กรดน้ำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กรดน้ำ งานวิจัยและสรรพคุณ 47 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กรดน้ำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กัญชาป่า, กระต่ายจามใหญ่, มะไฟเดือนห้า, ขัดมอญเล็ก, หญ้าหนวดแมว, หญ้าขัด, ต้อไม้ลัด, ปีกแมงวัน (ภาคกลาง), ยูแม่ม่าย, หญ้าหัวแมงงุน, หญ้าขัดหิน (ภาคเหนือ), หูปลาช่อนตัวผู้, เทียนนา (ภาคตะวันออก), ตานซาน, ขัดมอญเทศ (ภาคใต้), เอี่ยกำเต้, แหย่กานฉ่าน (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Scoparia dulcis Linn
ชื่อสามัญ Macaotea, Sweet broomweed
วงศ์ SCROPHULARIACEAE - PLANTAGINACEAE


ถิ่นกำเนิดกรดน้ำ

กรดน้ำ จัดเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ โดยมีถิ่นกำเนิดในพื้นที่คาบเกี่ยวของทั้งภูมิภาคต่างมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยกรดน้ำ จัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณที่รกร้างว่าเปล่า และในป่าทั่วไป หรือ ตามริมสองฝั่งแม่น้ำ


ประโยชน์และสรรพคุณกรดน้ำ

  1. ใช้บำรุงธาตุ
  2. แก้ไอ
  3. แก้หลอดลมอักเสบ
  4. แก้เบาหวาน
  5. แก้ขัดเบา
  6. แก้ปวดฟัน
  7. ช่วยขับประจำเดือน
  8. ช่วยขับระดูขาว
  9. แก้ไข้ ลดไข้
  10. แก้ฟกช้ำ
  11. รักษาโรคผิวหนัง
  12. ใช้รักษาแผลสด
  13. ช่วยห้ามเลือด
  14. ช่วยเจริญอาหาร แก้อาการเบื่ออาหาร
  15. ช่วยบำรุงน้ำนม
  16. แก้เจ็บคอ เสียงแหบ
  17. แก้ท้องเสีย
  18. แก้ปวดท้อง
  19. แก้บิด ติดเชื้อ
  20. แก้ลำไส้อักเสบ
  21. ช่วยขับลม
  22. แก้เหงือกบวม
  23. แก้ปากเปื่อย
  24. ช่วยลดอาการบวมน้ำ
  25. ใช้ขับพยาธิ พยาธิไส้เดือน
  26. แก้พิษฝี
  27. แก้ปวด
  28. แก้ไข้ป่า (มาเลเรีย)
  29. แก้พิษ
  30. แก้ปวดข้อ
  31. แก้ปวดศีรษะ
  32. ช่วยสมานลำไส้
  33. แก้จุดเสียด
  34. ช่วยขับปัสสาวะ
  35. แก้ผื่นคัน
  36. ช่วยขับเสมหะ
  37. แก้ไข้อีสุกอีใส
  38. แก้โรคตับ
  39. แก้ความดันโลหิตสูง
  40. แก้อาหารไม่ย่อย
  41. แก้อาหารเป็นพิษ
  42. ช่วยลดอาการบวมน้ำ
  43. แก้ขาบวมจากเหน็บชา
  44. แก้ไฟลามทุ่ง
  45. แก้แมลงกัดต่อย
  46. แก้โรคหัวใจอ่อนแอ
  47. ใช้แก้โรคหัด

           ชาวเขาในภาคเหนือนำยอดอ่อน และใบอ่อนของกรดน้ำ มาใช้รับประทานเป็นผัก ทำในรูปแบบผักสด หรือ ใช้ลวกรับประทานร่วมกับอาหารประเภทน้ำพริก ลาบเลือด และใช้ใส่ในอาหารประเภทแกงอีกด้วย

กรดน้ำ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ยาบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ แก้ไข้ หลอดลมอักเสบ ขับประจำเดือน ขับระดูในสตรี โดยนำใบสด 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ 3 แก้ว ต้มประมาณ 30 นาที ปล่อยให้เย็นแล้วนำมาดื่ม
  • ใช้แก้โรคเบาหวาน แก้ไข้ แก้ไอ ปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ บำรุงน้ำนม ขัดเบา โดยใช้ลำต้น และใบสด 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนาน 30 นาที ใช้แบ่งนำมาดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น
  • ใช้ลำต้นสดๆ ประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มหากเป็นหวัด และไอ ให้ใช้ต้นกรดน้ำสด 30 กรัม พลูคาว อีก 15 กรัม สะระแหน่ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไอ แก้เจ็บคอ เสียงแหบ โดยใช้ต้นสด หรือ รากประมาณ 120 กรัม นำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำผึ้ง ใช้รับประทาน
  • ใช้บวมน้ำ ขาบวม แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะ ด้วยการใช้ลำต้นสดประมาณ 30 กรัม และน้ำตาลทรายแดง 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานก่อนอาหาร ใช้กินทุกเช้า และเย็นหลังอาหาร
  • ใช้แก้ลำไส้อักเสบ ปวดท้อง โดยใช้ลำต้นขนาดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มให้เดือดแล้วกรองเอาแต่น้ำดื่ม
  • ใช้แก้โรคหัด โดยใช้ลำต้นกรดน้ำ สดนำมาต้มแล้วกรองน้ำดื่มติดต่อกัน 3 วัน
  • ใช้แก้ผื่นคันตามผิวหนัง โรคไฟลามทุ่ง ด้วยการใช้ลำต้นสด หรือ รากสด มาตำให้ละเอียด คั้นเอานำมาทาบริเวณที่เป็น นำมาต้มกับน้ำอาบก็ได้
  • ใช้รากในการแก้ โรคหัวใจอ่อนแอ


ลักษณะทั่วไปของกรดน้ำ

กรดน้ำ จัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง มีความสูง 30-80 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมากและแตกเป็นพุ่ม ลำต้นเป็นเหลี่ยมมีสีเขียวเข้ม ไม่มีขน กิ่งก้านเล็กและเรียว

           ใบเป็นใบเดี่ยว มีขนาดเล็กมีขนาดกว้าง 2-15 มิลลิเมตร และยาว 5-35 มิลลิเมตร ออกเรียงตรงข้ามกันวนเป็นวงรอบข้อกิ่ง ข้อลุ 3-4 ใบ ลักษณะของใบมีสีเขียว เป็นรูปรีเรียว รูปใบหอก หรือ รูปไข่แกม สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด โคนใบเรียวสอบ ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยตรงส่วนใกล้โคนใบ ท้องใบมีต่อมน้ำมัน และมีก้านใบสั้นมาก

           ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกบริเวณซอกใบ โดยดอกจะมีขนาดเล็กสีขาว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 มิลลิเมตร ยาว 2 มิลลิเมตร สำหรับกลีบดอกมี 4 กลีบ ลักษณะโคนกลีบ เชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกออกเป็น 2 ปาก มีเกสรเพศผู้ 4 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน

           ผลเป็นผลแห้ง รูปทรงรี หรือ ทรงกลม มีขนาด 2-3 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบ เกลี้ยง แต่เมื่อผลแก้จะแห้งและแตก ด้านในผลมีเมล็ดกลมๆ สีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก

กรดน้ำ

กรดน้ำ

การขยายพันธุ์กรดน้ำ

กรดน้ำ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ของกรดน้ำนั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ และยังเป็นพันธุ์พืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และมีความทนทานต่อทุกสภาพดิน จึงทำให้ในหลายๆ ประเทศได้จัดให้กรดน้ำ เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง จึงไม่ค่อยมีการนิยมนำไปปลูก ส่วนวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกกรดน้ำนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการขยายพันธุ์ “หญ้าขัด” ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของกรดน้ำ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารอินทรีย์ในกลุ่ม Flavones terpenes และ steroids เช่น scopadulciol, scopadulin, scopanolal, scoparic acid A, scoparic acid B, scopadulcic acid A, scopadulcic acid B, saponin, scoadiol, ammeline, α-amyrin, amellin, benzoxazolinone, acacetin, betulicin acid, glutinol, friedelin, dulciolone, sitosterol, iffaionic acid, dulciol, dulcioic acid, scoparol และ tritriacontane ส่วนสารสกัดจากรากพบสาร hexcosanol, β-sitosterol, mannitol, d-mannitol และ tannin

โครงสร้างกรดน้ำ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกรดน้ำ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของกรดน้ำระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของกรดน้ำ ขนาด 0.5 และ 1 ก./กก. พบว่ามีฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยเมื่อทดลองโดยการป้อนให้หนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วย 75% เอทานอล และ indomethacin การป้อนสารสกัดน้ำ ขนาด 0.5-2 ก./กก. ไม่มีผลต่อการบีบตัวของลำไส้เล็กหนูถีบจักร เมื่อให้สารสกัดน้ำ ขนาด 0.01-1 ก./กก. และส่วนสกัดด้วยบิวทานอล ขนาด 320 มก./กก. โดยการฉีดเข้าลำไส้เล็กส่วนต้นของหนูขาว และให้สารสกัดน้ำ ขนาด 0.5-1 ก./กก. โดยการฉีดเข้าลำไส้เล็กส่วนต้นของหนูถีบจักร พบว่ามีผลยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารในหนูทั้ง 2 ชนิด เมื่อทดลองด้วยวิธีผูกกระเพาะอาหาร โดยส่วนสกัดด้วยบิวทานอล จะให้ผลในการยับยั้งดีกว่าสารสกัดน้ำ 4-8 เท่า สารสกัดน้ำ ขนาด 1 ก./กก. จะมีผลยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารของหนูถีบจักรที่ทดลองด้วยวิธีผูกกระเพาะอาหาร และเหนี่ยวนำให้เกิดการหลั่งกรดด้วย bethanechol และ histamine ได้เช่นกัน นอกจากนี้ส่วนสกัดด้วยบิวทานอล ซึ่งประกอบด้วยฟลาโวนอยด์เป็นหลัก ความเข้มข้น 0.01-1 มก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ H+, K+-ATPase (เกี่ยวข้องกับกระบวนการ hydrolysis ของ ATP) ที่แยกได้จากกระเพาะอาหารของกระต่าย โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งได้ 50% เท่ากับ 500 มคก./มล. แสดงว่าฤทธิ์ในการรักษาแผลในกระเพาะอาหารของกรดน้ำ เนื่องมาจากการยับยั้งการหลั่งกรด ยับยั้ง proton pump แต่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายการศึกษาพบว่าสารสกัดกรดน้ำ จากต้น สามารถป้องกันการอักเสบของเส้นประสาทในเซลล์สมอง โดยสารสกัดดังกล่าว จะป้องกันการทำลายเอนไซม์ acetylcholinesterase ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท นอกจากนี้สารสกัดที่ความเข้มข้น 300 µg/ml ยังสามารถป้องกันการแตกของเม็ดเลือดแดงในหนูได้อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีรายงานการศึกษาพบว่าสารสกัดจากต้นกรดน้ำมีฤทธิ์ ต้านเชื้อแบคทีเรีย รา และไวรัส โดยมีการทดสอบใช้สารสกัดที่ 25 mg/ml พบว่าสามารถต้านแบคทีเรีย รา โดยใช้วิธี Agar diffusion method และจากการใช้วิธี microdilution method พบว่าสารสกัดที่สกัดด้วย chloroform มีฤทธิ์ต้านเชื้อ B.cereus ได้ดีที่สุด โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งเชื้อได้ (MIC) เท่ากับ 1.56 mg/ml และสารสกัด aqueous-acetone มีค่า MIC ต่อเชื้อ S.typhimurium เท่ากับ 1.56 mg/ml. ส่วนสารสกัดที่เฮกเซนในการสกัดพบว่าต้านฤทธิ์เชื้อราได้ดีที่สุด

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยระบุว่า สารสกัดจากส่วนเหนือดินของกรดน้ำ สามารถลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด และกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมน ที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน และยังป้องกันการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ โดยลำกิจกรรมของเอนไซม์ไซโคล-ออกซีจีเนสชนิดที่ 2 (cyclooxygenase-2) ลดปริมาณ nitric oxide และเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ด้านอนุมูลอิสระ เช่น ซุปเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส (superoxide dismutase SOD)  กลูตาไทโอน เพอร์ออกซิเดส (glutathione peroxidase, GPX) และกลูตาไทโอนรีดักเทส (glutathione reductase, GRD)

            ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งพบว่าสารสกัดจากใบของต้นกรดน้ำ สามารถช่วยให้เลือดของหนูแข็งตัวเร็วขึ้น ส่วนสารสกัดจากรากช่วยรักษาแผลในหนูทดลอง ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก DU-145 อีกทั้งสารสกัดหยาบเมทานอลจากต้นกรดน้ำสามารถยับยั้ง lipid peroxidation และยับยั้งปฏิกิริยา oxidation ของ low density tipoproteins (LDL) ทำให้ป้องกันโรคหลอดเลือดตีบได้


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกรดน้ำ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากทั้งต้นของกรดน้ำระบุว่า มีการทดสอบความเป็นพิษฉับพลันของสารสกัดน้ำ และแอลกอฮอลล์จากทุกส่วนของกรดน้ำ พบว่าขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่ง เมื่อฉีดสารสกัดทั้งสองเข้าช่องท้อง คือ ขนาด 1 กรัม ต่อ กิโลกรัม


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีที่อยุ่ในช่วงตั้งครรภ์ ห้ามใช้กรดน้ำเป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานเนื่องจากส่วนใบของกรดน้ำ มีสรรพคุณขับประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้


เอกสารอ้างอิง กรดน้ำ
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “กรดน้ำ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 4-7.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, 2538.อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร:เพื่อนพิมพ์
  3. ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา.(2549), พฤกษชาติสมุนไพร. หน้า 26.
  4. วิทยา บุญวรพัฒน์. “กรดน้ำ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 20.
  5. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “กรดน้ำ (Krod Nam)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 15.
  6. ล้านนา. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กรดน้ำ”. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน หน้า 193.
  7. เนตรนภา แซ่หลี, นันทรัตน์ พฤกษาพิทักษ์ และอมรรัตน์ พงศ์ดารา.2557.ฤทธิ์ของต้นกรดน้ำ (Scoparia dulcis Linn.) ต่อการต้านอนุมูลอิสระ และการเพิ่มจำนวนของเซลล์. วารสารมหาวิทยาลัยทักษิณ 3:161-168.
  8. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “กรดน้ำ”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 54-55.
  9. เนตรนภา ชะนะ. การจำแนกสายพันธุ์ การแสดงออกของยีน calmodulin และ TCTP และ การสังเคราะห์สารเมแทบอไลท์ทุติยภูมิที่ตอบสนองต่อความเครียดในต้นกรดน้ำ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. ปีงบประมาณ 2561. มหาวิทยาลัยทักษิณ. 47 หน้า
  10. เนตรนภา ชะนะ, จิราภา ไชยแก้ว, ฤทธิ์ป้องกันดีเอ็นเอเสียหายของสารสกัดจากใบ และลำต้น ของสมุนไพรกรดน้ำที่สกัดด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ. วารสารแก่นเกษตร.ปีที่ 46 ฉบับที่ 2.มีนาคม-เมษายน 2561. หน้า 397-408
  11. ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหารของกรดน้ำ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  12. Beh, J.E., Latip, J., Abdullah, M.P., ismail.A.,& Hamid, M, (2010).Scoparia dulcis (SDF7) endowed with glucose uptake properties on L6 myotubes compared insulin, Joumal of Ethnopharmacology, 129(1). 23-33
  13. Pari, L., and M.Latha. 2005. Antidiabetic effect of Scoparia dulcis : effect on lipid peroxidation in streptozotocin diabetes ,Gen Physiol. Biophys,24;13-26.
  14. Edirweera, E., Jayakody J., & Ratnasooriya, W. (2011). Pro blood clotting activity of Scporia dulcis in rats An International Quarterly Joumal of Research in Ayurveda.32,271-274.
  15. Coulibaly A.,Y., Konate. K., Youl, E. N. H. Sombie P.A.E.D., Kiendrebeogo. M., Meda. N T. R.,& Nacoulma, O.G. (2012) Anti-proliferative effect of Scoparia dulcis L. against bacterial ang fungal strains International Journal of Biological ang Chemical Sciences, 6(6). 3055-3063.
  16. Smitinand, T. and Larsen, K.1990.Flora of Thaiand (Vol.5:2) Bangkok: Chutima Press.
  17. Tsai. J.c., W.H. Peng T.H. Chiu. S.C. Lai, and C.Y. Lee.2011.Antinflammatory eddects of Scoparia dulcis L. and betulinic acid Am J. Chin Med.39 943-956.
  18. Krishna, M, Vijay, L., Mayank, P., & Megha, S. (2011) Healing promoting potentials of roots of scoparia dulcis in albino rats Phamacologia, 2, 369-373
  19. Hayashi T., Masaru,K.,Yashihisa, M., Tooru, T.,& Naokata,M.(1990). Antiviral agents of plant origin. Lll. Scopadulin, a navel tetracyclic diterpene from S. dulcis Chemical and Pharmaceutical Bulletin 38 945-947.