มะเมื่อย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะเมื่อย งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะเมื่อย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เมื่อย, ม่อย, มะม่วย (ภาคเหนือ), ม่วย, ม่วยขาว, เมื่อยขาว, แฮนม่วย (ภาคอีสาน), เถาม่วย (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gnetum montanum Markgr
วงศ์ GNETACEAE


ถิ่นกำเนิดมะเมื่อย

มะเมื่อย จัดเป็นพืชชนิดหนึ่งในวงศ์ พืชเมล็ดเปลือย ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณ เนปาล อินเดีย พม่า เวียดนาม และจีนตอนใต้ จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนรอบๆ สำหรับในประเทศไทยพบมะเมื่อย ได้บริเวณป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1,500 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณมะเมื่อย

  1. ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื้น
  2. ช่วยทำให้แข็งแรง
  3. แก้ปวดเมื่อย
  4. แก้บวม
  5. ช่วยบำรุงร่างกายสตรีหลังคลอด
  6. ช่วยในการอยู่ไฟ
  7. รักษาโรคไข้ป่า
  8. ใช้เป็นยาแก้พิษ
  9. ใช้ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี
  10. ช่วยล้างแผลสด แผลเปื่อย
  11. แก้ผดผื่นคัน
  12. แก้ฝีหนอง
  13. แก่ตุ่มคัน

           มีการนำเมล็ด หรือ ผลมาคั่ว หรือ ต้มมะเมื่อย ให้สุกใช้รับประทานได้ เช่นเดียวกันกับพืชเมล็ดเปลือกอื่นๆ และยังมีการนำใบมาใช้รับประทานเป็นผักได้อีกด้วย ส่วนเมล็ดมีการนำมาบีบเป็นน้ำมัน หรือ ใช้ทำไวน์ก็ได้

           นอกจากนี้เปลือกต้นมะเมื่อย ที่มีความเหนียว สามารถนำมาใช้ทำเชือก ทำกระสอบ หรือ แหจับปลา สายธนู หรือ นำมาทำสายหน้าไม้ก็ได้

มะเมื่อย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ทำให้จิตใจชุ่มชื่น ใช้แก้บวม แก้ปวดเมื่อย บำรุงร่างกายสตรีหลังคลอด ช่วยในการอยู่ไฟ โดยนำลำต้นมะเมื่อยผสมกับเถาเอ็นอ่อน ต้มน้ำดื่ม
  • แก้ไข้ป่า ใช้เป็นยาแก้พิษได้บางชนิด โดยนำรากมะเมื่อยมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี โดยนำใบมะเมื่อย มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ นำมาชะล้างบริเวณแผลสด แผลเปื่อย แผลอักเสบ ฝี หนอง ผดผื่น ตุ่มก็ได้


ลักษณะทั่วไปของมะเมื่อย

มะเมื่อยจัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง หรือ ไม้พุ่มรอเลื้อยขนาดใหญ่มีความสูง หรือ ความยาวของเถา 5-10 เมตร มักออกพาดพันไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่และมักแตกกิ่งก้านมาก เปลือกเถามีสีน้ำตาลปนดำ แตกเป็นสะเก็ด กิ่งออกเป็นข้อต่อกันและบริเวณข้อจะพองบวม

           ใบมะเมื่อยเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ขนาดแตกต่างกัน โดยมีขนาดกว้าง 5-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13-16 เซนติเมตร โคนใบกลม มน หรือ แหลมเล็กน้อย ปลายใบมีติ่งแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบสดมีสีเขียวเข้มเมื่อแห้งจะเป็นสีออกดำ แผ่นใบมีความหนาและเหนียว เส้นใบมีประมาณ 6-8 คู่ มีลักษณะโค้ง และมีก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร

           ดอกมะเมื่อย ออกเป็นช่อเชิงลด บริเวณปลายยอดและตามลำต้น โดยช่อดอกจะแยกเป็นช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมีย บนต้นเดียวกัน ช่อดอกมักแตกแขนงมากและมีดอกย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก มีโคน หรือ สตรอบิลัสออกเป็นช่อแกน มีลักษณะเป็นกลุ่ม โดยจะออกเรียงกันเป็นชั้นๆ ตามซอกใบ มีสีเขียวปนเหลือง ซึ่งโคนเพศผู้เป็นแบบช่อเชิงลด แตกแขนง ออกตามลำดับ หรือ ปลายยอดมีขนาดกว้างประมาณ 0.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3 เซนติเมตร มีก้านโคนยาว 0.5-2.4 เซนติเมตร ส่วนก้านโคนย่อยยาว 0.5-1 เซนติเมตร โคนย่อยเป็นรูปทรงกระบอก สีเขียว มีขนาดกว้าง 4-5 มิลลิเมตร ยาว 3.5-4.2 เซนติเมตร โคนและปลายมน มีขนสั้น หนาแน่นมาก ในแต่ละโคนจะมีชั้น 8-15 ชั้น และในแต่ละชั้นมีเกสรเพศผู้ สีเหลือง หรือ ขาวอมเหลือง 8-25 อัน เรียงเป็นวงรอบๆ ข้อ ละอองเรณูเป็นสีขาว ส่วนโคนเพศเมียจะแตกแขนง ก้านโคนยาว 1.7-4.9 เซนติเมตร โดยในแต่ละโคนจะมี 6-14 ชั้น และในแต่ละชั้นจะมีเมล็ด 1-8 เมล็ด มีก้านของโคนย่อยยาว 1-3 มิลลิเมตร

           ผล หรือ เมล็ดมะเมื่อย มีลักษณะเป็นรูปกระสวยกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง โคนและปลายมน มีกลีบนุ่มคล้ายหนังหุ้ม เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีชมพูแดงหรือสีแดง ก้านผลสั้นและเกลี้ยง ยาว 1-2 มิลลิเมตร

มะเมื่อย
มะเมื่อย

การขยายพันธุ์มะเมื่อย

มะเมื่อยสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด การตอนกิ่งและการแยกต้นจากรากแขนง โดยวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การตอนกิ่งและการแยกต้นจากรากแขนง เพราะเป็นวิธีที่สามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าวิธีการใช้เมล็ดมาเพาะ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการเพาะเมล็ดตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 1 ปี เลยทีเดียว สำหรับวิธีการตอนกิ่งและการแยกต้นของมะเมื่อย สามารถทำได้เช่นเดียวกับการตอนกิ่งและการแยกต้นจากรากแขนงของไม้เถาเลื้อย หรือ ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเมทานอลจากลำต้นของมะเมื่อย ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Vanillic acid, Protocatechuic acid, Protocatechuic acid-3-glucoside, Isorhapontin, P-coumaric acid, Isolariciresinol, Gnetumontanin A, Resveratrol, Baicalein-5,6,7-trimethylether, Gnetifolin A, Chrysoeriol, Chrysin และ Ursolic acid เป็นต้น

โครงสร้างมะเมื่อย 

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะเมื่อย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดมะเมื่อย จากส่วนเหนือดินของมะเมื่อย ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์การต้านเซลล์มะเร็งของมนุษย์ 6 สายพันธุ์ (มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับ) ด้วยสารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดินของมะเมื่อย ในหลอดทดลองในประเทศจีนระบุว่าเซลล์มะเร็งแสดงให้เห็นระดับประสิทธิผลในการต่อต้านเซลล์มะเร็งที่แตกต่างกันใน ทั้ง 6 สายพันธุ์ โดยมีฤทธิ์ต้านรุนแรงที่สุดกับเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ SW480 รองลงมา คือ เซลล์มะเร็งเต้านม MDA-MB-231 เซลล์มะเร็งตับ SMMC-7721 เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร SGC-7901 เซลล์มะเร็งหลอดอาหาร Eca-109 และเซลล์มะเร็งปอด SK-MES-1 โดยสารสกัดดังกล่าวแสดงผลการยับยั้งต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ SW480 ได้เป็นอย่างดี โดยมีค่า IC 50ที่ 50.77 μg/mL นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่าสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของมะเมื่อย ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านแบคทีเรีย อีกทั้งยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟาอะไมเลสและอัลฟากลูโคชิเดส ซึ่งมีส่วนช่วยในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะเมื่อย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้มะเมื่อย เป็นยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม ตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง มะเมื่อย
  1. เมื่อย. หนังสือสมุนไพร พื้นบ้านล้านนา, ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 119.
  2. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ, เมื่อย. หนังสือสมุนไพรอุทยานแห่งชาติภาคกลาง, หน้า 127.
  3. ภูวดล บุตรรัตน์ และอาคม วังเมือง, ผลของอุณหภูมิและสารควบคุมการเจริญเติบโตบางชนิดที่มีต่การเจริญของเอ็มบริโอและการงอกของเมล็ดพืชสกุลนีตั้ม, การประชุมวิชาการนเรศวรวิจัยครั้งที่ 3. 28-29 กรกฎาคม 2550. มหาวิทยาลัยนเรศวร
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพรไทยเขตอีสานได้ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อยขาว, (ออนไลน์), 2025, แหล่งที่มา: http://phar.ubu.ac.th/herb-DetailPhargarden/267.
  5. Qin Wang, L., Xing Zhao, Y., Zhou, L., et al. Lignans from Gnetum montanum Markgr.f.megalocarpua, Chem Nat Compd, vol. 45, pp. 424-426, May. 2009. https://doi.org/10.1007/s10600-009-9325-y
  6. H.M. Tran, D.H. Le, V.T. Nguyen, T.X. Vu, N.T.K. Thanh, D.H. Giang, et al.Penicillium digitatum as a model fungus for detecting antifungal activity of botanicals: an evaluation on vietnamese medicinal plant extracts J. Fungi, 8 (9) (2022), p. 956
  7. W.Y. Jin, B. Liu, S.Z. Zhang, T. Wan, C. Hou, Y. Yang Gnetum chinense, a new species of Gnetaceae from southwestern China PhytoKeys, 148 (2020), pp. 105-117
  8. Li X. M., Lin M., Wang Y. H., Liu X., Four new stilbenoids from the lianas of Gnetum montanum f. megalocarpum, Planta Med, vol. 70(2): pp. 160-165, Feb. 2004
  9. Vu Thi Lan Phuong, Research on chemical compositions of Gnetum montanum Markgr, Hai Phong University Science Journal vol. 34(5), pp. 45-50, 2019