วิตามินรวม
วิตามินรวม
ชื่อสามัญ Multivitamin (MTV)
ประเภทและข้อแตกต่าง
วิตามินรวม หรือ มัลติวิตามิน (Multivitamin) จัดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่นำมาใช้เสริมสร้างสุขภาพร่างกาย ประกอบไปด้วย วิตามินและเกลือแร่ หรือ แร่ธาตุต่างๆ ซึ่งปกติวิตามินรวมจะหมายถึงวิตามินที่มีองค์ประกอบของวิตามินและเกลือแร่ตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป วิตามินรวมหมายถึงวิตามินเสริมที่ประกอบด้วยวิตามินหลายชนิดที่สามารถพบได้ในอาหารที่รับประทานในแต่ละวันซึ่งนำมารวมกันไว้ใน 1 เม็ด โดยจะนำมาใช้ในกรณีที่อาจได้รับวิตามินจากอาหารไม่เพียงพอ หรือ ใช้รักษาเมื่อร่างกายเกิดภาวะขาดวิตามินเกิดจากอาการป่วยบางชนิด สำหรับประเภทของวิตามินรวม นั้นสามารถจำแนกได้หลายประเภท เช่น แบบเม็ด แบบแคปซูล ซอฟเจล เม็ดฟู่ แบบน้ำ หรือ แบบเยลลี่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหลายสูตรตามสูตรแต่ละบริษัท ซึ่งจะมีชนิดวิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ แตกต่างกันไป แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่มักจะมีองค์ประกอบของวิตามินและเกลือแร่ดังต่อไปนี้ วิตามินที่ละลายในน้ำได้เช่น วิตามินซี วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินบี5 วิตามินบี7 วิตามินบี9 วิตามินบี12 วิตามินที่ละลายในไขมันเช่น วิตามินA, D, E, K และในกลุ่มแร่ธาตุเช่น สังกะสี แมกนีเซียม แคลเซียม แมงกานีส เบต้าแคโรทีน โครเมียม โบลิบดีนับ
แหล่งที่พบและแหล่งที่มา
วิตามินรวม (Multivitamin) จัดเป็นวิตามินที่รวมเอาวิตามิน และเกลือแร่รวมถึงแร่ธาตุหลายชนิดมารวมกันไว้ในที่เดียวดังนั้นแหล่งที่มาของวิตามินรวม จึงมีที่มาหลากหลายตามวิตามินที่นำมาใช้เป็นสูตร เช่น วิตามิน A พบมากใน น้ำตับมันปลา ไข่และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำนมและพืชที่มีแคโรทีนมากเช่น พืชใบเขียว หัวแครอท หัวมันเทศ เมล็ดข้าวโพด เป็นต้น วิตามินซีพบมากในผักและผลไม้หลายชนิดเช่น ฝรั่ง มะขามป้อม ส้ม เชอร์รี่ บล็อคโคลี่ พริกหวาน และปวยเล้ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการสังเคราะห์ทางเคมีเพื่อให้ได้วิตามินอีกหลายชนิดแทนการสกัดจากธรรมชาติ ดังนั้นในวิตามินรวมบางบริษัท หรือ บางยี่ห้ออาจมีการนำวิตามินบางชนิดมาเป็นส่วนประกอบ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าวิตามินแบบสังเคราะห์ไม่ดีเพียงแต่ว่าวิตามินจากธรรมชาติมีข้อดีเกี่ยวกับการดูดซึม และมีสารอาหารชนิดอื่นเพิ่มเติมมากกว่า
ปริมาณที่ควรได้รับ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าวิตามินรวม (Multivitamin) มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบเม็ด แบบน้ำ แคปซูล ซอฟเจล เม็ดอม เม็ดฟู่ เจลลี่ รวมถึงแบบฉีด ดังนั้นปริมาณการใช้จึงแตกต่างกันไปตามรูปแบบของวิตามินรวม อีกทั้งสูตรของวิตามินรวม ในแต่ละสูตรยังมีความแตกต่างบางชนิดและสัดส่วนวิตามินที่นำมาเป็นส่วนผสมจึงทำให้ปริมาณการใช้ก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน ในที่นี้จะยกตัวอย่างวิตามินรวมที่ใช้ในโรงพยาบาลโดยมีข้อบังคับใช้ คือ เป็นยาที่ใช้หลังได้รับวิตามิน หรือ แร่ธาตุที่ไม่มีความเพียงพอ จากการรับประทานอาหาร โดย multivitamin ใช้ในการรักษาภาวะการขาดเนื่องจากการป่วย ตั้งครรภ์ โภชนาการไม่ดี รวมถึงปัญหาทางระบบการย่อยด้วย และอีกทั้งยังมีการใช้ด้วยเหตุผลอื่น โดยในแต่ละเม็ดประกอบด้วย Vitimin A 2,500 ยูนิตสากล Thaimin HCL B1 1 มิลลิกรัม Riboflavin B2 0.5 มิลลิกรัม Nicotinamide B3 7.5 มิลลิกรัม วิตามิน D 300 ยูนิตสากล วิตามินซี 15 ยูนิตสากล ส่วนขนาดและวิธีการใช้ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้งเป็นต้น
ประโยชน์และโทษ
สำหรับประโยชน์ของวิตามินรวม (Multivitamin) นั้น วิตามินรวมมีข้อบ่งใช้เพื่อรักษา หรือ ป้องกันการขาดวิตามินและแร่ธาตุ หรือ เพื่อรักษาภาวะขาดวิตามินที่เกิดจากอาการป่วยบางชนิด หรือ ผู้ที่อยู่ในระหว่างพักฟื้น หรือ หลังผ่าตัดรวมถึงผู้สูงอายุมีแนวโน้มขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด อีกทั้งยังใช้เป็นยาร่วมรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ชะลอความเสื่อมตามอวัยวะร่างกายเช่น ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารเสริมที่ใช้รับประทานเพื่อลดน้ำหนัก เสริมสร้างสมรรถภาพการทำงานของร่างกายและสมอง นอกจากนี้หากจะกล่าวถึงประโยชน์หลักอย่างแท้จริงในเชิงลึกของวิตามินรวมนั้นก็จะขึ้นอยู่กับชนิดและสัดส่วนของวิตามินเกลือแร่ และแร่ธาตุที่ใช้เป็นส่วนประกอบภายในสูตร ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ วิตามินเอ มีบทบาทสำคัญต่อการมองเห็นและสามารถช่วยป้องกันโรคตาบอดกลางคืน (Nightblindness) และโรคตาบวมอักเสบ ช่วยรักษาเยื่อบุในระบบการหายใจ ทางเดินอาหาร นัยน์ตาและเยื่อบุอื่นๆ ให้แข็งแรง มีความต้านทานต่อโรค ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์เอพิทีเลียมและคงสภาพของเซลล์นั้น วิตามินบี 1 เป็นส่วนประกอบของโคเอนไซม์ carboxylase ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสาร pyruvate ให้เป็น acetate ดังนั้น วิตามินบี 1 จึงจำเป็นจึงจำเป็นต่อการใช้ประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรตเพื่อเป็นการป้องกันโรคเหน็บชาและป้องกันโรคสันนิบาต วิตามินบี2 เป็นวิตามินที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำย่อยหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการย่อยคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน โดยจะเป็นส่วนประกอบของ coenzyme สองชนิด คือ Flavine mononucleotide และ flavin ademine dinucleotide วิตามินบี2 จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต วิตามินบี 3 หรือ ไนอะซินมีความสำคัญในการสร้างเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการเผาผลาญอาหาร ช่วยบำรุงรักษาระบบการย่อยอาหาร การสังเคราะห์กรดไขมันและคอเลสเตอรอล ช่วยทำให้ผิวหนังสามารถเจริญตามปกติอีกทั้งยังช่วยสร้างเส้นประสาทที่สมบูรณ์ วิตามินซี เป็นวิตามินช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน สร้างคอลลาเจน ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลัง เต่งตึง และยังจำเป็นต่อการ natabolism ของ tyrosine และจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลง folic acid ให้เป็น folinic acid วิตามินอี ช่วยป้องกันการอักเสบ ต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการแตกและอุดตันของเม็ดเลือด เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ วิตามินดี ช่วยเสริมการสร้างกระดูก และฟัน ดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของวิตามินรวม
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวิตามินรวม (Multivitamin) นั้น จากการศึกษาค้นคว้าส่วนใหญ่จะไม่พบการศึกษาวิจัยในรูปแบบวิตามินรวมแต่จะพบเพียงรายงานการวิจัยในรูปแบบวิตามินเดี่ยวๆ เช่น วิตามิน A, วิตามิน B, วิตามิน C, วิตามิน D เป็นต้น สำหรับวิตามินรวมนั้นจะพบเพียงข้อควรระวังการรับประทานวิตามินเกินขนาด โดยมีการระบุไว้ดังนี้
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยผลของการดื่มกาแฟต่อระดับวิตามินบีในกระแสเลือด ระบุว่ามีการศึกษาแบบ cohort study ในผู้ที่มีสุขภาพดีทั้งเพศชายและเพศหญิง จำนวน 10,555 คน อายุระหว่าง 50-64 ปี เป็นเวลา 2 ปี จากการสัมภาษณ์ พบว่า 9,140 คน (86.6%) ดื่มกาแฟ 1 ถ้วย หรือ มากกว่า 1 ถ้วย/วัน และในจำนวนผู้ที่ดื่มกาแฟพบว่า 8,726 คน (94.4%) ดื่มกาแฟที่เป็นแบบ filtered coffee และ 798 คน (8.6%) ดื่มกาแฟต้ม ซึ่งผู้ชายจะดื่มกาแฟมากกว่าผู้หญิง หลังสิ้นสุดการศึกษาพบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้ว/วัน ระดับความเข้มข้นของโฟเลต (folate), riboflavin (Vitamin B2) และ pyridoxal phosphate (PLP หรือ vitamin B6) ในกระแสเลือดมีค่าลดลง 11.7%, 5.5% และ 14.1% ตามลำดับ ยกเว้น cobalamin (Vitamin B12) ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่การดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้ว/วัน จะมีผลทำให้ระดับความเข้มข้นของ homocysteine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น 6.8% ซึ่งสาร homosysteine เป็นกรดอะมิโน ซึ่งหากร่างกายมีปริมาณสูงขึ้นมากผิดปกติ จะทำให้เกิดภาวะเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจเพราะ homocysteine จะทำให้หลอดเลือดขาดความยืดหยุ่น เลือดแข็งตัวง่าย ดังนั้นจากการศึกษาสรุปได้ว่าการดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้ว/วัน มีผลทำให้ระดับของวิตามิน B2, B12 และโฟเลตในเลือดลดลง ทำให้ homocysteine สูงขึ้น จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ ซึ่งปริมาณของวิตามิน B ที่ลดลง อาจเนื่องมาจากการขับถ่ายออกทางปัสสาวะ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้วิตามินเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายและควรได้รับอย่างเพียงพอ แต่บางครั้งก็อาจบริโภคมากเกินจนเป็นอันตรายดังนั้น จึงมีข้อแนะนำในการบริโภควิตามินรวม ดังนี้
- ควรรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่และในปริมาณที่เพียงพอเพื่อลดการบริโภควิตามินเสริมที่อาจจะก่อให้เกิดการบริโภควิตามินเกินขนาด
- ก่อนรับประทานวิตามินรวมควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร ถึงความจำเป็นในการใช้ หรือ แจ้งให้แพทย์ หรือ เภสัชกรทราบเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่รวมถึงการแพ้ยาและแพ้อาหาร
- ในการรับประทานวิตามินรวมควรรับประทานวิตามินรวมตามขนาดและปริมาณ ระยะเวลาที่แพทย์กำหนดและปฏิบัติตามฉลากกำกับการใช้อย่างเคร่งครัด
- สำหรับการรับประทานวิตามินควรรับประทานกับน้ำเปล่า ไม่ควรรับประทานร่วมกับนม หรือ ผลิตภัณฑ์จากนม อาหารเสริมแคลเซียม หรือ ยาที่มีส่วนผสมของแคลเซียม เพราะอาจส่งผลต่อการดูดซึมของวิตามินบางชนิดได้
- ห้ามรับประทานวิตามินรวมมากกว่า 1 ชนิด ในคราวเดียวกัน เนื่องจากอาจทำให้ได้รับวิตามินในปริมาณมากเกินขนาดจนเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงตามมาได้
- ผู้ที่เป็นโรคตับ ผู้ที่ดื่มสุรา ตลอดจนผู้ที่ใช้ยาที่อาจเป็นพิษต่อตับ ควรระมัดระวังในการบริโภควิตามินเสริม เนื่องจากวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน และวิตามินบี 12 จะไปสะสมที่ตับ จึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อตับได้มากกว่าคนทั่วไป
- อาการที่เกิดจากบริโภควิตามินมากเกินแสดงออกได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับชนิดของวิตามิน หากพบว่าร่างกายอ่อนแอลง อ่อนล้า เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกระดูก ปลายประสาทอักเสบ (จะรู้สึกเสียบแปล๊บ แสบร้อน หรือ มีอาการชา บริเวณมือและเท้า) มีอาการเดินเซ ทรงตัวไม่อยู่ควรปรึกษาแพทย์
เอกสารอ้างอิง วิตามินรวม
- รศ.ดร.ภญ. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. อันตรายจากการบริโภควิตามินมากเกินไป. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2563
- ความเป็นพิษของวิตามินเกินขนาด. คอลัมน์เรื่องน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 195. กรกฎาคม 2538.
- ผลของการดื่มกาแฟต่อระดับวิตามินบีในกระแสเลือดในผู้ที่มีสุขภาพดีวัยกลางคน. ข่าวความไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
- วิตามินรวม (Multivitamin). พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
- Mudryj A, De Groh M, Aukema H, Yu N. Folate intakes from diet and supplements may place certain Canadians at risk for folic acid toxicity. Br J Nutr 2016: 116:1236-45.
- Saljoughian M. Hypervitaminosis: a global concern. US Pharm 2021; 46(10):47-50.
- Hadtstein F, Vrolijk M. Vitamin B-6-induced neuropathy: exploring the mechanisms of pyridoxine toxicity. Adv Nutr 2021; 12:1911-29.
- Batman A, Altuntas Y. Risk of hypercalcemia in elderly patients with hypervitaminosis D and intoxication. Acta Endocrinol 2021; 17:200-6.
- A?kÏn Ö, Uzunçakmak TKÜ, Altunkalem N, Tüzün Y. Vitamin deficiencies/hypervitaminosis and the skin. Clin Dermatol 2021; 39:847-57.