หญ้าพันงูขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
หญ้าพันงูขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 45 ข้อ
ชื่อสมุนไพร หญ้าพันงูขาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าควยงู, หญ้าควยงูหลวง (ภาคเหนือ), หญ้าพันธุ์งู, พันงูเล็ก, ตีนงูขาว (ภาคกลาง), ต๋อค้อเช่า, เต่าโคว่เฉ่า, โกยฉัวผี, หนิงเสอต้าหวง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Achytanthes aspera Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Achytanthes aspera var. rubrofusca (Wight) Hook.f.
ชื่อสามัญ Prickly chaff. Flower, Washerman’s Plant
วงศ์ AMARANTHACEAE
ถิ่นกำเนิดหญ้าพันงูขาว
หญ้าพันธุ์งูขาว จัดเป็นพืชในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย เช่น ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาจึงได้กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยหญ้าพันธุ์งูขาว ถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณที่รกร้างว่างเปล่า ที่โล่งตามเรือกสวนไร่นา ที่มีความชุ่มชื้น หรือ อาจพบได้ตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 700 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าพันงูขาว
- ช่วยบำรุงธาตุ
- ช่วยฟอกโลหิต
- ช่วยย่อยอาหาร
- ช่วยลดความดันโลหิต
- แก้ไข้ตรีโทษ
- แก้ไข้หวัด
- แก้โรคในลำคอ
- แก้ริดสีดวงทวาร
- แก้ปวดเอว
- แก้ปวดเมื่อยจากโรคไข้ข้ออักเสบ
- แก้คางทูม
- แก้โรคเกี่ยวกับปอด
- แก้ขัดเบา
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ปวดประจำเดือน
- แก้ไขอักเสบ
- ทำให้เลือดไหลเวียนคล่อง
- แก้มาลาเรีย
- ช่วยให้นอนหลับ
- ช่วยลดบวมน้ำ
- แก้ขับปัสสาวะเป็นเลือด
- ช่วยขับเสมหะ
- แก้หูอักเสบ
- แก้ปวดข้อ
- แก้ทอนซิลอักเสบ
- แก้ท้องอืด
- แก้ประจำเดือนไม่มาตามปกติ ช่วยขับประจำเดือน
- แก้บิด
- แก้โรคในลำคอ
- แก้โรคในลำคอเป็นเม็ดเป็นตุ่ม
- แก้คออักเสบเป็นเม็ดยอดในคอ
- แก้สะอึก
- แก้เสมหะที่คั่งค้างในทรวงอก
- ช่วยละลายก้อนนิ่ว
- แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
- ช่วยทำให้อาเจียน
- ใช้ดับพิษร้อน
- แก้อาการร้อนใน
- ช่วยขับเหงื่อ
- แก้คอตีบ
- แก้อาการฟกช้ำ
- ใช้รักษาหูน้ำหนวก
- แก้ไตอักเสบ
- รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- รักษานิ่วในไต
มีการนำหญ้าพันงูขาวมาใช้ทำปุ๋ย โดยมีการวิจัยพบว่ามีธาตุโพแทสเซียม ค่อนข้างสูงและในอดีตชาวบ้านในภาคเหนือ มีการนำหญ้าพันงูขาวมาใช้เป็นยาสีฟัน โดยนำรากพันงูขาวนำมาเผาให้เป็นเถ้า แล้วนำมาสีฟัน เชื่อว่าจะทำให้ฟันคงทน แต่บางข้อมูลระบุว่าไม่ต้องเผา ให้นำกิ่งหญ้าพันงูขาว หรือ รากหญ้าพันงูขาวสีฟันได้เลย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- บำรุงธาตุ บำรุงธาตุไฟ ช่วยฟอกโลหิต ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดความดันโลหิต แก้โรคเกี่ยวกับปอด ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้บวมน้ำ ไตอักเสบ แก้ไข้ ตรีโทษ โดยนำทั้งต้นหญ้าพันงูขาวสด 30-60 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
- ทั้งต้นหญ้าพันงูขาว เป็นยาเย็นจัด มีรสขม เผ็ดเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและไต ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อาการร้อนใน ช่วยขับเหงื่อ รากใช้แก้ไข้มาลาเรีย แก้คอตีบ แก้ปวดข้อ
- ใช้แก้บิด โดยใช้หญ้าพันงูขาว 50-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ชงกับน้ำผึ้งดื่ม
- ใช้แก้และขับเสมหะ ช่วยแก้เสมหะที่คั่งค้าง ในทรวงอก แก้เสมหะในท้อง ใช้รากพันงูขาว รากขัดน้อย พริก เหง้าขิง น้ำมาบดให้เป็นผงกิน
- ใช้รักษาหูน้ำหนวก หรือ หูอักเสบ โดยใช้รากสดมาคั้นเอาน้ำ ใช้หยอดหู
- แก้อาการปวดข้อ ด้วยการใช้รากพันงูขาว 30-60 กรัม หรือ รากพันงูน้อย รากพันงูแดง และรากเดือยหิน นำมาต้มกับน้ำดื่ม
- แก้อาการฟกช้ำ ที่เกิดจากการกระทบกระแทก หรือ หกล้ม โดยใช้รากพันงูขาวแห้ง 10-15 กรัม นำมาต้มผสมกับเหล้าดื่ม
- แก้อาการปวดข้อ โดยใช้รากสด 30-60 กรัม หรือรากแห้ง 10-15 กรัม นำมาต้มกับขาหมูกินกับเหล้าแดงและน้ำอย่างละเท่ากัน
- ใช้รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ โดยใช้รากแห้ง 10-15 กรัม รากจ้ำเครือแห้งและพิมเสน นำมาบดให้เป็นผงละเอียดใช้เป่าคอ
- ใช้รักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แก้คอตีบ ด้วยการใช้รากสด 30+60 กรัม รากบ่วงหนีแช นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำตาลทรายพอสมควร ใช้ชงกับน้ำอุ่นดื่ม
- ใช้แก้ไข้จับสั่น หรือ ไข้มาลาเรีย โดยใช้หญ้าพันงูขาว 30-45 กรัม นำมาต้มกับเนื้อสันในของหมูรับประทาน
- อีกตำราหนึ่งใช้ทั้งต้นสด ทั้งต้นรวมกับลูกหมาก และพุทราจีน นำมาต้มดื่มน้ำตอนอุ่นๆ ก่อนจับไข้กินติดต่อกัน 3 วัน
- ใช้รักษานิ่วในไต ใช้ขับปัสสาวะ และรักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
ลักษณะทั่วไปของหญ้าพันงูขาว
หญ้าพันงูขาว จัดเป็นพืชล้มลุก ขนาดเล็กอายุหลายปี ลำต้นมีความสูง 30-120 เซนติเมตร ลำต้นหญ้าพันงูขาว มีลักษณะกลมเป็นสัน ตั้งตรง หรือ อาจทอดกิ่งเลื้อยไปตามพื้นดินก็ได้ โดยมักจะแตกกิ่งแขนงมาก บริเวณข้อลำต้น มีลักษณะโป่งบวมเล็กน้อย กิ่งมีสีเขียว หรือ สีเขียวอมแดงลักษณะเป็นเหลี่ยมมีขนนุ่มสีขาวขึ้นปกคลุม
ใบหญ้าพันงูขาว เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับตรงกันข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมขอบขนาน หรือ รูปขอบขนานแกมไข่กลับ ใบมีขนาดกว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 2-10 เซนติเมตร โคนใบแหลมป้าน หรือ เรียวสอบ ปลายใบแหลม หรือ กลม ขอบใบเรียบ มีคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบมีสีเขียวค่อนข้างบางผิวใบมีขนสั้นละเอียดปกคลุมอยู่ทั้งสองด้านและมีก้านใบยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร
ดอกหญ้าพันงูขาว ออกเป็นบริเวณปลายกิ่ง โดยจะออกเป็นช่อตั้งตรง 10-30 เซนติเมตร เป็นเหลี่ยมมีขนอยู่ทั่วไป ส่วนดอกย่อยจะดอกออกบนแกนของช่อ กลีบดอกย่อยเป็นกลีบรวม มีอยู่ 4-5 กลีบ ลักษณะเรียวยาวคล้านหนามเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ยาว 3-5 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกมีเยื่อบางๆ ขนาด 1.5-2 มิลลิเมตร โดยดอกจะมีเกสรเพศผู้ 2-5 อัน เกสรเพศเมียจะเป็นรูปเส้นด้ายยาว 2-3.5 มิลลิเมตร ใบประดับมี 2 อัน ลักษณะแห้งบางและติดทน เป็นรูปไข่ ปลายเรียวแหลม ยาว 2-3 มิลลิเมตร
ผลหญ้าพันงูขาว มีขนาดเล็ก มีความยาว 2.5-44 มิลลิเมตร เป็นผลแห้งแบบกระเปราะแตกได้ ผลเป็นสีน้ำตาลอ่อนรูปทรงกระบอกเกลี้ยงปลายตัด เปลือกผลบาง ในผลมีเมล็ดเป็นรูปทรงกระบอกเรียบสีแดง
การขยายพันธุ์หญ้าพันงูขาว
หญ้าพันงูขาว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการปักชำ แต่เนื่องจากหญ้าพันงูขาวเป็นพืชที่มีการแพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมากจนถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ดังนั้นการขยายพันธุ์ของหญ้าพันงูขาวจึงเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติเท่านั้น ไม่พบเห็นการนำหญ้าพันงูขาว มาปลูกแต่อย่างใด ทั้งนี้หญ้าพันงูขาวเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำดี
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของหญ้าพันงูขาว ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ทั้งต้นพบสาร Ecdysterone Saponin, Betaine, Sitostrol, Steric acid, Oleanolic acid, Stimasterol, arginine, Tryptophan, Histidine และ Lysine เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของหญ้าพันงูขาว
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากหญ้าพันงูขาว ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญหลายประการ ดังนี้
จากรายงานการศึกษาวิจัยพบว่า เมื่อป้อนสารสกัดหญ้าพันงูขาวในขนาด 300 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนูทดลอง 1 กิโลกรัม สามารถลดระดับน้ำตาลกลูโคสในหนูทดลองที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานโดย streptozotocin ได้โดยมีศักยภาพไม่แตกต่างจากยาไกลเบนคลาไมด์ ซึ่งใช้เป็นยาต้านเบาหวานใช้ในการลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยสารสกัดดังกล่าวจะเข้าไปออกฤทธิ์ในการกระตุ้น ß-cell ใน Islet of Langerhans ในตับอ่อนให้มีการหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น ทำให้อินซูลินเข้าสู่กระแสเลือด แล้วนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ได้ตามปกติ
นอกจากนี้ยังทำให้หนูเบาหวานมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและช่วยปรับปรุงเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่ส่วนโคลอนในชั้นซีโรชา (Serosa) และชั้นมัสคูลาริส (Muscularis) ของหนูเบาหวานให้มีลักษณะคล้ายหนูกลุ่มปกติได้ อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ โดยช่วยปรับปรุงค่า AST, ALT และ ALP ในหนูเบาหวานได้อีกด้วย มีรายงานการศึกษาวิจัย โดยนำสารสกัดที่ได้จากหญ้าพันงูขาว มาฉีดเข้ากล้ามเนื้อของกระต่าย พบว่าสามารถกระตุ้นหัวใจของกระต่ายให้เต้นแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะตอนที่หัวใจกำลังเต้นอ่อนลง ส่วนสารสกัดแอลกอฮอล์ จากหญ้าพันงูขาวพบว่ามีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กและมดลูกที่มีการหดเกร็งได้
นอกจากนี้หญ้าพันงูขาวยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของอื่นๆ อีกเช่นฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความดันโลหิตสูง ต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อราและมีฤทธิ์ทำให้แห้ง เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของหญ้าพันงูขาว
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพิษวิทยาของสารสกัดจากทั้งต้นของหญ้าพันงูขาว ระบุว่าเมื่อทำการป้อนสารสกัดทั้งต้นของหญ้าพันงูขาว โดยเอทานอลและน้ำ 50% ให้กับหนูถีบจักร พบว่า ค่า LD50 อยู่ที่ 1 กรัม/กิโลกรัม
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้หญ้าพันงูขาว เป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน เนื่องจากมีสรรพคุณขับประจำเดือนในสตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้
เอกสารอ้างอิง หญ้าพันงูขาว
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “หญ้าพันงูขาว”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 807-808.
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544.ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด 2544.
- พันธุ์งูขาว. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 30.
- วิทยา บุญวรพัฒน์. “หญ้าพันงูขาว”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 594.
- เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “หญ้าพันงูขาว ” หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 190.
- สุนิตา นิตตะโย, สุภาษร สกุลใจตรง. ผลของสารสกัดหญ้าพันงูขาว (Achyranthes aspera L.) ต่อความเป็นพิษต่อตับในหนูเบาหวาน.การประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 2 ประจำปี 2563 “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อชุมชน” 28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ.คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย. หน้า515-524
- ปรียาทิพย์ ไชยรักษ์, สุภาษร สกุลใจตร. ผลของสารสกัดหญ้าพันงูขาว (Achyranthes aspera L.) ต่อเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่ส่วนโคลอนในหนูเบาหวาน.การประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 2 ประจำปี 2563 “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อชุมชน” 28 กุมภาพันธ์ 2563 ณ.คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย. หน้า115-123.
- Srivastav, S., Singh, P., Mishra, G., Jha, K. and Khosa, R. 2011. Achyranthesaspera-An important medicinalplant: A review. The Journal of Natural Product and Plant Resources. 1 ( 1 ) : 1–1 4 .
- Sanjeeva,K.A., Gnananath, K., Saibaba, G., Rajasekhar, G., Rajesh, P. and Nagarjuna, S. 2011.Antidiabetic activity of ethanolic extract of Achyranthes aspera leaves in streptozotocininduced diabetic rats. Journal of Pharmacy Research, 4(7): 3124-3125.
- Priya, K and Krishnakumari, S. 2007. Phytochemical analysis of Achyranthes aspera and its activity onsesame oil induced lipid peroxidation. Ancient science of life. 1(1): 6-10.