แคแสด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
แคแสด งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ
ชื่อสมุนไพร แคแสด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แคแดง (ภาคเหนือ, ภาคกลาง), ยามแดง (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Spathodea campanulate P.Beauv.
ชื่อสามัญ Africantulip tree, Tulip tree, Flame of the forest, Fire bell, Nandi flame
วงศ์ BIGNONIACEAE
ถิ่นกำเนิดแคแสด
แคแสด จัดเป็นพันธุ์พืชในวงศ์ แคหางด่าง (BIGNONIACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา บริเวณประเทศยูกันดา, รวันดา, แองโกลา, บุรุนดี และเคนยา จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบแคแสด ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบทางภาคเหนือและภาคกลาง บริเวณสวนสาธารณะและตามริมข้างทาง
ประโยชน์และสรรพคุณแคแสด
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย
- แก้บิด
- แก้ท้องผูกชนิดพรรดึก
- รักษาโรคผิวหนังและแผลเรื้อรัง
- ใช้พอกแผล
- รักษาโรคมาลาเรีย
- รักษาโรคผิวหนัง
- รักษาโรคลมบ้าหมู
- รักษาโรคตับ
- รักษาโรคหอบหืด
- รักษาโรคหัด
- แก้อาการเจ็บคอ
- ใช้ถ่ายพยาธิ
- แก้ปวดท้อง
- แก้อาการประสาทหลอน
- ใช้แก้พิษ
- แก้ต้อกระจก
ในชนบทมีการนำแคแสดมาใช้ประกอบอาหารรับประทาน เช่นเดียวกับแคบ้าน นอกจากนี้ยังนิยมนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ที่ให้ร่มเงาและใช้ปลูกประดับตามที่ที่มีบริเวณกว้างขวาง เช่น สวนสาธารณะ ตามอาคารสถานที่ต่างๆ ตามสองข้างทาง ซึ่งเมื่อดอกแคแสด บานจะมีสีสวยงามสะดุดตา ส่วนในแอฟริกามีการใช้เมล็ดแคแสดเป็นอาหาร เนื้อไม้ใช้ทำฟืน กลอง และใช้ใบเป็นอาหารสัตว์
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- แก้บิด แก้ท้องผูกชนิดพรรดึก โดยนำเปลือกต้นแคแสดมาต้มกับน้ำดื่ม
- รักษาแผลเรื้อรัง โดยนำเปลือกต้นแคแสดสดมาตำพอกบริเวณที่เป็นแผล
- ใช้พอกรักษาโรคผิวหนังและแผลเรื้อรังต่างๆ โดยนำใบหรือดอกตำพอกบริเวณที่เป็น
- ส่วนในต่างประเทศมีรายงานว่า ในแอฟริกามีการใช้เปลือกต้นของแคแสด รักษาโรคมาลาเรีย ส่วนในอินเดียและแอฟริกาใช้ใบเพื่อรักษาโรคผิวหนัง โรคลมบ้าหมู โรคตับ โรคหอบหืด โรคหัดและอาการเจ็บคอ ในแอฟริกาใช้ราก ถ่ายพยาธิ แก้ปวดท้อง แก้โรคบิด และแก้อาการประสาทหลอน ดอกใช้แก้พิษ และต้อกระจก เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของแคแสด
แคแสด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบมีความสูงของต้นประมาณ 8-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมและค่อนข้างทึบ ลำต้นแคแสด ค่อนข้างคดงอแตกกิ่งก้านไม้เป็นระเบียบ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือ สีเทาอ่อนและมักจะมีรอยแตกเป็นสะเก็ด หรือ เป็นร่องตามยาว
ใบแคแสด เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับตรงข้ามมีช่อใบยาว 15-45 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมี 3-6 คู่ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปรี หรือ รูปไข่ แกมขอบขนาด กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 5-12 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม ค่อนข้างสากมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ส่วนก้านใบย่อยมีความยาว 1.5-3 เซนติเมตร
ดอกแคแสด ออกเป็นช่อกระจุกบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งตรง ก้านช่อดอกยาว โดยในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ซึ่งจะทยอยกันบานครั้งละ 2-6 ดอก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-9 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะคล้ายดอกทิวลิป มีขนาดใหญ่เป็นสีแสด หรือ สีแดงอมส้ม ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูประฆังมี 5 กลีบ กลีบดอกติดกันและจะหลุดร่วงได้ง่าย มีกลีบเลี้ยงเป็นกาบเป็นสันปลายเป็นจะงอยยาว 4-6 เซนติเมตร เมื่อดอกตูมกลีบเลี้ยงจะหุ้มกลีบดอกเอาไว้ ทั้งนี้แคแสด ออกดอกได้ตลอดทั้งปี แต่จะออกดอกมากในช่วงฤดูหนาว
ผลแคแสด เป็นฝักรูปร่างคล้ายเรือ หรือ เป็นรูปขอบขนานสีดำ กว้าง 3.5-5 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร ปลายฝักแหลม ฝักเมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลเข้ม แตกออกด้านเดียว ด้านในฝักจะมีเมล็ดลักษณะแบบมีปีกบางๆ ขนาดเล็กจำนวนมาก
การขยายพันธุ์แคแสด
แคแสด สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและการแยกต้นจากต้นเดิม แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกแคแสด สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ แคแสดเป็นไม้ที่โตเร็ว ทนแล้ง ทนลม ขอบแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี หากปลูกในที่แห้งแล้งจะผลักใบเวลาผลัดใบจะไม่ทิ้งใบพร้อมกันหมดทั้งต้น เหมาะจะปลูกเพื่อให้ร่มเงาในที่โล่ง แต่ต้นมีอายุมากกว่า 4 ปี เท่านั้น จึงจะออกดอก
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของแคแสด ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารสกัดจากใบพบสาร Ajugol, Catalpol, Oleanolic acid, 3β-acetoxyoleanolic acid, Spathodol, Acteoside, Caffeic acid, β-sitosterol-3-O-β-D-glucopyranoside, Apigenin, Luteolin, Diosmetin, Rutin และ Zeaxanthin เป็นต้น สารสกัดจากเปลือกต้นพบสาร Spathodic acid, Corosolic Acid, 3β-acetoxyoleanolic acid, 3β-hydroxyurs-12-en-28-oic acid (Ursolic acid), Spathoside, Cinnamic acid derivatives, Pomolic acid, Atranorin และ Vanillic acid สารสกัดจากดอกพบสาร Specioside, Ferulic acids, Chlorogenic acid, Quercetin, Cyanidin-3-O-rutinoside, Pelargonidin-3-rutinoside, Catechin, Cryptoxanthin, Naringenin, Chrysin, α-pinene, Camphene, β-Myrcene, β-Pinene, α-Phellandrene, Limonene, Longifolene, Aromadendrene, Viridiflorene, Sequiterpenoids, Cadalene, α-Methyl cinnamaldehyde และ Phenylethanol esters เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแคแสด
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดแคแสด จากส่วนต่างๆ ของแคแสดระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดจากใบแคแสด มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium berghei ในหนูโดยสารสกัดได้รับการทดสอบในการติดเชื้อระยะเริ่มต้น และระยะลุกลาม ซึ่งสารสกัดน้ำจากใบแคแสด แสดงฤทธิ์ต้านพลาสโมเดียมสูงสุดที่ความเข้มข้น 400 มก./กก./วัน และเปอร์เซ็นต์ของการกดภูมิคุ้มกัน คือ 73.8% นอกจากนี้สารสกัดคลอโรฟอร์มจากใบ ยังทำให้การกดภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น 61.0% ที่ 40 มก./กก./วัน แต่ก็พบว่าสารสกัดมีประสิทธิภาพน้อยกว่าคลอโรควิน ซึ่งยับยั้งได้ 99.3% ที่ขนาดยา 20 มก./กก./วัน
ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มาทดสอบฤทธิ์เบาหวานในหนูทดลองเบาหวานที่เหนี่ยวนำด้วยสเตรปโตโซซิน (STZ) พบว่ายาต้มเปลือกต้น มีผลลดน้ำตาลในเลือดแต่ไม่มีผลต่อระดับอินซูลิน นอกจากนี้ยาต้มเปลือกต้นยังช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดระหว่างการทดสอบความทนต่อกลูโคสทางปาก (OGTT) ในหนูปกติ อีกทั้งสารสกัดจากน้ำและบิวทานอลที่ได้จากยาต้มเปลือกต้นยังแสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดแต่ไม่มีผลต่อระดับอินซูลินในหนูทดลองเบาหวานที่กระตุ้นด้วยสเตรปโตโซซิน สำหรับสารสกัดเมทานอลจากเปลือกต้น พบว่ามีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญหลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมงด้วยขนาดยา 800 มก./กก. ในหนูที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ ใน OGTT โดยสารสกัดสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (63%) เมื่อได้รับขนาดยา 400 มก./กก. นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (29%) ในหนูที่เป็นโรคเบาหวานจากอัลลอกซานเมื่อได้รับขนาดยา 400 มก./กก. ในระยะเฉียบพลันและการรักษาด้วยสารสกัดหลายครั้งด้วยขนาดยาทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากอัลลอกซานลดลงในช่วงปลายวันที่ 18 อีกด้วย
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเมทานอล (MLE) จากใบของแคแสด ซึ่งถูกกำหนดโดยใช้วิธีการแพร่กระจายด้วยแผ่นดิสก์ เพื่อต่อต้านเชื้อ S.aureus และ Escherichia coli พบว่า สารสกัดไม่แสดงฤทธิ์ที่สำคัญ ส่วนสารสกัดใบที่มีความเข้มข้นต่างๆ (2.5-10 มก./มล.) ได้รับการทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย 8 ชนิด โดยใช้วิธีการแพร่กระจายด้วยแผ่นดิสก์ พบว่าสารสกัดแสดงฤทธิ์ที่สำคัญต่อสายพันธุ์แบคทีเรียที่ทดสอบในลักษณะที่ขึ้นอยู่กับขนาดยา โดยพบว่าแบคทีเรียแกรมลบ Klebsiella pneumoniae อ่อนไหวต่อสารสกัดจากใบปิโตรเลียมอีเธอร์มากกว่า โดยมีโซนยับยั้ง 11 มม. ส่วนสารสกัดจากเปลือกต้น มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียอย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถยับยั้งการเติบโตของ K.pneumoniae [ความเข้มข้นต่ำสูงที่ยับยั้งได้ (MIC) = 6.25 มก./มล.] (MIC=12.5 มก./มล.) และ Bacillus subtilis (MIC=25 มก./มล.)
ฤทธิ์ต้านไวรัส มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดจากเปลือกต้น แคแสดเพื่อดูฤทธิ์ต้านไวรัสเอสไอวี (HIV) พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ปานกลางเมื่อเทียบกับอะซิโดไทมิดีน (Niyonzima et al.,1999) และยังมีการทดสอบสารสกัดเมทานอลจากใบแคแสด กับไวรัสสามชนิด ได้แก่ เริม ไวรัสซิกา โปลิโอ และพบว่าไม่มีฤทธิ์
ฤทธิ์ขับพยาธิ มีรายงานว่ามีการทดสอบสารสกัดจากเมทานอลส่วนใบ ในการขับพยาธิไส้เดือน Pheretima posthuma ที่ความเข้มข้น 5, 15 และ 20 มก./มล. โดยพิจารณาจากเวลาที่เป็นอัมพาตและเวลาตายเป็นค่าที่ทราบถึงฤทธิ์ขับพยาธิ พบว่าที่ความเข้มข้น 20 มก./มล. สารสกัดมีฤทธิ์ทำให้พยาธิเป็นอัมพาตและตายที่เวลา 4.23 และ 10.32 นาที ตามลำดับ
ฤทธิ์ปกป้องไต มีรายงานผลการทดสอบสารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้น แคแสด ต่อความเป็นพาต่อไตที่เกิดจากพาราเซตามอลในหนู โดยป้อนสารสกัดทางปากเป็นเวลา 7 วัน ในปริมาณ 250 และ 500 มก./กก. พบว่าสารสกัดสามารถช่วยปรับปรุงการก่อตัวของลิพิดเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากพาราเซตามอลและแสดงให้เห็ดการลดลงของเอนไซมม์มาร์กาเกอร์ในซีรั่ม อีกทั้งยังยับยั้งการลดลงของระดับกลูตาไธโอนในเนื้อเยื่อ และช่วยในการฟื้นฟูโครงสร้างของไตอีกด้วย
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยสารสกัดเอทานอลจากดอกแคแสด พบว่ามีฤทธิ์ตต้านอนุมูลอิสระอย่างมีนัยสำคัญ โดยสารสกัดแสดงฤทธิ์ที่ดีในระหว่างการทดสอบการกำจัดอนุมูลอิสระซูเปอร์ออกไซด์ (SRS) และไนตริกออกไซด์ (NO) โดยมีค่า IC50 ที่ 246 และ 175 µg/ml แสดงฤทธิ์ยับยั้งการกำจัดอนุมูลอิสระ NO และซูเปอร์ออกไซด์ (SR) ในขณะที่เคอร์คูมิน แสดงฤทธิ์ยับยั้งในระหว่างฤทธิ์กำจัด NO 79% ที่ความเข้มข้น 15 µg/ml และกรดแอสคอร์บิก ฤทธิ์ยับยั้งในการทดสอบ SRS 89% ที่ความเข้มข้น 100 µg
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของแคแสด
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา สารสกัดเอทานอลจากส่วนใบแคแสดระบุว่า มีพิษเฉียบพลันโดยการใช้ทางปากแก่หนูทดลองในปริมาณ 1,000-5,000 มก./กก. ส่วนการศึกษากึ่งเรื้อรังได้ดำเนินการโดยให้ทางปากแก่หนูทดลองในปริมาณ 750-3,000 มก./กก.เป็นเวลา 90 วัน พบว่า ค่า LD50 ของสารสกัดประมาณอยู่ที่ 4,466.84 มก./กก. และไม่พบการตายของสัตว์ในช่วงระยะเวลาการศึกษา แต่หนูมีอาการอ่อนแรง เฉื่อยชา เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและสารสกัดยังเพิ่มเอนไซม์ตับในซีรั่มฟอสฟาเตสอัลคาไลน์ (ALP) ALT และ AST อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปหลังจาก 28 วันหลังการรักษา
ส่วนการศึกษาวิจัยพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากเปลือกของแคแสด ทางปากครั้งเดียวที่ 2,000 มก./กก. จากนั้นมีการคำนวณพารามิเตอร์ต่างๆ เช่น น้ำหนักตัวพฤติกรรม ลักษณะทั่วไปและอัตราการตาย พบว่าไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะทั่วไปไม่พบอัตราการตาย จึงสรุปได้ว่าสารสกัดปลายภัยที่ขนาดยา 2,000 มก./กก.
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าจะมีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่า การใช้สารสกัดแคแสด มีความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามในการใช้แคแสดเป็นสมุนไพรก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง แคแสด
- เต็ม สมิตินันท์. (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
- คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก.2549.สวนสมุนไพร ในงานมหากรรมพืชสวนโลก 2549.Herbal in Royal Flora Expo 2006.บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด, กรุงเทพมหานคร.
- สุพัตรา แซ่ลิ่ม. 2548. อาหารจานดอกไม้. สำนักพิมพ์คุณพ่อ, กรุงเทพฯ.
- วีระชัย ณ นคร. (2544.) สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 7, กรุงเทพฯ: องค์การสวนพฤกษศาสตร์.
- พสุธร อุ่นอมรมาศ และสรณะ สมโน. 2559. การวิเคราะห์หาสารสำคัญและฤทธิ์การต่อต้านอนุมูลอิสระของดอกไม้กินได้บางชนิด.วารสารเกษตร. 32 (3): 435-445.
- วิจิตรา เหลียวตระกูล. 2559. การศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและกิจกรรมการต้านอนุมูลอิสระของดอกแค และการใช้ประโยชน์เชิงอาหารเพื่อสุขภาพ. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ. 82 น
- สุภาวดี แหยมคง และคณะ. องค์ประกอบทางเคมี ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์ แคโรทีนอยด์และฟีนอสิคทั้งหมดของดอกไม้บางชนิด. วารสารแก่นเกษตรปีที่ 48. ฉบับพิเศษ 1 การประชุมวิชาการเกษตร ครั้งที่ 21.27-28 มกราคม 2563. หน้า 1,011-1,018.
- Musinguzi D, Tumushabe A, Sekabira K, Basamba TA, Byarugaba D. Medicinal plants use in and around Kalinzu central forest reserve, Western Uganda. J Med Plants Stud, 2017; 5:44-9
- Niyonzima G, Scharpe S, Van Beeck L, Vlietinck AJ, Laekeman GM, Mets T. Hypoglycaemic activity of Spathodea campanulata stem bark decoction in mice. Phyther Res, 1993; 7:64-7
- Simbo DJ. An ethnobotanical survey of medicinal plants in Babungo, Northwest Region, Cameroon. J Ethnobiol Ethnomed, 2010; 6:8;
- Wagh A, Butle S, Telang P. In vitro anthelmintic efficacy of Spathodea campanulata P. Beauv. (Bignoniaceae) against Pheretima posthuma. Asian J Pharmacogn, 2019; 3:32-8.
- Anani K, Hudson JB, De Souza C, Akpagana K, Tower GHN, Arnason JT, Gbeassor M. Investigation of medicinal plants of Togo for antiviral and antimicrobial activities. Pharm Biol, 2000; 38:40-5;
- 49196213/49196223 Iyamah PC, Idu M. Ethnomedicinal survey of plants used in the treatment of malaria in Southern Nigeria. J Ethnopharmacol, 2015; 173:287-302;
- Makinde JM, Adesogan EK, Amusan OOG. The schizontocidal activity of Spathodea campanulata leaf extract on Plasmodium berghei berghei in mice. Phyther Res, 1987; 1:65-8;
- Dhanabalan R, Doss A, Balachandar S. In vitro phytochemical screening and antibacterial activity of organic leaf extracts of Spathodea campanulata P. Beauv against hospital isolated bacterial strains. Ethnobot. Leafl, 2008; 12:1022-8
- Kumar S, Dash D. Flora of Nandan Kanan sanctuary: medicinal plants with their role in health care. Int J Pharm Life Sci, 2012; 3:1631-42