ว่านสากเหล็ก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ว่านสากเหล็ก งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ว่านสากเหล็ก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านพร้าว, กูดพร้าว (ภาคเหนือ), พร้าวบก, พร้าวนกคุ้ม (ภาคใต้), ละโมยอ (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Molineriala tifolia  Herd. Ex Kurz
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Curculigo latifolia Dryand. Ex  W.Aiton
วงศ์ HYPOXIDACEAE

ถิ่นกำเนิดว่านสากเหล็ก

ว่านสากเหล็ก เป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณประเทศพม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบมากทางภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ บริเวณป่าดิบชื้น ป่าดงดิบหรือตามสวนป่าและสวนผลไม้ของภาคดังกล่าว

ประโยชน์และสรรพคุณว่านสากเหล็ก

  • ช่วยดับพิษร้อน
  • ช่วยถอนพิษไข้ 
  • ช่วยกระจายโลหิต
  • ช่วยฟอกโลหิต
  • ช่วยทำให้โลหิตไหลเวียนได้สะดวก
  • แก้ไอ
  • แก้เจ็บคอ
  • ช่วยแก้อาการปวดข้อ เคล็ดขัดยอก
  • แก้บวม
  • ช่วยรักษาฝีภายนอก
  • ช่วยแก้พิษงู
  • ช่วยแก้แมลงกัดต่อย
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ช่วยรักษาอาการอักเสบของมดลูก มดลูกลอย
  • ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน
  • ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น
  • แก้มดลูกพิการ
  • แก้เคล็ดขัดยอก
  • แก้อาการฟกช้ำ
  • แก้สิว ฝ้า จุดด่างดำบนใบหน้า
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยขับปัสสาวะ

           นอกจากนี้ว่านสากเหล็กยังจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดเหล็กทั้งห้า" ซึ่งประกอบไปด้วยว่านสากเหล็ก แก่นขี้เหล็ก แก่นพญามือเหล็ก เถาวัลย์เหล็ก และสนิมเหล็ก ซึ่งมีสรรรพคุณเป็นยาแก้พิษโลหิตทั้งบุรุษและสตรี เป็นยาบำรุงกำลัง และแก้กษัยอีกด้วย
 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ว่านสากเหล็ก

ใช้ฟอกโลหิต แก้ไอ เจ็บคอ แก้ปวดข้อ ดับพิษร้อน ถานพิษไข้ โดยใช้ใบแห้ง 3-10 กรัม หรือ ใบว่านสากเหล็ก สด 15-35 กรัมมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้มดลูกอักเสบ แก้มดลูกลอย แก้ปวดประจำเดือน ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ แก้มดลูกพิการ โดยใช้ รากมาหั่นบางๆ ตากแห้ง ดอกกับสุรารับประทาน แก้อาหารฟกช้ำ โดยใช้รากแห้ง นำมาบดให้เป็นผง ครั้งละ 10 กรัม นำมาชงกับน้ำอุ่นดื่ม ใช้แก้สิวฝ้าจุดด่างดำ โดยใช้รากมาฝนทาบริเวณใบหน้า แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะโดยนำ ดอก 100-150 กรัม หรือ ราก 10-15 กรัม ต้มน้ำดื่มวันละสามครั้ง หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ใช้รักษาฝีภายนอก แก้พิษแมลงกัดต่อย แก้อาการฟกช้ำ โดยใช้ต้นสดมาตำดอกบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของว่านสากเหล็ก

ว่านสากเหล็ก จัดเป็นไม้ล้มลุก ลักษณะคล้ายพืชพวกปาล์ม มีความสูงของต้นเหนือดินประมาณ 30-40 เซนติเมตร โดยลำต้นเหนือดินจะมีลักษณะกลมชุ่มน้ำ และมีหัวคล้ายรากลักษระกลมรีรูปไข่แทงลึกลงไปในดินอีกประมาณ 10-30 เซนติเมตร ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับสากตำข้าว ใบ ออกเรียงสลับติดกันที่โคนต้น ใบมีสีเขียวแผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปหอก พับเป็นร่องๆ ตามยาว คล้ายใบปาล์ม ปลายใบเรียวแหลมโคนใบสอบแคบ กว้างประมาณ 4–6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30–40 เซนติเมตร มีก้านใบยาว 25–30 เซนติเมตร โคนแผ่กว้างหุ้มลำต้น ลักษณะดอก มี 6 กลีบ สีเหลือมีขนขึ้นปกคลุม โคนเชื่อมติดกัน ซึ่งดอกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร มีใบประดับสีเขียว ยาว 1-6 เซนติเมตร  ดอกแทงออกมาจากใต้ดินโดยจะออกเป็นช่อรวมกันแน่นเป็นรูปทรงกระบอกปลายแหลม ยาว 5-7 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ผลเป็นผลสดมีลักษณะกลมเมื่อผลอ่อนจะมีสีเหลืองอมเขียวอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีขาวถึงแดง โดยผลจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ส่วนที่ด้านขั้วป่องออกปลายเป็นจะงอย ผลมีรสหวานอมฝา

ว่านสากเหล็ก ว่านสากเหล็ก

การขยายพันธุ์ว่านสากเหล็ก

ว่านสากเหล็กสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกหน่อและเพาะเมล็ด แต่ส่วนมากแล้วจะนิยมการแยกหน่อมากกว่าการเพาะเมล็ด ซึ่งการนำว่านสากเหล็ก มาปลูกต้องผสมวัสดุในถุงเพาะชำก่อน โดยการผสมดินกับปุ๋ยคอกและมะพร้าว สับแล้วจึงนำหน่อว่านสากเหล็กมาปลูก โดยการตัดแต่งใบออกบ้าง เมื่อปลูกแล้วนำไปไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เมื่อว่านสากเหล็กอายุได้ 3-4 เดือน ลำต้น และรากจะแข็งแรง จึงสามารถเอาลงปลูกได้ในหลุมที่เตรียมไว้แล้วกลมดินแล้วกดให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ

           ทั้งนี้ว่านสากเหล็กเป็นพืชที่ไม่ชอบแดด ควรปลูกที่ร่มรำไรใต้ต้นไม้ และควรขุดหลุมที่จะทำการปลูกให้กว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร แล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักเว้นระยะระหว่างต้นประมาณ 30-40 เซนติเมตร

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของว่านสากเหล็ก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารกลุ่ม Alkaloids ได้แก่ Tazettine, Lycorine, Crinamrine สารกลุ่ม benzenoid ได้แก่ 2,6-dimethoxy benzoic acid  และสารกลุ่ม steroid ได้แก่ beta-sitosterol

 โครงสร้างว่านสากเหล็ก

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของว่านสากเหล็ก

มีรายงานผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของว่านสากเหล็กระบุไว้ว่า ใบ และรากของว่านสากเหล็กมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระรวมถึงยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียกลุ่มก่อโรคทางผิวหนัง เช่น Candida albicans, Pseudomonas aeruginosa และ Stapphylococcus aureus ได้โดยฤทธิ์ต้านอนุมูลิอิสระนั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่าการสกัดสารสกัดหยาบด้วยน้ำอุณหภูมิห้องจากส่วนใต้ดิน (ราก และ เหง้า) ให้อัตราร้อยละของผลผลิตสูงสุด รองลงมา คือ เอธานอล และสารสกัดหยาบด้วยเอธานอลจากส่วนเหนือดิน (ใบ และลำต้น) จากนั้นนำไปศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูนอิสระด้วยวิธี Frap และ DPPH พบว่าสารสกัดหยาบทั้งส่วนเหนือดิน และใต้ดินมีฤทธิ์การต้านอิสระสูง โดยสารสกัดหยาบด้วยน้ำร้อนจากส่วนเหนือดิน ให้ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด 

           ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่า สาร Tazettine ที่สกัดได้จากว่านสากเหล็ก ในปริมาณ 5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีฤทธิ์ในการกระตุ้นหัวใจ โดยทำให้มีการบีบตัวแรงขึ้น นอกจากนี้ว่านสากเหล็กยังมีฤทธิ์ทางเภสัชอื่นๆ อีกเช่น ฤทธิ์การต้านการอักเสบ ลดอาการเจ็บปวด บวม เป็นต้น

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของว่านสากเหล็ก

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการนำว่านสากเหล็ก มาใช้จะต้องมีกระบวนการนำไปกำจัดพิษออกก่อน จึงจะสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้ ดังนั้นการเตรียม (ว่านสากเหล็ก) จึงควรเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อีกทั้งควรใช้สมุนไพรดังกล่าวก็ควรใช้อย่างระมัดระวังไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง ว่านสากเหล็ก
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ว่านสากเหล็ก”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 516.
  2. ว่านสากเหล็ก. คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม .1 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. กันยายน 2558. หน้า 235-237
  3. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.“ว่านสากเหล็ก”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 730-731.
  4. ว่านสากเหล็ก .กลุ่มยาขับประจำเดือน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ  (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_26_7.htm