ส้มจี๊ด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ส้มจี๊ด งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ส้มจี๊ด

ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น  มะนาวหวาน,ส้มกิมจ๊อ,ส้มมะปิ๊ด(ทั่วไป),ถ่ำควิด(จีน) ,ฮาซารา(อินเดีย)

ชื่อวิทยาศาสตร์Citrus japonica Thub.

ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์Citrus mitis Blanco , Citrus macrocarpa Bunge , Citrus mandurensis Loureim,Citrofortunella macrocarpa (Bunge) Wijnands และ x Citrofortunella mitis (Blanco) J. Ingram & H.E. Moore

ชื่อสามัญChina orange,Kumquat , calamondin , Golden lime , Orangequat

วงศ์RUTACEA

ถิ่นกำเนิด ส้มจี๊ดจัดเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งในวงศ์ส้ม (RUTACEA) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศจีน ต่อมาจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังเขตอบอุ่นใกล้เคียง เช่น ไต้หวัด เกาหลี ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ แล้วจึงมีการนำมาปลูกในภูมิภาคอื่นๆของโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณรอบๆ บ้านเรือน หรือตามกระถางไม้ประดับตามบ้านเรือนทั่วไป โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน จะมีปลูกไว้ประดับทั่วทุกบ้าน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและวงศ์ตระกูล

ประโยชน์/สรรพคุณ มีการนำผลสุกของส้มจี๊ดซึ่งมีรสเปรี้ยวมาใช้รับประทานเล่นหรือนำมาแทนมะนาว ในการปรุงอาหาร หรือใช้ในการทำน้ำผลไม้ แยม อีกทั้งยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นส้มจี๊ดแช่อิ่ม ส้มจี๊ดเชื่อม ส้มจี๊ดดอง ทำกิมจ๊อ และใช้ทำซาส้มจี๊ดเป็นต้น ในส่วนของเปลือกผลก็พบว่ามีการนำมาใช้ทำน้ำมันหอมระเหยที่สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบ ของการทำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามรวมถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆอีกด้วย

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบการนำส้มจี๊ดมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้กระถางตามอาคารบ้านเรือน ต่างๆ เนื่องจาก ส้มจี๊ดมีทรงต้นที่สวยงาม ไม่มีหนามแหลมคม ให้ผลดกตลอดปี อีกทั้งสีของผลมีส้มสดสวยงามตัดกับใบสีเขียวเข้ม แลดูสวยงามเป็นอย่างมาก

สำหรับสรรพคุณทางยาของส้มจี๊ดนั้นตามตำรายาไทย ตำรายาจีน และตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ดังนี้  ตามสรรพคุณยาจีน ผลส้มจี๊ดมีพลังเย็น รสเปรี้ยวอมหวาน มีสรรพคุณช่วยหล่อลื่นปอด แก้ปวดชื้น แก้เสมหะมาก แก้หวัด ส่วนในตำรายาไทยระบุว่า ผลส้มจี๊ดใช้แก้อาการไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ แก้เสียงแหบ แก้ภูมิแพ้ในลำคอ ช่วยกระตุ้นโลหิต ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ แก้อักเสบ เปลือกผลให้แก้ท้องอืดท้องเฟ้อขับลม แก้ลมในท้อง แก้ลมตีขึ้นเบื้องบน แก้คลื่อนไส้อาเจียน ช่วยในการย่อยอาหาร น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกผลใช้ช่วยแก้ผมร่วง ขจัดรังแค กระตุ้นการงอกของเส้นผม ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย แก้วิงเวียนทำให้ชุ่มชื้นหัวใจ

รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้ ใช้แก้อาการไอ ขับเสมหะ แก้ภูมิแพ้ในลำคอ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ โดยนำน้ำคั้นจากผลผสมเกลือเล็กน้อยจิบกิน ใช้แก้อาการเจ็บคอ แก้เสียงแหบ โดยนำผลดองกับเกลือทำให้แห้งใช้อมกินน้ำ ใช้บำรุงปอด แก้ปอดชื้น แก้ท้องอืด มีลมในท้อง แก้คลื่นไส้อาเจียน ช่วยย่อยอาหาร โดยนำเปลือกผลมาทำเป็นชาชงดื่ม ใช้แก้คันศีรษะ ขจัดรังแค กระตุ้นการงอกของเส้นผม แก้ผมร่วงโดยนำเปลือกผลมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ใช้ชโลมผมหลังสระผมประมาณ 5-10 นาที แล้วล้างออก

ลักษณะทั่วไป  ส้มจี๊ดจัดเป็นไม้พุ่มชนาดกว้างไม่ผลัดใบเรือนยอดแตกแขนงเป็นพุ่มแผ่นทึบ ต้นสูงได้ 1.5-3 เมตร ลำต้นมีสีน้ำตาลเข้ม แตกกิ่งก้านสลับกันไม่เป็นระเบียน กิ่งก้านมีสีเขียวเข้มไม่มีหนาม ใบเป็นใบประกอบแบบลดรูปมีใบย่อยใบเดียว ใบเล็กกว่าใบส้มทั่วไปมีลักษณะเป็นรูปไข่มีขนาดกว้าง 2-4 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลม ของใบเรียบ แผ่นใบเรียบหนา มีต่อมน้ำมันทั่วใบ ผิวใบเป็นมันสีเขียวเข้มด่างล่างใบสีอ่อนกว่า มีหูใบขนาดเล็กและมีก้านใบยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดียว แต่มักออกรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ บริเวณมุมใบ หรือตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมีกลีบเลี้ยงติดกันสีเขียวอมเหลือง เป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ส่วนดอกมีสีขาวกลิ่นหอมแรง กลีบดอกสีขาว รูปขอบขนาน 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดมีลักษณะเหมือนผลส้มทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็กกว่า โดยจะมีน้ำหนักต่อผลประมาณ 6.5-7 กรัม หรือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 1.5-3 เซนติเมตร เท่านั้น ผิวผลบางเมื่อผลดิบจะเป็นสีเขียวและมีกลิ่นหอม เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม ผิวเปลือกด้านในมีรสหวานเล็กน้อย ส่วนเนื้อในผลมีรสเปรี้ยวจัด ภายในผลมีเมล็ดรูปไข่ป้าน 1-3 เมล็ด

การขยายพันธุ์  ส้มจี๊ดสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำ เป็นต้น แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการตอนกิ่ง เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว มีอัตราการรอดสูง และต้นกล้าที่ได้ยังมีอัตราการเจริญเติบโตติดลูกได้เร็วกว่าวิธีอื่นๆ สำหรับวิธีการตอนกิ่งส้มจี๊ดนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการตอนกิ่ง พืชตระกูลส้มอื่นๆ เช่น ส้มโอ ส้มเขียวหวาน หรือมะนาว ฯลฯ ตามที่ได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของส้มจี๊ดและสารสกัดจากส่วนต่างๆของส้มจี๊ดระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น เปลือกผลพบสารกลุ่ม ฟีนอลิก เช่นp‑hydroxybenzoic, protocatechuicacid , vanillic acid ,chlorogenic acid , sinapic acids   สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ apigenin‑7‑glucoside , angelicin, bergaptol และ naringin ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกผลพบสาร limonene , α‑myrecene,  β‑pinene, bicyclogermacrene, germacrene D  และ sabinene  น้ำมันหอมระเหยจากใบพบสาร γ‑muurolene และ sesquiterpenes ส่วนสารสกัดจากผลทั้งผลพบ limonene, angelicin, bergaptol ,  β‑pinene, germacrene D  และ synephrine เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาวิจัยระบุว่า สารให้กลิ่นรสในส้มจี๊ดประกอบด้วยสาร (imonene, cis-linalool oxide, linalool, α-terpineol, (E,E)-2,4-decadienal และ methyl N-methyl anthranilate, α-tric acid , malic acid , hesperidin , citromitin และ 5-o-desmethyl citromitin เป็นต้น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา  มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาสารสกัดจากส่วนต่างๆ และน้ำมันหอมระเหยจากส้มจี๊ดระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

มีรายงานว่าน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเปลือกของส้มจี๊ด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งพบว่าออกฤทธิ์ดีใน การทดลองแบบ DPPH โดยมีค่า IC₅₀ ~855‑930 µg/mL และมีค่า ORAC สูง ถึง ~4,800 µmol TE/g และยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ ได้แก่เชื้อ E. coli โดยมีค่า MIC ~4 mg/mL ส่วนเชื้อ S. aureus มีค่า MIC เท่ากับ ~1 mg/mL และน้ำมันหอมระเหยจากใบ ก็มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน โดยมีค่า IC₅₀ ระหว่าง 70–170 µg/mL ในเซลล์ Hep3B, HeLa และ CaCo‑2 ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากผลมีค่า IC₅₀ ~1–2 mg/mL ใน เซลล์ HeLa, HCT116, U2OS และมีความปลอดภัยต่อเซลล์ปกติ

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยโดยได้ทำการทดสอบปกป้องตับในหนูทดลอง ที่ได้รับการชักนำให้ตับได้รับสารพิษจาก CCl₄ โดยให้น้ำส้มจี๊ดทางปากในขนาด 150–250 mg/kg พบว่าค่าพารามิเตอร์ตับดีขึ้น (ALP ลดลง) และ histology ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่งระบุว่าสารสกัด (ไม่ระบุส่วน)ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิด ในการทดสอบแบบ cytotoxicity และ DPPH/ORAC 

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่าสาร Naringin ที่พบในส้มจี๊ด ว่ามีค่า LD₅₀ ประมาณ 2,000 mg/kg ในหนูทดลอง และสารชนิดนี้อาจเข้าไปรบกวนการออกฤทธิ์ของยาแผนปัจจุบันที่มีผลต่อเอนไซม์ via CYP3A4 ที่มีความสำคัญในการเผาผลาญในตับและลำไส้เล็ก

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง  สำหรับการใช้ส้มจี๊ดเป็นอาหารนั้น ถือว่ามีความปลอดภัยสูง แต่สำหรับการนำมาใช้เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้ในเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้

อ้างอิง ส้มจี๊ด

  1. สห ตุลพงศ์.ส้มจี๊ด.คอลัมน์พืชสวน:ไม้ผล.วารสาร แม่โจ้ปริทัศน์ปีที่5.ฉบับที่4.กรกฎาคม-สิงหาคม2547.หน้า15-19
  2. นิตตา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์.ส้มกิมจ๊อในผลไม้ 111 ชนิด.คุณค่าอาหารและการกิน.กทม.แสงแดด.2550หน้า230
  3. สมพงษ์ เขาหนองบัว และดำรง สงบภัย 2547.”ส้มมะปิ๊ด ผลไม้พันธุ์ใหม่มาแรงทางเลือกใหม่เกษตรกรเมืองจันท์ฟันรายได้.เดลินิวส์(19,970):32.
  4. ช่อลัดดา.เทียบพุกและคณะ.การพัฒนาเครื่องดื่มน้ำส้มจี๊ดผสมกับสารสกัดจากเปลือกส้มจี๊ดพร้อมดื่ม.วารสารวิจัยและพัฒนา มจธ.ปีที่13 ฉบับที่3.กรกฎาคม-กันยายน2563.หน้า325-335
  5. สุรพงษ์ โกสิยะจินดา,ดวงพร อมัติรัตนะและมานิตย์ โฆษิตตระกูล 2528.คุณภาพบางประการของผลมะนาวและส้มจี๊ด.ว.วิทย กษ. 18(6):403-413.
  6. Zanger, U. M., & Schwab, M. (2013). Cytochrome P450 enzymes in drug metabolism: Regulation of gene expression, enzyme activities, and impact of genetic variation. Pharmacology & Therapeutics, 138(1), 103–141.
  7. Mabberley, D. J. (2004). Citrus (Rutaceae): a review with notes on its origin, domestication and taxonomy. Telopea, 10(4), 939–949.
  8. Sawangjaroen, K., et al. (2021). Anti-inflammatory activity of Citrus japonica extract in gastric ulcer model rats. Thai Journal of Pharmacology, 43(1), 15–24.
  9. Chanjula, P., et al. (2016). Chemical Composition and Antioxidant Activity of Citrus Peel Extracts. Kasetsart Journal (Natural Science), 50(5), 765–774.
  10. Maneerat, W. et al. (2015). Hepatoprotective effect of Citrus japonica fruit juice in rats. Thai Journal of Toxicology, 30(1), 35–42.
  11. Zhang, D., et al. (2018). Phylogeny and evolution of Citrus species. Frontiers in Plant Science, 9: 617.
  12. Abeysekera, W. P. K. M., et al. (2019). Volatile Oils and Bioactivity of Kumquat Leaves. Journal of Essential Oil Research, 31(4), 298–306.
  13. EFSA (European Food Safety Authority). (2014). Scientific opinion on the safety of naringin. EFSA Journal, 12(3): 3583.
  14. Takeuchi, H., Ubukata, Y., Hanafusa, M., Hayashi,S. and Hashimoto, S., 2005, "Volatile Constituents ofCalamondin Peel and Juice (Citrus madurensis. Lour.).Cultivated in the Philippines," Journal of EssentialOil Research, 17 (1), pp. 23-26.
  15. Zhang, Y., et al. (2014). Flavonoid glycosides from kumquat peel and their antioxidant activity. Food Chemistry, 154, 291–296.
  16. Belsito, D. V., et al. (2007). A safety assessment of citrus-derived ingredients as used in cosmetics. Food and Chemical Toxicology, 45(Suppl 1), S61–S83.
  17. Yu, H., et al. (2005). Phototoxicity and pharmacokinetics of furanocoumarins. Toxicology Letters, 158(2), 143–153.
  18. Chaemsawang, W. et al. (2022). Phenolic Compounds and Antioxidant Activities of Citrus japonica Peel. Pharmacognosy Journal, 14(2), 303–309.
  19. Chan, W. K., et al. (2016). Effect of naringin on CYP enzymes and drug interactions. Phytotherapy Research, 30(10), 1553–1558.
  20. Kim, J. K., et al. (2010). Cytotoxic effects of Citrus peel extracts on cancer cell lines. Journal of Medicinal Plants Research, 4(22), 2318–2323.
  21. Liu, J., et al. (2020). Comparative study of essential oil composition from different parts of Citrus japonica. Industrial Crops and Products, 148, 112284.
  22. Saengkrajang, W. et al. (2013). Chemical Composition of Kumquat (Citrus japonica) Essential Oil. Thai Journal of Agricultural Science, 46(1), 45–52.