หญ้างวงช้าง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หญ้างวงช้าง งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หญ้างวงช้าง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้างวงช้างน้อย (ภาคเหนือ), หวายงวงช้าง (ชลบุรี), ผักแพวขาว (กาญจนบุรี), กุนอะกาโม (มลายู), เอียวป๋วยเช่า, เฉี่ยผี่เช่า, ไต่ป๋วยเอี่ยว, เซี่ยงปี๊เฉ่า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Heliotropium indicum Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Heliophytum indicum (L.) DC. Tiaridium indicum (L.) Lehm.
ชื่อสามัญ Turnsole, Alacransillo, Eye bright, Indian Heliotrope, Indian turnsole
วงศ์  BORAGINACEAE


ถิ่นกำเนิดหญ้างวงช้าง

จากการค้นคว้าหาข้อมูลถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของหญ้างวงช้าง ยังไม่พบถิ่นกำเนิดที่แน่นอน แต่เชื่อกันว่าหญ้างวงช้างมีถิ่นกำเนิดบริเวณทางตอนใต้ของจีนจนถึงอินเดีย เนื่องจากพบหลักฐานที่ระบุถึงหญ้างวงช้างในตำรายาจีน และอินเดียมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว สำหรับในประเทศไทยหญ้างวงช้างจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศโดยจะพบได้ตามพื้นที่ชื้นแฉะต่างๆ เช่น ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง ท้องนา หรือตามที่รกร้าง ทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณหญ้างวงช้าง

  • ช่วยดับร้อนใน
  • แก้กระหายน้ำ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ไข้
  • แก้บวม
  • แก้พิษปอดอักเสบ
  • แก้ไอ
  • แก้หอบหืด
  • แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • แก้เด็กตกใจในเวลากลางคืนบ่อยๆ
  • แก้ปากเปื่อย
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้บิด
  • แก้ภูมิแพ้
  • แก้เริม
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • แก้แผลบวม
  • แก้ฝี มีหนอง
  • แก้ตาฟาง
  • ใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด
  • แก้อาการเจ็บคอ
  • รักษาแผล
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • รักษากลากเกลื้อน
  • แก้ไฟลามทุ่ง
  • แก้แมลงกัดต่อย
  • แก้อาการฟกช้ำ
  • แก้เจ็บหู
  • ใช้เป็นยาขับระดู
  • ใช้เป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร

           มีการนำหญ้างวงช้างมาใช้ย้อมผ้าโดยใช้ใบหญ้างวงช้าง นำไปย้อมเส้นไหมก็พบว่าได้เส้นไหมสีน้ำตาลอ่อน มีคุณภาพดี มีความทนทานต่อการซักในระดับดีและดีมาก อีกทั้งยังมีการนำใบหญ้างวงช้างมาใช้รักษาสิว โดยนำใบมาตำแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นสิวอีกด้วย

หญ้างวงช้าง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้หญ้างวงช้าง

ใช้แก้ปวดท้อง แก้ไข้ แก้ไอ ขับปัสสาวะ ลดบวม แก้กระหายน้ำ แก้ชักในเด็ก และตะใจตอนกลางคืน หอบหืด แก้บิด แก้นิ่ว ใช้ต้นหญ้างวงช้าง สด 30-60 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปากเปื่อยเน่า แก้เจ็บคอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ใช้ใบสด 30-60 กรัม คั้นเอาน้ำอมบ้วนปากวันละ 4-6 ครั้ง ใช้แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ทั้งต้มรวมราก 1 ต้น หั่นเป็นท่อนแล้วต้มกับน้ำดื่ม แก้แผลฝี เม็ดเล็กๆ มีหนอง ใช้รากสดผสมเหลือเล็กน้อย ต้มน้ำกิน แล้วใช้ใบสดตำกับข้าวเย็นพอแผลด้วย ใช้แก้ภูมิแพ้ นำใบมาต้ม มาผึ่งลมให้แห้ง แล้วนำมาซอย แล้วมวนเป็นยาสูบ ใช้ขับประจำเดือนโดยใช้ดอกหรือรากสดต้มกิน ใช้แก้ตาฟาง ตามัว โดยนำรากมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำหยอดตา ใช้แก้ปอดอักเสบ แก้ฝีเป็นหนอง ในช่องหุ้มปอด โดยใช้ ทั้งต้นสด 60 กรัม ต้มผสมน้ำผึ้งกิน หรือ ใช้ทั้งต้นสด 60-120 กรัม ตำคั้น เอาน้ำมาผสมน้ำผึ้งกิน ใช้แก้อาการปวดท้องอันเกิดจากอาหารเป็นพิษโดยใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มผสมกับหญ้าปันยอด (ชัวจ้างหม้อ) และต้นว่านน้ำ (แป๊ะอะ) ดื่ม


ลักษณะทั่วไปของหญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง จัดเป็นพืชฤดูกาลเดียวคือฤดูฝน ลำต้นสูง 15-50 เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำเปราะเป็นร่องแตกกิ่งก้านมากเป็นขนหยาบๆ ปกคลุมทั้งต้น

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ หรือ แบบตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือ รูปกลมรี โคนใบมนรีลงมาถึงก้านใบ ปลายใบแหลมสั้นกลางใบกว้างออก ขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบกว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบหยาบ ขรุขระ มีรอยย่น หลังใบ และท้องใบมีขนสั้นๆ ขึ้นปกคลุมเล็กน้อย และมีก้านใบยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อบริเวณปลายยอด โดยปลายช่อจะโค้งงอคล้ายงวงช้างชูขึ้น แต่จะเกิดอยู่ทางด้านบนด้านเดียว และจะบานจากโคนไปปลายช่อดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ สีฟ้า แซมสีขาวติดกันเป็นหลอดดอกบานที่ขอบมีรอยแยกตื้นๆ ขนาดของกลีบดอกประมาณ 5 มิลลิเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-3.5 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้ 5 อันติดอยู่ ด้านในมีก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่เป็นรูปจานแบนๆ

           ผล ออกเป็นผลคู่รูปไข่ ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เกิดจากที่รังไข่ 2 อัน รวมตัวติดกันเปลือกผลแข็ง แต่เมื่อผลแก่จะแตกออกด้านในแบ่งออกเป็น 2 ช่อง ในแต่ละช่องมีเมล็ดอยู่ตามช่องช่องละ 1 เมล็ด

หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง

การขยายพันธุ์หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ในอดีตการขยายพันธุ์หญ้างวช้างจะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติซึ่งอาศัยเมล็ดที่แตกออกจากผลแก่ร่วงลงดิน และเจริญเป็นต้นใหม่ในฤดูฝน แต่ในปัจจุบันได้มีการนำเมล็ดหญ้างวงช้างมาเพาะเมล็ดแล้วนำต้นกล้ามาปลูกเพื่อจำหน่ายบ้างแล้ว สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดของหญ้างวงช้างนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดไม้ล้มลุกชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของหญ้างวงช้าง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Heliotrin, Helindicin, Trachelanthamidine, Lycopsamine, Indicine, Indicine-N-oxide, Putrescine, Acety-indicine, Heliurine, Rapanone, Supinene, Supinidine, Lindelofidine, Retronecine, Spermidine, Spermine

           นอกจากนี้มีรายงานศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินของหญ้างวช้างระบุว่าพบสาร Phytol, 1-dodecanol, Beta-linalool, 1-pentadecanol, 1-hexanol, 2-pentadecanone, 1-tetradecanol, n-heptacosane, 1-deccanol, n-nonacosane, Beta-ionone, berneol เป็นต้น

โครงสร้างหญ้างวงช้าง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหญ้างวงช้าง

รายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของหญ้างวงช้างระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           จากการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันหอมระเหย และสารสกัดเฮกเซนจากส่วนเหนือดินของหญ้างวงช้างพบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรค Mycrobacterium yuberculosis H37Ra ด้วยค่า MIC เท่ากับ 20.8 ug/ml, 100 ug/ml ตามลำดับ

           มีการศึกษาวิจัยของฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกหดตัวจากสารสกัดจากหญ้างวงช้าง, ว่านสากเหล็ก และผักเป็ดพบว่า สารสกัดจากหญ้างวงช้าง จะออกฤทธิ์แรงสุด เนื่องจากไปมีผลเพิ่มทั้งความแรง และความถี่ของการหดตัว โดยสารออกฤทธิ์จากหญ้างวงช้างคาดว่าจะเป็นสารกลุ่มแอลคาลอยด์ เช่น Heliotrin, Helindicine, Lycopsamine, Indicine, Indicine-N-oxide, Acetyl-indicine, Heleurine, Supinine, Supinidine, Lindelofidine, Trachelantramidine, Retronecine, Putrescine, Spermidine, Spermine, Rapanone ซึ่งเคยมีผู้รายงานไว้ว่าสารเหล่านี้สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบลำไส้เล็กส่วนปลายที่แยกได้จากหนูตะเภา อีกด้วย

           ส่วนสารสกัดจากน้ำจากส่วนรากของหญ้างวงช้าง พบว่า มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต และทำให้แมวหายใจแรงขึ้นเมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดดำของแมว ที่ทำให้สลบ และยังมีผลต่อการเต้นหัวใจคางคกที่แยกออกจากตัว ซึ่งส่วนที่สกัดจากแอลกอฮอลล์ไม่มีผลอันนี้ ส่วนที่สกัดออกจากใบจะมีผลต่อโรคของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งของหนูเล็ก และสามารถต่อต้านเนื้องอกได้ระยะหนึ่ง


การศึกษาทางพิษวิทยาของหญ้างวงช้าง

มีรายงานการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาของหญ้างวงช้าง ระบุว่า มีการทดสอบความเป็นพิษโดยให้สัตว์ทดลองกินหญ้างวงช้างพบว่าเซลล์ตับ และออกซิไดซ์ได้สาร dehydroheliotrin อย่างรวดเร็วซึ่ง pyrrolic dehydroalkaloid นี้เป็น reactive alkylating agent ที่จะทำให้เกิดบาดแผลในตับ โดยมีข้อมูลระบุว่าสารที่เป็นพิษคือสาร Lasiocarpine และสารในกลุ่ม pyrrolizidine alkaloid มีฤทธิ์ทำให้ตับอักเสบ เป็นพิษต่อตับ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานหญ้างวงช้างเป็นยาสมุนไพร เนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ นอกจากนี้การใช้หญ้างวงช้างเป็นสมุนไพรสำหรับคนสุขภาพดี ก็ควรระมัดระวังในการใช้ด้วยยังมีรายงานความเป็นพิษของหญ้างวงช้างระบุว่าควรรับประทานในขนาด และปริมาณที่สูง และติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ เกิดแผลในตับ โดยอาจทำให้เกิดอาการชักกระตุกควบคู่ไปกับอาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน และหมดสติได้

เอกสารอ้างอิง หญ้างวงช้าง
  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. สารานุกรมสมุรไพรไทย. รวมหลักเภสัชกรรมไทย.สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. 168 หน้า.
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. หญ้างวงช้าง . หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 803-805.
  3. ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ. หญ้างวงช้าง. คอลัมน์สมุนไพรความรู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 12. เมษายน 2523.
  4. อรรณพ วราอัศวปติ สมพงษ์ ธรรมถาวร และพอล เจโกรดิ. 2545. พรรณไม้ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. รายงานวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. ถ่ายสำเนา 57 หน้า.
  5. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หญ้างวงช้าง. หนังสือสมุนไพรไทยเล่มที่ 1. หน้า 316.
  6. วันทนา งามวัฒน์. สารพิษในพืช และอาการพิษในสัตว์ทดลอง. กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2530. หน้า 3.
  7. วิทยา บุญวรพัฒน์. หญ้างวงช้าง. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 582.
  8.  Souza, J. S.N. Pyrrolizidine Alkaloids from Heliotropium indicum. J. Braz. Chem. Soc.. 2005; 16(6B): 1410-4.
  9. Pomeroy AR, Raper C. Pyrrolizidine alkaloids: actions on muscarinic receptors in the guinea-pig ileum. Br I Pharmacel. 1971 Apr;41(4):683-90.