สกุณี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สกุณี งานวิจัยและสรรพคุณ 7 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สกุณี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แหนแดง, แฮ้น (ภาคเหนือ), สัตคุณี (ภาคกลาง), ขี้มอด, ปีกนก, แหน (ภาคอีสาน), ตีนนก, เปียแคร้ (ภาคตะวันออก), ตาโหลน, ประคำขี้ควาย, แฮ้น (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Teminallia Calamansanai (Blanco) Rolfe.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gimbernatia calamansanai Blanco.
ชื่อสามัญ Yellow terminalia, Philippine almond


ถิ่นกำเนิดสกุณี

สกุณี จัดเป็นไม้ประจำถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการกระจายพันธุ์ในไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบสกุณี ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักจะพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ 400 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณสกุณี

  1. บำรุงหัวใจ
  2. แก้ตกเลือดในสตรี
  3. ใช้ขับนิ่ว
  4. แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  5. ใช้แก้ตานซางในเด็ก
  6. แก้ท้องร่วง
  7. ใช้ใบป้องกันโรคตับ และตับอักเสบ

           เนื้อไม้ของสกุณี ไม่ค่อยทนทาน แต่ยังมีการนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือน ที่ไม่อาศัยความแข็งแรง หรือ ใช้ในการก่อสร้างภายในตัวอาคารที่ไม่ต้องการความแข็งแรงมากนัก

สกุณี

สกุณี

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ตกเลือด แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ โดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้เปลือกต้นหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากให้แห้งนำมาชงน้ำร้อนดื่มก็ได้
  • ใช้แก้ตานซางในเด็ก โดยนำเปลือกต้นสกุณีผสมกับรากต้นรัก ดอกขาว นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ส่วนในต่างประเทศมีการใช้สกุณี แก้ท้องร่วง ในฟิลิปปินส์ ในไต้หวัน ใช้ใบป้องกันโรคตับ และตับอักเสบ เป็นต้น


ลักษณะทั่วไปของสกุณี

สกุณี จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ต้นมีความสูงได้ประมาณ 8-30 เมตร โดยจะแตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอด ซึ่งจะมีลักษณะแผ่กว้างแบน และมักมีพูพอนขนาดเล็กที่โคนต้น ลำต้นค่อนข้างตรง เปลือกต้นแตกล่อนเป็นสะเก็ด หรือ เป็นร่องตื้นๆ ตามยาว เปลือกต้นมีสีน้ำตาลอมเทา ส่วนเปลือกในเป็นสีน้ำตาล บริเวณกิ่งอ่อนก้านใบ และยอดอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม

           ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับตามข้อของลำต้น โดยจะออกอัดกันแน่นใกล้ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 9-18 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบ ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบมีสีเขียว ค่อนข้างเหนียว และหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนนุ่มขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน หลังใบด้านบนมักเป็นมันเงา และมีตุ่มเล็กๆ บนผิวใบมีเส้นกลางใบนูนด้านบน 6-8 เส้น ส่วนท้องใบด้านล่างมีนวลสีน้ำตาลเทา และมีก้านใบเรียว ยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร

           ดอกเป็นช่อเชิงลดบริเวณซอกใบและปลายยอด โดยช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร มีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ดอกมีกลิ่นเหม็นเป็นสีเหลืองอ่อน หรือ สีขาวแกมเหลือง ไม่มีกลีบดอก แต่มีกลีบเลี้ยงรูปถ้วยตื้นๆ ที่โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ เป็นลักษณะของกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ด้านในมีขนยาวประปราย ปลายกลีบโค้งเข้า หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 0.5-0.8 มิลลิเมตร ดอกเพศผู้จะอยู่ส่วนปลายช่อ ร่วงง่าย มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวประมาร 3-4 มิลลิเมตร จานฐานดอกเป็นแฉก และมีรังไข่ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร อยู่ใต้วงกลีบ รูปพีระมิดมี 1 ช่อง มีออวุล 2-3 เม็ด ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร มีขนขึ้นปกคลุม

           ผลเป็นผลแห้งผนังชั้นในเข็ง ผลมีลักษณะเป็นรูปรี หรือ รูปขอบขนานแกมสามเหลี่ยม มี 2 ปีก กว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 3.5-5 เซนติเมตร รวมปีกด้านล่างมีสันผลจะไม่แตก ด้านใบผลมีเมล็ดเดี่ยว

สกุณี

การขยายพันธุ์สกุณี

สกุณี สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง สำหรับการขยายพันธุ์ของสกุณี ในปัจจุบันนั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการขยายพันธุ์โดยมนุษย์ เนื่องจากสกุณีเป็นพันธุ์ไม้ที่ค่อนข้างมีความสูงมาก และเนื้อไม้ค่อนข้างเปราะ ไม่แข็งแรงเท่าไหร่ จึงไม่นิยมนำมาปลูกในบริเวณบ้าน ทั้งนี้สกุณี เป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบแสงแดด สามารถขึ้นได้ดีในทุกสภาพดิน และยังสามารถทนแล้งได้ดีอีกด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดสกุณี จากส่วนใบ พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกัดอะซิโตร 70% จากส่วนใบของสกุณี พบสาร 1-a-O-galloylpunicalagin, punicalagin, 2-O-galloylpunicalin, and sanguiin H-4 และ methyl gallate เป็นต้น ส่วนสารสกัดเมทานอลจากใบพบสาร calamanin A-C, calamansanin, sanguiinH-1, punicalin, preacoxin A, tellimagrandin I และ rugosin A-B เป็นต้น 

โครงสร้างสกุณี

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสกุณี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดอะซิโตน 70% จากส่วนใบของสกุณีระบุว่ามีฤทธิ์เหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งของสาร ellagitannins โดยสารในกลุ่ม ellagitannins ที่แยกได้จากต้นสกุณี (Terminalia calamansanai) ได้แก่ 1-α-O-galloylpunicalagin, 2-O -galloylpunicalin, punicalagin และ sanguiin H-4 ที่ความเข้มข้น 100 ไมโครโมล เมื่อนำมาทดสอบกับเซลล์มะเร็ง HL-60 (มะเร็งเม็ดเลือดขาว) พบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 65.2, 74.8, 42.2 และ 38.0 ไมโครโมล ตามลำดับ และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งแบบ apoptosis โดยทำให้เกิดการแตกหักของ DNA (DNA fragmentation) และกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ caspase 3 แต่จะไม่มีผลต่อเซลล์ปกติ (human peripheral blood mononuclear cells) 

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สาร punicalagin ที่พบในสกุณีนั้นยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระแบบสเตรดในเซลล์รังไข่หนูแฮมสเตอร์ที่เลี้ยง และยังมีผลในการป้องกันความเป็นพิษต่อพันธุ์กรรมที่เกิดจาก Bleomycin อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของสกุณี

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้สกุณีเป็นสมุนไพรนั้นเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย และยังไม่มีการศึกษาทางพิษวิทยา ดังนั้นในการใช้ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง สกุณี
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “สกุณี ”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 172.
  2. สกุณี. พืชกินได้ในป่าสะแกราช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). หน้า 105-106
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “สกุณี”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 739-740.
  4. ฤทธิ์เหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งของสาร ellagitannins จากต้นสกุณี. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. Chen, P.S., Li, J.H., 2004. Chemopreventive effect of punicalagin, a novel tannin component isolated from Terminalia catappa, on H-ras-transformed NIH3T3 cells. Toxicology Letters 163, 44–53
  6. Chen L., Qi J., Chang Y. X., Zhu D., Yu B. Identification and determination of the major constituents in Traditional Chinese Medicinal formula Danggui-Shaoyao-San by HPLC-DAD-ESI-MS/MS. Journal of Pharmaceutical and Biomedical Analysis. 2009;50(2):127–137. doi: 10.1016/j.jpba.2009.03.039
  7. Chen, P.S., Li, J.H., Liu, T.Y., Lin, T.C., 2000. Folk medicine Terminalia catappa and its major tannin component, punicalagin, are effective against bleomycin-induced gentotoxicity in Chinese hamster ovary cells. Cancer Letters 152, 115–122.
  8. Nanakorn, W. (1985). The genus Terminalia (Combretaceae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany) 15: 83-85.
  9. Gil, M.I., Tomas-Barberan, F.A., Hess-Pierce, B., Holcroft, D.M., Kader, A.A., 2000. Antioxidant activity of pomegranate juice and its relationship with phenolic composition and processing. Journal of Agricultural and Food Chemistry 48, 4581-4589.
  10. Tanaka T., Morita A., Nonaka G.-i. Tannins and related compounds. CIII. isolation and characterization of new monomeric, dimeric and trimeric ellagitannins, calamansanin and calamanins A, B and C, from Terminalia calamansanai (BLANCO) ROLFE. Chemical and Pharmaceutical Bulletin. 1991;39(1):60–63. doi: 10.1248/cpb.39.60.