ชำมะเลียง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ชำมะเลียง งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ชำมะเลียงบ้าน, พุมเรียง, พุมเรียงสวน (ภาคกลาง), มะเถ้า, ผักเต้า (ภาคเหนือ), มะเกียง, ภูเวียง, หวดข้าใหญ่ (ภาคอีสาน), โคมเรียง (ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepisanthes fruticose (Roxb.Leenh.)
ชื่อสามัญ Luna nut
วงศ์ SAPINDACEAE
ถิ่นกำเนิดชำมะเลียง
ชำมะเลียง เป็นพืชในวงศ์ SAPINDACEAE ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนชื้น (tropical) บริเวณเส้นศูนย์สูตรในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการแพร่กระจายพันธุ์จากอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม สำหรับในประเทศไทยถือว่าเป็นพืชท้องถิ่นสามารถพบชำมะเลียง ได้ทั่วทุกภาคของประเทศแต่จะพบได้มากในภาคใต้ บริเวณป่าดิบเขาป่าโปร่ง ป่าชายเลนตามแนวชายป่า หรือ ริมลำธาร ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,000 เมตร
ประโยชน์และสรรพคุณชำมะเลียง
- แก้พิษไข้
- แก้ไข้กาฬ
- แก้ไข้เหนือ
- แก้ไข้จับสั่น
- แก้ร้อนใน
- แก้เลือดกำเดาไหล
- แก้ไข้สันนิบาต
- แก้ไข้กำเดา
- แก้ท้องผูก
- แก้โรคระบบทางเดินอาหาร
- แก้ร้อนใน
- แก้กระสับกระส่าย
- แก้โรคท้องเสียในเด็ก
- ช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหารเป็นปกติ
- แก้ร้อนในกระหายน้ำ
- แก้ท้องร่วง
มีการนำส่วนต่างๆ ของชำมะเลียง มาใช้ ประโยชน์หลายด้านดังนี้ ผลสุกมีรส ฝาด ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ใบอ่อน หรือ ยอดอ่อน มีการนำมาทำอาหารประเภทต่างๆ เช่น แกงใส่ผักรวม แกงเลียง หรือ นำมารับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก หรือ นำมาลวกต้มจิ้มกันกับน้ำพริกก็ได้ ผลสุกสามารถนำมาใช้เป็นสีผสมอาหารได้ โดยนำมาสกัดจะให้สีม่วง
นอกจากนี้ปัจจุบันยังพบว่ามีการปลูกชำมะเลียงไว้เป็นไม้ประดับ เนื่องจากชำมะเลียง มีใบสีเขียวเข้มทั้งปี (ไม่ผลัดใบ) เมื่อมีผลก็มีสีม่วงสด ตัดกับสีของใบดูสวยงามสบายตาและมีความร่มรื่นตลอดปี
รูปแบบและขนาดวิธีการใช้
- ใช้แก้ไข้ แก้ไข้เหนือ ไข้กาฬ ไข้พิษ ไข้สันนิบาต ไข้จับสั่น ไข้กำเดา แก้ท้องผูก แก้โรคระบบทางเดินอาหาร แก้ร้อนใน แก้กระสับกระส่าย โดยนำรากชำมะเลียงมาต้มกับน้ำ
- ใช้แก้ท้องร่วง ท้องเสีย ใช้เป็นยาฝาดสมานในเด็กและผู้ใหญ่ โดยนำผลสุกของชำมะเลียง มารับประทานเป็นผลไม้ หรือ นำผลสุกมาต้มคั้นเอาน้ำกินแก้ร้อนในกระหายน้ำ
- ในมาเลเซียมีการนำรากของชำมะเลียงมาใช้เป็นยาแปะเพื่อลดอาการคันและลดไข้ อีกทั้งนำรากของชำมะเลียงมาทำเป็นชาดื่มเพื่อป้องกันโรคไขข้อและปวดหลัง
ลักษณะทั่วไปของชำมะเลียง
ชำมะเลียง จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 5-8 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีขนสีน้ำตาลและมีร่องอากาศบริเวณกิ่ง
ใบชำมะเลียง เป็นใบประกอบแบบขนนก (evenpinnate) ออกเรียงตัวแบบสลับมีใบย่อย 5-7 คู่ โดยจะย่อยออกเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะใบย่อยเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กลับสีเขียวเข้มกว้าง 2-8 เซนติเมตร ยาว 9-30 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลมทู่ ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยง แผ่นใบหนา มีหูใบ แผ่เป็นแผ่น รูปเกือบกลม ขนาดกว้าง 2-3.5 เซนติเมตร เรียงเวียน ซ้อนกันบริเวณโคนก้านใบใกล้ปลายยอด
ดอกชำมะเลียง ออกเป็นช่อบริเวณกิ่ง หรือ ซอกใบ ช่อดอกยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศและไม่สมบูรณ์เพศมีสีม่วงอมแดง หรือ ขาว ดอกมี 4 กลีบ รูปไข่ หรือ รูปไข่กลับ ยาว 1.5-3 มิลลิเมตร เมื่อดอกบานจะกว้าง 5-7 มิลลิเมตร ขอบมีขนครุย มีเกสรเพศผู้มี 5-8 อัน ก้านชูอับเรณูสั้นและมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปรีกว้าง ยาว 2-4 มิลลิเมตร
ผลชำมะเลียง เป็นผลสดออกเป็นพวง พวงละประมาณ 20-30 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม รูปไข่ หรือ รูปรีป้อม ขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลดิบเป็นสีเขียวอมม่วงแดง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ เนื้อผลฉ่ำน้ำ มีรสหวาน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด (แต่โดยมากจะมี 2 เมล็ด) เมล็ดมีลักษณะรูปไข่แบนปนขอบขนาน สีดำผิวเรียบ มีขนาดกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร และยาว 2-2.5 เซนติเมตร
การขยายพันธุ์ชำมะเลียง
ชำมะเลียงสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งชำมะเลียงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีการขยายพันธุ์ง่าย ขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิดแต่จะขึ้นได้ในดินเค็ม ส่วนใหญ่การแพร่กระจายพันธุ์จะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ อีกทั้งชำมะเลียงยังเป็นพืชที่ชอบแสงแดด มีความทนทานโรคและแมลงศัตรูพืชได้ดีอีกด้วย
สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดชำมะเลียง นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ (เช่น มะเกี๋ยง และหว้า) ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี ใบและผลของชำมะเลียง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายกลุ่มเช่น anthocyanin, triterpenes, flavonoids, tannin และ phenolic compounds โดยมีรายละเอียดดังนี้ พบสารกลุ่ม Flavanol ได้แก่ Gallocatechin, Epicatechin, Neoastilbin, Rutin, Quercetin-3-sulphate, Buddlenoid A, Hibiscetin-3-O-glucoside, Kaempferol-3,7-diglucoside, Quercetin-3-galactoside-7-glucoside พบสารกลุ่ม Anthocyanin ได้แก่ Luteolinidin พบสารกลุ่ม Tannin ได้แก่ Procyanidin B2, Procyanidin B3, Arecatannin A1, Arecatannin A2 และพบสารอื่นๆ อีกได้แก่ Mangiferin, 6-gingerol, Ellagic acid, gallic acid และ hyaluronic acid เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของชำมะเลียงบ้าน
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของในผล และสารสกัดชำมะเลียง จากผล ในต่างประเทศ ระบุว่ามีฤทธิ์ของเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
มีการศึกษาวิจัย ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดโดยใช้ส่วนเมล็ดและเนื้อของชำมะเลียงกับตัวทำละลายต่างๆ เฮกเซน คลอโรฟอร์ม เอทิลอะซีเตต และเอทานอล พบว่าสารสกัดหยาบเมทานอลจากเมล็ดของชำมะเลียง มีฤทธิ์ยับยั้งสูงสุดอย่างมีนัยสำคัญ (IC 50 1.873 ไมโครกรัม/มล.) เมื่อเทียบกับอะคาร์โบส ซึ่งในสารสกัดเอทานอลพบว่ามีปริมาณฟีนอลิกสูง (120.204 มก. GAE/g) โดยที่ฟลาโวนอยด์และแทนนินเป็นฟีนอลิกหลักที่อาจมีส่วนในการลดระดับน้ำตาลในเลือด
นอกจากนี้ยังมีรายงานฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของชำมะเลียง ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านท้องเสีย ฤทธิ์ลดไข้ ฤทธิ์ชะลอวัย ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพและฤทธิ์แก้ปวด เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของชำมะเลียง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้ชำมะเลียงเป็นยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่พอเหมาะตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงข้อควรระวัง ในการรับประทานผลสุกของชำมะเลียงเอาไว้ว่า ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไปเพราะอาจทำให้ท้องผูกได้ ส่วนเคล็ดในการรับประทานผลสุกของชำมะเลียง คือ ก่อนรับประทานควรคลึงเบาๆ ให้ทั่วผล จะสามารถลดรสฝาดลงได้
เอกสาร อ้างอิงชำมะเลียง
- เศรษฐมันต์ กาญจนกุล. ชำมะเลียง ใน ผลไม้ในเมืองไทย. กทม. เศรษฐศิลป์. 2555 หน้า 35
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ชำมะเลียง (Chamma Liang)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 105.
- นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์.ชำมะเลียง ใน ผลไม้ 111 ชนิด : คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 67
- จรรยพัฒน์ แสงสุวรรณ. การแยกกรดไฮยาลูรอนิคและอนุพันธ์จากต้นชำมะเลียงที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านเอนไซปอะซิทิลโคลีนเอสเตเรส. รายงานการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. ปีงบประมาณ 2558. 39 หน้า
- Lim T.K. Edible Medicinal and Non-Medicinal Plants: Volume 6, Fruits. Springer; Dordrecht, The Netherlands: 2013. pp. 656-687. [CrossRef] [Google Scholar]
- Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001. 810 p.(317)
- Ghazalli M.N., Talib N., Mohammad A.L. Leaf Micro-Morphology of Lepisanthes Blume (Sapindaceae) in Peninsular Malaysia. AIP Conf. Proc. 2018;1940:020038. doi: 10.1063/1.5027953. [CrossRef] [Google Scholar]
- Van welzen,P.C.(1999)Sapindaceae.In Flora of Thailand Vol.7(1):213-214.
- Zhang Y., Wong A.I.C., Wu J., Abdul Karim N.B., Huang D. Lepisanthes Alata (Malay Cherry) Leaves Are Potent Inhibitors of Starch Hydrolases Due to Proanthocyanidins with High Degree of Polymerization. J. Funct. Foods. 2016;25:568-578. doi: 10.1016/j.jff.2016.06.035. [CrossRef] [Google Scholar]
- Umadevi I, Daneil M, 1991, Chemosytematic of Sapindaseae, FeddersRepertorism
- Boonsuk B., Chantaranothai P. A New Record of Lepisanthes Blume for Thailand and Lectotypification of Two Names in Otophora Blume (Sapindaceae) Thai For. Bull. 2016;44:22-25. doi: 10.20531/tfb.2016.44.1.05. [CrossRef] [Google Scholar]
- Wetwitayaklung P., Charoenteeraboon J., Antioxidant Activities of some Thai fruits Cultivated in Thailand, RJP, Biology and Chemical sciences,3(1) p.12-21
- Salahuddin M.A.H., Ismail A., Kassim N.K., Hamid M., Ali M.S.M. Phenolic Profiling and Evaluation of in Vitro Antioxidant, α-Glucosidase and α-Amylase Inhibitory Activities of Lepisanthes Fruticosa (Roxb) Leenh Fruit Extracts. Food Chem. 2020;331:127240. doi: 10.1016/j.foodchem.2020.127240. [PubMed] [CrossRef] [Google Scholar]