ไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์
ไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์
ชื่อสามัญ Diospyrol diglucoside
ประเภทและข้อแตกต่างไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์
สารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ (diospyrol diglucoside) เป็นสารชนิดใหม่ที่พบได้ในพืชธรรมชาติ ซึ่งจัดเป็นสารประกอบ Phenolic ชนิดหนึ่งในกลุ่ม naphthalene ที่มีชื่อว่า tetrahydroxyt dimethylbinaphthalene โดยมีคุณสมบัติเป็นสารที่ละลายน้ำได้ แต่จะไม่ดูดซึมในกระเพาะอาหารและลำไส้ แต่อย่างไรก็ตามสาร diospyrol diglucoside นี้ เมื่อถูก oxidise ในสารละลายที่เป็นด่างจะสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเป็นสาร Diospyrol ซึ่งเป็นสารที่มีพิษได้ สำหรับประเภทของสารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ นั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า สารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ (diospyrol diglucoside) เป็นสารที่พบได้ในธรรมชาติ โดยสามารถพบได้ ผลดิบของมะเกลือ (Diospyros mollis Griff) และมะเกลือป่า หรืออีกชื่อหนึ่งคือตานดำ (Dios pyros montana Roxb.) ซึ่งสารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ที่พบในผลของพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ จะสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูก oxidise หรือถูกแสงหรือโดนความร้อน หรือแม้แต่ทิ้งไว้ในอากาศ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสารสีเทา และเป็นสีดำในที่สุด อีกทั้งสารดังกล่าวจะหมดฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และจะกลายเป็นสารมีพิษที่มีชื่อว่า diospyrol
ปริมาณที่ควรได้รับไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์
สำหรับขนาดและปริมาณของสารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ (diospyrol diglucoside) ที่เหมาะสมและมีความปลอดภัย ในการใช้ต่อวันนั้นในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ของขนาดและปริมาณในการใช้แต่อย่างใด เนื่องจากในประเทศไทยการใช้หรือการได้รับสารดังกล่าวจะเป็นการใช้หรือได้รับตามตำรายาไทย โดยใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ผ่านการใช้ในรูปแบบสมุนไพร หรือสารสกัดหยาบ (crude extract) จากผลดิบของมะเกลือ โดยการใช้ผลสดสีเขียวจำนวนตามอายุ แต่ไม่เกิน 25 ผลโขลกพอแหลก แล้วผสมกับหัวกะทิสดคั้นเอาน้ำดื่มก่อนอาหารมื้อเช้า หากครบ 3 ชั่วโมง แล้วยังไม่ถ่ายให้ใช้ยาระบายดีเกลือตาม แต่ทั้งนี้หลังจากการเตรียมยาข้างต้นเสร็จต้องใช้ดื่มทันทีหลังจากการเตรียมยา ห้ามทิ้งไว้นานจนเป็นสีน้ำตาล หรือ สีดำ อาจนำไปต้ม หรือผสมกับน้ำปูนใส เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีขึ้น และเกิดเป็นสารที่มีพิษ ได้แก่ ไดออสไพรอล (diospyrol) ขึ้นมา แล้วกลายเป็นสารพวกแนพธาลีน (naphthalene) ที่กระเพาะสามารถดูดซึมได้ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน องค์การอาหารและยาของไทยก็ยังไม่ได้กำหนดและอนุญาตให้ใช้สารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ จากมะเกลือมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ แต่อย่างใด ส่วนในต่างประเทศนั้นได้มีการสกัดสารดังกล่าวมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิชนิดเม็ด ซึ่งขนาดและปริมาณการใช้หรือปริมาณความเข้มข้นที่ใช้ของสารสกัดก็ขึ้นอยู่กับสถาบันและองค์การอาหารและยาของประเทศนั้นกำหนด
ประโยชน์และโทษไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์
ด้านประโยชน์ของสารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ (diospyrol diglucoside) นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ประโยชน์หลักๆ อยู่ 2 ประเภท คือ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ โดยการใช้เป็นยาถ่ายพยาธินี้ มีการใช้ในตำรายาไทยมานานแล้ว โดยเป็นการใช้ในรูปแบบสมุนไพรจากผลดิบของมะเกลือดังที่กล่าวมาในหัวข้อที่ผ่านมา ซึ่งจากประโยชน์นี้ ในอดีตทางกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้มะเกลือเป็นสมุนไพรในครัวเรือนอีกด้วย แต่ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ยกเลิกให้มะเกลือเป็นสมุนไพรในงานสาธารณสุขเพื่อใช้ในครัวเรือนแล้ว เนื่องจากอาจจะเกิดอันตรายได้ หากมีการเตรียมยาและวิธีการใช้ที่ไม่ถูกต้อง ส่วนประโยชน์ของสารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ อีกประเภทหนึ่ง คือ ใช้เป็นสีย้อมผ้า ซึ่งจะให้สีดำเป็นมัน โดยมีกรรมวิธีทางเคมี คือ ให้สารดังกล่าว ถูกออกซิไดซ์ให้กลายเป็นสารไดออสไพรอล (diospyrol) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีดำ จากนั้นจึงนำผ้าลงต้ม โดยมีวิธี คือ นำผลมะเกลือที่แก่จัดมาตำ เทลงในภาชนะใส่น้ำที่จะใช้ย้อมจากนั้นนำไปต้มให้เดือด นำผ้าที่จะย้อมชุบน้ำบิดให้แห้งใส่ลงไปต้มนาน 10-15 นาที ซึ่งในการย้อมจะย้อมหลายหนจนสีติดดี สำหรับในการย้อมด้วยวิธีนี้สีจะไม่ตก ยิ่งถูกแดดยิ่งดำ ผ้าที่ย้อมจะมีคุณภาพดี นอกจากนี้ยังทำให้เนื้อผ้าหนาขึ้นอีกด้วย
ส่วนโทษของสารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ นั้น มีรายงานการเกิดพิษว่ามีการนำผลมะเกลือจำนวน 10 ผล นำมาบดผสมน้ำกะทิให้เด็กชาย อายุ 12 ปี ดื่มเพื่อถ่ายพยาธิ ในวันรุ่งขึ้นเด็กมีอาการเวียนศีรษะ อาเจียนจนหมดสติ ญาติต้องรีบนำส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย แพทย์ระบุว่าแพ้ผลมะเกลืออย่างรุนแรง ทำให้สมองบวมและทำลายเนื้อเยื่อประสาทตา จนทำให้ตาบอดในที่สุด เช่น เดียวกันกับรายงานอีกฉบับหนึ่งระบุว่า คนไข้รับประทานน้ำคั้นจากผลมะเกลือประมาณ 17 ชม. มีอาการทางตาให้เห็นคือ รูม่านตาขยายทั้งสองข้าง ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นการฝ่อของประสาทอ็อฟติค ทำให้เกิด retrobulbar neuritis และตาบอดทั้งสองข้าง
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ของสารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ในหัวข้อฤทธิ์ขับพยาธิดังนี้
มีการศึกษาวิจัยพบว่า สาร diospyrol diglucoside ในผลมะเกลือมีฤทธิ์ขับพยาธิตัวกลม (Toxicara canis) และ พยาธิปากขอ (Ancyclostoma canium) ในสุนัข แต่สารสกัดไม่ให้ผลต่อพยาธิทั้ง 2 และเมื่อให้น้ำคั้นผลมะเกลือสดแก่สุนัข จำนวน 80 มิลลิลิตร โดยให้ทางท่อสอดถึงกระเพาะอาหาร พบว่าถ้าใช้มะเกลือชนิดผลแบนใหญ่สีเขียวนวล สามารถขับพยาธิปากขอได้ร้อยละ 61.9–100 แต่ถ้าใช้มะเกลือชนิดผลกลมเล็กสีเขียว จะขับพยาธิปากขอได้ร้อยละ 58.2–67.5 โดยมีผลขับพยาธิปากขอในสุนัข (Ancylostoma canium) ได้มากกว่าพยาธิปากขอในแมว ( A. ceylanicum) การศึกษาทางคลินิกมีรายงานว่า สารสกัด diospyrol diglucoside จากมะเกลือที่ใช้รักษาคนไข้ สามารถฆ่าพยาธิตัวตืด และพยาธิไส้เดือนได้ดีและยังมีการทดลองประสิทธิภาพของสารสกัด diospyrol diglucoside จากผลมะเกลือสดด้วยแอลกอฮอล์ ในการรักษาคนไข้โรคพยาธิปากขอ โดยใช้ขนาดรักษา 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หลังอาหารเช้า 10 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับการใช้ tetracholrethylene ในขนาดรักษา 0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าสารสกัด สามารถลดจำนวนไข่พยาธิได้ร้อยละ 93.9+3.3 ส่วน tetracholrethylene ลดได้ร้อยละ 98.8+1.2 อัตราการรักษาคิดเป็นร้อยละ 50.0% และ 77.3 ตามลำดับ และพบผลข้างเคียงในกลุ่มคนไข้ที่ทำการรักษา คือ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน และปวดท้อง
นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้สารสกัด diospyrol diglucoside ในผลมะเกลือด้วยแอลกอฮอล์ในขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รักษาพยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า โดยเปรียบเทียบกับ mebendazole ขนาด 2.0 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 วัน พบว่าสารสกัดให้ผลดีกับพยาธิปากขอ แต่ให้ผลรักษาไม่ดีนักกับพยาธิไส้เดือนและพยาธิแส้ม้า และสารสกัดยังทำให้ไข่พยาธิลดลงร้อยละ 57.3 ถึง 85.4 ส่วนอัตราการรักษาร้อยละ 23.6-29.0 ส่วน mebendazole ทำให้จำนวนไข่ลดร้อยละ 86.6 สำหรับพยาธิปากขอร้อยละ 98.1 สำหรับพยาธิไส้เดือน และร้อยละ 77.4 สำหรับพยาธิแส้ม้า อัตราการรักษาร้อยละ 32.4, 92.0 และ 79.6 ตามลำดับ
อีกทั้งยังมีการศึกษาถึงกลไกในการออกฤทธิ์ต่อพยาธิของสารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ ระบุว่าสาร diospyrol diglucoside ออกฤทธิ์ต่อ Nematospitoides dubius และ Hymenloepsis nana ในหนูถีบจักร เข้าใจว่าการออกฤทธิ์ไม่ได้มีผลต่อพยาธิในช่วงที่เป็นไข่หรือตัวอ่อน แต่จะมีผลต่อพยาธิที่มีปาก โดยจะกลืนเอาสารดังกล่าวเข้าไป นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความเป็นพิษของสาร ไดออสไพรอล ระบุว่ามีรายงานการเกิดพิษของสาร diospyrol มะเกลือในผู้ป่วย 2 ราย รายแรกเป็นชายอายุ 25 ปี รับประทานมะเกลือถึง 50 ผล และมาโรงพยาบาลหลังได้ยาแล้ว 26 ชั่วโมง เนื่องจากมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลมต่อมาตาบอดทั้ง 2 ข้าง ผลการรักษาไม่สามารถรักษาตาบอดได้ รายที่ 2 เป็นเด็กชายอายุ 6 ปี มีอาการตามัวหลังได้ยา 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยได้รับยาซึ่งเตรียมโดยการต้มมะเกลือกับน้ำ หลังจากรักษาได้ 3 เดือน พบว่าเริ่มมองเห็นวัตถุใหญ่ได้ดี ช่วยตนเองได้ ผู้ป่วยอีกรายอายุ 5 ปี ตามัวในวันที่ได้รับยา หลังรักษา ตาขวาหาย แต่ตาซ้ายบอด นอกจากนี้มีรายงานซึ่งไม่ได้ตีพิมพ์ว่ามะเกลือซึ่งผสมน้ำปูนใสทำให้เกิดตาบอดเช่นกัน การต้มหรือการผสมน้ำปูนใสกับสารสกัดมะเกลือจะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีได้สาร diospyrol ซึ่งเป็นพวกแนพธาลีน ซึ่งสารเหล่านี้ มีการดูดซึมผ่านกระเพาะได้ดี การดูดซึมนี้จะมากหรือน้อยอาจขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของผู้ใช้ด้วย นอกจากนี้ยังอาจเปลี่ยนแปลงเป็นสารพวก phenolic อื่นๆ อีกมาก ซึ่งสารเหล่านี้จะมีผลต่อประสาทตาอีกด้วย
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
สำหรับการใช้สารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ เป็นยาถ่ายพยาธิตามตำรับยาไทยนั้นต้องใช้โดยผู้ที่เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปใช้เองโดยพลการ เพราะหากพลาดพลั้งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงขั้นตาบอดได้ อีกทั้งยังมีรายการอาการแพ้มะเกลือในคน โดยทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง ถ่ายอุจจาระบ่อยเพลีย มึนงงและปวดศีรษะ เป็นต้น
นอกจากนี้การใช้มะเกลือเพื่อให้ได้รับสารไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์ นั้นยังมีข้อจำกัดในการใช้หลายประการ เช่น
- ห้ามใช้ในกลุ่มคนดังนี้ หญิงมีครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ หญิงหลังคลอดบุตรและให้นมบุตร ผู้ที่มีอาการไข้ ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร และผู้ที่ถ่ายผิดปกติบ่อยๆ
- โครงสร้างของ diospyrol ซึ่งเป็นสารที่มีพิษในมะเกลือคล้ายคลึงกับสาร napthol ซึ่งเป็นสารมีพิษต่อประสาทตา ดังนั้นการกินมะเกลือมากเกินไป หรือหากสารดังกล่าวถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการอักเสบของเรตินาได้
อ้างอิงไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์
- มะเกลือ.ฐานข้อมูลสมุนไพร สาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- มะเกลือ.ฐานข้อมูลพืชพิษ.สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์แพทย์กระทรวงสาธารณสุข
- เรณู ทองเต็ม. การศึกษาประสิทธิภาพของมะเกลือที่มีต่อพยาธิปากขอในสุนัข. ข่าวสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 2522;20 (208):7-8.
- กมล สวัสดีมงคล,นิยดา เกียรติยิ่งยังศุลี,มนัส หวังหมัด.สมุนไพรที่ใช้ถ่ายพยาธิลำไส้.วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปีที่ 27.ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2528.หน้า 441-448
- เสาวณี สุริยาภณานนท์ "พืชพิษ" ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หน้า 23.
- กิจเจริญ, พ และวิริยะลัพระ, ข, ”ตาบอดเนื่องจากมะเกลือ:รายงานผู้ป่วย 2 ราย”.เชียงใหม่เวชสาร 19(1):5-10, 2523.
- Daengswang S, Mangalasmaya M. A record of some cases of human infestation with Fasciolopsis buskii occurring in Thailand. Ann Trop Med Parasit 1941;35:43-4.
- Limpaphayom P.,et al.”Optic atrophy from Maklua:A case Report” Siriraj Hosp.Gar 29:454-8,1977.
- Kitcharoen P, Wiriyalappa C. Blindness from Maklua: Clinical reports of 2 patients. Chiang Mai Med Bull 1980;19(1):5.
- Luttermoser GW, Bond HW. Anthelmintic activity of the fruits of Diospyros mollis and tests for activity of other persimmons. Proc Helminthol Soc 1957;24:121.
- Migasena S, Suntharasamai P, Inkatanuvat S, Chindanond D, Harinasuta T. The clinical trial of Makluea (Diospyros mollis) extract in human hookworm infection. Report of the Faculty of tropical Medicine, Mahidol University, Bangkok, Thailand, 1967.
- Hayadh,S.”Effect of Diospyrol, an active component of Dieapyros mollis, against developing stages of Nematosplroldes dubius” Presented at the Asian Meeting on Parasitic Infection Feb 26-28,1980 Bangkok Thailand.
- Konsomboon S. Blindness from Maklua. Bull Dep Med Serv 1979;4(2):59-65.
- Unhanand M, Srinophankul S, Sidalarusamee T, Jeeradista C, Nilapunthu S, Sathitayathai A. Clinical trial on the efficacy of Maklua for treatement of Ascaris, hookworm and Trichuris. Commun Dis J 1978;4(3):216-8.