มะฝ่อ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะฝ่องานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะฝ่อ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะปอบ, ไม้ปอบ (ภาคเหนือ), เส่โทคลี, หม่าที, ม่อแนะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trewia nudiflora Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mallotus nudiflorus (L.) Kulju&Welzen
วงศ์ EUPHORBIACEAE
ถิ่นกำเนิดมะฝ่อ
มะฝ่อ จัดเป็นพืชในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE) มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตร ของทวีปเอเชีย ได้แก่ใน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย จากนั้นจึงได้กระจายพันธุ์ ไปยังเขตร้อนใกล้เคียง ปัจจุบันพบการกระจายพันธุ์ ในเนปาล ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และจีนตอนใต้ สำหรับในประเทศไทยพบมะฝ่อ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะริมลำธารและตามริมห้วยของป่า เบญจพรรณ ป่าดิบ และป่าดิบชื้น ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจาก 50 ถึง 1200 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณมะฝ่อ
- ใช้บำรุงร่างกาย
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้อาการบวมน้ำ
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ปวดเมื่อย
- แก้ปวดบวม
- แก้ท่อน้ำดีอักเสบ
- แก้พิษผิวหนัง
- ใช้แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
- ช่วยขับลม
- แก้ปวดตามข้อ ตามกระดูก
- แก้คัน
- แก้ผิวหนังอักเสบ
ในอดีตเด็กในชนบทโดยเฉพาะทางภาคเหนือ มีการนำผลสุขของมะฝ่อ มารับประทานเล่นเป็นผลไม้ เนื่องจากเนื้อในผลสุกมีรสชาติหวาน นอกจากนี้ยังมีการนำเนื้อไม้มะฝ่อที่มีน้ำหนักเบามากใช้ประโยชน์ต่างๆ อาทิเช่นใช้ทำของใช้ในครัวเรือน เช่น หีบใส่ของ ชั้นวางของ ตู้เสื้อผ้า และเครื่องใช้ในครัวต่างๆ อีกทั้งยังใช้ในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร เช่น มีดด้ามจอบ และแอกไถนา เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้บำรุงร่างกาย ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำ แก้ปวดเมื่อย ปวดบวม แก้ท่อน้ำดีอักเสบ โดยนำเปลือกต้นมะฝ่อ มาย่างไฟจากนั้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม แก้อาการปวดตามข้อ ปวดกระดูก โดยนำรากมะฝ่อมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้พิษผิวหนัง แก้อาการคัน โดยนำเปลือกต้นและรากมะฝ่อ มาเข้ายากับสมุนไพรชนิดอื่นๆ
ลักษณะทั่วไปของมะฝ่อ
มะฝ่อ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ผลัดใบทรงพุ่มโปร่ง แผ่กว้าง ความสูง 10 ถึง 30 เมตร โคนต้นมักมีพูพอนเล็กๆ เปลือกต้น มีสีน้ำตาลอมเทา กิ่งก้านมีขนาดใหญ่ ทรงกิ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ตามกิ่งอ่อนมีขนรูปดาวแต่เมื่อแก่กิ่งจะเกลี้ยง
ใบมะฝ่อ เป็นใบเดียวออกเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปไข่แกรมรี รูปขอบขนาน มีขนาดกว้าง 8 ถึง 13 เซนติเมตร ยาว 10 ถึง 20 เซนติเมตร โคใบมนแหลม หรือ เว้าเป็นรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีสีเขียว ผิวใบด้านบนเกลี้ยงด้านล่างมีขนขึ้นปกคลุมบริเวณเส้นใบมีขนมองเห็นเส้นใบแตกจากฐานใบ 3 เส้น ใบเมื่อยังอ่อนจะมีขนรูปดาวหนาแน่น และมีก้านใบยาว 1.8 ถึง 10 เซนติเมตร
ดอกมะฝ่อ ออกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกบริเวณซอกใบเป็นแบบแยกเพศต่างต้นโดยใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อย จำนวนมาก ดอกย่อยจะมีขนาดขนาดเล็กเป็นสีครีมอมเขียวไม่มีกลีบดอก ซึ่งดอกเพศผู้จะออกช่อตามซอกใบ มีเกสรเพศผู้ที่มีความยาว 15 ถึง 22 เซนติเมตร จำนวนมากและจะมีกลีบรองดอกขนาดประมาณ 3.5 มิลลิเมตร จำนวน 3 ถึง 4 กลีบ ส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดียว หรือ ออกเป็นช่อ โดยก้านดอกยาว มีกลีบรองดอกที่หลุดร่วงได้ง่าย 3 ถึง 5 กลีบ รังไข่มี 2 ถึง 4 ช่อง
ผลมะฝ่อ เป็นผลสด ผลมีลักษณะกลมแป้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 ถึง 5 เซนติเมตร ผลค่อนข้างแข็ง ฉ่ำน้ำ มีขน แต่ผนังผลจะค่อนข้างหนาภายในมีเมล็ดรูปไข่ยาว 0.8 ถึง 1.2 เซนติเมตร อยู่ 1 เมล็ด
แหล่งที่มาของภาพ www.efloraofindia.com
การขยายพันธุ์มะฝ่อ
มะฝ่อ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด แต่การขยายพันธุ์ของมะฝ่อนั้นส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมากกว่าถูกมนุษย์นำมาเพาะปลูก เนื่องจากเมื่อมะฝ่อ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงมาก จึงไม่นิยมนำมาปลูก เนื่องจากเกรงว่าจะหักโค่นลงมาทับบ้านเรือน หรือ พันธุ์ไม้ที่ปลูกไว้ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกมะฝ่อนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้ กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผล การศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ดังนี้
สารสกัดจากรากและเปลือกต้นมะฝ่อพบสาร gallic acid, taraxerone, ethyl gallate, trans-cinnamic acid, protocatechuic acid, α-tocopherol และ 3,4,4′-tri-Omethylellagic acid ส่วนเปลือกของลำต้นพบสาร taraxerone, betasitosterol, seopoletin, Nmethyl-5-carboxamide-2-pyridone, (+)- dihydrodehydro diconiferyl alcohol 4-O-β-(6′′-O-galloyl)- glucopyranoside, 4, 4′-O-dimethylellagic acid 3-(2′′-O-acetyl)-αrhamnopyranoside, ethyl O-β-(6′-galloyl)-glucopyranoside ส่วนสารสกัดจากส่วนใบมะฝ่อ พบสาร nudiflorine และสารสกัดจากเมล็ดมะฝ่อพบสาร trewiasine, maytanbutine, dehydrotrewi asine, N-methyltreflorine และ methyltrewiasine เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะฝ่อ
มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมะฝ่อ จากส่วนต่างๆ ของมะฝ่อ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินของมะฝ่อ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย โดยสารไดเทอร์พีนอยด์และสารไดเทอร์พีนอยด์ที่สำคัญ ได้แก่ neo-lignan, cardenolides และ ent-atisane ซึ่งสารสกัดดังกล่าวแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อต่อแบคทีเรียแกรมบวก เช่น Staphylococcus gallinarum, S. sciuri, Streptococcus iniae และ S.constellatus รวมถึงแบคทีเรียแกรมลบ เช่น Xanthomonasaxonopodies, X. campestris, Edwardsiella anguillarum, Siccibactercolletis, Aeromonas cavernicala, A. diversa และ Vibro rotiferianus เป็นต้น
ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีรายงานว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากรากมะฝ่อ แสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างรุนแรงต่อหนูทดลอง โดยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบจากอนุมูลอิสระ โดยเอนไซม์ superoxide dismutase และ glutathione peroxidese
ฤทธิ์ป้องกันสมอง มีรายงานการศึกษาวิจัยระบุว่าสาร nudiflora ที่ได้จาก สารสกัดเอทานอลจากใบมะฝ่อ มีฤทธิ์ปกป้องสมองจากภาวะสมองขาดเลือดได้ โดยพบว่าสารสกัดเอทาอนอลจากใบมีผลในการป้องกันสมองอย่างมีนัยสำคัญ ต่อหนูทดลองที่ได้รับสารสกัดเป็นเวลา 7 วัน ที่ขนาดยา 200 มก./กก. และ 400 มก./กก.
ฤทธิ์ต้านวัณโรค มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดจากเมล็ดมะฝ่อ แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อ Merobacte nium tuber glulosis ที่เป็นต้นเหตุของวัณโรค โดยมีฤทธิ์ยับยั้งน้อยที่สุดความเข้มข้น (MIC) 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร โดยการต้านเชื้อดังกล่าวน่าจะเกิดจากสารประกอบ g’-butyl americanol A และ americanin
การศึกษาทางพิษวิทยาของมะฝ่อ
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้มะฝ่อ เป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขณะที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องเป็นระยะระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง มะฝ่อ
- เต็ม สมิตตินันทน์. 2544 ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ
- มะฝ่อ. หนังสือสมุนไพร พื้นบ้านล้านนา. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 216.
- มะฝ่อ. คอลัมน์สมุนไพรมหิดล. นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์.ฉบับที่ 3-9 พฤศจิกายน 2560.
- Bing-Jun L, Chung W, Xiu-Kun X, Xiu-Fang Y, Zu-Ming S, JaXian H et al. Maytansinoids from the seeds of Trewia nudiflora. Plant Diversity 1991; 13(4):1-3
- Li YN, Li JN, Ouyang Q, Zhou YB, Lei C, Cui MJ et al. Determination of maytansinoids in Trewia nudiflora using QuEChERS extraction combined with HPLC. Journal Of Pharmaceutical and Biomedical Analysis 2021; 198:113993.
- Chamundeeswari D, Vasantha J, Gopalakrishnan S, Sukumar E. Free radical scavenging activity of the alcoholic extract of Trewia polycarpa roots in arthritic rats. Journal of Ethnopharmacology 2003; 88:51-6.
- Li GH, Zhao PJ, Shen YM, Zhang KQ. Antibacterial activities of neolignans isolated from the seed endotheliums of Trewia nudiflora. Acta Botanica Sinica 2004; 46(9):1122-7.
- Kulju, K.K.M., S.E.C. Sierra and P.C. van Welzen. (2007). Re-shaping Mallotus [part 2]: Inclusion of Neotrewia, Octospermum and Trewia in Mallotus s.s. (Euphorbiaceae s.s.). Blumea 52: 115-136.
- Kang Q, Yang X, Wu S, Ma Y, Li L, Shen Y. Chemical Constituents from the Stem Bark of Trewia nudiflora L. and their Antioxidant Activities. Planta Medica 2008: 74(4):445-8.
- Chaity AS, Chowdhury IJK, Sarker SR, Hasan MF, Haque MF. Antibacterial Efficacy of the Methanol Extract of Fruits of Trewia nudiflora Linn. (Euphorbiaceae). South Asian Research Journal of Natural Products 2020; 3(2):38-43
- Kumar KP, Sastry VG. Protective effect of Trewia nudiflora against Ischemic Stroke in Experimental Rats. International Journal of Pharmacotherapy 2012; 2(1):7-12
- Du Z, He H, Wu B, Shen Y, Hao X. Chemical Constituents from the Pericarp of Trewia nudiflora. Helvetica Chimica Acta 2004; 87(3):758-63.