ผักเสี้ยน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักเสี้ยน งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักเสี้ยน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักเสี้ยนไทย, ผักเสี้ยนบ้าน, ผักเสี้ยนขาว, ผักเสี้ยนตัวผู้ (ภาคกลาง), ผักส้มเสี้ยน, ส้มเสี้ยน (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cleome gynandra Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynandropsis pentaphylla (L.)DC.
ชื่อสามัญ Spider weed, Spider flower, Stink weed, Spider wisp
วงศ์ CLEOMACEAE
ถิ่นกำเนิดผักเสี้ยน
ผักเสี้ยน จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นจึงได้ดีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก เช่นในแอฟริกาและอเมริกาใต้ สำหรับในประเทศไทยผักเสี้ยน จัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่สามารถนำมารับประทานได้ โดยจะพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณที่รกร้าง ว่างเปล่า และตามเรือกสวนไร่นาทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณผักเสี้ยน
- ช่วยบำรุงเลือดลม
- แก้ไข้
- แก้ไข้ตรีโทษ
- แก้ปวดท้อง
- แก้เลือด
- ช่วยขับระดูเน่าเสียที่ทำให้จับสั่นสะท้าน
- แก้เมาสุรา
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้แผลอักเสบบวม
- แก้ฝีหนอง
- ช่วยขับเสมหะ
- ช่วยบำรุงให้เป็นปกติ
- แก้ปัสสาวะพิการ
- แก้งูสวัด
- แก้อาการปวดเมื่อย
- แก้แผลอักเสบช้ำบวม
- รักษาแผลเป็นหนอง
- ช่วยแก้เลือดสตรีอันอยู่ในเรือนไฟ
- ช่วยขับพยาธิ
- ช่วยแก้ลมอันเป็นพิษ
- แก้เลือดออกตามไรฟัน
- แก้เริม
- แก้ไอ
ผักเสี้ยน ถูกนำมาใช้เป็นอาหารตามภาคต่างๆ มาตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยนำมาต้ม หรือ ลวกให้สุก เพื่อช่วยลดความขมและกลิ่นเหม็น โดยนำไปเป็นผักจิ้มได้เช่นเดียวกับผักชนิดอื่นๆ อีกทั้งยังมีการนำผักเสี้ยน มาดองเปรี้ยว ซึ่งจะให้รสชาติดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียนกับการนำไปปรุงอาหารด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งใช้จิ้มน้ำพริกกะปิใส่มะนาว ให้มีรสออกไปทางเปรี้ยวนำมากเป็นพิเศษ
นอกจากประเทศไทยแล้ว หลายชนิดในอาเซียน ก็มีการนำผักเสี้ยนมาดองรับประทาน เช่นกัน อาทิเช่น ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย จากการศึกษาวิจัยบรรดาผักดองพื้นบ้านทุกชนิดที่ทำการศึกษา ยังพบว่าผักเสี้ยนดองมีโปรไบโอติกส์มากที่สุด ทั้งจำนวนและชนิดพันธุ์ นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีการนำส่วนต่างๆ ของผักเสี้ยนมาใช้ประโยชน์อีกหลายประการ ดังนี้ ในอินโดนีเซียใช้เมล็ดเป็นอาหารและยังนำผักเสี้ยน ทั้งต้นมาเป็นอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงสัตว์ ในอินเดียมีการใช้เมล็ดผักเสี้ยนมาสกัดทำเป็นยาฆ่าแมลง
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้ไข้ตรีโทษ แก้ไข้ แก้ปวดท้อง แก้เลือด ขับระดูเน่าเสีย แก้เมาสุรา โดยนำทั้งต้นผักเสี้ยนมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้บำรุงเสมหะให้เป็นปกติ ขับเสมหะ แก้ปัสสาวะพิการ โดยนำใบมาต้มผักเสี้ยนกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ลมอันเป็นพิษ แก้เลือดออกตามไรฟัน โดยนำรากผักเสี้ยนมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้เลือดสตรีอันอยู่ในเรือนไฟ โดยนำดอกผักเสี้ยน มาตากแห้งต้มกับน้ำดื่ม หรือ ชงดื่มก็ได้
- ใช้แก้งูสวัด แก้เริม โดยนำใบผักเสี้ยนมาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้อาการปวดเมื่อย แก้แผลอักเสบ ช้ำบวม แก้ฝีหนอง แก้พิษฝี โดยนำใบ หรือ ทั้งต้นผักเสี้ยนสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้ไอ โดยนำผักเสี้ยนดองผสมน้ำผึ้งอย่างละเท่าๆ กันจิบกินแก้ไอ
ลักษณะทั่วไปของผักเสี้ยน
ผักเสี้ยน จัดเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง มีความสูงของต้น 25-60 เซนติเมตร ตามลำต้นมีขนปกคลุม ทั่วทุกส่วนและมีต่อมขนติดอยู่ด้วย ในส่วนรากเป็นรากแก้วและรากแขนงจำนวนมาก
ใบผักเสี้ยน เป็นใบประกอบออกสลับกันบนกิ่ง ใบรูปร่างแผ่คล้ายรูปมือและจะมีใบย่อย 3-5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ หรือ รูปใบหอกแยกเป็น 5 แฉก ใบมีความยาว 2.5-5 เซนติเมตร โคนใบเรียวสอบ ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยเล็กน้อย แผ่นใบบางมีสีเขียว มีขนขึ้นปกคลุมและมีเมือกเหนียวๆ ติดอยู่ ซึ่งมีกลิ่นฉุนและมีรสขม ใบมีก้านใบยาว 3-5 เซนติเมตร มีใบประดับจำนวนมาก
ดอกผักเสี้ยน ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 5-2 เซนติเมตร และจะขยายอีกในช่อผล ใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยมีสีขาว หรือ อาจเหลือบม่วง ก้านกลีบดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปใบหอก ยาวได้ประมาณ 7 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้ 6 อัน ติดบนก้านชูเกสรร่วมสีม่วงที่ยาว 0.8-2.3 เซนติเมตร มีอับเรณูมีสีเขียวอมน้ำตาล ลักษณะเป็นรูปขอบขนานยาว 1-3 มิลลิเมตร ส่วนก้านรังไข่สั้นยาว 1-2 มิลลิเมตร และจะยื่นยาว 1-1.4 เซนติเมตร ในผลผักเสี้ยน รังไข่เป็นรูปทรงกระบอกสั้นๆ ยาว 2-3 มิลลิเมตร
ผลผักเสี้ยน ออกเป็นฝักมีลักษณะยาว 4-5 เซนติเมตร ทรงกระบอกปลายแหลมคล้ายฝักถั่วเขียว โดยฝักมีสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ด้านในฝักมีเมล็ดลักษณะผิวย่นยาว 1.5 มิลลิเมตร สีน้ำตาลแดงปนสีดำ
การขยายพันธุ์ผักเสี้ยน
ผักเสี้ยน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ของผักเสี้ยนนั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการถูกนำมาปลูก เนื่องจากผักเสี้ยนเป็นพืชที่มีอัตราการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง นอกจากนี้กิ่งก้านและใบของผักเสี้ยน ยังมีของเหลวเหนียวๆ ติดมือและมีกลิ่นฉุนเมื่อสัมผัสโดน นอกจากกลิ่นแรงแล้ว ใบสดยังมีรสขมอีกด้วย สำหรับการเพาะเมล็ดและการปลูกผักเสี้ยนนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ล้มลุกชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของผักเสี้ยนระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารกลุ่ม triterpene เช่น lupeol, beta-amyrin สารกลุ่ม coumarin เช่น cleomiscosin A, fraxetin สารกลุ่ม diterpene เช่น cleomeolide และสารกลุ่ม lipid เช่น linoleic acid, linolenic acid, behenic acid และ myristic acid เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าส่วนของเมล็ดผักเสี้ยน ยังพบกรดไขมันอาทิเช่น stearic acid, palmitic acid, oleic acid, linoleic acid รวมถึงกรดอะมิโนอีกหลายชนิด เช่น glutamic acid, glycine, arginine, valine, leucine และ proline เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักเสี้ยน
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดผักเสี้ยน จากทั้งต้นของผักเสี้ยน ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้
ฤทธิ์ลดอาการปวด ลดการอักเสบ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ระงับปวดและลดการอักเสบของสารสกัดเมทานอลจากผักเสี้ยนในหนูทดลองโดยใช้ acetic acid ทดลองในการดิ้น สะบัดหาง ตัดหาง และวิธีการแช่หาง จากนั้นใช้สารสกัดจากทั้งต้นของผักเสี้ยนในรูปแบบผงแห้ง โดยปริมาณสารสกัดที่ให้ทางปาก คือ 100, 200 และ 400 มก./กก. พบว่าสารสกัดเมทานอลจากทั้งต้นของผักเสี้ยน แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองต่อยาระงับปวดบริเวณรอบนอกและส่วนกลางของหาง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สารสกัดจากทั้งต้นและส่วนใบของผักเสี้ยน ยังมีฤทธิ์แก้ปวด ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา รวมถึงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบอีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักเสี้ยน
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานรวมถึงห้ามใช้ผักเสี้ยนเป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน เนื่องจากมีสรรพคุณขับประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนสตรีที่มีสุขภาพปกติไม่ควรรับประทานผักเสี้ยนดองในปริมาณมาก เพราะอาจจะทำให้ระดูพิการและมีระดูขาวมากผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้มีกลิ่นเหม็นมากและไม่ดีต่อมดลูก นอกจากนี้ในผักเสี้ยน สดจะมีสารโดรไซนาไนด์ (Hydrocyaride) ซึ่งมีพิษต่อประสาทส่วนกลาง ดังนั้นก่อนรับประทานผักเสี้ยนควรนำไปต้ม หรือ ดองก่อนเพื่อให้สารนี้สลายไป
เอกสารอ้างอิง ผักเสี้ยน
- มาโนช วามานนท์ และเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ.2540. ผักพื้นบ้าน: ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย.กรุงเทพฯ:สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุข.
- กองการประกอบโรคศิลปะ.ม.ป.ป.ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม.นนทบุรี.สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข.
- เดชา ศิริภัทร.ผักเสี้ยน.จากวัชพืชสู่แถวหน้าในบรรดาผักดองไทย.คอลัมน์อื่นๆ.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 244. สิงหาคม 2542.
- อังคณา อนิตา, พาณี ศิริสะอาด และวิทยา ปองอมรกุล.2555.พืชสมุนไพรในป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ วารสารพฤกษศาสตร์ไทย4(2):213-232.
- รุจินาถถ อรรถสิษฐ์.2554. ผักพื้นบ้านอาหารพื้นบ้านมิติสุขภาพและเศรษฐกิจชุมชน.นนทบุรี.สำนักการแพทย์พื้นบ้านไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.
- อรทัย เนียมสุวรรณ. การทบทวนพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชสมุนไพร จำพวกผัก-หญ้า:กรณีศึกษาจากองค์ความรู้พื้นบ้านภาคใต้. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. ปีงบประมาณ 2557. 39 หน้า
- Narendhirakannan, R.T., Subramanian, S., Kandaswamy, M., 2007. Anti-inflammatoryand lysosomal stability actions of Cleome gynandra L. studied in adjuvant inducedarthritic rats. Food Chem. Toxicol. 45, 1,001-1,012.
- Sen Gupta, A.; Chakrabarty, M. M. (1964). "The component fatty acids of Citrullus colocynthis seed fat". Journal of the Science of Food and Agriculture. 15 (2): 74-77.
- Mishra, S.S., Moharana, S.K., Dash, M.R., 2011. Review on Cleome gynandra. Int. J.Res. Pharm. Chem. 1 (3), 681-689.
- Pieroni, Andrea (2005). Prance, Ghillean; Nesbitt, Mark (eds.). The Cultural History of Plants. Routledge. p. 30.
- Anbazhagi, T., Kadavul, K., Suguna, G., Petrus, A.J.A., 2009. Studies on thepharmacognostical and in vitro antioxidant potential of Cleome gynandra Linn.leaves. Nat. Prod. Rad. 8 (2), 151-157.
- Mnzava, N. A. (1990-01-01). "Studies on tropical vegetables. Part 2: Amino and fatty acid composition in seed of cleome (Gynandropsis gynandra L. Briq) selections from Zambia"