ยูคาลิปตัส ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ยูคาลิปตัส งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร ยูคาลิปตัส
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โกศจุฬารส (ไทย), หนานอัน อันเยี๊ยะ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Eucalyptus globulus Labill
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eucalyptus globulus subsp., Eucalyptus gigantean Dehnh, Eucalyptus pulverulenta Link
ชื่อสามัญ Eucalyptus
วงศ์ MYRTACEAE


ถิ่นกำเนิดยูคาลิปตัส

ยูคาลิปตัส เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปออสเตรเลียบริเวณเกาะแมสามเนีย จากนั้นจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณใกล้เคียงได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี รวมถึงหมู่เกาะต่างๆ ในโอเชียเนีย แล้วจึงได้แพ่กระจายไปทั่วโลก ในปัจจุบันสำหรับในประเทศไทยมีหลักฐานระบุว่า เริ่มมีการนำยูคาลิปตัส มาปลูกครั้งแรกที่พระที่นั่นวิมานเมฆ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2544

ประโยชน์และสรรพคุณยูคาลิปตัส

  • แก้ไข้
  • แก้หวัด
  • แก้ติดเชื้อ
  • แก้ไข้หวัดใหญ่
  • แก้บิด
  • แก้ลำไส้อักเสบ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ช่วยลดอาการข้ออักเสบ
  • แก้โรคกลากเกลื้อน
  • แก้ผดผื่นคัน
  • แก้ฝีหนองต่างๆ
  • ช่วยแก้ไอ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้หวัดคัดจมูก
  • แก้วิงเวียน
  • แก้ฟกช้ำดำเขียว

           เนื้อไม้ยูคาลิปตัส ถูกนำมาใช้ทำกระดาษ ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง เฟอนิเจอร์เครื่องเรือน และเครื่องใช้สอยต่างๆ และยังนำมาใช้เผาถ่าน ถ่านไม้ยูคาลิปตัสจะให้พลังงานความร้อน 7,400 แคลอรี่ต่อกรัม ซึ่งมีความใกล้เคียงกับไม้โกงกาง ซึ่งเป็นถ่านไม้ชั้นดีที่สุด เปลือกไม้นำมาบดให้ละเอียดแล้วนำมาผสมกับขี้เลื่อย และกาว ใช้ทำเป็นธูปใช้ทำเป็นส่วนผสมของยากันยุงได้ส่วนของใบนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยซึ่งจะให้กลิ่นหอมสามารถใช้สารฆ่าเชื้อ สารแต่งกิ่งในน้ำหอม สบู่ ยาดม และใช้แต่งกลิ่น และรสชาติ ของอาหารนอกจากนี้ยังใช้เป็นสารป้องกัน และกำจัดแมลงได้อีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยูคาลิปตัส

ใช้เป็นยาเย็น แก้ไข้ แก้หวัด ไข้หวัดใหญ่ แก้บิด ลำไส้อักเสบ ข้ออักเสบ ขับเสมหะ โดยใช้ใบแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ บดชงกับน้ำร้อนดื่มก็ได้ ใช้รักษาโรคผิวหนังต่างๆ เช่น กลากเกลื้อน ผดผื่นคัน ฝีหนอง โดยใช้ใบสด 18-30 กรัม มาตำให้แหลกใช้พอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ โดยใช้น้ำมันที่กลั่นได้จากใบสด 0.5 มิลลิลิตร รับประทาน หรือ หยดในน้ำอุ่นดื่มก็ได้ ใช้แก้อาการหวัดคัดจมูก โดยใช้น้ำมันยูคาลิปตัส สักเล็กน้อย มาเจือจาง ในน้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว หรือ น้ำมันโจโจ้บาแล้วนำมาสูดดม หรือ ใช้อมก็ได้ ใช้แก้ปวดเมื่อย ปวดบวม แก้อาการฟกช้ำดำเขียว โดยใช้น้ำมันยูคาลิปตัสมาทาถูนวดบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของยูคาลิปตัส

ยูคาลิปตัส จัดเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10-25 เมตร มีเรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบค่อนข้างกลม แตกกิ่งก้านมากลำต้นตั้งตรง เปลือกเป็นมันบางเรียบ ลอกออกง่ายเป็นแผ่นบางๆ มีสีน้ำตาลอ่อนปนขาว หรือ สีเทาสลับสีขาวและสีน้ำตาลแดง ส่วนกิ่งก้านเล็กเป็นเหลี่ยม

           ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ เป็นรูปหอกปลายใบแหลม กว้าง 0.5-0.8 นิ้ว ยาว 3-12 นิ้ว ใบเป็นสีเขียวอ่อนหม่นๆ ทั้งสองด้าน ใบห้อยลงมีเส้นใบมองเห็นได้ชัด มีก้านใบยาว 2 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ซึ่งจะมีประมาณ 2-3 ดอก โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลสงของดอกประมาณ 4 เซนติเมตร ดอกสีขาว หรือ สีเหลืองอ่อน มีเกสรเพศผู้หลายก้าน

            ผล มีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม คล้ายรูปถ้วยแต่ตรงปลายผลจะแหลมเปลือกผลหนามีรอยเส้นสี่เหลี่ยม 2 เส้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และปลายผลจะแยกออก

ยูคาลิปตัส

ยูคาลิปตัส

การขยายพันธุ์ยูคาลิปตัส

ยูคาลิปตัส เป็นพืชที่มีการแยกย่อย สลายค่อนข้างมาก เพราะมีการพัฒนาสายพันธุ์ อย่างหลากหลายตามความต้องการของตลาดโดยมีพันธุ์ที่นิยมปลูกกัน คือ พันธุ์ออสเตรเลียแดง พันธุ์สีรุ้ง และพันธุ์เรดกัมเป็นต้น สำหรับการขยายพันธุ์ยูคาลิปตัสนั้น สามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำแต่วิธีที่นิยมกันในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด ซึ่งการเพาะเมล็ดก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดชนิดอื่นๆ ซึ่งหลังจากเพาะเมล็ด 45 วัน ให้ย้ายต้นกล้าลงถุงเพาะชำ แล้วทำการพรางแสง 50% แล้วเมื่อต้นมีใบ 3 คู่ ให้เด็ดยอดทิ้งเพื่อให้แตกกิ่งแขนง จากนั้นจึงเตรียมลงปลูกในหลุมที่มีขนาด 50x50x50 (กว้างxยาวxลึก) แล้วจึงกลบดินที่ผสมปุ๋ยคอก รดน้ำให้ชุ่มแล้วหาไม้ค้ำยันไว้ด้วย

องค์ประกอบทางเคมียูคาลิปตัส

มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากใบยูคาลิปตัส ระบุพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น 1,8-cineole (Eucalyptol) สูงกว่า 70% ซึ่งสาร Eucalyptol เป็นสารประกอบ monoterpene และยังพบสารอื่นๆ อีกเช่น a-pinene,limonene, terpinen-4-ol, inalool, crytone, cuminaldehyde, linalyl acetate, spathulenol, b-phellandrene, r-cymene, Aromadendrene, Cineole, Pinocarveol, Cuminaldehyde, 1-Acely 1-4, Quercetin Rutin ส่วนในใบพบสาร Eucalyptin , Tannin และ Guaiacol Globulolเป็นต้น

โครงสร้างยูคาลิปตัส 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของยูคาลิปตัส

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของยูคาลิปตัสดังนี้

            ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase มีการศึกษาวิจัยน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากใบของพืชในวงศ์ Myrtaceae จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ยูคาลิปตัส (Eucalyptus globulus Labill), เสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi Powell), แปรงล้างขวด (Melaleuca citrina (Curtis) Dum. Cours), ฝรั่ง (Psidium guajava Linn.), หว้า (Syzygium cumini (L.) Skeel), และชมพู่น้ำดอกไม้ (Syzygium samarangense (Blume) Merr & L.M. Perry) โดยนำมาศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากแปรงล้างขวด มีฤทธิ์ดีที่สุด (71.77±2.11%) รองลงมา คือ ยูคาลิปตัส (47.65±2.26%), ฝรั่ง (24.96±2.38%), เสม็ดขาว (21.18±0.54%), หว้า (19.97±1.10%) และชมพู่น้ำดอกไม้ (13.78±1.52%) ตามลำดับ สาร 1,8-cineole ซึ่งเป็นสารสำคัญหลักที่พบในน้ำมันหอมระเหยจากแปรงล้างขวด และยูคาลิปตัส ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ AChE ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเสม็ดขาว หว้า และชมพู่น้ำดอกไม้ ไม่มี 1,8-cineole ในองค์ประกอบ จึงมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ AChE

            ฤทธิ์ลดอาการคัดจมูกในผู้ป่วยโรคหวัด มีการศึกษาวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มไปข้างหน้าและมีกลุ่มควบคุม (Randomized prospective controlled trial) เพื่อเปรียบเทียบผลของการสูดดมยูคาลิปตัส และหอมแดง ด้วยไอน้ำร้อนต่ออาการคัดจมูกในผู้ป่วยโรคหวัดจำนวน 37 คน โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สูดดมยูคาลิปตัสจำนวน 19 คน และกลุ่มที่สูดดมหอมแดงด้วยไอน้ำร้อนจำนวน 18 คน ให้ผู้ป่วยสูดดมยูคาลิปตัส หรือ หอมแดงด้วยไอน้ำร้อนอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 10 นาที และประเมินอาการคัดจมูกของผู้ป่วยโดยให้ผู้ป่วยให้คะแนนความรุนแรงของอาการคัดจมูกด้วยตนเอง และการใช้เครื่องมือตรวจวัดแรงต้านทานในจมูกโดยเทคนิคไรโนมาโนเมตรีทั้งก่อน และหลังสูดดมไอระเหยเป็นเวลา 40 นาที พบว่าหลังการสูดดมยูคาลิปตัส และหอมแดงด้วยไอน้ำร้อน คะแนนประเมินอาการคัดจมูกของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มดีขึ้นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับความเชื่อมั่น 99.9% โดยค่าเฉลี่ยของคะแนนอาการคัดจมูกของผู้ป่วยกลุ่มที่สูดดมยูคาลิปตัสลดลงจาก 54.44±10.42% เป็น 40.50±14.94% และในกลุ่มที่สูดดมหอมแดงด้วยไอน้ำร้อนลดลงจาก 55.72±10.59% เป็น 39.72±13.17% ในขณะที่ค่าแรงต้านทานในจมูกของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มเพิ่มขึ้นจากเดิมเล็กน้อยโดยไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงจากการสูดดมทั้งสองวิธี

            ฤทธิ์ไล่ยุง มีการทดสอบฤทธิ์ไล่ยุง (repellent activity) ของน้ำมันหอมระเหยจากใบสดของสมุนไพร 4 ชนิด ได้แก่ กะเพรา (Ocimum sanctum), สะระแหน่ฝรั่ง (Mentha piperita), ยูคาลิปตัส (Eucalyptus globulus) และเนียมหูเสือ (Plectranthus amboinicus) ที่สกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ (hydrodistillation) และเตรียมเป็นสารละลายน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพร แต่ละชนิดความเข้มข้นร้อยละ 20 ในเอทานอล และสารละลายน้ำมันหอมระเหยผสมของสมุนไพรทั้งสี่ชนิดในอัตราส่วนเท่ากัน ความเข้มข้นร้อยละ 5 แล้วทดสอบฤทธิ์ไล่ยุงกับยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เพศเมียอายุ 3-5 วัน โดยเติมสารละลาย 100 ไมโครลิตร ในจานเพาะเชื้อที่วางไว้ในกล่องทดสอบ และประเมินการเกาะของยุง (mosquito landing) ทุกๆ 30 นาที จนครบ 6 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมบวกซึ่งใช้สารไล่แมลงมาตรฐาน DEET (N, N-diethyl-m-toluamide) ความเข้มข้นร้อยละ 20 ในเอทานอล และกลุ่มควบคุมลบซึ่งใช้แอลกอฮอล์อย่างเดียว ผลการทดสอบพบว่าน้ำมันหอมระเหยของกะเพรา สะระแหน่ฝรั่ง เนียมหูเสือ และน้ำมันหอมระเหยผสมสามารถป้องกันการเกาะของยุงได้นานถึง 6 ชั่วโมง เช่นเดียวกับกลุ่มที่ใช้ DEET ส่วนน้ำมันยูคาลิปตัสมีผลป้องกันการเกาะได้ 1 ชั่วโมง 30 นาที ในขณะที่กลุ่มควบคุมลบพบการเกาะและกินอาหาร (feeding) ของยุง

            ฤทธิ์ป้องกันกำจัดแมลง มีรายงานว่าสาร1,8-cineole เป็นองค์ประกอบหลักของน้ำมันหอมระเหยจากใบยูคาลิปตัส มีประสิทธิภาพทำให้ด้วงงวงข้าว Sitophilus oryzae L.ตาย 75 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับ น้ำมันหอมระเหยจากใบยูคาลิปตัส อัตราความเข้มข้น 0.01 ml/L มีผลทำให้ตัวเต็มวัยของแมลงวัน (hessian fly) Mayetiola destructor Say มีเปอร์เซ็นต์การตายที่ระยะเวลา 2 ชั่วโมง เท่ากับ 63.33

            นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆ อีกเช่น มีรายงานว่าน้ำมันยูคาลิปตัส ความเข้มข้นที่ 6% สามารถช่วยยับยั้งเชื้อวัณโรค H37, Rv ได้ สารสกัดอื่นๆ มีฤทธิ์ขับพยาธิปากขอและสามารถยับยั้งเชื้อ Staphylo coccus ได้ โดยฤทธิ์ที่ยับยั้งเชื้อได้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารสกัด ฯลฯ

การศึกษาทาวพิษวิทยาของยูคาลิปตัส

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การใช้น้ำมันยูคาลิปตัส ควรใช้ภายนอก ไม่ควรนำมารับประทาน และห้ามสูดดม หรือ สัมผัสผิวหนังโดยตรง เนื่องจากมีความเข้มข้นสูง หากเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ก่อนไปพบแพทย์ หากถูกผิวหนังให้รีบล้างออกด้วยสบู่ มิฉะนั้นอาจเกิดอาการแพ้ได้ หากได้รับน้ำมันหอมระเหยทางปากจะมีผลโดยตรง ต่อระบบย่อยอาหาร ซึ่งน้ำมันหอมระเหยจะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหาร ทำให้อวัยวะระคายเคือง กระตุ้นน้ำย่อย การหายใจ การไหลเวียนเลือด และการย่อยอาหาร

          นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าใบยูคาลิปตัสมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรระมัดระวังในการใช้ใบยูคาลิปตัส โดยเฉพาะระหว่างที่รับประทานยา รักษาโรคเบาหวาน เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำจนเกินไป

เอกสารอ้างอิง ยูคาลิปตัส
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ยูคาลิปตัส”. หนังสือสารานุกรมไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 468.
  2. รศ.ดร. วีณา จิรัจฉริยากูล. กลิ่นหอม บำบัดโรค. คอลัมน์บทความพิเศษ. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 248. ธันวาคม 2542.
  3. ฤทธิ์ไล่ยุงจากน้ำมันหอมระเหยจากกระเพา สาระแหน่ ฝรั่ง ยูคาลิปตัส และเนียมหูเสือ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. ภานุมาศ จันทร์สุวรรณ. วารสาร อวพช. มีนาคม 2551. หน้า 40.
  5. ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ acetylcolinesterase ของน้ำมันหอมระเหยจากพืชวงศ์ Myrtaceae. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. นันทิยา จิตธรรมมา. 2549. ประสิทธิภาพในการเป็นสารกำจัดแมลงของน้ำมันหอมระเหยจากใบยูคาลิปตัส (Eucalyptus camaldulensis Dehnh) ต่อหนอนกระทู้ผัก (Spodoptera litura Fabricius). วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์ มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,นครปฐม.
  7. เปรียบเทียบผลของการสูดดม ยูคาลิปตัส และหอมแดงด้ายไอน้ำร้อนต่อการคัดจมูกในผู้ป่วยโรคหวัด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  8. วันดี กฤษณพันธ์.2536. เภสัชวินิจฉัย: ยา และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เล่ม 2 มหาวิทยัยมหิดล. กรุงเทพมหานคร. 403 หน้า
  9. ยูคาลิปตัส. กลุ่มสมุนไพรไล่ยุง หรือ แมลง. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants.data/herbs/herbs_25_2.htm
  10. Lamiri, A., S. Lhaloui, B. Benjilali, and M. Berrada. 2001. Insecticidal effects of essential oils against Hessianfly, Mayetiola destructor (Say). Field Crops Research.71: 9-15.
  11. Shaaya, E., U. Ravid, N. Paster, B. Juven, U. Zisman, and V. Pissarev. 1991. Fumigant toxicity of essential oil against four major stored-product insects.