แมงกะแซง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

แมงกะแซง งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แมงกะแซง
ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น แมงลักนา (ภาคเหนือ), แมงลักป่า, แมงลักผี (ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี) E hoang (เวียดนาม)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum americanum Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ocimum canum Sims, Ocimum stamineum Sims, Ocimum brachiatum Blume, Ocimum Fluminense Vell, Ocimum americanum L. var. americanum
วงศ์ LABIATAE - LAMIACEAE


ถิ่นกำเนิดแมงกะแซง

แมงกะแซง จัดเป็นพืชในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณเขตร้อนของทวีปแอฟริกา จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์มายังเขตร้อนของเอเชียบริเวณศรีลังกา อินเดีย เนปาล พม่า จีน เวียดนาม ไทย ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบแมงกะแซง ได้ประปรายทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ซึ่งจะพบการปลูกไว้รับประทานกันมากในประจวบคีรีขันธ์ และกาญจนบุรี


ประโยชน์และสรรพคุณแมงกะแซง

  1. ใช้ขับลม
  2. แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  3. แก้ลมตานซาง
  4. ช่วยขับเหงื่อ
  5. ช่วยขับปัสสาวะ
  6. แก้อาการหวัดคัดจมูก
  7. แก้โรคผิวหนังแมลงสัตว์กัดต่อย
  8. แก้ไอ
  9. แก้หวัด คัดจมูก
  10. แก้อาเจียน
  11. แก้ไข้
  12. รักษาริดสีดวงทวาร
  13. แก้โรคเบาหวาน
  14. แก้โรคท้องเสีย
  15. แก้ลมแดด
  16. แก้ไข้หวัดใหญ่
  17. รักษาหนองใน
  18. แก้ปวดท้อง
  19. แก้โรคจิตเภท

แมงกะแซง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แกหวัดคัดจมูก แก้ลมตานซาง โดยนำใบแมงกะแซง มาต้มกับน้ำร้อนดื่ม และใช้สูดดมไอจากการต้มด้วย
  • ใช้แก้หวัดคัดจมูก แก้อาเจียน ขับลม แก้ไอ ขับเสมหะโดยนำดอกและใบแมงกะแซงมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ ขับเสมหะ ขับลม แก้ไอ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โดยนำรากแมงกะแซงสดมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ในแอฟริกายังมีการใช้แมงกะแซง เป็นสมุนไพร ในไนจีเรียมีการใช้ส่วนใบของแมงกะแซง มาเป็นใช้ยาต้ม เพื่อใช้แก้ไข้ แก้ไอ แก้หวัด ริดสีดวงทวาร และแก้โรคเบาหวาน ในแคเมอรูนใช้แมงกะแซงแก้โรคท้องเสีย ลมแดด ไข้หวัดใหญ่ หนองในแก้ปวดท้อง โรคจิตเภท แก้หวัด


ลักษณะทั่วไปของแมงกะแซง

แมงกะแซง จัดเป็นไม้ล้มลุกถึงไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งมาก สูง 30-55 เซนติเมตร ลำต้นมีสีน้ำตาลเป็นเหลี่ยมกึ่งกลม มีขนสั้นๆ ขึ้นปกคลุม

           ใบแมงกะแซง เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามบนกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกกึ่งรูปไข่ หรือ รูปรี กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร โคนใบเป็นรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อย ผิวใบมีสีเขียวด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนขึ้นกระจายทั่วไป ผิวใบมักมีต่อมเป็นจุดๆ และมีก้านใบยาว 1-2 เซนติเมตร

           ดอกแมงกะแซง ออกเป็นช่อแบบกระจะบริเวณยอดและปลายกิ่ง โดยดอกจะเป็นช่อเดี่ยวหรือแตกแขนงมีความยาว 7-15 เซนติเมตร ริ้วประดับรูปใบหอกยาว 2-5 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยงสีเขียว เชื่อมกันเป็นหลอดรูประฆัง ปลายหอดแยกเป็นปาก โดยบริเวณปากบนจะแบนกว้าง ส่วนปากล่างมีแฉกแหลม 4 แฉก รูปลิ่ม มีต่อมเป็นตุ่มกลมมีก้านชู สำหรับกลีบดอกมีสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 4-6 มิลลิเมตร กลีบดอกเกลี้ยงปลายหลอดแยกเป็นปาก ปากบนตัด 4 หยัก ปากล่างยาว ขอบเรียบโค้งลง

           ผลแมงกะแซง เป็นผลแห้ง ไม่แตก ผลมีขนาดเล็ก รูปรีแคบสีดำ ผิวเรียบ และจะมีการสร้างเมือกเมื่อเปียนคล้ายผลแมงลัก

แมงกะแซง

การขยายพันธุ์แมงกะแซง

แมงกะแซง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและการปักชำ แต่ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมนำมาปลูกกันอย่างแพร่หลาย จะมีก็เพียงบางพื้นที่ที่นำแมงกะแซง มาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์เท่านั้น สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำและการปลูกแมงกะแซงนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกับการปลูก “แมงลัก” ซึ่งได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบของแมงกะแซง ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญดังนี้ α-Pinene, Camphene, linalool, 1, 8-cineole, Camphor, Longifolene, Isoledene, Veridiflorol, Humulane, Caryophyllene, Limonene, Aromadendrene, Cyclohexene, Eucalyptol, Borneol

โครงสร้างแมงกะแซง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแมงกะแซง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดแมงกะแซง จากเมล็ดและน้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบของแมงกะแซง ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีรายงานผลการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (non-insulin dependent diabetes mellitus) จำนวน 36 คน โดยให้ผู้ป่วยรับประทานเมล็ดแมงกะแซง (Ocimum canum Sims) วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 10 ก. นาน 4 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาล โคเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์และกลัยโคฮีโมโกลบินในเลือด แต่ไม่ทำให้ระดับ HDL และ LDL cholesterol เปลี่ยนแปลง

           ฤทธิ์ลดการอักเสบ มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ลดการอักเสบของน้ำมันหอมระเหยจากใบแมงกะแซง และสารที่เป็นองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ linalool และ 1,8-cineole ในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดข้อเข่าอักเสบและอาการบวมที่อุ้งเท้าด้วย zymosan พบว่าน้ำมันหอมระเหยและสารทั้ง 2 ชนิด ในขนาด 50, 150, และ 300 มก./กก. มีฤทธิ์ยับยั้งการเคลื่อนของเม็ดเลือดขาวเข้าไปในโพรงข้อต่อซินโนเวียล (synovial space) โดยน้ำมันหอมระเหยขนาด 150 มก./กก. linalool และ 1,8-cineole ขนาด 300 มก./กก. มีฤทธิ์ลดอาการบวมที่อุ้งเท้าของหนูและน้ำมันหอมระเหย ขนาด 150 มก./กก. ยังมีฤทธิ์ลดระดับของ interferon-g แต่ไม่มีผลต่อ transforming growth factor-β นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยยังสามารถยับยั้งการเคลื่อนของเม็ดเลือดขาวเข้าไปในเยื่อบุข้อต่อ (synovial membrane) และลดการทำลายกระดูกอ่อนในข้อต่อของหนูด้วย จากการศึกษานี้จึงสามารถสรุปได้ว่าน้ำมันหอมระเหยและสาระสำคัญทั้ง 2 ชนิด ในน้ำมันหอมระเหยจากแมงกะแซง มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้

           นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ไล่ยุงของน้ำมันหอมระเหยของแมงกะแซง ระบุว่า เมื่อทำการทดสอบน้ำมันหอมระเหยที่ความเข้มข้น 0.001-1.000% พบว่าสามารถลดจำนวนยุงลายที่มาเกาะ ซึ่งได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพโดยใช้เครื่อง olfactometer พบว่าฤทธิ์ไล่ยุงนั้นจะขึ้นกับความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหย โดยจะสามารถไล่ยุงได้ 15% ที่ความเข้มข้น 0.001-0.010% และเพิ่มเป็น 38 และ 58% ที่ความเข้มข้น 0.100% และ 1.00% ตามลำดับ ส่วนน้ำมันหอมระเหย 5% ในน้ำมันปาล์มพบว่าสามารถป้องกันยุงกัดได้นาน 55 นาที และเมื่อทำการพัฒนาเป็นครีมความเข้มข้น 5% สามารถป้องกันยุงได้นาน 3 ชั่วโมง 36 นาที ใกล้เคียงกับโลชั่นน้ำมันตะไคร้หอม 6% ขององค์การเภสัชกรรม (3 ชั่วโมง 10 นาที) ส่วนสเปรย์ที่มีน้ำมันหอมระเหย 4% สามารถป้องกันยุงลายได้ประมาณ 2.5 ชั่วโมง


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแมงกะแซง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้แมงกะแซง เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิงแมงกะแซง
  1. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร บรรณาธิการ.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน กรุงเทพ:ประชาชน จำกัด, 2524. 823 หน้า.
  2. วงศ์สถิต ฉั่วสกุล. แมงลักและแมงกะแซง, จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 25 ฉบับที่ 1. ตุลาคม 2550. หน้า 18-20.
  3. พร้อมจิต ศรลัมพ์, รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, วงศ์สถิต ฉั่วกุล และคณะ สมุนไพรไทย. ใน พร้อมจิต ศรลัมพ์, รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, วงศ์สถิต ฉั่วกุล และคณะบรรณาธิการ. สารานุกรมสมุนไพรเล่ม 1 กรุงเทพมหานครอมรินทร์พริ้นติ้งแอนท์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).2543. 220 หน้า
  4. สุวรรณ ธีระวรพันธ์. สมุนไพรป้องกันยุง.จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 24 ฉบับที่ 3 เมษายน 2550.
  5. ผลของเมล็ดกะแซงในผู้ป่วยเบาหวาน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. วรรณกา สุวรรณเกิดฅ, กิตติพันธ์ ตันตระรุ่งโรจน์. การศึกษาประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรในการป้องกันยุงกัด วารสารโรคติดต่อ 2537.20(1). 4-11.
  7. ฤทธิ์ลดการอักเสบของน้ำมันหอมระเหยจากแมงกะแซง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. สุภาณี พิมพ์สมาน, สังวาล สมบูรณ์, วัชรี คุณกิตติ และคณะ.การใช้เคมีธรรมชาติจากสมุนไพรไทยเพื่อการควบคุมแมลงศัตรูพืช. การสัมมนาแนวทางการพัฒนาสมุนไพรของประเทศไทย. กรุงเทพฯ 13-14 ก.ย.2543. 185-99.
  9. Oyedemi SO, Oyedemi BO, Coopoosamy RM, Prieto JM, Stapleton P, Gibbons S. Antibacterial and norfloxacin potentiation activities of Ocimum americanum L. against methicillin resistant Staphylococcus aureus. S Afr J Bot. 2017;109:308-14.
  10. Suddee S, Paton A, Parnell JAN. Taxonomic Revision of tribe Ocimeum Dumort (Lamiaceae) in comfinental South East Asia lll. Ociminae Kew Bulletin 2005.60.3-75.
  11. Singh S, Tewari G, Pande C, Singh C. Variation in essential oil composition of Ocimum americanum L. from north-western Himalayan region. J Essent Oil Res. 2013;25(4):278-90. 
  12. Khamsiritrakul O. Akkarsasrimachai R, Primsamam S.Komsri R, Khunkitti W, Devclopment of mosquito repcllcnt spray from Octmum americumum using olfactomcter. Thai J Pham Sci 2000.24(Suppl).29,
  13. Saha S, Dhar TD, Sengupta C, Ghosh P. Biological activities of essential oils and methanol extracts of five Ocimum species against pathogenic bacteria. Czech J Food Sci. 2013;31(2):195-202.
  14. Souza Filho AP, Bayma JC, Guilhon GM, Zoghbi MG. Potentially allelophatic activity of the essential oil of Ocimum americanum. Planta Daninha. 2009;27:499-505.