หอมแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หอมแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 27ข้อ

ชื่อสมุนไพร  หอมแดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หอมไทย,หอมเล็ก,หอมหัว หอมแดง (ภาคกลาง), หอมปั่ว ,หอมแดง (ภาคเหนือ) , หัวหอมแดง (ภาคใต้) , ฝักบั่ว (ภาคอีสาน) , ปะเซ้ส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) , ปะเซอก่อ (กะเหรี่ยง-ตาก) , ผักหมี่แดง (ไทยใหญ่) ซัง , ตังซัง (จีน)
ชื่อสามัญ  Shallot
ชื่อวิทยาศาสตร์  Allium ascalonicum Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Allium carneum Willd., Allium fissile Gray, Allium hierochuntinum Boiss., Porrum ascalonicum (L.) Rchb.
วงศ์  Amaryllidaceae

 

ถิ่นกำเนิดหอมแดง

หอมแดงเป็นพืชขนาดเล็กที่ปลูกไว้เพื่อบริโภคส่วนของหัวหรือบัลบ์ นิยมใช้ในการประกอบอาหาร และเป็นสมุนไพร ทั้งนี้หอมแดง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ สันนิษฐานว่าอยู่ในแถบประเทศทาจิกิสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน โดยเชื่อกันว่าหอมแดงกลายพันธุ์ตามธรรมชาติมาจากหอมหัวใหญ่และมีการคัดเลือกพันธุ์เพื่อนำมาปลูกเป็นพืชอาหาร ในจีนและอินเดียและมีการกระจายพันธุ์ไปทั่วโลก ซึ่งได้มีการจดบันทึกไว้ ในช่วงคริสตวรรษที่ 12 ปัจจุบันการปลูกหอมแดงได้แพร่หลายไปทั่วโลก แต่ก็ยังมีการบริโภคน้อยกว่าหอมหัวใหญ่อยู่ หอมแดง จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในประเทศไทยพบว่ามีการปลูกมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคเหนือ แต่หอมแดงที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหอมแดงคุณภาพดีก็ได้แก่หอมแดงจากจังหวัดศรีสะเกษ 

ประโยชน์และสรรพคุณหอมแดง   

  1. ใช้แก้หวัดและเลือดกำเดาออก
  2. แก้ไข้มีเสมหะ
  3. บำรุงผมให้งอกงาม
  4. ทำให้ผิวหนังสดชื่น
  5. แก้ไข้
  6. ช่วยขับเสมหะ
  7. แก้โรคในปาก
  8. ช่วยบำรุงธาตุ
  9. เป็นยาขับลมในลำไส้ 
  10. แก้ปวดท้อง 
  11. แก้หวัดคัดจมูก
  12. ตำผสมพิมเสนและเปราะหอมพอกกระหม่อมเด็กแก้หวัดคัดจมูกขยี้ดมแก้ซางชัก สลบ
  13. แก้ปวดกระบอกตา แสบร้อนตา น้ำตาไหล
  14. ขับปัสสาวะ
  15. ขับประจำเดือน
  16. แก้โรคปากคอ ฆ่าเชื้อโรค
  17. แก้ลมพิษ
  18. ทาแก้สิว
  19. แก้พิษแมลงกัด
  20. ทาแก้อาการปวดบวมตามข้อ
  21. ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารดี เจริญอาหาร
  22. ทำให้ความดันโลหิตต่ำ
  23. ลดไขมันในเลือด
  24. แก้อาการอักเสบต่างๆ 
  25. เป็นยาบำรุงหัวใจ
  26. นำมาย่างไฟใช้พอกแผลฝี  แผลช้ำ
  27. เป็นยาบำรุงกำหนัด

          บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้หัวหอมแดงในตำรับ "ยาประสะไพล" มีส่วนประกอบของหัวหอมแดงร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน  และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร 

นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีการใช้หอมแดงเป็นสมุนไพรอีกด้วย เช่น ในนฟิลิปปินส์ ใช้หัวหอมเป็นยาขับพยาธิ กระตุ้นน้ำย่อย แก้ท้องเสีย อหิวาตกโรค ปวดหลังบริเวณเอว ปวดหัว และปวดเนื่องมาจากประจำเดือนไม่มา  ในอาฟริกาตะวันตก ใช้น้ำคั้นจาหัวหอมถูทาตัวเด็กใช้แก้ไข้ ใช้เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ แก้ปวดและแก้ไข้  ในมาเลเซีย ใช้น้ำคั้นจากหัวหอมถู ทาผิวหนัง ทำให้ร้อน ขับพยาธิ แก้ปวดท้องเนื่องจากกินมากเกินทำให้อาหารไม่ย่อย หรือใช้น้ำคั้นจากหัวหอมผสมน้ำขมิ้นให้เด็กกินแก้ปวดท้อง แก้ปากเป็นฝ้าขาว 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ตำรายาไทย: ใช้หัวหอมสด ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยาแก้ท้องอืดแน่น แก้บวมน้ำ ขับพยาธิ  ปวดหลังบริเวณเอว ปวดประจำเดือน แก้ไข้ ขับลม ทำให้ร่างกายอบอุ่น

           ตำรับยาสมุนไพรล้านนา: มีการใช้หัวหอมแดง ในตำรับ “ยาเลือดขึ้น” (ยารักษาโรคความดัน) ให้เอาเทียนทั้ง 5 (เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน) ขิง หอมแดง พริกไทย ใบตาล นำมาคั่วให้เหลือง แล้วบดผสมกัน แล้วนำไปสูบ ถ้าสูบไม่ได้ ให้ทำหลอดพ่นเข้ารูจมูก

แก้หวัดคัดจมูก ใช้หัว 2-4 หัว ทุบพอบุบ ห่อผ้าขาวบางวางไว้บนหัวนอน  แก้พิษแมลงสัตว์ กัดต่อย ใช้หัวประมาณ 1 หัว ขยี้หรือตำให้แหลกแล้วนำมาทา

หน้าบวม ท้องอืดแน่น ปัสสาวะขัดหรือน้อย อาการหอบหืด ใช้ถั่วแดงชนิดเมล็ดเล็ก 1 ถ้วยชา หัวหอมแดง 10 หัวซอยเป็นฝอย ใส่น้ำ 5 ถ้วยชา ต้มจนถั่วสุก ให้น้ำแห้งพอดี ใส่เซียวเจี๊ยะ (Niter มี KNO3 เป็นสารสำคัญ อาจใช้ดินปลาสิวแทนได้) 30 กรัมลงในกะละมัง ต้มบดคลุกกับถั่วและหัวหอมให้ละเอียดได้เป็นของเหลวข้นๆ กินทุกวันตอนท้องว่าง แล้วกินเหล้าองุ่นตามด้วยครึ่งช้อนชา

กินเนื้อสัตว์เป็นพิษ อาเจียนเป็นเลือด ร่างกายผอมเหลือง ใช้เมล็ดหอมแดง 1 ถ้วยชา ล้างให้สะอาด ตำให้แตกใส่น้ำต้ม รินกิน เมื่อน้ำเย็นครั้งละครึ่งถ้วยชา วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

น้ำคั้นจากหัวหอมอุ่นร่วมกับใบผักกาดน้ำ เปลือกชลูด ถูทาบริเวณฟกช้ำ นอกจากนี้ ยังใช้ผสมทำลูกแป้งหมักเหล้าได้อีกด้วย

ช่วยรักษาแผล โดยการนำหอมแดงมาหั่นเป็นแว่น ๆ แล้วผสมกับน้ำมันมะพร้าวและเกลือ ต้มให้เดือดแล้วนำมาพอกบริเวณแผล

หัวหอมแดงมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการคัน ด้วยการใช้หัวหอมนำมาบดผสมเหล้าเล็กน้อย นำไปพอกบริเวณที่คัน

หอมแดงรักษาสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ ด้วยการนำหอมแดงมาฝานเป็นแว่นบาง ๆ แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น

หอมแดง

หอมแดง

ลักษณะทั่วไปหอมแดง

ใบใบแทงออกจากลำต้นหรือหัว มีลักษณะเป็นหลอดกลม ด้านในกลวง มีสารสีนวลเป็นไขเคลือบผิวใบ ใบมีลักษณะตั้งตรงสูงประมาณ 15-50 ซม. แตกออกเป็นชั้นถี่ 5-8 ใบ ใบอ่อนสดของหอมแดงใช้ในการบริโภค

ส่วนหัวหรือบัลบ์หัวหรือบัลบ์เป็นส่วนของกาบใบที่เรียงซ้อนกันแน่นจากด้านในของหัวออกมา เป็นแหล่งสะสมอาหาร และน้ำ มีลักษณะเป็นกระเปาะ เรียกว่า Bulbs มีลำต้นภายใน มีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆสีขาว ซึ่งเป็นที่เกิดของหัวหอม หัวหอมจะแตกใหม่ออกมาจากหัวเดิม โดยเฉลี่ย 2 - 20 หัวต่อกอ เส้นผ่านศูนย์กลางของหัวประมาณ 1.5-3.5 ซม.

ต้นต้นที่มองเห็นเหนือดินเป็นส่วนที่อยู่ต่อจากบัลบ์ จัดเป็นลำต้นเทียมที่เกิดจากกาบใบเรียงอัดกันแน่น ถัดมาจึงเป็นส่วนของใบ

รากรากหอมแดงเป็นระบบรากฝอยจำนวนมาก งอกออกจากด้านล่างของต้น มีลักษณะเป็นกระจุกรวมกันที่ก้นหัว และแพร่ลงดินลึกในระดับตื้นประมาณ 10-15 เซนติเมตรและแผ่รอยต้นประมาณ 5-10 เซนติเมตร


การขยายพันธุ์หอมแดง

สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การใช้ส่วนหัวพันธุ์ (sets) และการใช้เมล็ดพันธุ์ (seeds) การใช้หัวพันธุ์ (sets) เป็นวิธีของเกษตรกรที่นิยมปฏิบัติกันมานาน หัวหอมแดงที่จะปลูกต้องผ่านการพักตัวมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะปลูกได้  การใช้เมล็ดพันธุ์ (seeds)  เป็นวิธีที่ลดต้นทุนในการผลิตในการซื้อหัวพันธุ์ที่มีราคาแพงสำหรับวิธีการปลูกหอมแดงนั้นมีดังนี้

การเตรียมแปลงปลูกหอมแดงเป็นพืชที่มีระบบรากสั้น มีขอบเขตรากลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดังนั้น ในระดับความลึกนี้ หอมแดงจึงต้องการหน้าดินร่วนซุย และมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ มีการระบายน้ำ และอากาศดี ไม่ต้องการดินแน่น โดยเฉพาะระยะที่มีการแตกหัวใหม่ การเตรียมดินให้ร่วนซุยจะช่วยให้หอมแดงเจริญเติบโตได้ดี ด้วยการไถพรวนดินครั้งแรก ลึก 20 เซนติเมตร พร้อมกำจัดวัชพืช ตากแดดทิ้งไว้ 7-15 วัน หลังจากนั้น ไถพรวนดินให้ร่วนด้วยผานที่เล็กลง ลึก 20-30 เซนติเมตร และตากดินก่อนปลูก 3-7 วัน ก่อนไถพรวนครั้งที่ให้หว่านปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่ ในฤดูฝนแปลงปลูกหอมแดงจะต้องยกร่องกว้างประมาณ 1-1.2 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้น้ำฝนระบายออกได้ ระยะห่างระหว่างแปลงจะเว้นไว้ประมาณ 30-50 ซม. เพื่อเป็นทางเดินในการให้น้ำหรือกำจัดวัชพืช

ก่อนปลูก 1-3 วัน ควรให้น้ำในแปลงให้ชุ่มก่อน ขั้นตอนการปลูก นำหัวพันธุ์ที่พักตัวดีแล้วหรือหัวพันธุ์ที่เก็บไว้นาน 2-4 เดือนหลังจากเก็บเกี่ยว มาตัดรากแห้งออก แยกหัวออกจากกันให้เป็นหัวเดี่ยวๆ แล้วฝังหัวลงไปในดินให้ปลายของหัวอยู่เสมอผิวดิน ระยะปลูกที่ 15 x 15 ซม. ปิดฟางหนาประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อหอมแดงงอกได้ประมาณ 15 วัน จึงหว่านปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต 21% อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ แล้วให้น้ำเช้าเย็นหรือวันละครั้ง แล้วแต่สภาพความชุ่มชื้นของผิวดิน  หอมแดงที่ปลูกจากหัวเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 60 วัน หอมแดงที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวต้องแก่จัด มีใบแห้งตามธรรมชาติ โดยห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชพ่นบังคับให้ใบแห้ง เพราะหัวหอมอาจเน่าเสียหายหรือมีอายุเก็บไว้บริโภคสั้น ก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 10-15 วัน จะต้องงดให้น้ำ และให้น้ำอีทีก่อนเก็บเกี่ยว 1 วัน เพื่อให้หอมแดงถอนได้ง่าย การเก็บเกี่ยวจะใช้วิธีการมือถอนหรือใช้จอบหรือเสียมขุดร่วมด้วย หลังการเก็บเกี่ยว หอมแดงจะเก็บได้ไม่เกิน 6 เดือน หลังจากเก็บเกี่ยวบนแปลง ถ้าเกิน 6 เดือน หัวหอมแดงจะฝ่อไม่สามารถรับประทานและไม่สามารถนำไปเพาะปลูกได้

          ทั้งนี้หอมแดงสามารถผสมข้ามพันธุ์ได้ กับหอมหัวใหญ่ ลูกผสมที่เกิดขึ้นมีลักษณะรูปร่างจัดเข้าอยู่ในกลุ่มของหอมหัวใหญ่ (A.cepa)  ส่วนพันธุ์หอมแดงที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีอยู่ 3  พันธุ์ ซึ่งลักษณะคล้ายคลึงกันมาก

พันธุ์ศรีสะเกษ เปลือกหัวนอกหนา มีสีม่วงแดง หัวมีลักษณะกลมป้อม มีกลิ่นฉุน ให้รสหวาน ใบเขียวเข้มมรกต มีนวลจับเล็กน้อย

พันธุ์บางช้าง มีลักษณะคล้ายกับพันธุ์ศรีสะเกษ แต่สีเปลือกนอกจางกว่า หัวมีลักษณะกลมป้อม ใบสีเขียวเข้ม มีนวลจับเล็กน้อย เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าทุกพันธุ์

พันธุ์เชียงใหม่ มีเปลือกบาง สีส้มอ่อน หัวมีลักษณะกลมรี  กลิ่นไม่ฉุนเหมือนพันธุ์อื่น ให้รสหวาน หัวจะแบ่งเป็นกลีบชัดเจน ไม่มีเปลือกหุ้ม ใบสีเขียวมีนวลจับเล็กน้อย

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของหอมแดง 

หอมแดง
                                                                           

องค์ประกอบทางเคมี

หัวหอมมีน้ำมันระเหยง่ายที่มีกำมะถัน diallyl disulphide เป็นองค์ประกอบร่วมกับสารอื่นๆ อีกเช่น Ethanol, Acetonc, methyl Ethyl, Methyl Disulfide, Methyl, Methyl Trisulfide, Methyl I-propyl Trisulfide, I-propyl Trisulfide, Ketone, I-propanol, 2 – propanol, Methanol, I-butanol, Hydrogen Sulfidc, I-propanethiol, I-propyl Disulfide , Thioalkanal-S-oxide, di-n- propyl Disulfide, n- propyl-allyl Disulfide,  Dithiocarbonate และ Thiuram Sulfidc ,Linoleic , flavonoid Glycoside , pectin , alliin ส่วนสารที่ทำให้เกิดกลิ่นในหัวหอมมีอยู่ 3 ชนิด คือ dipropyl trisulfide, methylpropyl disulfide , methylpropyl disulfide และ methylpropyl trisulfide  ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของหอมแดงนั้นมีดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของหอมแดงดิบต่อ 100 กรัม

  • หอมแดงพลังงาน 72 กิโลแคลอรี่
  • คาร์โบไฮเดรต 16.8 กรัม
  • น้ำตาล 7.87 กรัม
  • เส้นใย 3.2 กรัม
  • ไขมัน 0.1 กรัม
  • โปรตีน 2.5 กรัม
  • วิตามินบี 1 0.06 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.02 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 0.2 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 5 0.29 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6 0.345 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 9 34 ไมโครกรัม
  • วิตามินซี 8 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 37 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม
  • ธาตุแมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม
  • ธาตุแมงกานีส 0.292 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 60 มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม 334 มิลลิกรัม
  • ธาตุสังกะสี 0.4 มิลลิกรัม
     

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ปกป้องตับและไต การศึกษาความสามารถในการป้องกันความเสียหายของตับและไตจากการติดเชื้อมาลาเรีย โดยเตรียมสารสกัดหอมแดงอย่างหยาบด้วยน้ำ จากนั้นนำไปทดสอบฤทธิ์ในหนูถีบจักร สายพันธุ์ ICR ที่ติดเชื้อมาลาเรีย Plasmodium berghei  ANKA ปริมาณ 6x106เซลล์ ต่อหนูทดลอง โดยให้หนูทดลองได้รับสารสกัดทางหลอดอาหารวันละครั้ง เป็นเวลา 4 วันติดต่อกัน และทำการตรวจวัดค่าบ่งชี้ความเสียหาย ได้แก่ ระดับเอนไซม์ตับ aspartate aminotransferase (AST), alanine aminotransferase (ALT) และตัวบ่งชี้การทำงานของไต ได้แก่ blood urea nitrogen (BUN) และ creatinine โดยใช้ชุดตรวจสำเร็จรูป ผลการทดลองพบว่าความเข้มข้นสูงสุดของสารสกัดหอมแดงที่ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษ คือ 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และในขณะที่มีการติดเชื้อมาลาเรียนั้นจะพบความเสียหายของตับ และไตเกิดขึ้นในวันที่ 10 หลังจากติดเชื้อโดยดูได้จากระดับของ AST, ALT, BUN และ creatinine ที่สูงที่สุด แต่สารสกัดหอมแดงที่ขนาด 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สามารถป้องกันความเสียหายของตับและไต จากการติดเชื้อมาลาเรียได้โดยดูจากตัวบ่งชี้ที่มีระดับปกติ จากผลการศึกษาสามารถสรุปได้ว่าสารสกัดหอมแดงมีฤทธิ์ป้องกันความเสียหายของตับและไตจากการติดเชื้อมาลาเรียในหนูทดลองได้

ฤทธิ์ต้านอักเสบ ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของส่วนสกัดหัวหอมแดงในเอทานอลในหลอดทดลอง ทำการทดสอบความมีชีวิตรอดของเซลล์ด้วยวิธี 3-[4,5-dimethylthiazol-2-yl]-2,5-dyphenyl tetra-zolium bromide (MTT) ศึกษาผลของส่วนสกัดต่อการแสดงออกของยีนที่เป็นสื่อกลางการอักเสบได้แก่ inducible nitric oxide synthase (iNOS), cyclooxygenase (COX)-2, COX-1, tumor necrosis factor (TNF)-α, interleukin (IL)-1β และ IL-6 ในเซลล์เพาะเลี้ยงมาโครฟาจ (RAW 264.7) ที่ได้รับการกระตุ้นด้วยสาร Lipopolysaccharide (LPS) โดยวัดปริมาณยีนที่แสดงออกด้วยวิธี reverse transcription polymerase chain reaction (RT-PCR) วิเคราะห์หาปริมาณฟีนอลรวม และฟลาโวนอยด์รวม ของส่วนสกัดโดยใช้ปฏิกิริยาการเกิดสีกับสาร Folin-Ciocalteu และสารอลูมิเนียมคลอไรด์ ตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่าที่ความเข้มข้น 62.5, 125 และ 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ส่วนสกัดหอมแดงในเอทานอลไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ และมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้แก่ iNOS, TNF-α, IL-1β และ IL-6 เพิ่มขึ้นตามความเข้มข้น ส่วนสกัดหอมแดงไม่มีผลต่อการแสดงออกของยีน COX-2 แต่ยับยั้งการแสดงออกของยีน COX-1 อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปริมาณสารฟีนอลรวมคิดเป็น 15.964±0.122 สมมูลกับกรดแกลลิก/กรัม และมีปริมาณสารฟลาโวนอยด์รวม 11.742 ±0.012 มก. สมมูลกับสารเคอร์ซิทิน/กรัม


การศึกษาทางพิษวิทยา

ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์การทดสอบสารสกัดบิวทานอลจากหอมสด ความเข้มข้น 0.5 มล./แผ่น หรือความเข้มข้นอื่นๆ กับ Bacillus subtilis M-45 (Rec-) ในจานเพาะเชื้อ พบว่าไม่มีฤทธิ์ และเมื่อเปลี่ยนมาใช้สารสกัดเอทานอล (95%) จากหอมสด ความเข้มข้น 0.5 มล./แผ่น กับ B. subtilis H-17 (Rec+) ในจานเพาะเชื้อ พบว่าไม่มีฤทธิ์เช่นกัน นอกจากนี้การทดสอบน้ำสกัดหรือน้ำต้มหอมสด ความเข้มข้น 0.5 มล./แผ่น กับ B. subtilis M-45 (Rec-) และการทดสอบ B. subtilis H-17 (Rec+) ด้วยน้ำสกัดหอมสด ก็พบว่าสารสกัดเหล่านี้ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ แต่ถ้าใช้ส่วนสกัดจาก chromatography (undiluted) หรือการใช้ oleoresin จากหอม (undiluted) มาทดสอบกับ Salmonella typhimurium TA100 ในจานเพาะเชื้อ พบว่ามีฤทธิ์ แต่เมื่อนำมาทดสอบกับ S. typhimurium TA98 กลับไม่มีฤทธิ์ ใช้สารสกัดเมทานอลทดสอบกับ S. typhimurium TA98 พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์แรง และเมื่อศึกษากลไกการเมตา-โบไลท์สารก่อกลายพันธุ์ของหอมในร่างกาย พบว่ากลูตาธัยโอน กลูคิวโรนายด์ ไดธัยโอธรีธอล สามารถลดฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของหอมได้ แต่ไวตามินซีไม่มีผลต่อฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของหอมแต่อย่างใด มีการทดสอบฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของเครื่องเทศที่ใช้เตรียมน้ำพริกแกง ใน S. typhimurium พบว่าสารสกัดจากหอมมีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ถึง 100% ซึ่งเกิดจากสารสำคัญที่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติในหอม เมื่อทำการแยกและวิเคราะห์สารสำคัญนั้นพบว่า เป็นสารประเภท ฟลาโวนอยด์ เคอร์ซิติน (quercetin) โดยสารสำคัญที่แยกบริสุทธิ์ได้ 1 ตัว พบว่า คือ quercetin-4-0-glycoside สารนี้เป็นสารก่อกลายพันธุ์ฤทธิ์อ่อน ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของมันจะสูงขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยเอนไซม์ในร่างกาย เมื่อสลายสารนี้ด้วยเอนไซม์ b-glucuronidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบที่ลำไส้ใหญ่ พบว่าฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์จะรุนแรงเพิ่มขึ้น พิษต่อเซลล์ทดสอบสารสกัดเมทานอลจากรากหอมสด ความเข้มข้น 200 มคก./มล. กับ macrophage cell line raw 264.7 พบว่าสารสกัดนี้ไม่มีพิษต่อเซลล์ดังกล่าว


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
  1. ตำรายาไทยกล่าวว่า หัวหอม ไม่ควรกินมากเกินไป หรือกินเป็นประจำ เพราะอาจทำให้ประสาทเสีย ให้หลงลืมได้ง่าย ทำให้มีกลิ่นตัว ฟันเสีย เลือดน้อย และตาฝ้ามัวไม่แจ่มใส
  2. ในการเลือกหอมแดงมาใช้ประโยชน์ควรเลือกหอมแดงที่มีอายุเก็บเกี่ยวไม่เกิน 6 เดือน เพราะหากเกิน 6 เดือนไปแล้ว จะได้หัวหอมที่ฝ่อ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้หรืออาจมีสารออกฤทธิ์ที่ไม่มีคุณภาพ
  3. น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากหอมแดง มีรสเผ็ดร้อน ทำให้เคืองตา แสบจมูก และอาจทำให้ผิวหนังปวดแสบปวดร้อน
  4. น้ำหอมแดงมีสารกำมะถันซึ่งทำให้แสบตา แสบจมูก และผิวหนังมีอาการระคายเคือง จึงไม่ควรใช้ทาใกล้บริเวณผิวหนังที่บอบบาง

เอกสารอ้างอิง

  1. วรวุฒิ สมศักดิ์, สุกัญญา ชาชิโย, สมเดช ศรีชัยรัตนกูล, ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์. ฤทธิ์ของสารสกัดหอมแดงต่อความเสียหายของตับและไตจากการติดเชื้อมาลาเรีย Plasmodium berghei ในหนูทดลอง. การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 6, วันที่ 26 มิถุนายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จ.สงขลา.
  2. จิรวัฒน์ เวชแพศน์.2526 การศึกษาระยะปลูกของหอมแดง.ปัญหาพิเศษปริญญาตรี ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรุงเทพฯ.
  3. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ.หอมเล็ก.คอลัมน์ สมุนไพรน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่27.กรกฎาคม 2524
  4. หอม.ฐานข้อมูลพืชสมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. อาทิตย ศุขเกษม. การเปรียบเทียบผลผลิตของหอมแดงที่ปลูกด้วยหัวพันธุ์และเมล็ดพันธุ์.ปัญหาพิเศษปริญญาตรี.ภาควิชาพืชสวนคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน.13 หน้า
  6. Lorenz, O.A. and D.N. Maynard. 1980. Knott’s hand book for vegetable growers. John wily and Sons, Inc. New York. 390 p.
  7. หอมแดง สรรพคุณและการปลูกหอมแดง.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
  8. พะยอม ตันดีวัฒน์.2530. เครื่องเทศ.119 หน้า.
  9. หอมแดง.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.thaicudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=145
  10. รัตนา พรหมพิชัย. (2542). หอมบั่ว. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 14, หน้า 7530). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
  11. Werawattanachai N, Kaewamatawong R, Junlatat J, Sripanidkulchai B. Anti-Inflammatory potential of ethanolic bulb extract of Allium ascalonicum. Journal of Science & Technology, Ubon ratchathani University. 2015;17(2):63-68.
  12. วิศิษย์ ว่องทิพยคงคา.2510. การเปรียบเทียบหาระยะปลูกที่เหมาะสม ของหอมต้นเพื่อเพิ่มผลผลิต ปัญหาพิเศษ ปริญญาตรี ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรุงเทพฯ.