั่วไปมะแว้งต้น
มะแว้งต้น มีอยู่ 2 ชนิด คือ มะแว้งต้นมีหนาม (Solanum indicum L.) และมะแว้งต้นไร้หนาม (Solanum sanitwongsei)
- มะแว้งต้นมีหนาม มะแว้งต้นมีหนามเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 1 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้าน มีขนสีเทา และหนามโค้งแหลมๆทั่วไป ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับหรือเยื้องกันเล็กน้อย และมักเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ใบมนรูปไข่ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 3-10 เซนติเมตร หลังใบสีเขียวมีขน ส่วนท้องใบสีเทาเกือบขาว มีขนหนาแน่น มีหนามแหลม ตามแนวเส้นกลางใบ เนื้อใบค่อนข้างหนา โคนใบกว้าง และค่อยๆ สอบแคบไปทางปลายใบ ขอบใบหยักเว้า ๆ แหว่ง ๆ ดอก สีขาวอมม่วง มีเกสรตัวผู้สีเหลืองเป็นกระจุกอยู่ตรงกลาง ดอกออกรวมกันเป็นช่อเป็นพวงสั้น ตามข้อ ตามก้านช่อมีหนามแหลมประปราย กลีบรองดอกแหลมมี 5 กลีบ และมีกลีบดอก 5 กลีบเช่นกัน กลีบดอกส่วนที่ค่อนไปทางโคนแฉกจะติดกันแบบง่ามตีนเป็ด ส่วนก้านชูละอองเกสรตัวเมียยาวยื่นมากกว่าเกสรตัวผู้เล็กน้อย ผล กลมเกลี้ยง มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลสุกสีแดงเมล็ด เกลี้ยง สีเหลือง ขนาดประมาณ 3.0 มิลลิเมตร
- มะแว้งต้นไร้หนาม มะแว้งต้นไร้หนามเป็นพืชอายุหลายปี มีความสูงเมื่อออกดอกมักจะน้อยกว่า 100 เซนติเมตร ไม่มีหนามในทุกส่วนของลำต้น ใบและกิ่งก้าน แต่มีขนสั้นปกคลุมทั่วทั้งต้น ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ (alternate) ใบรูปไข่ (ovate) ขอบใบเว้นลึก ปลายใบแหลมฐานใบไม่เท่ากัน (unequal) ใบมีขนปกคลุม ความยาวใบประมาณ 10 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร มีอายุการออกดอกมากกว่า 80 วัน หลังหยอดเมล็ด ช่อดอกเป็นแบบ raceme มีจำนวนดอก 2-5 ดอกต่อช่อ กลีบเลี้ยงมีสีเขียวไม่มีหนาม ส่วนโคนติดกันสั้นๆ ปลายแยก 5 กลีบ กลีบดอกมีสีม่วงมี 5-6 กลีบ เชื่อมติดกันบริเวณกึ่งกลางของความยาวกลีบดอก เกสรตัวผู้มีความยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร เกสรตัวเมียมีก้านชูยอดเกสรตัวเมียยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ตรงปลายมีขน ผลมี 2-5 ผลต่อช่อ สีดิบเขียวอ่อน เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีส้มตามลำดับ ผลแบบ berry มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เมล็ดมีลักษณะกลม เกลี้ยง แบน ขนาดเล็กสีเหลืองแต่ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า มะแว้งต้นชนิดมีหนามมีฤทธิ์ทางยามากกว่าชนิดที่ไม่มีหนาม
การขยายพันธุ์มะแว้งต้น
มะแว้งต้นสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด โดยการหยอดเมล็ดให้ลึกประมาณ 0.5-1 เซนติเมตรในถาดเพาะ (ซึ่งอุณหภูมิที่มะแว้งต้นเจริญเติบโตได้ดีคือ 25-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80 เปอร์เซ็นต์ และมีร่มเงาประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์) มะแว้งต้นจะใช้เวลางอกนาน 1-2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น เมื่อต้นมะแว้งมีใบจริง 2-3 ใบ หรือมีความสูง 15-20 เซนติเมตรแล้วจึงเตรียมย้ายลงแปลงปลูก ซึ่งวิธีการปลูกมีดังนี้ เตรียมดินโดยไถพรวนให้ร่วมซุยกำจัดเศษวัชพืช และใส่ปุ๋ยคอกแล้วไถพรวนอีกครั้ง ขุดหลุมขนาด 15x15x15 เซนติเมตร แล้วนำต้นกล้าที่ได้ลงปลูกแล้วกลบดินรดน้ำให้ชุ่มโดยใช้ระยะปลูกระหว่าต้น 1 เมตร มะแว้งต้นจะออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 2-3 เดือน สามารถเก็บผลสดได้ประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังดอกบาน
องค์ประกอบทางเคมี
สาร Solasodine จะพบได้ในส่วน ผล ใบ และต้น นอกจากนี้ในใบและผลยังพบ Solanine , Solanidine Solamarine , solasodine , Beta-sitosterol , Diogenin และ Tannins. อีกทั้งยับพบสารจำพวก Amino acid, Flavonoid glycoside, Phenols ส่วนในเมล็ดมะแว้งต้นพบไขมันและวิตามินซี เป็นต้น ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของผลมะแว้งต้นนั้นมีดังนี้
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะแว้งต้น
ผลมะแว้งสด 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 59 กิโลแคลอรี่
เส้นใย 3.3 กรัม
แคลเซียม 50 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม
เหล็ก 1 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 1383 IU
วิตามินบี 1 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.1 มิลลิกรัม
ไนอาซีน 8.4 มิลลิกรัม
วิตามินซี 6 มิลลิกรัม
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ลดปวด ลดไข้ ต้านการอักเสบ และกดระบบประสาทส่วนกลาง การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเมทานอลจากผลมะแว้งต้น โดยใช้หนูทดลองทั้งเพศผู้และเพศเมีย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว ทำการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา 4 วิธี ได้แก่ ฤทธิ์ลดปวด, ฤทธิ์ต้านการอักเสบ, ฤทธิ์ลดไข้ และฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง การทดสอบฤทธิ์ลดปวดในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดมะแว้งต้นขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน aspirin ขนาด 100 mg/kg การทดสอบฤทธิ์ลดไข้ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีไข้จากยีสต์ โดยให้สารสกัดมะแว้งต้น ขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน paracetamol 150 mg/kg การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดมะแว้งต้น ขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diclofenac sodium ขนาด 1 mg/kg การทดสอบฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดมะแว้งต้นขนาด 250, 500 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diazepam ขนาด 0.5 mg/kg เมื่อทำการวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นพบว่า สารสกัดมะแว้งต้นมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่อการทดสอบทั้ง 4 วิธี (p ≤0.05)
ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด สกัดผลมะแว้งต้น ด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ ได้แก่ น้ำ, เมทานอล, เอทานอล แล้วนำสารที่สกัดได้มาทดสอบฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลอง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดน้ำของมะแว้งต้น สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดกระต่ายได้หลังจากกระต่ายได้รับสารสกัดสมุนไพร 2 ชั่วโมง โดยสารสกัดสมุนไพรที่สกัดด้วยเอทานอลของมะแว้งต้น ลดระดับน้ำตาลได้หลังจากกระต่ายได้รับ 2, 3 และ 4 ชั่วโมง จากผลการทดลองนี้แสดงว่า สารสกัดจาผลมะแว้งต้น สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
ฤทธิ์ขยายหลอดลม Bector และคณะ ได้ทดลองให้มะแว้งกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง จำนวน 305 คน พบว่าตำรับยาดังกล่าวให้ผลในการบรรเทาอาการหอบหืด หลอดลมอักเสบและอาการไอได้ แต่ไม่ได้ผลขณะที่มีอาการหอบหืด
การศึกษาทางพิษวิทยา
การทดสอบความเป็นพิษ การศึกษาฤทธิ์ทางพิษวิทยาของสารสกัดเมทานอลของผลมะแว้งต้น โดยใช้หนูแรทเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ให้สารสกัดมะแว้งต้นความเข้มข้น 250, 500,2000 mg/kg ทางปาก พบว่าการติดตามผลใน 4 ชั่วโมงแรก ไม่พบความผิดปกติของหนูทดลองเมื่อได้รับสารสกัดขนาด 2000 mg/kg
Dhar และคณะ ได้ทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดต้นมะแว้งต้นด้วยเอทานอลและน้ำ (1:1) โดยฉีดสารสกัดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ในขนาด 50 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีค่า LD50 เท่ากับ 900 มก./กก. Abraham และคณะ ทดลองฉีดสารสกัดส่วนเหนือดินของมะแว้งต้นด้วยเอทานอลและน้ำ (1:1) เข้าช่องท้องหนูถีบจักร พบว่าสารสกัดมีค่า LD50 เท่ากับ 383 มก./กก.
พิษต่อเซลล์ มีการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดจากต้นมะแว้งต้นด้วยเอทานอลและน้ำ (1:1) ต่อเซลล์มะเร็ง 9KB (nasopharynx) พบว่าสารสกัดมีความเป็นพิษต่อเซลล์ การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดต้นมะแว้งต้นด้วยคลอโรฟอร์มต่อเซลล์ H1477 (melanoma), CA-9KB, Hela, Hepatoma-HA22T, Glioma-8401 พบว่าสารสกัดมีความเป็นพิษต่อเซลล์อ่อน หรือไม่แน่นอน การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารสกัดต้นมะแว้งต้นด้วยเอทานอล (95%) พบว่าสารสกัดมีความเป็นพิษต่อเซลล์ 9KB, Colo-205, Hela, H1477, Glioma-8401 และ Hepatoma-HA22T อ่อน หรือไม่แน่นอนเช่นกัน และเมื่อทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดผลมะแว้งต้นด้วยเอทานอล (70%) พบว่าสารสกัดไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ Colo-320
Syu และคณะพบว่า solavetivone ที่แยกได้จากมะแว้งต้นมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งรังไข่มนุษย์ Ovcar-3 โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.1 มิลลิโมล Nakamura และคณะได้ทำการศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ของสารกลุ่ม steroidal glycoside ที่แยกได้จากมะแว้งต้น โดยนำไปทดสอบกับเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ได้แก่ PC-6 (เซลล์มะเร็งปอด), MCF-7 (เซลล์มะเร็งเต้านม), SW620 (เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่), NUGC-3 (เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร), P388 (เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว) จากการทดลองพบว่าสาร dioscin จากมะแว้งต้นมีความเป็นพิษต่อเซลล์สูงที่สุด และสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งทุกชนิดที่ทำการทดสอบ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในการใช้ยาประสะมะแว้งไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 15 วัน หากไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์
- ในการใช้ยาประสะมะแว้งในผู้ป่วยที่ต้องจำกัดการใช้เกลือ ไม่ควรใช้น้ำมะนาวแทรกเกลือ
- สาร Solanine หากนำมาใช้ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดอาการเป็นพิษ ทำลายเซลล์ในเม็ดเลือด ทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ตาพร่ามัว ขับถ่ายฉับพลัน หัวใจเต้นถี่ และค่อย ๆ ลดลงจนหัวใจหยุดเต้น หรือทำให้ควบคุมสติไม่ได้และสลบไป โดยสารดังกล่าวจะพบมากในผลมะแว้งต้นดิบ ดังนั้นในการบริโภคผลมะแว้งดิบเป็นอาหารควรจำกัดการบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ
- การใช้ยาที่มีส่วนผสมของมะแว้งติดต่อกันเกินสองสัปดาห์อาจส่งผลให้ตับทำงานหนักและเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
เอกสารอ้างอิง
- กุลวดี ฐาน์กาญจน์.2545.การศึกษาลักษณะและการจัดกลุ่มเชื้อพันธุกรรมพืชสกุลมะเขือ.ปัญหาพิเศษปริญญาโท.ภาควิชาพืชสวน.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.กรุงเทพฯ
- สถาบันการแพทย์แผนไทย.2542.ผักพื้นบ้านภาคกลาง,โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก,กรุงเทพฯ.279 น.
- เดชา ศิริภัทร.มะแว้ง.ทั้งต้นและเครือล้วนเชื้อพันธุ์เดิม.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่235.พฤศจิกายน.2541.
- ผศ.ดร.ภานุมาศ ฤทธิ์ไชย.รายงานโครงการวิจัยเรื่องการศึกษาลักษณะประจำพันธุ์และการพัฒนาการของเมล็ดพันธุ์มะแว้งต้น.ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร.คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “มะแว้งต้น (Ma Waeng Ton)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 238.
- จารุวรรณ จันใส.2534.การเก็บรวบรวมและจำแนกเชื้อพันธุ์พืชสกุลมะเขือ.ปัญหาพิเศษปริญญาตรี.ภาควิชาพืชสวน.คณะเกษตร.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.กรุงเทพฯ.
- นันทวัน บุญยะประภัศร.2530.ก้าวไปกับสมุนไพร (2).ธรรมกมลการพิมพ์,กรุงเทพฯ.207 น.
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “มะแว้งต้น”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 456.
- วุฒิ วุติธรรมเวช.2540.สารานุกรมสมุนไพร.โอ เอส พริ้นติ้ง เฮ้าส์,กรุงเทพฯ.618 น.
- นิจศิริ เรืองรังสี และ ธวัชชัย มังคละคุปต์, 2547. สมุนไพรไทย เล่ม 1 .สำนักพิมพ์ บี เฮลท์ตี้,กรุงเทพฯ.380 น.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “มะแว้งต้น”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 642-643.
- มะแว้งต้น.ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudrug.com/main.php?action=viewpage&pid=160
- มะแว้ง,กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplan.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6033
- มะแว้งต้น.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- มะแว้งต้น.กลุ่มยาขับเสมหะ.สรรพคุณสมุนไพร200ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_08_05.htm.
- มะแว้งต้น.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?=178
- Nakamura T, Komori C, Lee YY, Hashimoto F, Yahara S, Nohara T, Ejima A. Cytotoxic activity of Solanum steroid glycoside. Biol Pharm Bull 1996;19(4):564-6.
- Smit HF. Woerdenbag HJ, Singh RH, Meulenbeld GJ, Labadie RP, Zwaving JH. Ayurvedic herbal drugs with possible cytostatic activity. J Ethnopharmacol 1995; 47(2):75-84.
- Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Mehrotra BN, Ray C. Screening of Indian plants for biological activity: part I. Indian J Exp Biol 1968;6:232-47.
- Abraham Z, Bhakuni SD, Garg HS, Goel AK, Mehrotra BN, Patnaik GK. Screening of Indian plants for biological activity. Part XII. Indian J Exp Biol 1986;24:48-68.
- Chiang HC, Tseng TH, Wang CJ, Chen CF, Kan WS. Experimental antitumor agents from Solanum indicum L. Anticancer Res 1991;11(5):1911-7.
- Syu WJ, Don MJ, Lee GH, Sun CM. Cytotoxic and novel compounds from Solanum indicum. J Nat Prod 2001;64(9):1232-3.
- Bector NP, Ajit SP, Upta RK. A new approach to the treatment of some chronic respiratory diseases. Indian J Med Res 1971;59(5):730-42.