สะแอะ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สะแอะ งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สะแอะ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ลานผีป้าย, ค้อนก้องเครือ, สาลีแก่นใจ, สายชูใหญ่, เถาหลั่งหมากเก็บ (ภาคเหนือ), เผื่องไก่ (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Capparis zelanica Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Capparis horrida L.f.
วงศ์ CAPPARIDACEAE


ถิ่นกำเนิดสะแอะ

สะแอะ จัดเป็นพืชในวงศ์กลุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่นในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า ไทย และมาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบสะแอะ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณที่ที่มีความชื้นในที่รกร้างว่างเปล่า ป่าดิบชื้น หรือ ตามข้างแม่น้ำลำคลองทั่วไป


ประโยชน์และสรรพคุณสะแอะ

  1. ช่วยบำรุงธาตุ
  2. ช่วยระงับประสาท
  3. ช่วยขับน้ำดี
  4. แก้น้ำเหลือเสีย
  5. แก้แผลเปื่อย
  6. ใช้แก้ฝีหนอง ฝีอักเสบ
  7. รักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
  8. แก้เลือดออกตามไรฟัน
  9. รักษาโรคอหิวาตกโรค
  10. แก้หอบหืด
  11. แก้ปวดศีรษะ
  12. รักษาโรคริดสีดวงทวาร
  13. รักษาแผลฝีหนอง
  14. ใช้แก้นิ่ว
  15. แก้อาหารไม่ย่อย
  16. ช่วยระงับประสาท
  17. แก้อหิวาตกโรค
  18. แก้โรคไขข้อ
  19. ใช้ลดไข้
  20. แก้โรคบิด
  21. ช่วยขับปัสสาวะ
  22. ใช้แก้โรคเบาหวาน
  23. ใช้แก้จุกเสียดแน่นท้อง

           ส่วนในอินเดีย ศรีลังกา และบังกลาเทศ ใช้เปลือกรากสะแอะ แก้อาหารไม่ย่อย ช่วยระงับประสาท แก้อหิวาตกโรค แก้โรคไขข้อ ใบใช้ลดไข้ แก้โรคบิด ขับปัสสาวะ ผลใช้แก้โรคเบาหวาน ขับปัสสาวะ แก้บิด และเปลือกของก้านจะใช้แก้จุกเสียดแน่นท้อง เป็นต้น

สะแอะ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงธาตุ ระงับประสาท ขับน้ำดี โดยนำรากสะแอะมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อหิวาตกโรค โดยนำเปลือกต้นสะแอะ มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้กระเพาะอาหารอักเสบ แก้เลือดออกตามไรฟัน ใช้ทั้งต้นสะแอะต้มกับน้ำดื่มและกลั้วปาก
  • ใช้แก้หอบหืด โดยนำใบสะแอะมาผสมใบหญ้าของหญ้าหางนกกะลิงตัวผู้ และหัวยาข้าวเย็น ต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้น้ำเหลืองเสีย แก้แผลเปื่อยตามตัว โดยนำรากสะแอะผสมกับหวดหม่อน (ใบ/ราก) รักใหญ่ (เปลือกต้น/ใบ) แจง (เปลือกต้น/ใบ) ฝาง (แก่น) กันแสง (เปลือกต้น) สังวาลย์พระอินทร์ (ทั้งต้น) ต้มกันน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ฝีหนอง ฝีอักเสบ โดยนำรากสะแอะ มาฝนกับน้ำ แล้วทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้อาการปวดศีรษะ แก้ริดสีดวงทวาร โดยนำใบมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้ฝีหนอง รักษาแผล โดยนำใบสะแอะมาคั้นเอาน้ำมา แล้วทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้นิ่ว โดยนำกิ่งสะแอะมาฝานให้เป็นแผ่นตากให้แห้ง นำมาเข้ายากับต้นมะตันขอ (เล็บเหยี่ยว) ฝางและไพล


ลักษณะทั่วไปของสะแอะ

สะแอะ จัดเป็นไม้พุ่มเลื้อย แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นสูง 2-5 เมตร กิ่งอ่อนมีสีเขียวและมีขนสั้นๆ สีแดงอมสีน้ำตาล หรือ สีเทาสนิมปกคลุมอยู่ เมื่อแก่กิ่งจะมีสีเทา และขนจะหายไป และจะมีหนามแหลมโค้งงอยาว 3-6 มิลลิเมตร

           ใบสะแอะ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ตามข้อของลำต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปมนรี หรือ รูปไข่แกมรูปไข่กลับมีขนาดกว้าง 2.5-7.5 เซนติเมตร และยาว 5-7.5 เซนติเมตร โคนใบมน หรือ อาจเว้าเป็นรูปหัวใจ และแผ่นใบมีสีเขียวหนา และเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม

           ดอกสะแอะ ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง หรือ ตามซอกใบปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อย 2-5 ดอก ดอกย่อยมีสีขาวเมื่อยังอ่อน ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู กลีบดอกมีลักษณะบาง เป็นรูปขอบขนานปลายกลีบมน กลีบคู่ในจะมีจุดสีชมพู หรือ สีแดงตรงกลางโคนกลีบ ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้เป็นเส้นยาวจำนวนมาก และจะมีกลีบรองดอกที่มีลักษณะและมีขนปกคลุม

           ผลสะแอะ เป็นผลสดแบบเบอร์รี่ลักษณะเป็นรูปกลม หรือ มนรี มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของผลประมาณ 1.5 นิ้ว เปลือกผงมีสีแดงแข็งและหนา ผลเมื่อสุกเป็นสีค่อนข้างแดงจัด หรือแดงอมม่วง ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลมสีน้ำตาลเป็นจำนวนมาก

สะแอะ
สะแอะ

การขยายพันธุ์สะแอะ

สะแอะ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ของสะแอะจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูกโดยมนุษย์ เนื่องจากสะแอะเป็นไม้พุ่มเลื้อยที่มีหนามจึงไม่นิยมนำมาปลูกในบ้าน หรือ เรือกสวนไร่นา การขยายพันธุ์โดยส่วนมากจึงเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกสะแอะ นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกพืชในวงศ์กลุ่ม (CAPPARIDACEAE) ชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากเมล็ดและใบ รวมถึงสารสกัดจากทุกส่วนของสะแอะ ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดจากทั้งต้น พบสาร saponin, p-hydroxybenzoic, syringic, vanillic, ferulic, p-coumanic acid, malvalic acid, sterculic acid, ricinoleic acid, linoleic และ E-octadec-7-en-5-ynoic acid สารสกัดจากใบและเมล็ดพบสาร β-carotene, thioglycoside, glycocapparin, n-tricortane และ α-amyrin เป็นต้น

โครงสร้างสะแอะ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสะแอะ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชของสารสกัดสะแอะ จากส่วนต่างๆ ของสะแอะระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น

            ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากสารสกัดเอธานอลและเมทานอล จากส่วนรากของสะแอะในหลอดทดลองโดย DPPH และวิธีทดสอบพลังงาน ซึ่งผลลัพธ์ของทั้งสองวิธีจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับ ascorbic acid ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ ที่เป็นมาตรฐานพบว่า สารสกัดทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง โดยสารสกัดเอทานอลแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่า สารสกัดเมทานอล

           ฤทธิ์แก้ปวดอักเสบและลดไข้ มีรายงานว่าสารสกัดเอธานอลและสารสกัดน้ำจากใบสะแอะแสดงให้เห็นว่าสามารถลดระดับความเจ็บปวดของหนูทดลอง ในการทดสอบด้วยการแช่ส่วนหาง โดยจะสามารถลดความเจ็บปวดได้เพิ่มขึ้นตามขนาดยาอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ สารสกัดทั้งสอง (100-200 มก./กก.) ยังแสดงการยับยั้งการบิดตัวและแสดงการยับยั้งความเจ็บปวดจากฟอร์มาลินอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งสารสกัดน้ำ (200 มก./กก.) ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการไข้ที่เกิดจากยีสต์ได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพและพิษต่อเซลล์ มีรายงานการทดสอบฤทธิ์ต้านจุลชีพจากสารสกัดคลอโรฟอร์ม เอธานอลและสารสกัดน้ำ จากส่วนรากสะแอะ ระบุว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียแกรมบวกและแบคทีเรียแกรมลบ ในหลอดทดลองส่วนสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์จากส่วนรากก็ยังมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียต่อแบคทีเรียสายพันธุ์ S. aureus, B. subtilis, K. pneumonia และ P. vulgaris

           นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์และเมทานอล จากเมล็ดและผลมีฤทธิ์ต้านพยาธิ ต้านการอักเสบ แก้ปวด ส่วนสารสกัดน้ำจากรากที่ปริมาณ 30 และ 60 มก./กก. มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลจากใบสะแอะ ยังมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เมื่อให้สารสกัดทางช่องปากในขนาด 150 และ 300 มก./กก. ในหนูทดลอง


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสะแอะ

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้สะแอะ เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง สะแอะ
  1. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. สะแอะ. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 768-769.
  2. สุภาวรรณ วงค์คำจันทร์. ความหลากหลายทางชีวภาพ วรอุทยานถ้ำเพชรถ้ำทอง, นครสวรรค์. มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์. 2556.
  3. สะแอะ. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 4 กกยาอีสาน. มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 59.
  4. Kumar S, Garg VK, Sharma PK. Review on medicinal plants having anti-pyretic activity. Journal of Pharmacy Research 2010; 3(11): 2742-2744.
  5. Ghule BV, Murugananthan G, Nakhat PD and Yeole PG. J Ethnopharmacol 2006; 108:311- 315
  6. Padhan AR, Agrahari AK, Meher A, Mishra MR. Elemental analysis by Energy Dispersive XRay Spectroscopy (EDX) of Capparis zeylanica Linn. plant. Journal of Pharmacy Research 2010; 3(4): 669-670.
  7. Chopade VV, Tankar AN, Ganjiwale RO, Yeole PG. Antimicrobial activity of Capparis zeylanica Linn. roots. International Journal of Green Pharmacy 2008; 2(1): 28-30.
  8. Reddy KN, Trimurthulu G, Reddy CS. Medicinal plants used by ethnic people of Medak district, Andhra Pradesh. Indian Journal of Traditional Knowledge 2010; 9(1): 184-190.
  9. Ali-Shtayeh MS and Abu Ghdeib SL. Mycoses 1999; 42: 665-672.
  10. Macwan CP, Patel MA. Antioxidant potential of dried root powder of Capparis zeylanica Linn. International Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences 2010; 2(3): 58-60
  11. Chaudhary SR, Chavan MJ, Gaud RS. Anti-inflammatory and analgesic activity of Capparis zeylanica root extracts. Indian Journal of Natural Products 2004; 20(1): 36-39.