มะกอกน้ำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
มะกอกน้ำ งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ
ชื่อสมุนไพร มะกอกน้ำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สารภีน้ำ (ภาคกลาง), สมอพิพ่าย (ทั่วไป, ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Elaeocarpus hygrophilus Kurz.
วงศ์ ELAEOCARPACEAE
ถิ่นกำเนิดมะกอกน้ำ
มะกอกน้ำ จัดเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย โดยมีเขตการกระจายพันธุ์บริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปทุกภาคแต่จะพบได้มากในภาคกลางบริเวณที่ชุ่มชื้นใกล้แหล่งน้ำ ลำห้วย หรือ ตามป่าโกงกางทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณมะกอกน้ำ
- ช่วยฟอกโลหิตหลังคลอด
- แก้เสมหะในลำคอ
- แก้กระหายน้ำ
- ช่วยทำให้ชุ่มคอ
- ช่วยในการระบาย
- ใช้บำรุงธาตุ
- แก้เสมหะในลำคอ
- แก้พิษโลหิต
- แก้พิษกำเดา
- แก้ริดสีดวงในลำคอ
- บำรุงร่างกาย
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ เพราะเป็นไม้ที่ปลูกง่าย โตเร็ว เรือนยอดโปร่งเป็นทรงพุ่มกลมกว้าง ออกดอกขาวเต็มต้นดูสวยงาม ผลดิบและผลแก่ของมะกอกน้ำ มีรสเปรี้ยวอมฝาด สามารถนำมากินกับน้ำปลาหวาน หรือ นำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น ดองหวาน ดองเค็ม เชื่อม แช่อิ่ม เป็นต้น
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้ฟอกโลหิตหลังคลอด โดยนำเปลือกต้นแห้งมาชงกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้เสมหะในลำคอ แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ โดยนำผลดิบ หรือ ผลสุกมะกอกน้ำ มารับประทานสดเป็นผลไม้
- ใช้ช่วยในการระบายโดยนำผลมาดองรับประทาน
- ใช้บำรุงธาตุ แก้พิษโลหิต แก้พิษกำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอ โดยนำดอกแห้งมาต้มน้ำดื่ม หรือ ชงน้ำดื่มก็ได้
ลักษณะทั่วไปของมะกอกน้ำ
มะกอกน้ำ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ผลัดใบมีความสูงของต้นประมาณ 3-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากโดยจะแตกเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบสีน้ำตาล มีรูอากาศเป็นแนวยาวและมีรอยแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามความยาวของลำต้นและตามกิ่งมีรอยแผลใบชัดเจน
ใบมะกอกน้ำ เป็นใบเดี่ยวลักษณะเป็นรูปไข่กลับ โดยจะออกแบบเรียงเวียนสลับบริเวณปลายกิ่ง ใบมีสีเขียวมีความกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร โคนสอบแคบเรียวแหลมติดก้านใบ ปลายใบมน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ท้องใบและหลังใบเรียบ ใบแข็งและหนาเป็นมัน มีเส้นใบสีขาวและมีก้านใบสีแดงยาว 0.5-2 เซนติเมตร
ดอกมะกอกน้ำ ออกเป็นช่อบริเวณซอกใบโดยช่อดอกจะยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยสีขาวประมาณ 10-20 ดอก ดอกย่อยมีลักษณะห้อยลงคล้ายระฆังคว่ำขนาดประมาณ 4-8 มิลลิเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ กว้าง 3-4 มิลลิเมตร และยาว 5-8 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกจัดเป็นฝอยเล็กๆ และมีกลีบเลี้ยงดอกสีเขียว 5 กลีบ ภายในดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 15-25 ก้าน มีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน
ผลมะกอกน้ำ เป็นผลสดแบบมีเนื้อลักษณะทรงกลมรี หรือ รูปไข่มีสีเขียวกว้าง 1.5-2 เซนติเมต รและยาว 3-4 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเกลี้ยงปลายผลเรียวแหลม เนื้อในอ่อนนุ่ม มีรสเปรี้ยวอมฝาด ผลสุกมีสีส้ม หรือ สีแดงเข้ม มีรสเปรี้ยวอมหวานและฝาดเล็กน้อย ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด มีลักษณะรูปกระสวย หรือ รูปรี สีน้ำตาลอ่อนเมล็ดขรุขระและแข็ง ปลายเรียวแหลม
การขยายพันธุ์มะกอกน้ำ
มะกอกน้ำสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง แต่มีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ การตอนกิ่ง เนื่องจากสามารถทำได้ง่าย เติบโตเร็วและให้ผลเร็วกว่าต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด สำหรับวิธีการตอนกิ่งมะกอกน้ำ นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการตอนกิ่งไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้มะกอกน้ำเป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื่นสูง ดังนั้นการปลูกมะกอกน้ำควรคำนึงถึงสถานที่ปลูกที่มีความชุ่มชื้นสูง หรือ อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดมะกอกน้ำ จากใบ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Epigallocatechin gallate, Epigallocatechin, Chlorogenic acid, Dimethyl phthalate, Myricitrin, Luteolin-4’-O-glucoside, Kaempferol-3-O-glucoside, Quercitrin, Dihydroactinidiolide, Afzelin, Phenylethyl primeveroside, Prosopine, Phytosphingosine และ Oxophytodienoic acid เป็นต้น นอกจากนี้ผลของมะกอกน้ำยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของมะกอกน้ำ (ผลดิบ) (100 กรัม)
- พลังงาน 8.6 แคลอรี่
- ไขมัน 0.3 กรัม
- คาโบไฮเดต 22.3 กรัม
- ใยอาหาร 0.5 กรัม
- โปรตีน 1 กรัม
- วิตามิน A 375 หน่วยสากล
- วิตามิน B1 0.09 มิลลิกรัม
- วิตามิน B2 0.05 มิลลิกรัม
- วิตามิน B3 0.4 มิลลิกรัม
- วิตามิน C 49 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 14 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.9 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะกอกน้ำ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนใบของมะกอกน้ำ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการเช่น มีฤทธิ์ต้านไวรัส (โดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่ influenza) มีฤทธิ์ปกป้องระบบประสาทส่วนต่างๆ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของมะกอกน้ำ
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้มะกอกน้ำเป็นสมุนไพร ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดและปริมาณที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง มะกอกน้ำ
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “มะกอกน้ำ”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 147.
- นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะกอกน้ำ ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 133
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “มะกอกน้ำ (Ma Kok Nam)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 212.
- อดิศักดิ์ จูมวงษ์, ภัทรศรี เนืองเสน, บุญมี นากรณ์. การศึกษาคุณภาพทางกายภาพและทางเคมีของผลมะกอกน้ำ. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตรปีที่ 49. ฉบับที่ 1 (พิเศษ). มกราคม-เมษายน 2561 หน้า 479-482
- มะกอกน้ำ. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.[hargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=88
- Bindu TK, Udayan PS (2018) LC-MS Profiling of methanolic extract of Pueraria tuberosa (Roxb. ex Willd) DC. tubers. Int J Hortic Agric Food Sci 2:190-198
- Lee SY, Lee IK, Choi SU, Lee KR (2012) A new megastigmane glu-coside from the aerial parts of Erythronium japonicum. Nat Prod Sci 18:166-170
- Kasem P. 1996. Flooding Tolerant Fruit (Tree) (Elaeocarpus hygrophilus Kurz.). Sci. & Tech. J. 5: 1: 16-18.
- Glauser G, Grata E, Rudaz S, Wolfender J (2008) High-resolution profiling of oxylipin-containing galactolipids in Arabidopsis extracts by ultra-performance liquid chromatography/time-of-flight mass spectrometry. Rapid Commun Mass Spectrom Int J Devoted to Rapid Dissem up-to-the-Minute Res Mass Spectrom 22:3154-3160
- Saleem H, Htar TT, Naidu R etal (2019) Biological, chemical and toxicological perspectives on aerial and roots of Filago germanica (L.) huds: Functional approaches for novel phyto-pharmaceuticals. Food Chem Toxicol 123:363-373
- Athiya R. and S. Thanaboon. 2007. Effect of Spanish Plum (Elaeocarpus hygrophilus Kurz.) Maturity on Total Phenolics, Flavonoids and Antioxidant Activity. Agricultural Sci. J.38: 5(Suppl): 127-130.
- Singh S, Verma SK (2012) Study of the distribution profile of piperi-dine alkaloids in various parts of Prosopis juliflora by the applica-tion of Direct Analysis in Real Time Mass Spectrometry (DART-MS). Nat Products Bioprospect 2:206-209.