แตงไทย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

แตงไทย งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แตงไทย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แตงลาย, มะแต๋งลาย (ภาคเหนือ), แตงจิง, แตงกิง (ภาคอีสาน), ดี (กะเหรี่ยง), ซกเซรา (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis melo Linn.
วงศ์ CUCURBITACEAE


ถิ่นกำเนิดแตงไทย

สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของแตงไทยนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันโดยในบางส่วนเชื่อว่าแตงไทยมีถิ่นกำเนิดบริเวณแถบภาคใต้ของทวีปแอฟริกาเช่นเดียวกับแตงโม ส่วนอีกส่วนหนึ่งเชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ตั้งแต่เชิงเขาหิมาลัยไปถึงแหลมโคโมริน ส่วนในประเทศไทยเชื่อกันว่าแตงไทย ได้แพร่กระจายพันธุ์เข้ามาเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วตามชนกลุ่มน้อยและชาวไทยภูเขาต่างๆ โดยมีหลักฐานที่บันทึกถึงแตงไทย ในบันทึกของหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเลในปี พ.ศ.2416 โดยได้อธิบายเกี่ยวกับแตงไทยเอาไว้ว่า แตงไทย : เป็นชื่อแตงอย่างหนึ่งลูกลายๆ ถ้าสุกกินรสหวานเย็นๆ ที่เขากินกับน้ำกะทินั้นและในปัจจุบันสามารถพบแตงไทยอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเริ่มมีการปลูกเพื่อการค้ามากขึ้นอีกด้วย


ประโยชน์และสรรพคุณแตงไทย

  1. ช่วยบำรุงธาตุ
  2. ช่วยบำรุงหัวใจ
  3. ช่วยบำรุงสมอง
  4. แก้กำเดา (เลือดออกทางจมูก)
  5. แก้ร้อนใน
  6. แก้กระหายน้ำ
  7. ช่วยขับเหงื่อ
  8. ช่วยขับน้ำนม
  9. ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  10. แก้สิว
  11. แก้ผิวอักเสบ
  12. แก้อักเสบ
  13. ใช้ขับปัสสาวะ
  14. ช่วยย่อยอาหาร
  15. ใช้แก้ไอ
  16. ใช้ทำให้อาเจียน
  17. ใช้แก้ไข้
  18. แก้ดีซ่าน
  19. รักษาแผลในจมูก
  20. ใช้เป็นยาระบาย
  21. แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ

           แตงไทยถูกนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยมีการนำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น รูปแบบการใช้เป็นอาหาร มีการนำผลอ่อนของแตงไทยมาใช้เป็นผักจำพวกผักผลสดเช่นเดียวกับแตงกวา ซึ่งนิยมใช้กินสดเป็นผักจิ้มมีรสชาติคล้ายแตงกวาแต่เนื้อแน่นกว่า อีกทั้งยังมีการนำไปยำและแกง ใช้ดองเป็นแตงดองได้ดีอีกด้วย ส่วนผลสุกมีเนื้อชุ่มน้ำ รสจืด หรือ อมหวานเล็กน้อย มีกลิ่นหอมนิยมกินสด หรือ ทำของหวาน เช่น น้ำกะทิแตงไทย น้ำแข็งใส ทำรวมมิตร และทำน้ำปั่นเป็นต้น อีกทั้งสำหรับแตงไทย ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก สามารถนำมาใช้เป็นผักสด หรือ ลวกจิ้มน้ำพริก ต่างๆ เช่น น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกปลาย่าง และน้ำพริกกะปิ เป็นต้น 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ บำรุงสมอง แก้กำเดา แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับเหงื่อ ขับน้ำนม แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ โดยนำผลแตงไทยสุกมารับประทานสดๆ
  • ใช้ขับปัสสาวะ แก้ไอ ช่วยย่อยอาหาร โดยนำเมล็ดแตงไทย สดมาทุบให้แตก ชงกับน้ำร้อนดื่ม
  • ใช้ช่วยระบาย ทำให้อาเจียน โดยนำรากแตงไทยมาทุบให้แหลกแล้วต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไข้ โดยนำใบแตงไทย สดมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ดีซ่าน ทำให้อาเจียน โดยนำดอกแตงไทยอ่อนมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้แผลในจมูก โดยนำดอกแตงไทยมาตากแห้งบดให้ละเอียดพ่นบริเวณแผลในจมูก
  • ช่วยบำรุงผิวหน้า รักษาสิวอักเสบ และผิวอักเสบ โดยนำเนื้อผลแตงไทย สุกบดละเอียดครึ่งถ้วย นมสดครึ่งถ้วย ไข่ไก่ 1 ฟองมาผสมเข้าด้วยกัน แล้วนำมาพอกบริเวณผิวทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วล้างออก


ลักษณะทั่วไปของแตงไทย

แตงไทยจัดเป็นไม้เถาล้มลุก มีเถาเลื้อยไปบนพื้นดิน มีมือจับตรงง่ามใบลำต้น หรือ เถามีสีเขียวมีลักษณะเป็นเหลี่ยมกลมมีลายเป็นร่องสันตามความยาวของเถาแตกกิ่งแขนงตามข้อและมีขนปกคลุมตลอดลำต้น

           ใบแตงไทย เป็นใบเดี่ยวออกเรียงกันเป็นชั้นสลับกัน มีลักษณะค่อนข้างใหญ่และเป็นเหลี่ยมกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 8-15 เซนติเมตร ขอบใบหยักเป็นแฉก 5-7 แฉก ฐานใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ใต้ใบมีขนเล็กๆ สีขาวขึ้นปกคลุมโคนก้านใบมีมือเกาะและก้านใบมีความยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร

           ดอกแตงไทย เป็นดอกเดี่ยวแบบ monoecious เป็นดอกสมบูรณ์เพศมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย โดยจะมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก 5 กลีบ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 1.2-3.0 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีสีเขียว กลีบดอกมีสีเหลืองและมีเกสรตัวผู้ 3 อัน ส่วนปลายยอดตัวเมียมี 3-5 แฉก ด้านล่างของเกสรตัวเมียเป็นส่วนของรังไข่ มีลักษณะกลม ยาว 2-4 เซนติเมตร มี 3-5 ห้อง

           ผลแตงไทย เป็นผลเดี่ยวโดยจะมีความแตกต่างกันทั้งขนาดและรูปร่างเช่นทรงกลม ยาวรี และแป้น ส่วนผิวมีทั้งผิวเรียบและผิวขรุขระ ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์ ส่วนสีผิวอาจมีตั้งแต่สีเหลืองเข้มไปจนถึงสีเหลืองอ่อน เหลืองปนน้ำตาล หรือ เขียว และเนื้อผลแตงไทย ก็มีหลายสีได้แก่สีส้มเหลือง ส้มแดง เขียวและขาว เนื้อมีทั้งนิ่มและกรอบ มีรสจืดจนถึงอมหวานเล็กน้อย กลิ่นมีทั้งชนิดที่มีกลิ่นหอมและไม่มีกลิ่น

           เมล็ดแตงไทย มีลักษณะแบนเรียบ ยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร มีสีขาว หรือ สีครีม

แตงไทย
แตงไทย

การขยายพันธุ์แตงไทย

แตงไทย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยเริ่มจากนำเมล็ดจากผลสุกมาตากแดดให้แห้งจากนั้นทำการไถพรวนแล้วตากดินไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ตันต่อไร่แล้วทำการไถพรวนให้ดินร่วนซุยอีก 2-3 ครั้ง จากนั้นยกร่องกว้าง 80-100 เซนติเมตร โดยเว้นระยะห่างแปลงประมาณ 4 เมตร ทำการกำจัดวัชพืช รวมทั้งเก็บรักษาความชื้นภายในดินโดยคลุมแปลงด้วยพลาสติกสีดำแล้วเจาะรูให้มีระยะปลูก 50 เซนติเมตร แล้วทำการหยอดเมล็ดแตงไทย หลุมละ 3-4 เมล็ดต่อหลุม แล้วกลบรดน้ำซึ่งประมาณ 2-3 วัน เมล็ดจะทยอยงอกจึงทำการเลือกต้นที่แข็งแรงไว้ ทั้งนี้ช่วงแตงไทยออกดอกควรเว้นการใช้สารเคมีฆ่าแมลงเนื่องจากจำเป็นต้องให้แมลงช่วยผสมเกสร


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากใบ ลำต้น เมล็ด เนื้อ และเปลือกของแตงไทยพบว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารสกัดจากผล ลำต้นและใบแตงไทยพบสาร Cucurbitacin B, D, E, I, L และ 2-O-β-D-glucopyranosyl cucurbitacin B ส่วนสารสกัดจากเปลือกผลแตงไทยพบสาร 3-hydroxybenzoic acid apigenin-7-glycosides อีกทั้งยังมีการรายงานการศึกษาวิจัยอีกฉบับระบุว่าสารสกัดจากเปลือกผลเปลือกผลแตงไทยยังพบสาร gallic acid, tyrosol, hydroxytyrosol, m-cumaric acid, prtotcatechuic acid, cglorogenic acid, naringenin, 4-hydroxybenzoic acid, isovanillic acid, luteolin-7-glycoside, oleuropein, phenylacetic acid, luteolin, pinoresinol, and amentoflavone.

           นอกจากนี้น้ำมันเมล็ดแตงไทย ยังพบน้ำมันหอมระเหยและกรดไขมันต่างๆ ดังนี้ α-spinasterol stigmasta-7, 25-dienol stigmasta-7, 22, 25-trienol, oleic acid, linoleic acid, stearic acid, palmitic acid เป็นต้น

โครงสร้างแตงไทย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของแตงไทย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดแตงไทย จากส่วนต่างๆ ของแตงไทยมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ต้านภาวะพร่องออร์โมนไทรอยด์ มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ในการควบคุม lipid peroxidation ในเนื้อเยื่อและหน้าที่ของ thyroid ในการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลกลูโคสในหนูแรทพบว่า สารสกัดเมทานอลจากเปลือกของมะม่วง แตงไทย และแตงโม ขนาด 200, 100 และ 100 มก./กก. เมื่อให้หนูแรทกินเป็นเวลา 10 วัน มีผลยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ในเนื้อเยื่อตับ ไต และหัวใจ เพิ่มระดับของ triiodothyronine (T3) และ thyroxin (T4) ในเลือดและเมื่อให้สารสกัดทั้ง 3 ร่วมการยา propylthiouracil (PTU) ซึ่งเป็นยาที่มีผลทำให้เกิดภาวะ hypothyroid ก็มีผลเพิ่มระดับของ T3 และ T4 เช่นกัน นอกจากนี้พบว่า สารสกัดจากเปลือกแตงโม มีผลในการลดระดับของ cholesterol และ low-density lipoprotein-cholesterol (LDL-C) ในขณะที่สารสกัดจากเปลือกแตงไทย มีผลลด triglycerides และ very low-density lipoprotein-cholesterol (VLDL-C) อีกทั้งผลของการผสมสารสกัดเปลือกมะม่วง + สารสกัดเปลือกแตงไทย และการผสมทั้ง 3 สารสกัด พบว่าทำให้ระดับของ T3 เพิ่มขึ้น ในขณะที่ระดับของ T4 เพิ่มขึ้นเฉพาะในสารสกัดเปลือกมะม่วง + สารสกัดเปลือกแตงไทย และเมื่อทดสอบผลของการผสมดังกล่าวร่วมกับการให้ยา PTU พบว่าการผสมดังกล่าว มีฤทธิ์เพิ่มระดับ T4 และไม่มีผลเพิ่มระดับ T3 แต่การผสมลักษณะนี้มีผลทำให้ lipid peroxidation ในตับและไตเพิ่มขึ้น ดังนั้นไม่ควรใช้สารสกัดทั้ง 3 ร่วมกัน จากผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่าสารสกัดเมทานอลจากเปลือกของมะม่วง แตงไทย และแตงโม มีผลกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ และยับยั้งการเกิด lipid peroxidation ในระดับเนื้อเยื่อได้ เมื่อใช้แยกกัน

           ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยสารสกัดจากใบและเปลือกผลของแตงไทย ระบุว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อยาได้ดี โดยแสดงฤทธิ์อย่างแรงต่อการต้านเชื้อราที่มีฤทธิ์ก่อโรค เช่น fusarium oxysporum ส่วนสารสกัดเมทานอลและเอทานอลจากใบและเมล็ดของแตงไทยมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียต่อเชื้อ S. aureus และเชื้อแกรมบวกสายพันธุ์อื่นๆ ส่วนสารสกัดจากเนื้อผลพบว่ายังมีฤทธิ์ขับพยาธิอีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานการศึกษาระบุว่าสารกลุ่มโพลีฟีนอลและแคโรทีนอยด์ที่พบในเนื้อผลของแตงไทยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนอีกการศึกษาวิจัยอีกฉบับระบุว่า สารสกัดจากใบ เปลือก เนื้อ และเมล็ดของแตงไทยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (ตรวจสอบโดยวิธี DPPH) โดยมีค่า IC50 ของสารสกัดเมทานอลจากใบ เท่ากับ 780.1 µg/ml สารสกัดเมทานอลจากเปลือกเท่ากับ 189.02 µg/ml สารสกัดเมทานอลจากเปลือกที่อบแห้งด้วยเตาอบมีค่า 370.93 µg/ml สารสกัดเยื่อจาก n-hexane เท่ากับ คือ 335 µg/ml และสารสกัดเมทานอลจากเมล็ดเท่ากับ 653.57 µg/ml


การศึกษาทางพิษวิทยาของแตงไทย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในรูปแบบการรับประทานแตงไทย เป็นอาหารถือว่ามีความปลอดภัยสูง แต่หากใช้ในรูปแบบสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณ ที่พอเหมาะตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง แตงไทย
  1. เดชา ศิริภัทร. แตงไทย. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 213. มกราคม 2540.
  2. เตโชลม ภัทรศัย. 36 ผลไม้สมุนไพรไทย. กรุงเทพฯ: โปร-เอสเอ็มอี 2543.
  3. นิดดา หงส์วิวัฒนื และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. แตงไทย ใน ผลไม้ 111 ชนิด. คุณค่าทางอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 81
  4. เปลือกมะม่วง แตงไทย แตงโม มีฤทธิ์ต้านภาวะ hypothyroidism. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5.  Rajasree, R.S.; Sibi, P.I.; Francis, F.; William, H. Phytochemicals of Cucurbitaceae family. Int J Pharmacogn Phytochem Res 2016, 8, 113-123. 
  6. Ganji, S.M.; Singh, H.; Friedman, M. Phenolic content and antioxidant activity of extracts of 12 melon (Cucumis melo) peel powders prepared from commercial melons. J Food Sci 2019, 84, 1943-1948.
  7. Rashid, U.; Rehman, H.A.; Hussain, I.; Ibrahim, M.; Haider, M.S. Muskmelon (Cucumis melo) seed oil: A potential non-food oil source for biodiesel production.
  8. Morais, D.R.; Rotta, E.M.; Sargi, S.C.; Schmidt, E.M.; Bonafe, E.G.; Eberlin, M.N.; Sawaya, A.C.; Visentainer, J.V. Antioxidant activity, phenolics and UPLC-ESI (-)-MS of extracts from different tropical fruits and processed peels.
  9. Xu, X.; Tang, L.; Shan, H.F.; Wang, Z.Q.; Shan, W.G. Study on extraction of Cucurbitacin B from the pedicel of Cucumis melo L. by acid hydrolysis. Adv Mat Res 2013, 704, 61-65, https://doi.org/10.4028/www.scientific.net/AMR.704.61.
  10. Gómez-García, R.; Campos, D.A.; Aguilar, C.N.; Madureira, A.R.; Pintado, M. Valorization of melon fruit (Cucumis melo L.) by-products: phytochemical and biofunctional properties with emphasis on recent trends and advances. Trends Food Sci Technol 2020, 99, 507-519, https://doi.org/10.1016/j.tifs.2020.03.033.
  11. Ibrahim, S.R.; Mohamed, G.A. Cucumin S, a new phenylethyl chromone from Cucumis melo var. reticulatus seeds. Rev Bras Farmacogn 2015, 25, 462-464, https://doi.org/10.1016/j.bjp.2015.06.006.
  12. Mallek-Ayadi, S.; Bahloul, N.; Kechaou, N. Characterization, phenolic compounds and functional properties of melo L. peels. Food Chem 2017, 221, 1,691-1,697, https://doi.org/10.1016/j.foodchem.2016.10.117.