กระเช้าผีมด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระเช้าผีมด งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระเช้าผีมด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระเช้าสีดา (ภาคกลาง), ปุลิง, ห่ามป๋าย, ห่ามหนี (ภาคเหนือ), คอมูเด๊าะ (กะเหรี่ยง), มู่ฝังจี่, เจียต้าสู้, เฮยเมี่ยนฝังจี่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aristolochia tagala Cham.
ชื่อสามัญ Indian Birthwort, Dutchman pipe
วงศ์ ARISTOLOCHIACEAE


ถิ่นกำเนิดกระเช้าผีมด

มีการสันนิษฐานกันว่ากระเช้าผีมด มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้ บริเวณอินเดีย ศรีลังกา และบังกลาเทศ จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในพม่า ไทย กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย จนถึงหมู่เกาะต่างๆ ในออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในจังหวัดเชียงใหม่, ตาก, กาญจนบุรี, จันทบุรี, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต และตรัง โดยส่วนมากจะพบบริเวณ ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ หรือ ตามที่โล่งแจ้งทั่วไป ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 5-1,000 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณกระเช้าผีมด

  • ช่วยขับพิษร้อนถอนพิษไข้
  • ช่วยลดไข้
  • แก้ปวดบวม
  • แก้อักเสบ
  • ไข้ข้อบวม
  • แก้ประดง
  • แก้ปวดเอว
  • แก้กระเพาะอักเสบ
  • แก้โรคผิวหนัง
  • แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
  • แก้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • แก้บวมน้ำ
  • ช่วยให้ธาตุปกติ
  • ยาแก้คออักเสบ เป็นไข้

         มีการนำกระเช้าผีมด มาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ค่อนข้างหายากในธรรมชาติและมีลักษณะดอกสวยแปลกตา ในส่วนของเปลือกต้นสามารถนำมาลอกออกแล้วนำเส้นใยมาสานสวิง นอกจากนี้ชาวเขาบนพื้นที่สูงยังนำผลสุกมารับประทาน ส่วนยอดอ่อน และใบอ่อน ใช้นึ่ง หรือ ลวกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือ ใช้ประกอบอาหารได้อีกด้วย

กระเช้าผีมด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ลดไข้ขับพิษ แก้ปวดบวม แก้อักเสบ กระเพาะอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้บวมน้ำ แก้ติดเชื้อโดยใช้ ใบ ต้น หรือ รากกระเช้าผีมด  6-12 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้ปรับธาตุให้ปกติ โดยใช้ลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดบวม โดยนำใบมาเผาให้ร้อน ใช้วางนาบไว้ตามแขมขาที่บวม
  • ใช้แก้ไข้ แก้คออักเสบ โดยใช้เมล็ดมาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โรคผิวหนัง ใช้แก้แมลงสัตว์กัดต่อยโดยใช้ใบมาทุบให้แหลกแล้วใช้พอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของกระเช้าผีมด

กระเช้าผีมด จัดเป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นเป็นเถากลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร ผิวเป็นร่องไปตามยาว ลำต้นเมื่อยังอ่อนเป็นสีเขียวและจะมีขน จากนั้นจะค่อยๆ หลุดร่วงไปจนเกลี้ยงสีของเถาก็จะเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลอมเขียวด้วย

           ใบกระเช้าผีมด เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบแตกต่างกันหลายแบบ มีตั้งแต่รูปไข่กลมไปจนถึงรูปไข่รีแกมรูปใบหอก โคนใบสอบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร และยาว 9-17 เซนติเมตร ผิวใบจะเกลี้ยงทั้งสองด้านและมีต่อมเป็นจุดเล็กๆ ส่วนก้านใบยาว 3-6 เซนติเมตร ด้านบนเป็นร่องและมีขนละเอียด ส่วนด้านล่างเกลี้ยง

           ดอกกระเช้าผีมด เป็นดอกสมบูรณ์เพศเป็นช่อ ซึ่งช่อดอกจะยาวประมาณ 6-14 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะเป็นหลอด มีกลีบดอกชั้นเดียว เชื่อมติดกันเป็นหลอด โดยบริเวณโคนหลอดจะมีลักษณะเป็นกระเปาะกลมมีขนาดกว้างและยาว 5-7 มิลลิเมตร เหนือขึ้นไปจะคอดเป็นหลอดเล็กกว้าง 1-2 มิลลิเมตร ยาว 1 มิลลิเมตร ส่วนปลายกลีบดอกจะเบี้ยวและยื่นยาวไป ข้างหนึ่งเป็นรูปใบหอกกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร และยาว 1.6-2.5 เซนติเมตร ยังมีใบประดับรูปไข่ ปลายและโคนแหลม ขอบมีขนมีขนาดกว้าง 1-2 มิลลิเมตร และยาว 2-3 มิลลิเมตร ตามผิวมีขนสั้นๆ ทั้งสองด้าน สำหรับก้านดอกจะยาว 5-8 มิลลิเมตร

           ผลกระเช้าผีมด รูปไข่ลักษณะค่อนข้างกลม หรือ เป็นรูปรีแกมขอบขนานมีสีเขียวกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและจะแตกออกตามร่องจากขั้วไปยังโคนและก้านผลก็จะแตกแยกออกเป็น 6 เส้น เช่นกัน แต่โคนก้านและปลายผลยังติดกันอยู่ จนมีลักษณะรูปร่างคล้ายกระเช้า ภายในผลมีเมล็ดหลายเมล็ดส่วนก้านผลยาวได้ประมาณ 3.3-5.8 เซนติเมตร ด้านในผลมีเมล็ดที่มีลักษณะรูปไข่หัวกลับ หรือ รูปหัวใจกลับค่อนข้างป้อมสีน้ำตาลอ่อน มีปีก โดยมีขนาดกว้างประมาณ 7-8 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ผิวด้านหนึ่งเรียบ ส่วนอีกด้านมีตุ่มขนาดเล็กกระจัดกระจาย

กระเช้าผีมด
กระเช้าผีมด

การขยายพันธุ์ของกระเช้าผีมด

กระเช้าผีมดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์ของกระเช้าผีมดนั้น จะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติเป็นส่วนมาก แต่ในปัจจุบันได้มีการนิยมนำกระเช้าผีมดมาปลูกไว้เป็นไม้ประดับกันมากขึ้น สำหรับวิธีการขยายพันธุ์กระเช้าผีมด นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดไม้เถาชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดกระเช้าผีมด จากส่วนของใบระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดเช่น Dodecane, Phytol, Dichloroacetic acid, Myristic acid, Nonadecene, Oleic Acid, Palmitoleic acid, Palmitic acid, β-Tocopherol, Sitostenone, Squalene, Tetrapentacontane, Hexacontane, Aristolochic acid, Magnoorine, Phthalic acid, Stigmasterol, Ethyl oleate และ Octadecanoic acid เป็นต้น

โครงสร้างกระเช้าผีมด

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระเช้าผีมด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระเช้าผีมดระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเอาไว้ดังนี้

           มีรายงานผลการศึกษาสารสกัดกระเช้าสีดา (กระเช้าผีมด) ต่อยาขับปัสสาวะที่ก่อให้เกิดโรคเกาต์เนื่องจากการสะสมของกรดยูริก โดยได้ทำการทดลองในหนูขาวพันธุ์ Wistar ailbino 24 ตัว แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัวและยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว กลุ่มที่สองป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัวและยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัวและป้อนยาขับกรดยูริก Probenecid ขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว กลุ่มที่สามป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัวและยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัวและป้อนสารสกัดแอลกอฮอล์กระเช้าสีดาขนาด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว กลุ่มที่สี่ป้อนยาขับปัสสาวะ Thiazide ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัวและยา Amiloride ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัวและป้อนสารสกัดน้ำของกระเช้าสีดาขนาด 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัว ทำการป้อนเช่นนี้จนครบ 15 วัน และเก็บปัสสาวะเพื่อนำมาตรวจหาปริมาณกรดยูริก ในวันที่ 3 6 9 12 และ 15 ของการทดลอง ผลการตรวจพบว่าสารสกัดกระเช้าสีดาทั้งแบบสารสกัดน้ำและสารสกัดแอลกอฮอล์ สามารถยับยั้งภาวะการสะสมกรดยูริก (antihyperuricemic) ของยาขับปัสสาวะ โดยการปรับปริมาณของกรดยูริกให้อยู่ในระดับใกล้เคียงมาตรฐานได้ มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารสกัดไฮโดรแอลกอฮอล์ของกระเช้าผีมดระบุว่าแสดงฤทธิ์ต้านแบคทีเรียสูงสุด ที่ความเข้มข้น 750 ไมโครกรัม/มล. โดยแสดงฤทธิ์ต่อต้านต่อแบคทีเรีย, P. valgaris (26.3 มม.), P. aeruginosa (21.30 มม.) และ S. typhi (18.3 มม.) ส่วนสารสกัดเมทานอลิกควบคุมการเจริญเติบโตของ B. subtilis และ R. equi ที่ความเข้มข้น 750 μg/mL concentraiton ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีโซนการยับยั้ง 21.3 ± 1.5 และ 21.0 ± 1.0 มม. ตามลำดับ 

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสารสกัดด้วยเมทานอลและน้ำจากส่วนรากของกระเช้าผีมด พบว่าแสดงคุณสมบัติต้านมะเร็งต่อเซลล์ HeLa ด้วยค่า IC 50 ที่ 0.320 มก./มล. ส่วนประสิทธิภาพทางชีวภาพของสารสกัดจากใบและรากของกระเช้าผีมด (สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ เอทิลอะซีเตต และเอทานอล) พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างมีนัยสำคัญที่ 200 และ 400 มก./กก. ในแบบจำลองอาการบวมน้ำของหนูที่ชักนำด้วยคาราจีแนนและสารสกัดเอทิลอะซิเตต ยังสามารถยับยั้งการเหนี่ยวนำของ PGE2 ด้วยค่า IC 50 ที่ 39.1 มก./มล. และ LTB4 ที่มีค่า IC 50ที่ 29.5 มก./มล. อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระเช้าผีมด

มีรายงานการศึกษาวิจัยสารสกัดจากกระเช้าผีมด ระบุว่า สาร aristolochic acid ที่พบในกระเช้าผีมดมีความเป็นพิษต่อใจและก่อให้เกิดมะเร็ง


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้กระเช้าผีมดเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ ตามสรรพคุณนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่กำหนด ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ นอกจากนี้การใช้กระเช้าผีมด ก็ควรใช้และเตรียมยาโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะมีรายงานว่ากระเช้าผีมดมีสาร aristolochic acid ที่เป็นพิษต่อหัวใจ


เอกสารอ้างอิง กระเช้าผีมด
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. “กระเช้าผีมด”.  หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 206.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “กระเช้าผีมด”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 120-124.
  4. ผลของสารสกัดกระเช้าสีดาต่อยาขับปัสสาวะ. ที่ก่อให้เกิดโรคเกาท์.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. K. Baskar, S. Sasikumar, C. Muthu, S. Kingsley, S. Ignacimuthu Bioefficacy of Aristolochia tagala Cham. Against Spodoptera litura Fab. (Lepidoptera: Noctuidae)Saudi J. Biol. Sci., 18 (1) (2011), pp. 23-27
  6. T.C. Huang, S.M. Chen, Y.C. Li, J.A. LeeIncreased renal semicarbazide-sensitive amine oxidase activity and methylglyoxal levels in aristolochic acid-induced nephrotoxicityLife Sci., 114 (2014), pp. 4-11
  7. G.S.S. Sharma, L. RajannaGC-MS phytochemical profiling of leaf extracts of Aristolochia tagala Cham., a rare and important ethnomedicinal plantIndian J. Nat. Prod. Resour., 12 (1) (2021), pp. 145-152
  8. Smitinand, T. and Larsen, K., eds. 1987. Flora of Thailand (Vol.5: 1). Bangkok: Chutima Press.
  9. K.L.H. Hadem, A. SenIdentification of compounds of Aristolochia tagala and apoptotic activity in HeLa cellsPhcog. Mag., 14 (59) (2018), pp. 571-577
  10. S. Amalraj, V. Mariyammal, R. Murugan, S.S. Gurav, J. Krupa, M. AyyanarComparative evaluation on chemical composition, in vitro antioxidant, antidiabetic and antibacterial activities of various solvent extracts of Dregea volubilis leavesSouth Afr. J. Bot., 138 (2021), pp. 115-123