หญ้าเกล็ดหอยเทศ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
หญ้าเกล็ดหอยเทศงานวิจัยและสรรพคุณ 28 ข้อ
ชื่อสมุนไพร หญ้าเกล็ดหอยเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าเกล็ดหอย, หญ้าเกล็ดหอยเล็ก (ทั่วไป), เทียนโอว่ซุย, เทียนหูซุยพูตี้จิ่น, โพวตี่กิ้ม (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrocotyle sibthorpioides Lam.
ชื่อสามัญ Lawn marsh penny wort, Water pennywort
วงศ์ ARALIACEAE
ถิ่นกำเนิดหญ้าเกล็ดหอยเทศ
หญ้าเกล็ดหอยเทศ จัดเป็นพืชล้มลุกในวงศ์เล็บครุฑ (ARALIACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศพม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนอื่นๆ ของโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบหญ้าเกล็ดหอยเทศ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณที่รกร้างว่างเปล่า ริมสองข้างทาง หรือ ตามที่โล่งที่มีความชุ่มชื้นสูง รวมถึงบริเวณบ่อน้ำ ลำธาร หรือ ตามหน้าผาที่มีความเย็นชื้นทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าเกล็ดหอยเทศ
- ใช้เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อตับ ไต และม้าม
- ใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้
- ช่วยแก้อาการร้อนใน
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้ไอ
- แก้ไอกรน
- แก้เจ็บคอ
- แก้คออักเสบ
- แก้ท้องมาน
- แก้บวมน้ำ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้บิดมูกเลือด
- แก้นิ่ว นิ่วในไต
- แก้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- แก้ดีพิการ ดีซ่าน
- แก้ตาแดง ตาเป็นต้อ
- ใช้ห้ามเลือด
- ใช้ใส่แผลสด แผลเรื้อรัง
- แก้ผื่นคัน
- แก้งูสวัด
- ใช้เป็นยาบำรุงตับ
- ช่วยบำรุงสมอง
- ใช้ล้างพิษ
- ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร
- ช่วยขับลม
- แก้ตับอักเสบ
- รักษาฝี
- รักษากระดูกหัก
หญ้าเกล็ดหอยเทศ ถูกนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับคลุมดิน ตามอาคารสถานที่ หรือ ตามสวนหย่อม สวนสาธารณะและตามบ้านเรือนทั่วไป เนื่องจากใบมีสีเขียวเป็นมันและเจริญเติบโตแผ่เป็นผืนคลุมดินได้สวยงาม นอกจากนี้เกษตรกรที่ทำปศุสัตว์ยังมีการใช้หญ้าเกล็ดหอยเทศ มาใช้เป็นยารักษาสัตว์ อาทิเช่น
- วัวที่มีอาการเจ็บคอ หรือ คออักเสบ ใช้ลำต้นหญ้าเกล็ดหอยเทศสดและโล้ยเถ่าเช่าสด อย่างละ 1 กำมือ นำมาตำคั้นเอามาผสมกับน้ำเล็กน้อยให้วัวกิน
- หมูที่เป็นไตอักเสบ บวมน้ำ ใช้ลำต้นสด ผักกาดสด มั่งแส่โชย และกึงป๊วก อย่างละ 39 กรัม นำมาต้มเอาน้ำผสมกับน้ำเต้าหู้ ประมาณครึ่งชามและน้ำตาลทราย 60 กรัม ให้หมูกิน
- สัตว์เลี้ยงที่มีอาการป่วยเป็นไข้ ใช้ลำต้นหญ้าเกล็ดหอยเทศ สดประมาณ 250 กรัม นำมาตำคั้นเอาน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน
- สัตว์เลี้ยงที่เยื่อตาอักเสบ ใช้ลำต้นหญ้าเกล็ดหอยเทศสด นำมาคั้นเอาน้ำผสมกับเกลือเล็กน้อย แล้วนำไปป้ายตา เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะติดเชื้อ ขับนิ่วในไต แก้บิดมูกเลือด แก้ท้องมาน แก้บวมน้ำ โดยนำทั้งต้นหญ้าเกล็ดหอยเทศ สด 30-60 กรัม หรือ ทั้งต้นแห้ง 10-20 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
- ส่วนในอินเดีย ใช้เป็นยาบำรุงตับ บำรุงสมอง ล้างพิษ
- ในอินโดนีเซีย ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร ขับลม แก้ไอ แก้ตับอักเสบ แก้ดีซ่าน รักษาฝี รักษาบาดแผล แก้ผดผื่นคัน และรักษากระดูกหัก
ลักษณะทั่วไปของหญ้าเกล็ดหอยเทศ
หญ้าเกล็ดหอยเทศ จัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกขนาดเล็กเลื้อยไปตามหน้าดิน ลำต้นมีลักษณะเป็นเส้นเล็ก 10-50 เซนติเมตร แผ่สาขาปกคลุมดินเป็นแผ่น ลำต้นจะเป็นข้อๆ และจะแตกรากฝอยยึดต้น
ใบหญ้าเกล็ดหอยเทศ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-2 เซนติเมตร โคนใบเว้าเข้าหากันเป็นรูปหัวใจ ขอบใบมีรอยหยัก 5-9 หยัก แผ่นใบค่อนข้างบาง หลังใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีขาวและมีขนสั้นอ่อนนุ่มขึ้นปกคลุมเล็กน้อยและจะมองเห็นเส้นใบออกจากโคนใบ จำนวนเท่ากับหยักของแต่ละใบ สำหรับก้านใบจะเป็นเส้นบางเล็กยาว 1-8 เซนติเมตร
ดอกหญ้าเกล็ดหอยเทศ ออกเป็นช่อ หรือ ออกเป็นกระจุกบริเวณข้อของลำต้น หรือ ตามง่ามใบ โดยช่อดอกมีลักษณะคล้ายร่มและในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อย 10-15 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็กมากมีลักษณะเป็นสีเขียวอมขาว หรือ สีเหลืองอ่อนกลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นรูปกลมรี ไม่มีก้านดอก หรือ อาจมีแต่จะสั้นมากมีเกสรเพศผู้มี 5 อัน มีรังไข่ 2 ช่อง ซึ่งในแต่ละช่อจะมีออวุล 1 เม็ด ส่วนยอดเกสรเพศเมียมี 2 อัน
ผลหญ้าเกล็ดหอยเทศ เป็นผลแห้งออกเป็นคู่ มีลักษณะแบน เป็นเหลี่ยมคล้ายรูปหัวใจกว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ยาว 1-1.25 มิลลิเมตร ผิวผลเป็นมันและมีแต้มเป็นจุด เมื่อผลแก่จัดจะแตกครึ่งด้านในมีเมล็ดรูปไข่กลมขนาดเล็กจำนวนมาก
การขยายพันธุ์หญ้าเกล็ดหอยเทศ
หญ้าเกล็ดหอยเทศสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำ แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีการนิยมนำหญ้าเกล็ดหอยเทศมาทำการขยายพันธุ์ ดังนั้นการขยายพันธุ์ของหญ้าเกล็ดหอยเทศ นั้นจึงเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ ไม่ได้ถูกนำมาปลูกโดยมนุษย์แต่อย่างใด ซึ่งในการขยายพันธุ์ในธรรมชาติก็จะเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดและการแตกต้นคลุมดินไปเรื่อยๆ ทั้งนี้หญ้าเกล็ดหอยเทศเป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้นสูงและชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำดี แต่ก็ต้องการแสงแดดจัดเช่นกัน
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของหญ้าเกล็ดหอยเทศระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น asiaticoside, madecassoside, catechin, epicatechin, rosmarinic acid, chlorogenic acid, biochanin A, ferulic acid, rutin, gallic acid, caffeic acid, quercetin, hyperoside, quercetin 3-(6-caffeoylgalactoside), stigmasterol และ udosaponin B เป็นต้น ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบหญ้าเกล็ดหอยเทศ ยังพบสาร camphene, genistein, hydrocosisaponin A-F, hydrocotyloside I-VII, isorhamnetin, l-sesamin, ocimene, phytol, α-humulene, α-pinene, β-caryophyllene และ β-pinene เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหญ้าเกล็ดหอยเทศ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดหญ้าเกล็ดหอยเทศ จากทั้งต้นของหญ้าเกล็ดหอยเทศ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากหญ้าเกล็ดหอยเทศในหนูทดลอง 25 ตัว โดยหนูจะถูกแบ่งออกเป็นห้ากลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมเชิงบวกหนึ่งกลุ่ม กลุ่มเปรียบเทียบหนึ่งกลุ่มและกลุ่มทดสอบสามกลุ่ม อีกทั้งยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟา-อะไมเลสและเอนไซม์อัลฟา-กลูโคซิเดสของ สารสกัดจากส่วนเหนือดินของหญ้าเกล็ดหอยเทศระบุว่าสามารถแสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ทั้งสองชนิด โดยขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ซึ่งพบว่าสารสกัดแสดงฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟา-กลูโคซิเดสได้ดีกว่า เอนไซม์อัลฟา-อะไมเลส อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ทางสถิติ (P ≤ 0.05 ระดับ) ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในคุณสมบัติการยับยั้งเอนไซม์ของสารสกัดและอะคาร์โบส (สารอ้างอิง) ทั้งนี้ในกรณีของฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟา-อะไมเลส สารสกัดแสดงฤทธิ์ยับยั้งได้ดีกว่าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับสารประกอบอ้างอิงอย่าง อะคาร์โบส โดยที่ความเข้มข้นของพืช 5 มก./มล. พบว่าสารสกัดฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟา-อะไมเลสอยู่ที่ 96.12 ± 3.86% ส่วนอะคาร์โบส อยู่ที่ 90.73 ± 5.19% นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าน้ำต้มจากหญ้าเกล็ดหอยเทศ ในความเข้มข้น 1:1 มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียในกลุ่ม Strepto coccus และ Staphylo coccus ได้และยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อปิด และเชื้อไทฟอยด์ได้ดีอีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหญ้าเกล็ดหอยเทศ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดจากทุกส่วนของหญ้าเกล็ดหอยเทศระบุว่า มีรายงานผลการศึกษาวิจัยพิษเฉียบพลันทางคลินิกกับสารสกัดจากทุกส่วนของหญ้าเกล็ดหอยเทศ ในหนูเผือก พบว่ามีค่า LD50 (ค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง) มากกว่า 2,000 มก./กก. ของน้ำหนักตัว จึงถือว่ามีความปลอดภัยสูง
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหญ้าเกล็ดหอยเทศระบุว่ามีความปลอดภัยสูง แต่สำหรับการใช้หญ้าเกล็ดหอยเทศ เป็นยาสมุนไพรนั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ตามที่ได้ระบุว่าไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง หญ้าเกล็ดหอยเทศ
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “หญ้าเกล็ดหอยเทศ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 576.
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “หญ้าเกล็ดหอย”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 799-801.
- Quamar MF Bera SK. Ethno-Medico-Botanical Studies of Plant Resources of Hoshangabad District, Madhya Pradesh, India: Retrospect and Prospects. 2014;1(1):1-11.
- Hazarika, Iswar; Geetha, K.M.; Sundari, P. Sivakami; Madhu, Divya (2019). "Acute oral toxicity evaluation of extracts of Hydrocotyle sibthorpioides in Wister albino rats as per OECD 425 TG". Toxicology Reports. 6: 321-328.
- Mandal M Paul S Uddin MR Mondal MA Mandal S Mandal V. In vitro antibacterial potential of Hydrocotyle javanica Thunb. Asian Pacific J Trop Dis. 2016;6(1):54-62
- Barukial J, Sarmah JN (2011) Ethnomedicinal plants used by the people of Golaghat district, Assam, India. Int J Med Aromat Plants 1(3):203-211
- Anas B Harry BS. TUMBUHAN LIAR BERKHASIAT OBAT. Bandung: Forda Press; 2016.
- "Hydrocotyle sibthorpioides- Lam". Plants for a Future. Retrieved 7 November 2016.
- Robinson T. Kandungan Organik Tumbuhan Tinggi. Edisi ke-4. Bandung: ITB Press; 1995
- Gogoi M, Saikia BM, Dutta M (2019) Use of medicinal plants in traditional health care practices by tribes of Dhemaji district, Assam, India. Int J Herb Med 7(5):01-06
- Rahmatullah, Mohammed (2010). "A Comparative Analysis of Medicinal Plants used by Folk Medicinal Healers in Villages Adjoining the Ghaghut, Bengali, Padma Rivers of Bangladesh". American- Eurasian Journal of Sustainable Agriculture (4): 70-85.