พวงไข่มุก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
พวงไข่มุก งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ
ชื่อสมุนไพร พวงไข่มุก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น อูน,อูนบ้าน,ดอกอูน(ภาคเหนือ),ระป่า(ภาคตะวันออก),พอตะบุ,ชิตาโหระ(กะเหรี่ยง)ทู่ซือจื่อ(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์Sambucus canadensis Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์Sambucus simpsonii RehderSambucus nigra subsp. canadensis (L.) Bolli
ชื่อสามัญAmerican elder
วงศ์ADOXACEAE
ถิ่นกำเนิด พวงไข่มุกจัดเป็นพืชในวงศ์ เอลเดอร์เบอร์รี่ (ADOXACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปอเมริกาเหนือ ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือบริเวณอาคารบ้านเรือนหรือชายป่าหรือตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ที่มีความสูงชุ่มชื้นสูง ที่มีระดับความสูง 200-1300 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ประโยชน์/สรรพคุณ พวงไข่มุกถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
ในภาคเหนือมีการนำยอดอ่อนของพวงไข่มุกมาใช้รับประทานเป็นอาหาร โดยนำมารับประทานเป็นผักแกล้มน้ำพริก ส่วนผลสุกมีรสเปรี้ยวฝาด ใช้รับประทานได้ หรือในต่างประเทศมีการนำมาใช้ทำแยมไวน์ และพาย รวมถึงนำดอกมาใช้ปรุงอาหาร หรือทำเป็นชาชงน้ำดื่ม ช่อดอกมีกลิ่นหอม มักนำไปวัดเพื่อบูชาพระ หรือใช้ในพิธีกรรมต่างๆ
นอกจากนี้ยังใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนตามแนวรั้วหรือใช้ปลูกตกแต่งส่วนหย่อยตามอาคารสถานที่ต่างๆ เนื่องจากมีทรงพุ่มที่สวยและดอกมีสีขาวสวยและมีกลิ่นหอม สำหรับสรรพคุณทางยาของพวกไข่มุกนั้น ตามตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ดังนี้
- ทั้งต้น แก้อาการตัวบวม
- ราก แก้อาการท้องร่วง
- ดอก ช่วยขับเหงื่อ แก้มือเท้าเคล็ด แก้เคล็ดขัดยอกตามข้อ
- ใบ บรรเทาอาการมือเท้าเคล็ดข้อเคล็ดข้อพลิก
รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้
- แก้อาการท้องร่วง โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
- ช่วยขับเหงื่อ แก้เคล็ดขัดยอก แก้มือเท้าเคล็ด โดยนำดอกแห้งใช้เป็นยาชงดื่มหรือนำดอกมาผสมกับสมุนไพรอื่นหมกประคบบริเวณที่เคล็ดขัดยอก
- ใช้บรรเทาอาการมือเท้าเคล็ด ข้อเคล็ด ข้อพลิก โดยนำพวงไข่มุก นำมาต้มใส่ไข่กิน หรือใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น หมกประคบ
- ใช้แก้อาการตัวบวม โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำอาบ
ลักษณะทั่วไป พวงไข่มุกจัดเป็นไม้พุ่ม ทรงพุ่มโปร่ง ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง เปลือกต้นมีสีน้ำตาล ผิวขรุขระเล็กน้อย สูง 2-4 เมตร มักจะแตกกิ่งก้านจำนวนมาก กิ่งอ่อนมีสีเขียวค่อนข้างเหนียว กิ่งแก่กลวงมีสีน้ำตาลเปราะหักง่าย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกบริเวณปลายกิ่ง และจะออกเรียงตรงข้าม โดยใน 1 ใบจะมีใบย่อย 2-6 คู่ ใบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกหรือรูปไข่แกมใบหอกมีขนาดกว่าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 6-15 เซนติเมตร โคนใบมนปลายใบแหลมเป็นติ่ง ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง โดยช่อจะมีขนาดใหญ่ประมาณ 20-45 เซนติเมตร และใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยจำนวนมากดอกย่อยมีขนาดเล็กประมาณ 4-4.5 มิลลิเมตร มีกลีบรองดอกเป็นหลอดยาว 1 มิลลิเมตร กลีบดอกมีสีขาว โดยโคนกลีบดอกจะเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 อัน ซึ่งดอกพวงไข่มุกจะมีกลิ่นหอมมากในเวลาเย็นจนถึงเช้ามืด ผลเป็นผลสด มีลักษณะเป็นรูปกลม ขนาดของผล 4-5 มิลลิเมตร ผิวผลมัน เมื่อผลอ่อนจะมีสีเขียว จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มเกือบดำ ด้านในมีเมล็ด ลักษณะรูปรีแกมขอบขนาน ที่มีขนาด 2.5 มิลลิเมตรประมาณ 4-5 เมล็ด
การขยายพันธุ์ พวกไข่มุกสามารถขยายพันธุ์ได้โดย การเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งพวงไข่มุกนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง ไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้พวงไข่มุกเป็นพืชที่ชอบความชื้นสูง ต้องการดินที่ชุ่มชื้นมาก ไม่ชอบแสงแดดจัด แต่หากปลูกในที่ที่มีแดดจัดพบว่า ลำต้นและกิ่งจะแข็งแรงไม่เปราะหักง่าย
องค์ประกอบทางเคมี มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมทีของสารสกัดจากส่วนผลของพวงไข่มุก ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น cyanidin 3-O-sambubioside-5-O-glucoside, cyanidin 3-O-sambubioside, cyanidin 3-O-glucoside, cyanidin 3-O-[6-O-(E-p-coumaroyl-2-O-β-D-xylopyranosyl)-β-D-glucopyranoside]-5-O-βD-glucopyranoside, caffeoylquinic acids, neochlorogenic acid , chlorogenic acid, ,, rutin, hyperoside, isoquercitrin, isorhamnetin 3-O-rutinoside, kaempferol , quercetin นอกจากนี้ยังพบสาร petunidin 3-O-rutinoside และ Delphinidin 3-Orutinoside อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาในต่างประเทศของสารสกัดจากส่วนผลของพวงไข่มุกระบุว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลิอิสระ ต้านไวรัส ต้านการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ต้านเบาหวาน และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยมีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่าสารสกัดจาผลพวงไข่มุก สามารถยับยั้งการออกซิเดชันได้ในลักษณะที่ขึ้นอยู่กับปริมาณโดยสารสกัดจากผลพวงไข่มุกที่ย่อยในลำไส้ใหญ่ 1 มก./มล. จะออกฤทธิ์ต้าอนุมูลอิสระซึ่งสามารถปกป้องเซลล์ลำไส้ใหญ่จากผลกระทบที่การออกซิเดชันได้ โดยจะทำให้เกิดการลดการผลิต ROS ในเซลล์ที่มากเกินไปและป้องกันความเสี่ยงหายจากออกซิเดชันของ DNA ในเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจกผลพวงไข่มุกยังมีฤทธิ์ต่อต้านวัยได้ เนื่องจากสารเหล่านี้มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบที่เป็นสาเหตุหลักของการแก่ก่อนวัยและความชราของเซลล์ รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักในการเกิดโรคเรื้อรัง และโรคที่เกี่ยวข้องกับอายุที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ โรคพากินสัน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน หลอดเลือดแข็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวานประเภท 2 และมะเร็ง เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง สำหรับการใช้พวงไข่มุกเป็นสุมนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ทั้งนี้มีรายงานว่า ทุกส่วนของลำต้นเมื่อรับประทานสดๆ ในปริมาณที่มากจะทำให้เวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ ปวดท้อง
อ้างอิงพวงไข่มุก
- ปิยะ เฉลิมกลิ่น,ไม้ดอกหอม เล่ม1.สำนักพิมพ์บ้านและสวน,พิมพ์ครั้งที่ 5.160 หน้า.(44)
- พัฒน์ พิชาน.2550.สุดยอดไม้ประดับ-ไม้ดอกหอม.ไทยควอลิตี้บุ๊คส์.กรุงเทพมหานคร.
- พวงไข่มุก.หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.หน้า189.
- เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล.ไม้มีพิษ,กทม.เศรษฐศิลป์.2552
- Ozgen, M.; Scheerens, J.C.; Reese, R.N.; Miller, R.A. Total phenolic, anthocyanin contents and antioxidant capacity of selected elderberry (Sambucus canadensis L.) accessions. Pharmacogn. Mag. 2010, 6, 198–203.
- Waswa, E.N.; Li, J.; Mkala, E.M.; Wanga, V.O.; Mutinda, E.S.; Nanjala, C.; Odago, W.O.; Katumo, D.M.; Gichua, M.K.; Gituru, R.W.; et al. Ethnobotany, phytochemistry, pharmacology, and toxicology of the genus Sambucus L. (Viburnaceae). J. Ethnopharmacol. 2022, 292, 115102
- Avula, B.; Katragunta, K.; Wang, Y.-H.; Ali, Z.; Srivedavyasasri, R.; Gafner, S.; Slimestad, R.; Khan, I.A. Chemical profiling and UHPLC-QToF analysis for the simultaneous determination of anthocyanins and flavonoids in Sambucus berries and authentication and detection of adulteration in elderberry dietary supplements using UHPLC-PDA-MS. J. Food Comp. Anal. 2022, 110, 104584.
- Lee, J.; Finn, C.E. Anthocyanins and other polyphenolics in american elderberry (Sambucus canadensis) and European elderberry (S. nigra) cultivars. J. Sci. Food Agric. 2007, 87, 2665–2675
- Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised 2001.810p.(463)
- Zakay-Rones, Z.; Thom, E.; Wollan, T.; Wadstein, J. Randomized study of the efficacy and safety of oral elderberry extract in the treatment of influenza a and b virus infections. J. Int. Med. Res. 2004, 32, 132–140.
- Hu, X.; Yang, Y.; Tang, S.; Chen, Q.; Zhang, M.; Ma, J.; Qin, J.; Yu, H. Anti-aging effects of anthocyanin extracts of Sambucus canadensis caused by targeting mitochondrial-induced oxidative stress. Int. J. Mol. Sci. 2023, 24, 1528
- Młynarczyk, K.; Walkowiak-Tomczak, D.; Łysiak, G.P. Bioactive properties of Sambucus nigra L. As a functional ingredient for food and pharmaceutical industry. J. Funct. Foods 2018, 40, 377–390
- Mocanu, M.L.; Amariei, S. Elderberries-a source of bioactive compounds with antiviral action. Plants 2022, 11, 740.
- Murkovic, M.; Abuja, P.; Bergmann, A.; Zirngast, A.; Adam, U.; Winklhofer-Roob, B.; Toplak, H. Effects of elderberry juice on fasting and postprandial serum lipids and low-density lipoprotein oxidation in healthy volunteers: A randomized, double-blind, placebo-controlled study. Eur. J. Clin. Nutr. 2004, 58, 244–249