เก๊กฮวย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
เก๊กฮวย งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร เก๊กฮวย
ชื่ออื่น ๆ / ชื่อท้องถิ่น จวี๋ฮัว (จีน) , เบญจมาศสวน, เบญจมาศหนู (ไทย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Chrysanthemum morifolium Ramat. (เก๊กฮวยพันธุ์ดอกสีขาว) Chrysanthemum indicum Linn. (เก๊กฮวยพันธุ์ดอกสีเหลือง)
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dendranthema morifolium (Ramat.) Tzvel. (เก๊กฮวยพันธุ์ดอกสีขาว) Dendranthema indicum Linn. (เก๊กฮวยพันธุ์ดอกสีเหลือง)
ชื่อสามัญ Chrysanthemum , Flower tea , Edible Chrysanthemum, Florist Chrysanthemum.
วงศ์ ASTERACEAE
ถิ่นกำเนิดเก๊กฮวย
เก๊กฮวยหรือเบญจมาศ เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน แต่ภายหลังได้แพร่กระจายไป ในประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น กัมพูชา ลาว ไทย รวมถึงในยุโรปด้วยพันธุ์เก๊กฮวยที่นิยมปลูก และนำมาต้มเป็นน้ำเก๊กฮวยมากที่สุด คือ เก๊กฮวยดอกขาว ที่ปลูกมากกว่าร้อยละ 90 ของเก๊กฮวยทั้งหมด โดยเฉพาะที่เมืองหังโจ ประเทศจีนนอกจากเบญจมาศดอก สีขาวแล้ว ดอกเบญจมาศสีเหลืองขนาดเล็กที่บ้านเราเรียกว่า เบญจมาศหนู (Chrysanthemum indicum Linn.) ที่มีปลูกในเมืองไทย ก็สามารถนำมาตาก แห้งชงน้ำร้อนเป็นน้ำเก๊กฮวยได้เช่นเดียวกันและยังมีสรรพคุณเหมือนกันอีกด้วย
ทั้งนี้นอกจากประเทศจีนแล้วญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่นิยมเบญจมาศมากไม่แพ้ชาวจีน โดยตราจักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นรูปดอกเบญจมาศ 16 กลีบ กล่าวกันว่า เบญจมาศเข้าสู่ญี่ปุ่นราวปี พ.ศ. 1340 คือประมาณ 1200 ปีมาแล้ว โดยเชื่อว่าเบญจมาศมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ คือวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 หากนำดอกเบญจมาศใส่ในถ้วยเหล้าสาเก แล้วดื่มเหล้าสาเกนั้น จะทำให้คงความหนุ่มสาวได้ตลอดกาล ความเชื่อนี้คงสืบเนื่องมาจากจีน เพราะจีนถือว่าเบญจมาศเป็นดอกไม้ประจำเดือน 9 (ตุลาคม) และฤดูใบไม้ร่วง คนญี่ปุ่นเรียกดอกเบญจมาศว่า คิกุโนะฮานะ แปลว่าดอกไม้ของคิกุ ซึ่งมีตำนานเล่าสืบมาว่า คิกุเป็นหญิงสาวที่กำลังจะแต่งงาน ได้ทำการบวงสรวงถามเทวดาว่าจะได้ครองคู่กับสามีนานกี่ปี เทวดาบอกว่าจะได้อยู่กับสามีนานเท่ากับจำนวนกลีบดอกไม้ที่นำมาบูชาเทวดา คิกุ รักสามีมากอยากจะอยู่ด้วยนานปีที่สุด จึงพยายามแสวงหาดอกไม้ที่ มีกลีบมากที่สุด แต่ก็หาดอกไม้ได้ เพียง 17 กลีบเท่านั้น ด้วยความเฉลียวฉลาด คิกุจึงใช้มีดกรีดกลีบดอกไม้ดังกล่าวออกเป็นฝอยเล็ก ๆ นับไม่ถ้วน จึงทำให้ได้ครองคู่กับสามีได้ชั่วกาลนาน ตำนานดอกเบญจมาศ (คิกุ) ของญี่ปุ่นจึงเป็น ตำนานแห่งความรักโดยแท้เป็นรักที่คงทนยั่งยืน เหมาะที่จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักของชาวตะวันออกเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับประเทศไทยนั้น เบญจมาศได้มีการนำเข้ามาปลูกนานมาแล้วโดยคนจีน เท่าที่ปรากฏ ในวรรณคดีเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แสดงว่าคนไทยสมัยนั้นคุ้นเคย กับเบญจมาศดีแล้วและในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ.2416 ก็กล่าวถึงเบญจมาศไว้ว่า "เบญมาศ : เป็นชื่อต้นไม้ดอกเล็กอย่างหนึ่ง" แสดงว่าคนไทยสมัยนั้นรู้จักเบญจมาศกันแพร่หลายแล้ว ปัจจุบันเบญจมาศถูกนำไปปลูกทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตอบอุ่นที่มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียง กับประเทศจีนอันเป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของเบญจมาศ ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปมีการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์เบญจมาศออกไปอย่างกว้างขวาง ได้รับการนิยมติดอันดับต้นๆ ของดอกไม้ยอดนิยมเลยทีเดียว ภาษาอังกฤษ เรียกเบญจมาศว่า Chrysanthemum ในสหรัฐอเมริกาเรียกสั้นๆ ว่า mum ก็เข้าใจกันดีและในอังกฤษถือว่า เบญจมาศ เป็นดอกไม้ประจำเดือนพฤศจิกายน
สรรพคุณของเก๊กฮวย
- แก้กระหาย เพิ่มความสดชื่น
- แก้ร้อนใน มีฤทธิ์เป็นยาเย็น
- ช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสเอดส์ได้
- ช่วยดูดซับสารก่อมะเร็งและจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ช่วยบำรุงโลหิต
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
- ช่วยในการบำรุงและรักษาสายตา
- แก้อาการปวดศีรษะ
- ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย
- แก้อาการหวัด
- ช่วยแก้อาการไอ
- ช่วยขับลม ระบาย
- ช่วยบำรุงปอด
- ช่วยบำรุงตับ ไต
- ช่วยรักษาผมร่วง
ประโยชน์ของดอกเก็กฮวยนั้นโดยส่วนมากแล้วจะนิยมนำมาทำน้ำเก๊กฮวยเพื่อใช้ดื่มแก้กระหาย เพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย และยังสามารถปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งการปลูก ตัดดอกขาย ซึ่งนิยมปลูกพันธุ์ดอกเดี่ยวขนาดใหญ่สีต่าง ๆ และปลูกเป็นไม้ดอกในกระถาง ไม้ดอกตามข้างทาง สวนสาธารณะ หรือสวนหลังบ้าน เป็นต้น รักษาโรคทางร่างกายภายนอกหรือนอกอวัยวะ เนื่องมาจากลม และความร้อน อย่างเช่น เริ่มมีไข้ใหม่ ๆ ตามฤดูกาล ทำให้เกิดอาการไข้ ปวดศีรษะ และ ไอ มักใช้ ร่วมกับใบหม่อน เมนทอล และ สมุนไพรชื่อเหลี่ยงเคี้ยว ( Fructus forsythiae ) นอกจากนี้ยังใช้กับอาการหวัดเนื่องจากอาการร้อน ใช้สำหรับอาการตาบวม แดง และปวดตา ตามองไม่ชัด หรือเบลอ และอาการอ่อนแรง สำหรับอาการตาบวมแดง ปวดตาเนื่องมาจากลม และความร้อนกระ ทบต่อ ตับ หรือ ไฟในตับมาก มักใช้ร่วมกับ ใบหม่อน ชุมเห็ดไทย และหญ้าเล่งต้า ( Radix gentianae ) สำหรับการพร่องของตับ และไต พร้อมกับอาการตามัว อาจใช้ร่วมกับ เก๋ากี้ เส็กตี่ ( Radix Rehmanniae Praeparata ) ใช้สำหรับการมึนศีรษะ และปวดหัว เนื่องจากการกำเริบของหยางในตับ สามารถใช้ร่วมกับ โกฐสอ และอื่น ๆ กรณีเป็นฝีเป็นหนอง บวมและเป็นพิษ อาจใช้ดอกสด แล้วนำมาบดผสมน้ำ แล้วดื่ม แล้วนำกากมาพอก อาการอักเสบที่ตา อาจใช้พอกโดยตำดอกสดประคบภายนอกดวงตา ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะดื่มชาเก๊กฮวยร้อน ๆ จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น และช่วยบรรเทาอาการปวดท้องจากอาหารไม่ย่อย รักษาผมร่วง โดยเชื่อว่าดอกเก๊กฮวยสามารถรักษาอาการผมร่วง ช่วยให้สีผมดำ เงางาม ไม่เปลี่ยนเป็นสีเทาก่อนวัยอันควร
ส่วนในทางการแพทย์แผนปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยระบุว่าเก๊กฮวยสามารถช่วย ลดความดันโลหิต เพราะสมุนไพรชนิดนี้ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและต้านกระบวนการอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการรักษาและป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะจากความดันโลหิตสูง และมีฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิตลงได้ รักษาโรคเบาหวาน การบริโภคเก๊กฮวยหรือผลิตภัณฑ์จากเก๊กฮวยอาจช่วยต้านโรคเบาหวานได้ เพราะสารประกอบในเก๊กฮวยอย่างสารฟีนอลและฟลาโวนอยด์อาจช่วยยับยั้งการทำงานเอนไซม์ที่มีผลต่อการดูดซึมน้ำตาลบางชนิด และอาจเป็นผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการรักษาโรคเบาหวานได้ ต้านมะเร็งต่อมลูกหมากคาดว่าการบริโภคเก๊กฮวยอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ เนื่องจากเก๊กฮวยประกอบด้วยสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่เชื่อกันว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และยับยั้งการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนที่มีบทบาทในการควบคุมการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย แก้อาการร้อนใน แก้กระหาย แก้ไข้ โดยใช้ดอกเก๊กฮวยแห้งประมาณ 5-9 กรัม ต้มกิน หรือทำเป็นชา แล้วดื่มในปริมาณที่เหมาะสม รักษาแผลฝีหนอง และแผลบวม โดยใช้ดอกเก๊กฮวยสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด บดผสมน้ำแล้วดื่ม จากนั้นนำกากดอกเก๊กฮวยมาพอกตามแผล ใช้เก๊กฮวย แก้หวัด แก้ร้อนใน แก้อาการตาเจ็บ ตาบวม ขนาดการใช้ ใช้ดอกแห้ง ประมาณ 5-9 กรัม ต้มกิน หรือทำเป็นชา ต้มดื่มในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ดอกเก๊กฮวยยังสามารถนำไปใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ เพื่อช่วยบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ ได้อีกหลายตำรับอีกด้วย
ลักษณะทั่วไปเก๊กฮวย
เบญจมาศเป็นต้น เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กสูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขาไม่มาก ตามกิ่งก้านและลำต้นมีขนอ่อนปกคลุม ใบยาวรี ขอบใบจัก ใบสีเขียวอ่อนนุ่มมีขนอ่อน ทั้งกิ่งก้านและใบของเบญจมาศมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ดอกออกตรงปลายกิ่ง อาจออกเป็นช่อหรือเป็นดอกเดี่ยวแล้วแต่สายพันธุ์ รูปร่างดอก ทรงกลมคล้ายทานตะวัน หรือบานชื่น มีกลีบเรียวยาวเรียงซ้อนกันโดยรอบหลายชั้น ลักษณะกลีบ ดอกบางสายพันธุ์ยาวมากและบิดม้วน มีชื่อเรียกเฉพาะว่าดอกประเภทแมงมุม (spider) ดอกเบญจมาศมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดโตมาก ไปจนถึง ดอกขนาดเล็กประมาณ 1เซนติเมตร มีสีหลากหลาย เช่น เหลือง ขาว ชมพู ม่วง แดง เป็นต้น
แต่ในกลุ่มของดอกเบญจมาศทั้งหมดมี 2 ชนิด ที่นิยมนำมาทำน้ำเก็กฮวย หรือที่เรียกว่าดอกเก็กฮวย คือ
- เก๊กฮวยดอกขาว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เก๊กฮวยขาวดอกใหญ่ มีลักษณะทั่วไป คือ ลำต้น ตรง แข็ง เป็นพุ่มใหญ่ ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม ก้านใบมีสีม่วงอมเขียว ดอกมีสีขาว ขนาดใหญ่ ขนาดประมาณ 4.7-5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5-6 ชั้น มีกลีบดอกประมาณ 90 กลีบ เมื่อนำมาตากแดด ดอกจะแห้งเร็ว เก๊กฮวยขาวดอกเล็ก มีลักษณะทั่วไป คือ ลำต้นตรง เป็นพุ่มเล็ก ลำต้นค่อนข้างอ่อน ดอกมีขนาดประมาณ 4.5 เซนติเมตร เล็กกว่าพันธุ์แรก ส่วนกลีบดอกมีมากกว่าที่ 6-7 ชั้น มีจำนวนกลีบดอกประมาณ 120 กลีบ ส่วนสีดอกมีสีขาวอมสีเนื้อ ดอกเมื่อนำมาต้มจะให้กลิ่นหอมกว่าดอกใหญ่ แต่อาจมีรสขมปนเล็กน้อย
- เก๊กฮวยดอกเหลือง มีลักษณะทั่วไป คือ กลีบดอกมีสีเหลือง และให้รสขมมากกว่าพันธุ์ดอกขาวแต่ก็สามารถนำมาใช้ได้เหมือกันและมีสรรพคุณคล้ายกัน
การขยายพันธุ์เก๊กฮวย
เก๊กฮวยสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ได้แก่ การหว่านเมล็ด ,การปักชำ , การใช้ตอเดิมให้แตกยอดใหม่ และการโน้มกิ่งทับดิน แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำ ซึ่งมีวิธีการดังนี้
หลังจากการอนุบาลต้นกล้าเก๊กฮวยประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นให้ตัดยอดปักชำ การตัดยอดให้นับจำนวนใบจากยอดนับลงมา 8 ใบแล้วตัดจะได้กิ่งชำที่มีจำนวน 8 ใบ หลังจากนั้นทำการตัดแต่งกิ่งชำโดยการตัดใบคู่ล่างสุดออก 2 ใบเพราะบริเวณด้านล่างสุดต้องปักชำลงในดินไม่จำเป็นต้องมีใบติดอยู่ เพราะฉะนั้นในขั้นตอนนี้จำได้กิ่งชำที่มีจำนวน 6 ใบจึงสามารถนำไปปักชำลงในถาดหลุมเพาะชำที่มีวัสดุปลูกคือดินผสมแกลบดำอัตราส่วน 1:1 อนุบาลไว้ในโรงเรือนหรือในที่ร่มรำไร ไม่ควรมีแสงแดดจัด รดน้ำทุกวันตอนเช้าเป็นเวลา 15 วัน กิ่งชำจะมีรากและมีลำต้นที่แข็งแรงพร้อมนำไปปลูก เป็นต้นพันธุ์
จากนั้นต้องจัดเตรียมพื้นที่แปลงปลูกต้นพันธุ์เก๊กฮวย โดยทำการไถดินแบบละเอียด และขึ้นแปลงขนาดความกว้าง 1.20 เซนติเมตร ความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ของเกษตรกร แต่ไม่ควรยาวเกิน 24 เมตร ในพื้นที่ 1 แปลง ให้ปลูกต้นพันธุ์ระยะห่างระหว่างต้น 30x30 เซนติเมตร หรือ 1 ศอกโดยประมาณ จะได้หน้ากว้าง 4 ต้น ด้านยาว 80 ต้น รวมเป็น 320 ต้นพันธุ์
การปลูกเก๊กฮวยในช่วงสัปดาห์แรก ต้นเก๊กฮวยจะยังไม่แข็งแรง และยังตั้งตัวไม่ได้ต้องรดน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งทั้งช่วงเช้า และช่วงเย็นในสัปดาห์แรกของการปลูกนี้ และหลังจากนั้นจึงรดน้ำวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า ในช่วงการปลูกต้นเก็กฮวย 3-5 วัน ต้องใส่ปุ๋ยน้ำหมีวภาพในอัตราส่วนปุ๋ยหมักชีวภาพ 1 ลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร (โดยวิธีการกรองเอาน้ำปุ๋ยหมักมาผสมกับน้ำตามอัตราส่วนที่กำหนดเพื่อฉีดพ่น หรือใช้กากเศษพืชที่นำมาใช้ทำน้ำหมักชีวภาพผสมกับน้ำตามอัตราส่วนที่กำหนดเพื่อเทราดโคนต้นเก๊กฮวย) และหลังจากนั้นใส่ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพทุก 15 วัน จนถึงระยะเก็บเกี่ยว การตัดแต่งต้นเก๊กฮวย ครั้งที่ 1 จะทำหลังจากปลูกต้นเก๊กฮวยใน 20 วันแรก เพื่อให้ได้ลักษณะต้นที่เป็นทรงพุ่ม ทำการเด็ดยอดให้เหลือใบติดต้นไว้ประมาณ 6 ใบ แล้วรอให้หน่อใหม่จำนวน 3 หน่อต่อต้นส่วนการตัดแต่งต้นเก๊กฮวย ครั้งที่ 2 จะทำหลังจากตัดแต่งยอดครั้งที่ 1 ครบ 20 วัน โดยตัดยอดที่แตกออกมาจากครั้งที่ 1 จำนวน 3 ยอด โดยวิธีการเดียวกันกับการตัดแต่งครั้งที่ 1 และรอให้แตกยอดใหม่ จำนวน 9 ยอดต่อต้น การตัดแต่งต้นเก๊กฮวย ครั้งที่ 3 จะทำหลังจากตัดแต่งยอดครั้งที่ 2 ครบ 20 วัน โดยตัดยอดที่แตกออกมาจากครั้งที่ 2 จำนวน 9 ยอด โดยวิธีการเดียวกันกับการตัดแต่งครั้งที่ 1 และรอให้แตกยอดใหม่ จำนวน 27 ยอดต่อต้น และหลังจากการตัดยอดในครั้งที่ 3 นี้ เกษตรกรจะปล่อยให้ต้นเก๊กฮวยเจริญเติบโตจนแตกช่อออกดอก และบานในเดือนพฤศจิกายนพร้อมเก็บเกี่ยว
องค์ประกอบทางเคมี
ในดอกเก๊กฮวยมีสารเคมีธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น กรดคลอโรจีนิก (Chlorogenic Acid) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) หรือชาลโคน (Chalcone) สารไครแซนทีมิน (Chrysanthemin), สารอะดีนีน (Adenine), สตาไคดวีน (Stachydrine), โคลีน (Choline) กรดอะมิโน และน้ำมันหอมระเหยอีกหลายชนิดที่ช่วยรักษาและป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเก๊กฮวย
ที่มา : wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดอกเก๊กฮวยทั้งทางด้านเภสัชวิทยาทางคลินิก อาทิเช่น
ฤทธิ์ลดความดันโลหิตโดยให้หนูทดลองกินสารสกัดจากเก๊กฮวยในปริมาณ 100-300 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งพบว่าความดันโลหิตในหนูทดลองลดลง
ฤทธิ์รักษาโรคเบาหวาน โดยมีการทดลองให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 188 ราย รับประทานผลิตภัณฑ์จากเก๊กฮวยครั้งละ 8 กรัม วันละ 3 ครั้ง เปรียบเทียบกับผู้ป่วยอีกกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคเก๊กฮวย ผลการตรวจเลือดหลังจากผ่านไป 6 เดือนพบว่า กลุ่มที่รับประทานเก๊กฮวยมีความไวของอินซูลินเพิ่มขึ้นในผู้ที่เพิ่งเป็นเบาหวาน และยังมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่มีความหนืดของเลือดและระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลงด้วยเช่นกัน นักวิจัยจึงคาดว่าผลิตภัณฑ์จากเก๊กฮวยอาจช่วยเพิ่มความไวของอินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ นอกจากนี้ การทดสอบสารสกัดจากเก๊กฮวยผสมกับสารสกัดจากพืชชนิดต่าง ๆ ที่ศึกษาในห้องทดลอง พบว่าสารสกัดจากเก๊กฮวยผสมกับลูกหม่อนมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟาอะไมเลส (Alpha-Amylase) ที่หลั่งจากตับอ่อน รวมถึงยับยั้งเอนไซม์ซูเครสและมอลโทสในลำไส้เล็กได้เล็กน้อย ซึ่งช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลบางส่วนเข้าสู่ร่างกาย และอาจช่วยป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหลังมื้ออาหารได้ด้วย
ฤทธิ์ต้านมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์จากเก๊กฮวยและสมุนไพรรวม 8 ชนิดในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก เพื่อดูระดับของสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากหรือค่า PSA เพราะหากค่าที่ตรวจได้สูงกว่าปกติอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของต่อมลูกหมาก โดยในการเก็บข้อมูลครั้งแรกพบว่าอาสาสมัครประมาณ 88 เปอร์เซ็นต์มีค่า PSA อยู่ในระดับต่ำ และมีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ที่มีค่า PSA เพิ่มขึ้นจากเดิม อีกประมาณ 3 ปีต่อมา มีการเก็บข้อมูลอีกครั้ง พบว่าผู้ป่วย 93 เปอร์เซ็นต์มีค่า PSA อยู่ในระดับดี และมีเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ที่มีค่า PSA เพิ่มขึ้น ผลโดยรวมจึงระบุว่าผลิตภัณฑ์จากเก๊กฮวยและสมุนไพรดังกล่าวส่งผลดีต่อการควบคุมระดับ PSA ในเลือด ซึ่งอาจดีต่อการควบคุมมะเร็งต่อมลูกหมาก
นอกจากนี้ การศึกษาอีกงานหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากรับประทานอาหารเสริมจากเก๊กฮวยและสมุนไพรอื่น ๆ ครั้งละ 3 แคปซูล วันละ 2 ครั้ง หลังจากรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัดหรือเคมีบำบัดเป็นระยะเวลาเฉลี่ย 8 เดือน ผลพบว่าผู้ป่วยจำนวน 87 เปอร์เซ็นต์มีค่า PSA ลดลงประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ แต่จากการทดลองดังกล่าวก็พบว่าผู้ป่วยเผชิญผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น อาการคลื่นไส้ ท้องร่วง หรือเจ็บบริเวณหัวนม
การศึกษาทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- สำหรับดอกเก๊กฮวยจะที่นำมาใช้ควรเป็นดอกสีขาวหรือดอกสีเหลือง และไม่ใช่สายพันธุ์ที่เก็บมาจากในป่าเพราะอาจเป็นคนละชนิดกัน
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร การดื่มชาเก็กฮวยอาจทำให้เกิดกรดในกระเพาะเพิ่มมากขึ้น
- ผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย หรือมีอาการท้องเสียง่าย ควรดื่มน้ำเก๊กฮวยในปริมาณที่พอเหมาะ
- เก๊กฮวยเป็นพืชในวงศ์เดียวกับเบญจมาศ ผู้ที่มีอาการแพ้พืชตระกูลนี้มีแนวโน้มแพ้เก๊กฮวยได้เช่นกัน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเก๊กฮวยและใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากเก๊กฮวยด้วยความระมัดระวัง หากพบความผิดปกติหลังการบริโภค เช่น มีผื่น มีความผิดปกติในการหายใจ หรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์ทันที
- เก๊กฮวยอาจทำปฏิกิริยากับยาบางชนิด ผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากเก๊กฮวย
- น้ำมันที่ได้จากการสกัดดอกเก๊กฮวยจะประกอบด้วยสารไพรีทรัม (Pyrethrum) ซึ่งเหมือนสารประกอบในยาฆ่าแมลง ดังนั้นจึงควรใช้น้ำมันชนิดนี้ด้วยความระมัดระวัง เพราะการสัมผัสโดนโดยตรงหรือใช้เป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองกับผิวหนัง ปาก ตา และจมูกได้
เอกสารอ้างอิง เก๊กฮวย
- เดชา ศิริภัทร.เบญจมาศ:ความงดงามสำหรับดวงตาและหัวใจ.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 286.กุมภาพันธ์.2546
- ผศ.ดร.สุทธิพร ธเนศสกุลวัฒนา.คู่มือการปลูกเก๊กฮวยตามแนวทางเกษตรอินทรีย์สำหรับชุมชนเกษตรพื้นที่สูง อำเภอแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงราย.2559
- เก๊กฮวยเครื่องดื่มสมุนไพรกับการรักษาโรค.พบแพทย์ดอทคอม(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://pobpad.com
- รศ.ดร.พาณี ศิริสะอาด.คอลัมน์.ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ.หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์.ฉบับวันพุธที่ 2 มกราคม 2556 .หน้า 5
- เก็กฮวย/เก๊กฮวย น้ำเก็กฮวยและสรรพคุณเก็กฮวย.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com