หนุมานนั่งแท่น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
หนุมานนั่งแท่น งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่อสมุนไพร หนุมานนั่งแท่น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านเลือด, ว่านหนุมานนั่งแท่น, ว่านหนุมาน (ทั่วไป, ภาคกลาง), หัวละมานนั่งแท่น (ประจวบคีรีขันธ์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropa podagrica Hook.
ชื่อสามัญ Coral nut, Guatemala rhubarb, Gout plant, Tartogo
วงศ์ EUPHOBIACEAE
ถิ่นกำเนิดหนุมานนั่งแท่น
หนุมานนั่งแท่น จัดเป็นพืชในวงศ์ยางพารา (EUPHOBIACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกากลาง ซึ่งคาดว่าอยู่ในบริเวณประเทศกัวเตมาลา เอซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับประเทศไทยสามารถพบหนุมานนั่งแท่น ได้ทั่วทุกภาคของประเทศที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 800 เมตร ซึ่งมักจะพบได้ในบริเวณที่รกร้าง ว่างเปล่า ที่โล่งแจ้ง รวมถึงตามบ้านเรือนทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณหนุมานนั่งแท่น
- ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
- ช่วยฟอกโลหิต
- แก้อาการเคล็ดขัดยอก ตึงปวด ตามร่างกายและข้อมือข้อเท้า
- ใช้สมานแผล
- ช่วยรักษาฝี
- ใบใช้สมานแผล ทั้งแผลสด แผลเปื่อย แผลหนอง
- ใช้ห้ามเลือด หรือ เส้นโลหิตฝอยแตก
- แก้ไอเป็นเลือด (วัณโรค)
- ใช้กันหูด ตาปลา
- ใช้รักษาฝี
- ใช้แก้มดลูกไม่เข้าที่ ในสตรีหลังคลอด
- ใช้รักษาโรคหนองใน
- รักษาเกาต์
- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
- รักษาโรคผิวหนัง
- ใช้เบื่อปลา
มีการนำหนุมานนั่งแท่นมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนสาธารณะ วัดวาอาราม หรือ ตามอาคารสถานที่ต่างๆ เพราะมีรูปทรงแปลกตาและดอกมีสีส้ม สีแดง ดูสวยงาม อีกทั้งยังมีการนำยางของหนุมานนั่งแท่น มารักษาแผลของม้าทั้งแผลสดและแผลเน่าเปื่อยซึ่งจะทำให้แผลของม้าหายเร็วกว่ายาแผนปัจจุบันชนิดอื่น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย ฟอกโลหิต โดยนำเหง้าหนุมานนั่งแท่น มาตากให้แห้งต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ตึงปวด เคล็ดขัดยอกตามเอวและหลังรวมถึงตามข้อมือข้อเท้า โดยนำเหง้าหนุมานนั่งแท่นมาโขลกให้ละเอียด ใช้ทาและพอกบริเวณที่เป็นแล้วใช้ผ้าบางๆ พันเอาไว้
- ใช้สมานแผล ทั้งแผลสด แผลหนอง และแผลเปื่อย แก้ฝี โดยล้างแผลและฝีที่เป็นให้สะอาดแล้วนำน้ำยางหนุมานนั่งแท่นมาใช้ทาบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้อาการมดลูกไม่เข้าที่ในสตรีหลังคลอด โดยนำใบหนุมานนั่งแท่น มาย่างไฟแล้วนำไปทาบบนท้องหลายๆ ครั้ง
- ส่วนในแถบแอฟริกาตะวันตก มีการใช้รักษาโรคหนองใน เกาต์ เมล็ดใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ รักษาโรคผิวหนัง เปลือกต้นใช้เบื่อปลา
ลักษณะทั่วไปของหนุมานนั่งแท่น
หนุมานนั่งแท่น จัดเป็นไม้พุ่มที่มีความสูงของต้นตั้งแต่ 1-3 เมตร ลักษณะลำต้นอวบน้ำผิวไม่เรียบมักจะพองใหญ่ที่โคนต้น ผิวลำต้นเกลี้ยงมีสีน้ำตาลอมเขียว จะแตกกิ่งในระดับที่สูงและมีเหง้าลักษณะกลมยาวอยู่ใต้ดิน ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่นใสๆ ไม่เหนียว
ใบหนุมานนั่งแท่น เป็นใบเดี่ยวออกเรียงเวียนสลับออกจากลำต้นโดยมีก้านใบยาว 10-20 เซนติเมตร ส่วนใบมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ถึงรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร โคนในหยักเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเว้าเป็นแฉกปลายแหลม 3-5 แฉก ผิวใบหนาเป็นมันหลังใบและท้องใบเรียบ อีกทั้งมีหูใบที่แตกแขนงยาวได้ถึง 5 มิลลิเมตร
ดอกหนุมานนั่งแท่น เป็นดอกแบบแยกเพศร่วมต้น โดยจะออกที่ปลายยอดเป็นช่อแบบกึ่งช่อเชิงหลั่นยาวได้ถึง 26 เซนติเมตร ส่วนแกนช่อดอกจะยาวได้เมตร ส่วนแกนช่อดอกจะยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร สำหรับดอกย่อยมีจำนวนมากมีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นสีส้ม หรือ สีแดง โดยดอกเพศผู้จะมีกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่กว้าง ยาว 0.6 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นรูปไข่กว้าง 2 มิลลิเมตร ยาว 5-6 มิลลิเมตร จานรองดอกเป็นรูปโถมีเกสรเพศผู้จะยาว 6-8.5 มิลลิเมตร สำหรับดอกเพศเมียกลีบเลี้ยงจะเป็นรูปรี ยาว 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกยาว 6-7 มิลลิเมตร มีก้านชูและก้านชูช่อดอกเป็นสีแดง
ผลหนุมานนั่งแท่น มีลักษณะเป็นรูปกลมรี หรือ รูปกระสวยปลายผลโค้งมนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร ผิวเรียบมีรอยแบ่งเป็นพู 3 พู ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลแก่มีสีเหลืองและเมื่อผลสุกจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีดำ ผลแห้งไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดสีดำลักษณะเป็นรูปกระสวย หรือ รูปรี กว้างประมาณ 6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 12 มิลลิเมตร เนื้อในเมล็ดมีสีขาวชุ่มน้ำมัน
การขยายพันธุ์หนุมานนั่งแท่น
หนุมานนั่งแท่น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการใช้เหง้าใต้ดินปลุก สำหรับการเพาะเมล็ดและการใช้เหง้าปลูกของหนุมานนั่งแท่นนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการใช้เหง้าปลูกของไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้หนุมานนั่งแท่น เป็นพืชที่ชอบดินร่วมที่มีความชื้นสูง ชอบแสงแดดจัดและสามารถทนต่อสภาพอาการแห้งแล้งได้ดี
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของหนุมานนั่งแท่นระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ส่วนรากหนุมานนั่งแท่นพบสารกลุ่ม diterpenoids ได้แก่ Japodagrin, Japodagone, jatrophane, lathyrane และยังพบสาร japodic acid, fraxidin, Erythrinasinate A อีกด้วย สารสกัดเมทานอลจากเปลือกลำต้นของหนุมานนั่งแท่นพบสาร faxin, fraxein, ß-sitosterol, sitosterone, scoparone และ 3-acetylaleurifolie acid เป็นต้น ส่วนในน้ำยางจากส่วนต่างๆ ของหนุมานนั่งแท่น พบกรดไขมัน (fatty acids) หลายชนิด อาทิเช่น Palmitic acid, stearic acid และมีชนิดที่พบในปริมาณน้อยได้แก่ linoleic acid, Oleic acid, Lauric acid, Behenic acid, Myristic acid, Pentadecanoic acid, Arachidic acid, Heptadeconoic acid, Tricosanoic acid และ lignoceric acid นอกจากนี้ในน้ำยางยังพบสารที่ก่อให้เกิดอาการเป็นพิษในมนุษย์อีกเช่น curcin, calcium oxalate, curanoleic acid และ toxalbumin เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหนุมานนั่งแท่น
มีรายงานผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของสารสกัดหนุมานนั่งแท่น จากส่วนรากของหนุมานนั่งแท่นระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ของสารสกัดหนุมานนั่งแท่น จากรากของหนุมานนั่งแท่นโดยแบ่งเป็นสารสกัดเฮกเซน คลอโรฟอร์ม และเมทานอล จากเนื้อในรากและเปลือกราก โดยได้ทำการทดสอบกับจุลินทรีย์ 18 ชนิด สารสกัดทุกชนิดแสดงฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรียได้หลายชนิด (broad spectrum antibacterial activity) ที่ความเข้มข้น 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยสารสกัดเฮกเซนมีฤทธิ์ในการยับยั้งมากกว่า สารสกัดคลอโรฟอร์ม และเมทานอล ส่วนสารสกัดเฮกเซนจากส่วนรากที่มีสีเหลืองสามารถออกฤทธิ์ได้ดีพอกับ gentamycin แต่ดีกว่าในการยับยั้งเชื้อ S. aureus และ B. cereus สำหรับสารสกัดเฮกเซนของเปลือกราก สารสกัดเฮกเซนและเมทานอลจากเนื้อรากหนุมานนั่งแท่น สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราได้ดีโดยเฉพาะยีสต์ Candida albicans
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สาร japodagrin, japodagone, lathyrane และ jatrophane สามารถมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้หลายชนิด ส่วนสาร erythrinasinate และ fraxidin มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Bacilus subilis แต่ Japodic acid ไม่ยับยั้งแบคทีเรีย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหนุมานนั่งแท่น
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของน้ำยางของหนุมานนั่งแทนระบุว่า
เมล็ดและยางหนุมานนั่งแท่น มีสารพิษที่ออกฤทธิ์ ได้แก่ toxalbumin, curcin, resin alkaloid, glycoside, curcanoleic acid และ calcium oxalate
โดยสารพิษเหล่านี้จะก่อให้เกิดสภาวะขาดน้ำและทางเดินหายใจล้มเหลว เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและกดระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงมีอาการปวดและปวดร้อน บวมพอกตามเยื่อบุต่างๆ อีกด้วย
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการนำหนุมานนั่งแท่นมาใช้เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหนุมานนั่งแท่นจะมีความเป็นพิษในส่วนของน้ำยางและเมล็ดหนุมานนั่งแท่น ส่วนเมล็ดหากเคี้ยว หรือ กลืนกินเข้าไป จะออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้เกิดอาการคัน รู้สึกปวดแสบปวดร้อนในช่องปาก ปากบวมพอง น้ำลายไหล เยื่อบุแก้ม ลิ้น เพดาน และหน้าบวม ซึ่งบริเวณที่บวมพอกอาจจะมีเมล็ดตุ่มเกิดขึ้นได้ ลิ้นเคลื่อนไหวลำบาก พูดลำบาก กลืนอาหารยาก คลื่นไส้ อาเจียน หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ โดยน้ำยางหนุมานนั่งแท่น หากโดนผิวหนังจะออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน อักเสบบวม พองเป็นตุ่มน้ำใส หากยางโดยตาทำให้ตาอักเสบ หรือ อาจทำให้ตาบอดได้
เอกสารอ้างอิง หนุมานนั่งแท่น
- หนุมานนั่งแท่น, หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) หน้า 134.
- หนุมานนั่งแท่น Jatropha podagrica Hook.F. ฐานข้อมูลพืชพิษ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังชี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนุมานนั่งแท่น (Hanuman Nang Thaen). หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 326.
- ดวงพร เปรมจิต และคณะ. โครงการวิจัยและพัฒนาพืชจีนัส Jatropha sp เพื่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร. 2558. 87 หน้า.
- Joubert PH., Brown, JMM., Hay., IT, Sebata, PDB., (1984). Acute poisoining with Jatropha curcas (purging nut tree) in children. South African Medical Journal,65: 729-730.
- Aiyelaagbe OO., Adesogan EK, Ekundayo O and Adeniyi BA., (2000), The antimicrobial activity of roots of Jatropha podagrica (Hook) Phytotherapy Research.; 14(1):60-62.
- Rumzhum, NN, Hossain S, Mohammad, AA, Mohammad SR., Choudhury, MH., and Mohamad AR.,(2012). Seconday Metabolites from Jatropha podagrica Hook.Journal of Physical Science, 23(1), 29-37
- Aiyelaagbe OO., Adeniyi BA., Fatunsin OF. and Arimah BD., (2007), In vitro antimicrobial activity and phytochemical analysis of Jatropha curcas roots.International Journal of Pharmacology.;3(1):106-110.