กระทุงหมาบ้า ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

กระทุงหมาบ้า งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระทุงหมาบ้า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น คันชุนสุนัขบ้า (ภาคกลาง), ผักฮ้วน, ผักฮ้วนหมู (ภาคเหนือ), ผักง้วนหมู, เครือเขา, หัวเขาคลอน (ภาคอีสาน), เถาคัน (ภาคใต้), มวนหูกลาง (เพชรบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dregea volubilis (L.f.) Benth.ex Hook.f.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gregea Volubilis Stapf.
วงศ์ ASCLEPIADECEAE


ถิ่นกำเนิดกระทุงหมาบ้า

กระทุงหมาบ้า เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียโดยมีการกระจายพันธุ์เป็นวงศ์กว้างได้แก่ ในบริเวณเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงยังพบได้ในจีนตอนใต้อีกด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าดิบ ป่าเบญจพรรณและที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป

ประโยชน์และสรรพคุณกระทุงหมาบ้า

  • ช่วยดับพิษร้อน
  • ถอนพิษไข้
  • แก้ไข้กาฬ
  • แก้พิษฝี
  • ช่วยให้นอนหลับ
  • แก้หวัด
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ปวดศีรษะ
  • แก้เซื่องซึม
  • ทำให้อาเจียน
  • แก้ดีกำเริบเพ้อละเมอเพ้อกลุ้ม
  • แก้แผลน้ำร้อนลวก
  • แก้ปวดเนื่องจากแผลอักเสบ
  • แก้พิษต่างๆ
  • แก้ฝี
  • แก้ฝีภายใน
  • แก้บวม
  • ใช้กระทุ้งพิษ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย
  • ช่วยเจริญอาหาร

           กระทุงหมาบ้า หรือ ที่เรียกกัน ผักฮ้วนหมู ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านอาหารมาช้านานแล้ว โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสานจะนำ ใบอ่อน ยอดดอกและฝักอ่อน มาใช้ประกอบอาหารซึ่งมีรสขมเล็กน้อย โดยนำมาใช้ประกอบอาหารต่างๆ หรือแกงกับผักชนิดอื่นๆ เช่น ผักเชียงดา และยังสามารถ ใช้เป็นผักสดกินคู่ส้มตำ หรือ ตำมะม่วง ได้อีกด้วย

กระทุงหมาบ้า

กระทุงหมาบ้า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กระทุงหมาบ้า

ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ กระทุ้งพิษไข้กาฬ พิษฝี แก้ปวดศีรษะ ขับปัสสาวะ ช่วยให้นอนหลับ โดยใช้เถากระทุงหมาบ้า มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับเสมหะ แก้พิษไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ดีกำเริบ ดับพิษร้อน โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ช่วยให้เจริญอาหาร บรรเทาความร้อนในร่างกาย โดยนำยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกนำมารับประทาน (ทั้งแบบสดและประกอบอาหาร) ใช้แก้แผลน้ำร้อนลวก แก้บวม แก้ฝี แก้ฝีภายใน แก้พิษต่างๆ โดยนำใบสดมาตำให้ละเอียดแล้วใช้พอกทาบริเวณที่เป็น

           นอกจากนี้ยังมีการนำรากกระทุ้งหมาบ้ามารักษาโรคทุราวสาที่มีปัสสาวะสีดำโดยนำ รากย่านาง เถาวัลย์เปรียง รากกระทุ้งหมาบ้า ฝาง แห้วหมู หัวหญ้าชันกาด แก่นขี้เหล็ก รากตะไคร้ หางนาค ขมิ้นอ้อย ไพล รากพุงดอ รากหวายขม หนักสิ่งละเท่าๆกัน ใส่หม้อต้มเคี่ยวให้น้ำงวด กินครั้งละ 3-4 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 เวลาก่อนอาหาร


ลักษณะทั่วไปของกระทุงหมาบ้า

กระทุงหมาบ้า จัดเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง พาดพันตามต้นไม้ใหญ่ ลำต้นเป็นเถากลม เมื่อเถาอ่อนเปลือกต้นเป็นสีเขียว แต่แก่จะเป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลอ่อน โดยสามารถยาวได้ถึง 10 เมตร ส่วนผิวกิ่งเป็นตะปุ่มตะป่ำและมีช่องอากาศ  ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามใบเป็นรูปไข่หรือเกือบกลม กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบมนหรือเว้าเป็นรูปหัวใจ แผ่นใบค่อนข้างหนา หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม มองเห็นเส้นใบชัดเจน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่าและมีก้านใบยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกบริเวณซอกใบหรือบริเวณก้านใบดอกเป็นดอกขนาดเล็กขนาด 1-2 เซนติเมตร มีกลีบดอกและกลีบอย่างละ 5 กลีบ โดยกลีบดอกเป็นสีเขียวอ่อน บิดเวียนกันโคนดอกเชื่อมตืดกันเป็นท่อ ส่วนปลายกลีบแยกออกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม ผล ออกเป็นฝัก มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7.5-10 เซนติเมตร โดยจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะโคนฝักจะเป็นป่องแล้วค่อยๆ ยาวไปหาปลายแล้วมีครีบตามยาว ส่วนผิวฝักมีสีน้ำตาลอ่อนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ขึ้นปกคลุม  เมล็ด เป็นรูปไข่มีสีน้ำตาลอมเหลือง ลักษณะโค้งเว้า ผิวเรียบ เป็นมันวาว ขอบบางเปนครีบ เป็นพู่ขนสีขาวเป็นมันอย่างเส้นไหมติดอยู่

 กระทุงหมาบ้า

 กระทุงหมาบ้า

การขยายพันธุ์กระทุงหมาบ้า

กระทุงหมาบ้า สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและการปักชำ แต่ในปัจจุบันวิธีที่นิยมคือการปักชำ โดยนำกิ่งหรือเถาแก่ปักชำแล้วรดน้ำให้สม่ำเสมอแล้วรดจนรากงอก (ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน) หลังจากนั้นจึงนำมาปลูกลงดินและทำไม้ค้างเพื่อให้เลื้อยเกาะ


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีส่วนต่างๆ ของกระทุงหมาบ้า ระบุไว้ว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น loliolide, dehydrovomifoliol, lolubiloside A,B,C และ aeridin เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนขอใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่างโภชนาการของส่วนที่กินได้ (ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอก) 100 กรัม

พลังงาน 92.18 กรัม
โปรตีน 10.35 กรัม
ไขมัน 2.03 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 8.10 มิลลิกรัม
แคลเซียม 343.55 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 127.82 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็ก 3.44 มิลลิกรัม
วิตามิน เอ 354.99 มิลลิกรัม
วิตามิน บี1 0.11 มิลลิกรัม
วิตามิน บี2 0.18 มิลลิกรัม
วิตามิน บี3 1.99 มิลลิกรัม
วิตามิน ซี 193.13 มิลลิกรัม

โครงสร้างกระทุงหมาบ้า

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระทุงหมาบ้า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารสกัดส่วนต่างๆ ของกระทุงหมาบ้า ของต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้ สารสกัดจากใบมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเบาหวาน ต้านอาการปวด และมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือดได้ ส่วนสารกัดจากรากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการปวด และมีฤทธิ์ลดไข้ได้

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า สารสกัดกระทุงหมาบ้า ประกอบด้วยสารแกฤทธิ์ต่างๆ เช่น สารกลุ่ม pregnane glycosides และ polyoxypregnane glycosides ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระในเซลล์ผ่านการยับยั้งกระบวนการ lipid oxidation ซึ่งกลไกดังกล่าวจะช่วยลดการบาดเจ็บเสียหายของเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ช่วยป้องกันการสลายตัวของ sultated glycosaminoglycan, hyaluronan และ uronic acid ในกระดูกอ่อน เป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระทุงหมาบ้า 

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การนำกระทุงหมาบ้า มาประกอบอาหารรับประทานอาจถือได้ว่ามีความปลอดภัยเพราะมีการรับประทานตั้งแต่ในอดีตแล้ว แต่ในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง กระทุงหมาบ้า
  1. ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  3. ประเสริฐ พรหมณี. โรคทุราวสา. คอลัมน์ การรักษาพื้นบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 57. มกราคม 2527.
  4. พรรณเพ็ญ เครือไทย, อมรรัตน์ เฟื่องวรธรรม และนิตยา บุญทิม. การจัดการความรู้ตำรายาพื้นบ้านลานนา กรณีศึกษากลุ่มโรคมะเร็งหรือบ่าเฮ็ง. สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2554.
  5. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.กระทุงหมาบ้า . หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 32-33.
  6.   Natarajan , V. And Dhas , S. S. A. G. , ( 2013 ) , Phytochemical composition and in vitro antimicrobial , antioxidant activities of ethanolic extract of Dregea volubilis ( Linn . ) leaves , Advances in biological research , 7 ( 3 ) , 81-88.
  7. Ashish , S. et al . , ( 2009 ) , Aeridin , a phenanthropyran derivative from Wattakaka volubis I. f . , Researh journal of pharmacognosy and phytochemistry , 1 ( 3 ) , 232-233.
  8. Sahu , N. P. et al . , ( 2002 ) , Polyoxypregnane glycosides from the flowers of Degea volubilis , Phytochemistry , 61 ( 4 ) , 383-388.
  9. Wutthithamwet W. (1997). Thai herbal encyclopedia. Includes principles of Thai pharmaceuticals. Odeon Store Publishing House. Bangkok.
  10. Maruthupandian , A. et al . , ( 2010 ) , Antidiabetic , antihyperlipidaemic and antioxidant activity of Wattakaka volubilis ( 1. f ) stapf leaves in alloxan induced diabetic rats , International Journal of Pharmaceutical Sciences and Research , 1 ( 11 ) , 83-90.
  11. Reddy , V. L. N. et al . , ( 2002 ) , An unusual novel triterpenoid ether , multiflor - 7 - en - 12,13 - ether and a new multiflor - 7 - en - 12a - ol from Wattakaka volubilis , Tetrahedron letters , 43 ( 7 ) , 1307-1311.
  12. shukla , A. K. et al . ( 2011 ) , Anti inflammatory , analgesis and antipyretic activities of root of Wattakaka volubilis , International journal of pharmtech research , 3 ( 3 ) , 1334-1338.
  13. Saksri, Sanyacharernkul & Akanit, Itghiarbha & Kongtaweelert, Prachya & Meepowpan, Puttinan & Narong, Nuntasaen & Wilart, Pompimon. (2009). A New Polyoxypregnane Glycoside from the Roots of Dregea volubilis (L.f) Benth. ex Hook. f and its Chondroprotective Effect. American Journal of Biochemistry and Biotechnology. 5. 10.3844/ajbbsp.2009.202.209.
  14. Divya , T. S. et al . , ( 2009 ) , Anti - inflamatory , analgesic and anti - lipid peroxidative properties of Wattakaka volubilis ( Linn.f. ) Stapf Natural Product radiance , 8 ( 2 ) , 137-141.