ผักเชียงดา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ผักเชียงดา งานวิจัยและสรรพคุณ 19ข้อ
ชื่อสมุนไพร ผักเชียงดา
ชื่ออื่น ๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักเชียงดา ผักเซ่งดา ผักเจียงดา (ภาคเหนือ) ผักจินดา (ภาคกลาง) ผักว้น ผักม้วนไก่ ผักเซ็ง เครือจันปา (ภาคอื่น ๆ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnema inodorum (Lour.) Decnr.
ชื่อสามัญ Gymnema
วงศ์ Asclepiadaceae
ถิ่นกำเนิดผักเชียงดา
ผักเชียงดาเป็นพืชที่พบได้ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่น อินเดีย พม่า ศรีลักา และทางภาคเหนือของไทย สำหรับประเทศไทยผักเชียงดาจะพบได้ในบริเวณภาคเหนือ ที่มีอากาศหนาว ซึ่งมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่พบมากก็คือ ผักเชียงดาในสายพันธุ์Gymnema inodorum ซึ่งในภาคเหนือนั้นผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านที่ชาวเหนือในแถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา นิยมปลูกไว้หน้าบ้านเพื่อนำยอดไปประกอบอาหาร ส่วนในต่างประเทศมีรายงานว่าพบผักเชียงดาในประเทศที่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน และแอฟริกา
สรรพคุณของผักเชียงดา
- ช่วยเพิ่มกำลังในการทำงานหนัก
- เป็นยารักษาเบาหวาน
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร
- ช่วยบำรุงสายตา
- แก้ตาฝ้าฟาง มีอาการเคืองตา
- ช่วยแก้หูชั้นกลางอักเสบ
- รักษาไข้ อาการหวัด ลดไข้
- แก้ไอ ขับเสมหะ
- ช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้และหอบหืด
- แก้หลอดลมอักเสบ
- แก้ปอดอักเสบ
- ช่วยแก้โรคบิด
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร
- เป็นยาขับปัสสาวะ
- ช่วยขับระดูของสตรีช่วย
- แก้อาการบวมน้ำ
- เป็นยาแก้โรคผิวหนัง
- ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
- ช่วยในการบำรุงสายตา
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ในการใช้ผักเชียงดาตามตำรายาพื้นบ้าน คือ ใช้รักษาเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ให้รับประทานเป็นผักสดอย่างน้อยวันละประมาณ 50-100 กรัม หรือ 1 ขีด สามารถช่วยป้องกันและบำบัดโรคเบาหวานได้ นำใบมาตำให้ละเอียดใช้พอกบนกระหม่อมรักษาไข้หวัด แก้ไอ ขับเสมหะได้ ใช้ใบแก่ของผักเชียงดามาเคี้ยวกินสามารถรักษาอาการท้องผูกได้ ใบสดใช้ตำพอกฝีหรือพอกบริเวณที่เป็นเริม งูสวัดแก้ปวดแสบ ปวดร้อน ส่วนรูปแบบและขนากการใช้ทางการแพทย์แผนปัจจุบันระบุว่า การศึกษาในคนพบว่าใช้สารออกฤทธิ์ประมาณ ๔๐๐-๖๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ 8-12 กรัมของผงแห้งต่อวันโดยกินครั้ง 4 กรัม วันละ 2-3 ครั้งก่อนอาหารให้ผลในการควบคุมและรักษาโรคเบาหวานได้ดี ส่วนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแคปซูลผักเชียงดา ในรูปแบบผงแห้งที่มีการควบคุมมาตรฐานของกรดไกนีมิก (gynemic acid) ต้องมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 หรือ 1 แคปซูลใหญ่จะต้องมีผงยาของเชียงดาอยู่ 500 มิลลิกรัม
ลักษณะทั่วไปผักเชียงดา
ผักเชียงดา จัดเป็นไม้เถาเลื้อย มีอายุข้ามปี ความยาวของเถาขึ้นอยู่กับอายุ ลำต้นเป็นสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-5 เซนติเมตร ทุกส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นจะมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกจากข้อเรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปกลมรี ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 9-11 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14.5-18.5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่า ผิวใบเรียบไม่มีขน ก้านใบยาวประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร ส่วนดอกผักเชียงดาออกดอกเป็นช่อแน่นสีขาวอมเขียวอ่อน ดอกย่อยมีขนาดเล็กกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร และผลของผักเชียงดาจะออกเป็นฝักคู่
การขยายพันธุ์ผักเชียงดา
ผักเชียงดาขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ดและปักชำแต่นิยมขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่ง มากกว่าผักเชียงดาเจริญเติบโตได้ในดินร่วนที่มีการระบายน้ำได้ดี โดยในฤดูฝนจะให้ผลผลิตมากกว่าฤดูอื่นๆ ส่วนวิธีการขยายพันธุ์ผักเชียงดามีดังนี้
การเตรียมต้นกล้าที่จะทำการขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งคู่ใบที่ 4 - 5 ขึ้นไป สีของกิ่งเป็นสีเขียวมีความยาวกิ่งประมาณ 2 - 4 นิ้ว ใช้ 1 – 2 ข้อต่อ 1 ต้น นำมาแช่ในน้ำยาเพิ่มรากและยากันราประมาณ 5 นาที และผึ่งทิ้งไว้ให้หมาด ๆ แล้วปักลงในกระถาง หรือถุงดำขนาด 8 x 12 นิ้ว หรือในแปลงพ่นหมอกที่มีวัสดุชำ คือ ถ่านแกลบ ผสมทราย หรือถ่านแกลบอย่างเดียว ปักชำทิ้งไว้ประมาณ 45 วัน เมื่อมีรากขึ้นย้ายลงถุงชำที่ใส่ดินขนาด 4 x 7 นิ้ว นำไปไว้ในเรือนเพาะชำอีกประมาณ 45 วัน จึงย้ายกล้าลงปลูกในแปลงใหญ่ต่อไป
การเตรียมดิน การเตรียมดินเป็นการช่วยกำจัดวัชพืช และถือเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกผักเชียงดาเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง การเตรียมดินที่ดีควรมีการไถดะ และทิ้งตากดินไว้ 5-7 วัน จากนั้นจึงไถแปร 1 – 2 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้แตกละเอียดไม่เป็นก้อนใหญ่ ก่อนการทำร่องหรือแถวปลูกควรมีการหว่านปุ๋ยคอก อัตราประมาณ 1 ตันต่อไร่ก่อนการไถแปร เพื่อเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นสามารถอุ้มน้ำได้นานขึ้น และยังเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน ถ้าดินมีค่าความเป็นกรดด่างต่ำกว่า 5.5 ให้หว่านปูนขาวอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนกลบ
การปลูก เตรียมแปลงปลูกขนาด 1 x 1.5 เมตร (ความยาวแล้วแต่พื้นที่) ใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น จ้านวนต้นต่อไร่ประมาณ 4,200 ต้น ปลูกเป็นแถวคู่ ให้น้ำ 3 – 5 วันต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและความชื้นในดิน ควรรองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยหมักอัดเม็ดประมาณครึ่งกระป๋องนมข้น คลุกดินก่อนท้าการปลูกและหลังจากปลูกเสร็จ ให้ใช้วัสดุคลุมดิน ซึ่งวัสดุที่ใช้สำหรับคลุมดิน สามารถน้าเอาวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตรเช่น ฟางข้าว เปลือกถั่ว แกลบดิบ มาใช้ได้ นอกจากจะเป็นการป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินแล้วดินยังช่วยรักษาความชื้นของดิน ป้องกันวัชพืช และยังสลายกลายเป็นปุ๋ยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินอีกด้วย
องค์ประกอบทางเคมี
จากการศึกษาวิจัย พบสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคือ Gymnemic acid ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์ที่สกัดได้จากใบและรากของผักเชียงดาโดย
รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของผักเชียงดา
Gymnemic acid : Wikipedia
ลักษณะโครงสร้างทางเคมีของ
Gymnemic acid มีtri-terpenoid, glucuronic acid และกรดไขมันรวมอยู่ในโมเลกุลเดียวกัน นอกจาก Gymnemic acid ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญแล้ว ยังพบสารสกัด จากผักเชียงดาที่สำคัญอื่น ๆ อีก เช่น flavones d-quercitol, tartaric acid, formic acid, butyric acid, lupeol, hentriacontane, pentatriacontane, stigma sterol, acidic glycosides และ anthroquinones5 สำหรับสารที่อยู่ในกลุ่มที่เป็นกรดอินทรีย์และละลายน้ำได้จะมีคุณสมบัติในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของผักเชียงดามีดังนี้
ผักเชียงดา (100 กรัม) ให้พลังงาน 60 กิโลแคลลอรี่
- โปรตีน 5.4 กรัม
- ไขมัน 1.5 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 6.2 กรัม
- ใยอาหาร 2.6 กรัม
- แคลเซียม 78 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 98 มิลลิกรัม
- สังกะสี 2.3 มิลลิกรัม
- วิตามิน เอ 5905 หน่วยสากล
- วิตามินบี1 981 มิลลิกรัม
- วิตามินบี2 0.32 มิลลิกรัม
- Niacin 1 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 153 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 78 มิลลิกรัม
- เหล็ก 2.3 มิลลิกรัม
Antharquinones : wikipedia
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
มีการศึกษาวิจัยพบว่าผักเชียงดามี Gymnemic acid (สกัดมาจากส่วนรากและใบของผักเชียงดา) โดยสารชนิดนี้มีลักษณะโครงสร้างเหมือนน้ำตาลกลูโคส จึงเข้าไปจับกับตัวรับที่ลำไส้แทนโมเลกุลของกลูโคส และช่วยสกัดกั้นสารน้ำตาลตัวจริงที่เข้ามาสู่ร่างกายได้ และยังสามารถช่วยควบคุมสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานทั้งชนิดที่พึ่งอินซูลินและชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 มีการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบประสิทธิภาพ กลไกออกฤทธิ์ ในการลดน้ำตาลในเลือด ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาที่มหาวิทยาลัยมาดราส ประเทศอินเดียโดยศึกษาผลของผักเชียงดาในหนูด้วยการให้สารพิษที่ทำลายบีตาเซลล์ในตับอ่อนของหนู พบว่าหนูที่ได้รับผักเชียงดา (ทั้งในรูปของผงแห้งและสารสกัด) มีระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติภายใน 20-60 วัน ระดับอินซูลินกลับมาเป็นปกติ และจำนวนของบีตาเซลล์เพิ่มขึ้น
มีการศึกษาผลของผักเชียงดาในผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่า ผักเชียงดาสามารถลดการใช้ยารักษาเบาหวานแผนปัจจุบัน และบางรายสามารถเลิกใช้ยาแผนปัจจุบันโดยใช้แต่ผักเชียงดาอย่างเดียวสำหรับการคุมระดับน้ำตาลในเลือด จากการศึกษานี้ ยังพบว่าปริมาณของระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (hemoglobin A1c) ลดลง (ปริมาณสารตัวนี้แสดงให้เห็นว่าการกินผักเชียงดาทำให้ระดับของน้ำตาลในเลือดในช่วง 2-4 เดือนที่ผ่านมามีความสม่ำเสมอ ถ้าลดลงแสดงว่าคุมระดับน้ำตาลได้ดี ซึ่งเป็นการลดโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด จากการป่วยเป็นโรคเบาหวาน) และปริมาณอินซูลินเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับการรักษาเบาหวาน นอกจากปริมาณอินซูลินจะไม่เพิ่มขึ้นแล้วปริมาณของระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย ปี พ.ศ.2546 นักวิทยาศาสตร์รายงานถึงผลของสารสกัดผักเชียงดาในหนูซึ่งนอกจากจะพบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดและเพิ่มปริมาณอินซูลินแล้ว ยังลดปริมาณของอนุมูลอิสระในกระแสเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้อีกด้วย ทั้งยังเพิ่มปริมาณของสารกลูตาไทโอน วิตามินซี วิตามินอี ในกระแสเลือดของหนูได้อีกด้วย และยังพบอีกว่าสารสกัดผักเชียงดามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดสูงกว่ายาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาเบาหวานที่มีชื่อว่า ไกลเบนคลาไมด์ (glibenclamide)
มีการวิจัยในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานที่ใช้อินซูลิน 27 ราย โดยให้กินสารสกัดที่ทำให้บริสุทธิ์ขึ้น 400 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่าปริมาณความต้องการอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานลดลง และในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้ใช้อินซูลิน 22 ราย เมื่อให้สารสกัด 400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลา 18-20 เดือน ร่วมกับยารักษาเบาหวาน พบว่าปริมาณการใช้ยารักษาเบาหวานลดลง โดยมีผู้ป่วยจำนวน 5 ราย ใน 22 ราย ที่สามารถหยุดให้ยาเบาหวานโดยใช้แต่สารสกัด Gymnema เพียงอย่างเดียว
การศึกษาทางพิษวิทยา
นักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาความเป็นพิษของผักเชียงดาไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด โดยให้กลุ่มตัวอย่างรับประทานชาชงทุกวันเป็นระยะเวลา28วัน แล้วทำการวัดระดับกลูโคสในพลาสมา (Fasting plasma glucose) พบว่าไม่มีการลดลงของระดับกลูโคสในพลาสมาในร่างกายและไม่พบการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของตับ แสดงให้เห็นว่าการรับประทานชาชงจากผักเชียงดาไม่มีพิษต่อตับ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ผักเชียงดาในฤดูแล้วเหมาะแก่การนำมาบริโภคเป็นอาหารมากกว่าฤดูฝน เพราะจะไม่มีรสขมเฝื่อน
- ในการเลือกซื้อแคปซูลผักเชียงดา ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีผงยา 500 มิลลิกรัม เพราะจะให้ผลในการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การใช้ผักเชียงดาในการควบคุม/รักษาโรคเบาหวาน ควรควบคุมการรับประทาอาหารต่าง ๆ และออกกำลังกายร่วมด้วยเพราะหากหวังเพียงแต่ให้สรรพคุณของผักเชียงดาเพียงอย่างเดียว แต่พฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย เหมือนเดิม ผักเชียงดาคงช่วยไม่ไหวเช่นกัน
- ผักเชียงดาก็เหมือนสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ซึ่งถ้าบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยว่าปลอดภัยก็ตาม
เอกสารอ้างอิง
- ผศ.ปริญญาวดี ศรีตนทิพย์ และคณะ.รายงานผลการดำเนินงานปี 2558 การผลิตผักเชียงดาอินทรีย์ตามวิถี พอเพียง พออยู่พอกิน และยั่งยืน กลุ่มฮักน้ำจาง บ้านนากว้าว ตำบลบ้านกิ่ว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง . สถาบันวิจัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
- ดร.จักรพันธุ์ เนรังสี.ผักเชียงดา พืชสมุนไพรที่ไม่ธรรมดา .วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม.ปีที่ 22 ฉบับที่ 4 ประจำเดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2558 . หน้า 12-14
- เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก .“ผักเชียงดา”,ย่านาง หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 103.
- เต็ม สมิตินันท์ . 2544.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544.ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.กรุงเทพฯ.810 หน้า
- Anjum T. and Hasan Z. Gymnema Sylvestre. Plant Used By Peoples of Vidisha District for the Treatment of Diabetes. International Journal of Engineering Science Invention. 2013; 2: 98—102.
- ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร.3 สมุนไพร พิชิตโรคเบาหวาน.คอลัมน์เรื่องเด่นจากปก.นิตยารหมอชาวบ้านเล่มที่379 .พฤศจิกายน.2533
- Chiabchalard A., Tencomnao T. and Santiyanont R. Effect of Gymnema inodorum on postprandial peak plasma glucose levels in healthy human. African Journal of Biotechnology. 2010; 9: 1079—1085.
- Preuss, H.G., M. Bagchi, C.V. Rao, D.K. Dey ang S. Satyanarayana. 2004. Effect of a natural extract of (-)-hydroxycitric acid (HCA-SX) and a combination of HCA-SX plus niacin-bound chromium and Gymnema sylvestre extract on weight loss. Diabetes Obes Metab. 6(3):171-180.
- Saneja A., Sharma C., AnejaK.R. and PahwaR. Gymnema Sylvestre(Gurmar): A Review. Der Pharmacia Lettre.2010;2:275—284
- Shimizu, K., Ozeki, M., Iino, A., Nakajyo, S., Urakawa, N., Atsuchi, M., (2001). Structure-activity Relationships of Triperpenoid Derivatives Extracted from Gymnema inodorum Leaves on Glucose Absorption. Jpn.J.Pharmacol. 86 (March). 223-229.
- เก้า มกรา.นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 150 มิถุนายน 2556.
- Rani A. S., Nagamari V., Patnaik S. and Saidulu S. Gymnema Sylvestre: an Important Antidiabetic Plant of India: A Review. Plants Sciences Feed. 2012; 2: 174—179.
- Grover, J. K. and Yadav, S. P. (2004). Pharmacological actions and potential uses of Momordica charantia: a review. Journal of Ethnopharmacology, 93(1), 123-132
- Ahmad, N., Hassan, M. R., Halder, H. and Bennoor, K. S. (1999). Effect of Momordica charantia (Karolla) extracts on fasting and postprandial serum glucose levels in NIDDM patients. Bangladesh Medical Research Council Bulletin, 25(1), 11-13.
- Chiabchalard, A., Tencomnao, T., Santiyanont, R., (2010). Effect of Gymnema inodorum on Postprandial Peak Plasma Glucose Level in Healthy Human. Afr.J.Biotechnol. 9(7),1079-1085
- Dham, S., Shah, V., Hirsch, S. and Bernaji, M. A. (2006). The role of complementary and alternative medicine in diabetes. Current Diabetes Reports, 6, 251-258.