เรสเวอรเทรอล
เรสเวอรเทรอล
ชื่อสามัญ Resveratrol
ประเภทและข้อแตกต่างสารเรสเวอรทรอล
สารเรสเวอรทรอลเป็นสาร polyphenol ที่อยู่ในกลุ่ม stilbene มักจะพบมากในธรรมชาติโดยพบได้ในพืชหลายชนิด มีสูตรโมเลกุล คือ C14H12O3 มวลโมเลกุลเท่ากับ 228.247 กรัม ต่อโมล มีจุดหลอมเหลว 254 องศาเซลเซียส มีลักษณะเป็นผงสีขาว หรือ สีเหลืองเล็กน้อย มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี โดยมีค่าการละลายในน้ำเท่ากับ 30 มิลลิกรัมต่อลิตร (ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส) มีค่าคงที่การแตกตัว (pKa) pKa1 เท่ากับ 6.4 ถึง 8.8 pKa2 เท่ากับ 9.4 ถึง 9.8 และ pKa3 เท่ากับ 10.5 ถึง 11.4 (ที่สภาวะกรดอ่อน 12.5 ไมโครโมลาร์ pH 5.0 ถึง 5.5) สำหรับประเภทของเรสเวอราทรอล นั้นพบว่ามีอยู่ 3 โครงสร้าง คือ trans-resveratrol, Cis-resveratral และ dihydro-resvertrol ซึ่งแต่ละชนิดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้โครงสร้างชนิดทรานส์- เรสเวอราทรอล (trans-resveratrol) เป็นโครงสร้างที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดดเด่นที่สุด ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความนี้
แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารเรสเวอรทรอล
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเรสเวอราทรอล เป็นสารที่พบได้มากในธรรมชาติ ซึ่งจะพบได้ในพืชหลายชนิด เช่น องุ่น มัลเบอร์รี่ บลูเบอรี่ ราสเบอร์รี่ ต้นหม่อน ถั่งลิสง และในรากผักไผ่ญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังสามารถพบเรสเวอรเทรอลได้ในไวน์ เช่น ในไวน์ขาว สามารถพบได้ 0.1 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และไวน์แดงพบได้ 0.1 ถึง 10 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในขณะที่ cis-resveratrol จะพบได้ในไวน์ขาว 0.1 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนไวน์แดงพบได้ 0.1 ถึง 0.3 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เท่านั้น
ปริมาณที่ควรได้รับสารเรสเวอรทรอล
สำหรับขนาดการใช้ เรสเวอราทรอล นั้น ปัจจุบันข้อมูลที่มีการรายงานในงานวิจัยคือร้อยละ 0.05 ถึง 5 แต่ก็ยังไม่มีข้อกำหนดหรือรายงานที่แน่ชัดเกี่ยวกับขนาดการใช้ที่เหมาะสม ทั้งนี้สำหรับขนาดการใช้เรสเวอรทรอลในผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในปัจจุบันต่างๆ นั้น พบว่ามีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันในแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยขนาดที่มีการใช้ คือ 250 ถึง 1000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ในผู้บริโภคบางคนอาจเพิ่มได้ถึง 5000 มิลลิกรัมต่อวันอีกด้วย
ประโยชน์และโทษสารเรสเวอรทรอล
ประโยชน์ของเรสเวอราทรอลนั้น สามารถแยกออกเป็น 2 ด้าน คือ
ในส่วนของด้านความงาม จะมีผลช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันความเสื่อมสภาพจากรังสีอัลตร้าไวโอเลต ป้องกันการเกิดริ้วรอย ช่วยฟื้นฟูสภาพผิว ช่วยทำให้แลดูอ่อนวัยขึ้น
อีกด้านหนึ่ง คือ ด้านสุขภาพซึ่งเรสเวอราทรอล จะมีคุณสมบัติ เสริมสร้างระบบสมองและความจำ ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์คีนสันป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงและเพิ่มความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด ลดระดับความดันโลหิต ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดระดับของไตรกลีเซอร์ไรด์ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกและช่วยต้านเซลล์มะเร็ง ช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยทำลายเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย บรรเทาอาการภูมิแพ้ สำหรับความเป็นพิษของเรสเวอราทอรลต่อร่างกายนั้น พบว่ามีค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีความจำเพาะต่อเซลล์ เนื่องจากสารเรสเวอรทรอลเป็นสารประกอบที่สกัดได้จากพืช (phytoalexin) ที่มีคุณสมบัติเป็นสารปฏิชีวนะที่พืชสังเคราะห์ขึ้นเมื่อพืชได้รับอัตรายจากรังสียูวี หรือการติดเชื้อโรค ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยสูง
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารเรสเวอรทรอล
มีผลการศึกษาถึง กลไกการออกฤทธิ์ที่ผิวหนังของเรสเวอราทรอล พบว่ามีผลต่อการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ (cellular signaling mechanisms) ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายผิวหนังจากรังสีอัลตร้า ไวโอเลต ได้แก่ Mitogen Activated Protein enzymes (MAP) kinase, Nuclear Factor kappa B (NF-kB) และ MatrixMetalloproteinase (MMPs) จึงสามารถป้องกันการเปลี่ยนแปลง ของโครงสร้างของผิวหนังที่ถูกทำลายจากรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้ และในการศึกษาทางเภสัชวิทยาของเรสเวอราทรอล นั้นพบว่ายังมีการศึกษาวิจัยถึงนการใช้สารเรสเวอราทรอลว่า สามารถลดอาการเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจได้ถึง 40% ในขณะเดียวกันสารเรสเวอราทรอลยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระยับยั้งการรวมตัวตกตะกอนของเลือดได้ดีช่วยในการควบคุม metabolism ของไขมันลดการอักเสบของเนื้อเยื่อลดการเกิดเนื้องอกของมะเร็ง และ สามารถป้องกันการเกิดโรคการเสื่อมของเส้น ประสาทสมอง โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์และ พาร์กินสันได้อีกด้วย อีกทั้งยังมีการวิจัยศึกษาแบบ Triple – blinded control ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ 75 คน โดยการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทาน resveratrol 8 mg. กลุ่มที่สองให้ทานยาหลอก (maltodextrin) กลุ่มที่สามให้ทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากองุ่น แต่ไม่มีส่วนผสมของ rerveratrol เป็นเวลา 6 เดือน และเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่าในอีก 6 เดือนต่อมา ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มที่รับประทาน resveratrol มีระดับ c-reactive protein (CRP) Tumor necrosis factor & PAI1 (Plasminogen activator inhibitor type1) ลดลงและมีระดับ interleukin – 10 เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยด้านการอักเสบจึงมีผลทำให้สามารถช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจในผู้ป่วยที่รับประทานได้ และจากการศึกษายังพบว่า resrveratrol ทำงานให้ผลคล้ายคลึงกับ Statin ซึ่งเป็นยาลดคอเลสเตอรอลอีกด้วย และยังมีรายงานจากการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารของประเทศฟินแลนด์ เมื่อปี 2007 ระบุว่า การดื่มไวน์วันละแก้วจะทำให้ร่างกายได้รับสารเรสเวอราทรอล ช่วยชะลอวัย
นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังพบว่า การดื่มไวน์จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ โดยสารเรสเวอราทรอลสามารถเปลี่ยนแปลงระดับไขมันคอเลสเทอรอลในเลือด โดยเพิ่มระดับของ HDL หรือคอเลสเทอรอลแบบดีให้สูงขึ้น และป้องกันไม่ให้เลือดเกาะกันเป็นก้อน การดื่มไวน์เพียงวันละหนึ่งแก้วจึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดโรคหัวใจได้ 30-40% และช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อม รวมถึงป้องกันโรคเบาหวานด้วย นอกจากนี้เรสเวอราทรอลยังมีฤทธิ์ในทางคลินิกอีกหลายประการ เช่น ต้านอนุมูลอิสระต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง ต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด โดยทรานส์-เรสเวอราทรอล มีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระดีกว่าวิตามินซี และวิตามินอี แต่มีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระได้ดีไม่แตกต่างจากอีพิคาเทซิน (epicatechin) และเคอร์ซีติน (quercetin)
ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ
ถึงแม้ว่าจากการศึกษาทางพิษวิทยาของเรสเวอราทรอล จะพบว่ามีความเป็นพิษต่ำ แต่อย่างไรก็ตามในการใช้ก็ควรระมัดระวังในการใช้ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอดี ไม่ควรใช้ในขนาดที่สูงจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อีกทั้งยังมีรายงานถึงผลข้างเคียงของเรสเวอราทรอลพบว่าในผู้ที่ใช้สารดังกล่าวในขนาดมากกว่า 500-1000 มิลลิกรัม/วัน และผู้ที่ใช้ในปริมาณปกติแต่ใช้เป็นระยะเวลานาน (7 วันขึ้นไป) พบว่ามีอาการท้องร่วง ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด ท้องเสีย ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้
เอกสารอ้างอิง เรสเวอรทรอล
⦁ นภาพร แก้วดวงดี.สารต้านมะเร็งในองุ่นแดง.วารสารก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้างสมเด็กเจ้าพระยาปีที่ 7. ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2550.หน้า 65-71
⦁ ไวน์แดง ดื่มแล้วทำให้อายุยืนจริงหรือ?.วารสารข่าวชมรมผู้อาวุโสกรมวิชาการเกษตรปีที่ 22.ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2557.หน้า 9-13
⦁ สุรีวัลย์ ดวงจิตต์,กรกนก สุวรรณราช, กุลภัสสร์ กิตติพินิจนันท์ และคณะ.บทบาทของสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติสำหรับประยุกต์ใช้ทางผิวหนัง.คุณสมบัติประสิทธิภาพความปลอดภัยและระบบนำส่งรูปแบบใหม่.วารสารเภสัชศาสตร์อีสานปีที่ 15, ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2562.หน้า 21-48
⦁ Stojanovic S, Sprinz H, Brede O. Efficiency and mechanism of the antioxidant action of transresveratrol and its analogues in the radical liposome oxidation. Arch Biochem Biophys 2001; 391(1): 79-89.
⦁ Frankel, E.N., Waterhouse, A.L., and Kinsella, J.E. (1993). Inhibition of human LDL oxidation by resveratrol. Lancet. 341: 1103-4.
⦁ Anisimova NYU, Kiselevsky MV, Sosnov AV, Sadovnikov SV, Stankov IN, Gakh AA. Trans-, cis-, and dihydro-resveratrol: a comparative study. Chem Cent J 2011; 588-88.
⦁ Jang, M., Cai, L., Udeani, G.O., Slowing, K.V., Thomas, C.F., Beecher, C.W. et al. (1997). Cancer chemopreventive activity of resveratrol, a natural product derived from grapes. Science 275: 218-20
⦁ Baxter RA. Anti-aging properties of resveratrol: review and report of a potent new antioxidant skin care formulation. J Cosmet Dermatol 2008; 7(1): 2-7.
⦁ Cottart C, Nivet-Antoine V, Beaudeux J (2014). "Review of recent data on the metabolism, biological effects, and toxicity of resveratrol in humans". Molecular Nutrition & Food Research. 58 (1): 7–21. doi:10.1002/mnfr.201200589. PMID 23740855.
⦁ Lopes LB, VanDeWall H, Li HT, Venugopal V, Li HK, Naydin S, Hosmer J, Levendusky M, Zheng H, Bentley MV, Levin R, Hass MA. Topical delivery of lycopene using microemulsions: enhanced skin penetration and tissue antioxidant activity. J Pharm Sci 2010; 99(3): 1346-1357
⦁ Aggarwal, B.B., Bhardwaji, A., Aggarwal, R.S., Seeram, N., Shisodia, S., and Takadai, Y. (2004). Role of Resveratrol in Prevention and Therapy of Cancer: Preclinical and Clinical Studies. Anticancer Res. 24: 3-60.
⦁ Ahmad, A., Farhan Asad, S., Singh, S., and Hadi, SM. (2000). DNA breakage by resveratrol and Cu(II): reaction mechanism and bacteriophage inactivation. Cancer Lett. 154: 29-37.
⦁ de la Lastra CA, Villegas I. Resveratrol as an antioxidant and pro-oxidant agent: mechanisms and clinical implications. Biochem Soc Trans 2007; 35(Pt 5): 1156-1160.
⦁ Weiskirchen S, Weiskirchen R. Resveratrol: How Much Wine Do You Have to Drink to Stay Healthy? Adv Nutr 2016; 7(4): 706-718.