สบู่แดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
สบู่แดง งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ
ชื่อสมุนไพร สบู่แดง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ละหุ่งแดง(ภาคกลาง),มะหุ่งแดง(ภาคเหนือ),สบู่เลือด,ยาเกาะ,สบู่เลือด,สีลอด,หงส์เทศ(ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์Jatropha gossypifolia Linn.
ชื่อสามัญBellyache bush , Cotton leafed jatopha
วงศ์ EUPHORBIACEAE
ถิ่นกำเนิด สบู่แดงมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ เช่นใน กัวเตมาลา , ฮอนดูรัส , นิการากัว, คอสตาริกา, ปานามา , บราซิล ,อาร์เจนตินา เป็นต้น โดยมักพบขึ้นทั่วไปตามที่รกร้างทั่วไป สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณตามเรือกสวนไร่นา ตามสองข้างทางหรือตามป่าละเมาะริมทุ่งนา
ประโยชน์/สรรพคุณ สบู่แดงถูกนำมาใช้ย้อมผ้าโดยมีการนำส่วนใบมาต้มเติมด้วยเกลือ กรองด้วยผ้าขาวบาง 2-2 รอบ นำน้ำที่ได้มาต้มให้เดือด ใส่เส้นไหมหรือผ้าลงย้อมยกขึ้นทุกๆ 10 นาที เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นนำมาแช่ในน้ำปูนใส แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด จะได้เส้นไหมหรือผ้าสีเขียวหรือสีน้ำตาล ที่มีความคงทนต่อแสงและการซัก สำหรับสรรพคุณทางยาของสบู่แดงนั้น ตามตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ว่า
- ราก ใช้รักษาโรคหืด
- ใบ ใช้แก้ไข้ ระบายไข้ แก้ปวดท้อง ใช้เป็นยาระบาย แก้ปวดเมื่อย แก้ฝี แก้ผื่นคัน
- เมล็ด ปริมาณน้อยใช้เป็นยาถ่าย ทำให้อาเจียน แก้แผลโรคเรือน
- น้ำมันในเมล็ดใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง ขับพยาธิ ถ่ายน้ำเหลืองเสีย รักษาแผลโรคเรื้อน
- ก้านใบ ใช้แก้หูอื้อ
รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้
- ใช้ระบายไข้ แก้ไข้ ลดไข้ แก้ปวดท้อง ให้เป็นยาระบาย โดยนำใบสบู่แดงมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้เป็นยาระบาย โดยนำเมล็ดนำมาเผาให้สุก แล้วกิน แต่ควรกินในปริมาณแต่น้อย
- ใช้รักษาโรคหืด โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ผื่นคัน แก้ฝี โดยนำใบมาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้แผลโรคเรื้อน โดยนำเมล็ดนำมาตำใช้พอก
- ใช้แก้อาการหูอื้อ โดยนำก้านใบลนไฟ เป่าเข้าหู
- ใช้แก้อาการปวดเมื่อย โดยนำใบมาต้มน้ำอาบ
ลักษณะทั่วไป สบู่แดงจัดเป็นไม้พุ่มลำต้นสูง 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่ออกข้าง กิ่งก้านค่อนข้างคดงอ บริเวณปลายยอดมีขนและมีตุ่มเล็กๆ ทุกส่วนมีน้ำนางสีใสหรือสีเหลืองเหนียว ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบคล้ายฝ่ามือ มีเว้าลึกประมาณ 2-3 แฉกก กว้าง 10-15 เซนติเมตร ยาว 15-18 เซนติเมตร โคนใบหยักมนรูปหัวใจปลายใบเป็นติ่งแหลม ขอบใบมีหยักเล็กน้อย ก้านใบและใบอ่อน มีสีแดงหรือม่วงแดง ใบอ่อนมีสีม่วงเข้มหรือเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนใบแก่จะมีสีเขียวปนแดงมีขนและมีก้านใบยาว 5-10 เซนติเมตร ดอก เป็นช่อดอกแบบกระจุกช้อนเชิงประกอบ (compound dichasium) ออกบริเวณปลาย กิ่ง โดยเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ (inperfect flower) คือ มีดอกเพศผู้และออกเพศเมียแยกกันอยู่คนละดอกแต่อยู่ในก้านช่อเดียวกัน ใน 1 ช่อดอก จะมีจำนวนดอกย่อย 10-15 ดอก ดอกย่อยที่ยังตูมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.29 เซนติเมตร เมื่อดอกบานจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.45 เซนติเมตร กลีบดอกรูปไข่ (ovate) สีแดงมี 5 กลีบ ดอกเพศผู้มีอับเรณูเป็นสีเหลือง 8 อัน แบ่งเป็นวงนอก 5 อัน วงใน 3 อัน ดอกเพศเมียประกอบด้วยรังไข่และยอดเกสรเพศเมีย (stigma) มีรังไข่เหนือวงกลีบ (superior ovary) แบ่งเป็น 3 ช่อง (locule) ส่วนปลาย แบ่งเป็น 3 แฉก และมีก้านช่อดอกยาว 6-8 เซนติเมตร ผล เป็นรูปขอบขนาน (oblong) หรือรูปรียาวแบ่งเป็น 3 พู มีความยาว 1-2 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ผลอ่อน มีสีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีของผลเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนปนเหลือง ผลแก่จัดสีของเปลือกจะเปลี่ยนเป็น สีเขียวขี้ม้าอมน้ำตาล เมื่อผลแห้งจะแตก (dehiscent fit) และเมล็ดออกจากผลได้เอง ภายใน 1 ผลมีเมล็ด 3 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาลอ่อนสลับขาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์ สบู่แดงสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำกิ่ง เช่นเดียวกันกับสบู่ดำ แต่วีที่เป็นที่นิยม คือ การปักชำ โดยมีวิธีการดังนี้
เริ่มจากคัดเลือกท่อนพันธุ์ ที่สมบูรณ์ไม่มีโรคหรือแมลงรบกวน โดยต้องท่อนพันธุ์ ยาว 45-50 เซนติเมตร เพาะกับวัสดุเพาะที่ผสมในแปลง แต่บอกเพาะชำในถุงจะตัดเป็นท่อนยาว 15-20 เซนติเมตร เมื่อเพาะชำจนท่อนพันธุ์แตกกิ่งใบแล้วจึงย้ายลงปลูกในแปลง ซึ่งหากปลูกในที่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์จะเว้นระยะระหว่างแถว 1.25 เมตร และระยะระหว่างต้น 1.50 เมตร แต่หากปลูกในที่ที่ดินไม่ดีควรเว้นระยะระหว่างแถวและต้นที่1x1 เมตร ทั้งนี้พื้นที่ที่ปลูกสบู่แดงไม่ควรมีน้ำท่วมขัง และควรปลูกบนพื้นที่ดอนมากกว่าที่ราบลุ่ม
องค์ประกอบทางเคมี มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของสบู่แดงระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น
- สารสกัดจากใบพบสาร ricinine ,(2α,13α,14β,20S)-2,24,25-trihydroxylanost-7-en-3-one, gossypiline และ jatrophenone
- สารสกัดจากรากพบสาร gadain , jatrophan , propacih, 2α-hydroxyjatrophone, falodone, jatropholone A,B
- สารสกัดจากลำต้นพบสาร cleomiscosin A, gossypidien , isogodain, jatrodien , prasanthaline , gossypifan
- สารสกัดจากเมล็ดพบสาร 12-deoxy-16-hydroxylphorbol,jatrophan, gadain,jatrophin
- น้ำยางพบสาร cyclogossine A,B, phorbol esters
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของสบู่แดงระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
ยาฤทธิ์แก้ปวด มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์แก้ปวดของสารสกัดเมทานอลและปีโตรเลียมอีเธอร์ จากส่วนเหนือดินของสบู่แดง ระบุว่า เมื่อป้อนสารสกัดในขนาด 100 และ 200 มก./กก./วัน ทางปากในหนู เป็นเวลา 7 วัน พบว่ามีเพียงสารสกัดเมทานอลเท่านั้นที่แสดงฤทธิ์ระงับปวดที่สำคัญในแบบจำลอง Eddy's hot plate และtail-flack ส่วนสารสกัดเมทานอลจากส่วนผล ในขนาด 200 และ 400 มก./กก. พบว่าสามารถยับยั้งการตอบสนองการดินที่เกิดจากกรดอะซิติกได้อย่างมีนัยสำคัญ
ฤทธิ์สารด้านเชื้อแบคทีเรีย มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่า น้ำยางของสบู่แดง มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ในหลอดทดลองต่อเชื้อ Shigella dysenteriaeListeria ,monocytogenes,Salmonella tyhimurium , Salmonella typhiและStaphylococcus aureus
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่า เมื่อป้อนสารสกัดเมทานอลและปิโตรเลียมอีเธอร์ จากส่วนเหนือดินของสบู่แดง ทางปากในหนูทดลอง ในขนาด 100 และ 200 มก./กก./วัน เป็นเวลา 7 วัน พบว่าสารสกัดเมทานอลเท่านั้นที่แสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบที่สำคัญต่ออาการบวมที่อุ้งเท้าที่เกิดจากคาร์ราจีแนนได้
ฤทธิ์ปกป้องตับ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่าเมื่อป้อน สารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์ เมทานอล และน้ำ ทางปากแก่หนูทดลองในปริมาณ 200 มก,/กก./วัน เป็นเวลา 7 วัน พบว่าสารสกัดทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ในการปกป้องตับในการทำลายตับที่เกิดจากคาร์บอนเตตระคอลไรด์ โดยสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์มีฤทธิ์มากกว่าสารสกัดเมทานอล
ฤทธิ์ลดความดันโลหิต และคลายหลอดเลือด มีรายงานระบุว่าเมื่อป้อนสารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดินของสบู่แดง ทางปากแก่หนูในปริมาณ 125 และ 250 มก./กก./วัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดระดับความดันโลหิตซิลโดลิกและช่วยให้หลอดเลือดผ่อนคลายโดยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นในหลอดเลือดแดงในช่องท้องที่แยกจากหนู (ex vivo) ที่ไม่มีเอนโดทีเลียมซึ่งหดตัวล่วงหน้าด้วยนอร์เอพิเนฟรินหรือ CaCI2
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสบู่แดงระบุว่า มีรายงานผลการศึกษาทางพิษวิทยา ในแกะพบว่าเมื่อให้แกะกินใยสดของสบู่แดงในปริมาณ 40 กรัม/น้ำหนัก/กิโลกรัม ครั้งเดียวมีผลทำให้สัตว์ตายได้ โดยพยาธิสภาพทางคลินิกและพยาธิวิทยาในแกะที่ใช้ทดลอง จะเกิดจากระบบย่อยอาหารปอด และหัวใจผิดปกติ และยังมีการเปลี่ยนแปลงทางเนื้อเยื่อของตับและไต นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ส่วนของน้ำยางและเมล็ดของสบู่แดงมีความเป็นพิษสูง โดยในน้ำยางมีสารพิษ กลุ่ม phorbol esters, toxic albomin และ curcin ส่วนในเมล็ดมีสารพิษกลุ่ม jatrophin (curcin) เป็นต้น
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง เนื่องจากสบู่แดงเป็นพืชที่มีส่วนของน้ำยางและเมล็ดที่เป็นพิษสูง ดังนั้นในการใช้สบู่แดงเป็นสมุนไพรควรใช้โดยผู้เชี่ยวชายเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้เอง เนื่องจากหากใช้ผิดวิธีหรือใช้ผิดส่วนอาจทำให้ได้รับพิษจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และยังมีรายงานว่าหากน้ำยางถูกผิวอาจเกิดอาการแพ้บวมแดงคัน แสบร้อนผิวหนัง บวมพองเป็นตุ่มน้ำใส หากโดนตาอาจทำให้อักเสบบวมแดง ตาบอดชั่วคราวหรือถาวรได้ส่วนหากรับประทานเข้าไปภายใน 1 ชั่วโมง จะทำให้เกิดอาการปวดหัว ม่านตาขยายเลือดออกในเรตินา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียคล้ายอาหารเป็นพิษ ถ่ายเป็นเลือด ปวดท้องเนื่องจากเยื่อบุอาหารถูกทำลาย ความดันโลหิต ต่ำ ชัก เป็นอัมพาต การเต้นของหัวใจผิดปกติ และหากรับประทานเข้าไปปริมาณมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อ้างอิงสบู่แดง
- พงษ์ศักดิ์ พสเสนา. (2550). พืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์. ปราจีนบุรี:ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจตนารมณ์ภัณฑ์.
- สมพร ภ. หิรัญรามเคช. 2535. ตำราสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6. พิมพ์ครั้งที่ 7. กองโรงพิมพ์,กรุงเทพฯ.
- สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล. (2542). ผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพร กรุงเทพฯ:
- ลีนา ผู้พัฒนพงศ์. 2530. สมุนไพรไทย ตอนที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 1. ชุติมาการพิมพ์, กรุงเทพ
- สำนักหอพรรณไม้.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2549). พรรณไม้ห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี. กรุงเทพฯ
- คณิตา เลขะกุล. 2536. ไม้ดอกไม้ประดับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาล, พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักพิมพ์ค่านสุทธาการพิมพ์, กรุงเทพฯ.
- ศูนย์พัฒนาตำราการแพทย์แผนไทย.มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา. (2549). พฤกษชาติสมุนไพร. นนทบุรี
- นิจศิริ เรืองรังสี และ พะยอม ตันติวัฒน์. 2532. พืชสมุนไพร. พิมพ์ครั้งที่ 1. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ
- สถาบันวิจัยสมุนไพร.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. (ม.ป.ป.), คู่มีอฐานข้อมูลพืชพิษ กรุงเทพฯ
- ภูมิพิชญ์ สุชาวรรณ. ม.ป.ป. พืชสมุนไพรใช้เป็นยา เล่ม 1. อักษราพิพัฒน์, กรุงเทพฯ.
- รัตนวรรณ พรรุ่งเรืองกุล.ศักยภาพทางอัลลีโลพาทีในพืชสกุล jatropha บางชนิด.ปริญญานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย หลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.พฤษภาคม2556.125หน้า
- ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2539. สยามไชยพฤกษ์ภูมิปัญญาชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. อมรินทร์พริ้นติ้ง, กรุงเทพฯ.
- Di Stasi LC, Hiruma-Lima CA. Plantas medicinais na Amazônia e na Mata Atlântica. 2nd edition. São Paulo, Brazil: UNESP; 2002
- A. S. Apu, F. Hossain, F. Rizwan et al., "Study of pharmacological activities of methanol extract of Jatropha gossypifolia fruits," Journal of Basic and Clinical Pharmacy, vol. 4, no. 1, pp. 20-24,2013
- L. I. Oliveira, F. E. Jabour, V. A. Nogueira, and E. M. Yamasaki,
- "Intoxicação experimental com as folhas de Jatropha gossypifo-lia(Euphorbiaceae) em ovinos," Pesquisa Veterinária Brasileira, vol. 28, no. 6, pp. 275-278, 2008.
- O. M. David and J. O. Oluyege, "In vitro susceptibility of selected pathogenic bacteria to leaf extracts and latex of Jatropha gossypiifolia(L) and Jatropha curcas (L)," Biosciences Biotechnology Research Asia, vol. 3, no. 1, pp. 91-94, 2006.
- I. C. Abreu, A. S. S. Marinho, A. M. A. Paes et al., "Hypotensive and vasorelaxant effects of ethanolic extract from Jatropha gossypiifolia L. in rats, Fitoterapia, vol. 74, no. 7-8, pp. 650-657,2003.
- F. A. G. Rocha and L. I. S. Dantas,"Atividade antimicrobiana in vitro do látex do aveloz (Euphorbia tirucalli L.), pinhão bravo (Jatropha mollissima L.) e pinhão roxo (Jatropha gossypiifolia L.) sobre microrganismos patogênicos," Holos, vol. 25, no. 4, 2009.
- B. B. Panda, K. Gaut, M. L. Kori et al, "Anti-inflammatory and analgesic activity of jatropha gosypifolia in experimental animal models," Global Journal ef Pharmacology, vol. 3, no. 1, 2009,