มะลิวัลย์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะลิวัลย์ งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ

ชื่อสมุนไพร  มะลิวัลย์

ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  มะลิป่า, มะลิเถื่อน(ทั่วไป,ภาคกลาง),ผักแซว(ภาคเหนือ)

ชื่อวิทยาศาสตร์Jasminum adenophyllum Wall.ex C.B. Clarke

ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์Jasminum lanceoaria Roxb. Subsq Lance olaria

ชื่อสามัญ Blue grape jasmin , Princess jasmin

วงศ์OLEACEAE

ถิ่นกำเนิด  มะลิวัลย์เป็นพืชในสกุลมะลิ (Jasminum) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในอินเดีย จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนชื้นต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เช่นในจีน เวียนนาม พม่า ไทย ลาว และมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบมะลิวัลย์ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณ รั้วบ้าน ซุ้มประตู หรือตามที่รกร้างว่างเปล่าและในบริเวณชายป่า โดยจะเลื้อยพันตามต้นไม้หรือพุ่มไม้อื่นๆ

ประโยชน์/สรรพคุณ ในภาคเหนือมีการนำใบอ่อนและยอดอ่อนของมะลิวัลย์มาใช้ทำเป็นแกงรับประทาน โดยมีชื่อว่าแกงผักแซ่ว ซึ่งมักจะปลูกเอาไว้ให้พันขึ้นตามรั้วเมื่อจะนำมาประกอบอาหารก็สามารถเก็บเอาได้ตามรั้วบ้าน นอกจากนี้ในปัจจุบันยังนิยมนำมะลิวัลย์มาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือน หรือตามสถานที่ต่างๆ โดยมักจะทำเป็นซุ้มหรือทำเป็นร้านให้มะลิวัลย์พันขึ้น เมื่ออกดอกจะมีสีขาวสวยงามและมีกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน สำหรับสรรพคุณทางยาของมะลิวัลย์นั้นตามตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ว่า

  • ราก รสจืดเย็นใช้ถอนพิษต่างๆ ถอนพิษยา แก้อาการแพ้ยา ถอนพาไข้ ถอนพาเบื่อเมา ถอนพิษอักเสบ ทำให้นอนหลับสบาย
  • ดอก ใช้บำรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื้นหัวใจ
  • ลำต้นหรือเถา ใช้บำรุงสมรรถภาพทางเพศ บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว

รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้

  • ใช้ถอนพิษต่างๆ ถอนพิษไข้ ถอนพิษเบื่อเมา ถอนพิษอักเสบ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ช่วยให้นอนหลับสบาย โดยการนำรากสดมาเคี้ยวกลืนน้ำ หรือนำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้
  • ใช้แก้ไข้ตัวร้อน บำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ โดยนำดอกมาตากให้แห้งใช้ชงดื่มแบบชา
  • น้ำมันหอมระเหยจากมะลิวัลย์ใช้เจือจางชุบผ้าเช็ดหน้าดมช่วยทำให้สดชื่น ทำให้ชุ่มชื้นหัวใจ
  • ใช้เป็นยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศในบุรุษ ใช้แก้ประดงข้อ โดยนำลำต้นหรือเถามผสมกับลำต้นเครืองูเห่า ลำต้นว่านเพชรหึงในจำนวนเท่ากัน โดยจะใช้เป็นแบบสดหรือแห้งก็ได้ จากนั้นนำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มต่างน้ำ หรือนำส่วนประกอบดังกล่าวมาดองกับเหล้าขาว 40 ดีกรี ดื่มครั้งละ 1 แก้วเป๊กก่อนอาหารเช้า เย็น และก่อนนอน
  • ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยปวดหลังปวดเอว โดยนำเถาหรือต้น มาผสมกับเครือเถางูเห่า ลำต้นมะม่วงเลือดน้อย นำมาต้มกับน้ำโดยใส่น้ำให้ท่วมยาต้มจนเดือน ใช้ดื่มประจำหรือนำมาดอกกับเหล้าขาว 40 ดีกรี ดื่มครั้งละ 1 แก้เป๊กก่อนอาหารเช้า เย็นและก่อนนอน ก็ได้เช่นกัน

ลักษณะทั่วไป  มะลิวัลย์เป็นไม้เถาหรือไม้เลื้อยขนาดเล็กเนื้อแข็ง เถามีสีเขียวเข้ม กิ่งอ่อนมีขน เถามักเลื้อยได้ยาว 2-5 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะขอบใบเป็นรูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีสีเขียวเข้มแผ่นใบด้านบนเป็นมันด้านล่างมีสีอ่อนกว่า ดอกออกเป็นช่อเชิงลดในแต่ละช่อจะมีดอกย่อย 2-3 ดอก กลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด ยาว 2-3 เซนติเมตร ปลายกลีบแยกเป็น 8-12 กลีบ กลีบดอกมีสีขาว รูปแถบหรือรูปขอบขนาน ยาว 3-5 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่งแหลมมีเกสรเพศผู้ จำนวน 2 อัน บริเวณกึ่งกลางของหอดดอกมีกลิ่นหอมตลอดวัน และหอมแรงในช่วงพลบค่ำถึงเช้าตรู่ ผลเป็นผลสดโดยจะออกเป็นกลุ่ม 1-2 ผล ผลมีลักษระทรงกลม ผิวเรียบเป็นมันเงา เมื่อผลอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน เมื่อผลแก่จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มจนถึงสีดำ คล้ายผลองุ่น จึงมีชื่อสามัญว่า Blue grape Jasmin

การขยายพันธุ์  มะลิวัลย์สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำกิ่ง แต่ในปัจจุบันจะนิยมใช้วิธีการปักชำกิ่งหรือเถามากที่สุด เพราะว่าทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว โดยเริ่มจากเลือกกิ่งหรือเถาที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป โดยตัดให้ชิดข้อ ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร หรือให้มีข้ออย่างน้อย 3 ข้อ เด็ดใบออกให้เหลือใบส่วนบนสุด 1 คู่ ตัดใบบนให้เหลือครึ่งใบเพื่อลดการคายน้ำ จุ่มกิ่งในฮอร์โมน IBA กับ NAA อัตราส่วน 1:1 เพื่อเร่งราก และใช่กิ่งในสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา สำหรับการปักชำจะใช้วัสดุชำที่ประกอบด้วยทคายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 รดน้ำจนชุ่ม แล้วจึงนำกิ่งชำมาชำเรียงเป็นแถวห่างกันประมาณ 5x5 เซนติเมตร รดน้ำอีกครั้ง ปกติกิ่งชำจะงอกรากได้ภายใน 3 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน จากนั้นนำไปเลี้ยงต่อในถุงพลาสติกที่มีดิน ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก ผสมในอัตรา 3:1:1 จนกระทั่งแข็งแรงดีแล้วจึงนำไปปลูกต่อไป

องค์ประกอบทางเคมี  มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของมะลิวัลย์ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้

            ใบสดและกิ่งสดของมะลิวัลย์ พบสารกลุ่ม secoiridoid glucosides 5 ชนิด ได้แก่ jaslanceoside A-E และพบสาร jasminoside และ 10-hydroxyoleoside dimethyl ester อีกด้วย และยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลจากใบสดของมะลิวัลย์ระบุว่าพบสาร syringin , jasmoside , jasmesoside , jasmosidic acid , jasminin , isojasminin , rutin , 9-hydroxyjasmesoside และ 9-hydroxyfasmesosidec acid ส่วนสารสกัดเอทานอลจากส่วนเนื้อดินของมะลิวัลย์พบสาร multifloroside ,multiroside , jasmultiside และ 10-hydroxyleuropein ส่วนในน้ำมันหอมระเหยที่ให้กลิ่นหอมจากดอกของมะลิวัลย์พบว่าประกอบไปด้วยสาร benzyl acetate, indole, E-E-farnesene, Z-3-hexenyl benzoate , benzyl alcohol , linalool และ methyl anthranilate เป็นต้น            

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา  มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของมะลิวัลย์ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

ฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีรายงานผลการศึกษาวิจัย สารสกัดอะซิโตนจากใบ ของมะลิวัลย์ พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus ส่วนสารสกัดเมทานอลจากมะลิวัลย์มีโซนยับยั้งเชื้อ Shigella ได้ถึง 22.67 มม. ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนของดอกมะลิวัลย์ แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียต่อเชื้อ E. coli และยังฤทธิ์ต้านจุลชีพต่อจุลินทรีย์ในช่องปากหลายชนิด รวมถึง E. coli, L. casei และ S. mutans    นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นสารต้านจุลชีพต่อต้านเชื้อราแคนดิดาที่เป็นสาเหตุของโรคทางช่องปากทุกสายพันธุ์อีกด้วย

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอลจากส่วนใบของมะลิวัลย์ด้วยวิธี DPPH พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยมีค่า IC50 อยู่ที่ 26.3 กรัม/มิลลิลิตร ซึ่งมากกว่าสาร Trolox มาตรฐาน(IC50 5.8 กรัม/มิลลิลิตร) และมีค่า ORAC เท่ากับ 1,023.7 กรัม TE/มิลลิกรัมของสารสกัด

ฤทธิ์ระงับประสาท      มีรายงานผลการศึกษาวิจัยระบุว่ากลิ่นของชามะลิ มีผลกดประสาทต่อสภาวะอารมณ์และการทำงานของเส้นประสาท จึงได้มีการศึกษานำร่อง ในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล โดยให้สูดดมน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ 5 นาทีต่อวันติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิ สามารถปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้น และทำให้อาการต่างๆ เช่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ ใจสั่น ดีขึ้นได้

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา  ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง  ถึงแม้ว่าพืชในสกุลมะลิจะถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยปราศจากความเป็นพิษมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว แต่สำหรับการใช้มะลิวัลย์เป็นยาสมุนไพรนั้นก็ควรระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

อ้างอิงมะลิวัลย์

  1. เต็ม สมิตินันทน์,2544.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้.กรุงเทพฯ.
  2. สมสุข มัจฉาชีพ.2541.ไม้ดอกไม้ประดับ.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แพร่พิทยา.238หน้า.
  3. มหาวิทยาลัยมหิดล.คณะเภสัชศาสตร์และบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่.สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.กรุงเทพมหานคร.มหาวิทยาลัยมหิดล.2535.
  4. ปิยะ เฉลิมกลิ่น.มะลิในเมืองไทย.กรุงเทพฯ.บ้านและสวน.2556.หน้า60
  5. ทิพย์สุดา ตั้งตระกูล.หอมกลิ่น...ดอกมะลิ.คอลัมน์นานาสาระ.วารสารแม่โจ้ปริทัศน์ปีที่8ฉบับที่4.หน้า77-79
  6. วราภรณ์ มณีมาโรจน์.การศึกษาไซโต-อนุกรมวิธานของพืชในสกุลมะลิของประเทศไทย.วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต(เกษตรศาสตร์)สาขาพืชสวนบัณฑิตวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.2514
  7. Tauchen, J.; Doskocil, I.; Caffi, C.; Lulekal, E.; Marsik, P.; Havlik, J.; van Damme, P.; Kokoska, L. In vitro antioxidant and anti-proliferative activity of Ethiopian medicinal plant extracts. Ind. Crop. Prod. 2015, 74, 671–679.
  8. Tanahashi, T., Nagakura, N., Kuwajima, H., Takaishi. K., Inoue, K., and Inouye, H., Secoirdoid glucosides from Jasminum mesnyi Phytochemistry. 28,1413-1415(1989.)
  9.  Everything You Need to Know About Jasmine Essential Oil Written by Adrienne SantosLonghurst on November 26, 2018
  10. Chen, H, -Y., “Jasmultiside, a new secoiridoid glucosides from Jasminum multiflorum. J. Nat Prod., 54, 1087-1091(1991).
  11. Khammee P, Unpaprom Y, Chaichompoo C, Khonkaen P, Ramaraj R. Appropriateness of waste jasmine flower for bioethanol conversion with enzymatic hydrolysis: sustainable development on green fuel production. 3 Biotech. 2021 May;11(5):216. doi: 10.1007/s13205- 021-02776-x. Epub 2021 Apr 15. PMID: 33936925; PMCID: PMC8050141.
  12. Shen, Y. -C., Lin, S.- L., and Chen, C.-C., Three secoiridoid glucosides from Jasminum lanceolarium. Phytochemistry., 44, 891-895(1997).