มหาหงส์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

มหาหงส์ งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มหาหงส์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หางหงส์, กระทายเหิน (ภาคกลาง), เหินดำ, เหินแก้ว, ตาเหิน (ภาคเหนือ), ว่านกระชายเห็น, สะเลเต (ภาคอีสาน), เลเป, ลันเต (ภาคตะวันออก), เฮวดำ (ไทยใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hedychium coronarium J.koenig
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hedychium gandasulium Buch.-Ham. ex Wall., Hedychium lingulatum Hassk., Hedychium maximum Roscoe, Hedychium prophetaeAmomum filiforme Hunter ex Ridl, Gandasulium coronarium (J.Koenig) Kuntze.
ชื่อสามัญ Butterfly lilly, Ginger lilly, Garland flower, White ginger
วงศ์ ZINGIBERACEAE

ถิ่นกำเนิดมหาหงส์

มหาหงส์ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย บริเวณเอเชียใต้ แถบประเทศอินเดีย และเนปาล ต่อมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนต่างๆ สำหรับประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีการนำเข้ามาปลูกครั้งแรกเมื่อได แต่คาดการณ์กันว่าน่าจะเป็นการแพร่กระจายพันธุ์เข้ามา ตามธรรมชาติจากอินเดีย และเนปาลผ่านประเทศพม่าเข้ามายังประเทศไทยปัจจุบันสามารถพบมหาหงส์ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณชายป่าใกล้ลำธาร หรือ ตามพื้นที่ที่มีความชื้นสูง

ประโยชน์และสรรพคุณมหาหงส์

  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ช่วยขับลม
  • ช่วยบำรุงไต
  • แก้ทอลซินอักเสบ
  • แก้กษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบซีด ปวดเมื่อย โลหิตจาง)
  • แก้ฟกช้ำปวดบวม
  • ช่วยแก้อาการท้องอืดได้
  • ช่วยกระตุ้นน้ำย่อย
  • ช่วยในการขับลม
  • แก้อาการลมชักหรือใช้ทาตุ่มผื่นลมพิษ
  • แก้แผลบวมได้

         มีการนำส่วนต่างๆ ของมหาหงส์ มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ชาวเหนือจะใช้หน่ออ่อนของมหาหงส์มาลวกรับประทานกับน้ำพริก น้ำมันหอมระเหยจากเหง้า และดอกของมหาหงส์ใช้เป็นส่วนผสมในการทำน้ำหอม และวงการสปาทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ และยังใช้เป็นส่วยผสมในครีม โลชัน โคโลญจน์ สบู่ ครีมอาบน้ำ หรือ โคนหมักตัว อีกด้วย ส่วนน้ำมันจากเหง้าสดสามารถนำมาใช้ฆ่าแมลงได้ และยังมีการนำมหาหงส์ มาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากสามารถออกดอกได้ตลอดปี และดอกบานทนได้หลายวัน ดอกจะมีกลิ่นหอมมาก โดยเฉพาะช่วงเช้า และช่วงเย็นถึงมืด ทนทานต่อโรคและแมลง ต่างๆ

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้มหาหงส์

ใช้บำรุงกำลัง บำรุงไต ขับลม แก้กษัย แก้ปวดเมื่อย โลหิตจาง โดยใช้หัวหรือเหง้าตากแห้ง จากนั้นบดละเอียด แล้วนำมาผสมน้ำปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทาน ใช้กระตุ้นน้ำย่อย ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แก้ทอลซินอักเสบ โดยใช้เหง้ามาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาฆ่าแมลงโดยนำเหง้าสดจำนวนพอควร นำมาทุบๆ แล้วนำมาสกัดให้ได้น้ำมันหอมระเหย ใช้เจือจางฆ่าแมลงอื่นๆ ได้

ลักษณะทั่วไปของมหาหงส์

มหาหงส์ จัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เป็นสีนวล มีกลิ่นเฉพาะ ส่วนเหนือดินเป็นลำต้นเทียมที่มีกาบใบซ้อนแน่น กลม สีเขียว สูง 1-1.5 เมตร

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ตรงข้ามกัน มีใบประมาณ 7-12 ใบ เป็นสีเขียวสด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-9 เซนติเมตร และยาวประมาณ 25-60 เซนติเมตร เป็นรูปขอบขนาน หรือ เป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โดนใบมน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่ม เส้นกลางใบแผ่นใบมักงอตัวลงไปด้านหลัง และเห็นได้ชัดจากหลังใบ ส่วนก้านใบสั้นเป็นกาบห่อหุ้มลำต้น ลักษณะเกลี้ยงและเป็นมัน

           ดอก ออกเป็นช่อ บริเวณปลายยอดของลำต้นเทียมโดยแต่ละช่อ กว้าง 4.0-8.0 ซม. ยาว 10-15 ซม. และมีใบประดับขนาดใหญ่ รูปหอก หรือ รูปไข่จำนวนมาก เรียงซ้อนขนาดลดหลั่นตามลำดับ ซึ่งแต่ละช่อดอกมีขนาดใหญ่ สีขาว ตรงกลางกลีบค่อนไปทางโคนกลีบสีเหลือง สีขาวหรือนวล มีกลิ่นหอม ออกตามซอกใบประดับ กลีบดอกรูปแถบแคบๆ กว้าง 0.2 มม. ยาว 3.5-4 ซม. ปลายมนสีขาว กลีบปากรูปไข่เกือบกลม กว้าง 5-5.5 ซม. ยาว 4-4.5 ซม. ปลายแยกเป็น 2 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็กยาว 5-8 ซม. สีขาว ปลายกลีบดอกหยักบาง กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน

           ผล เป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นรูปทรงกลม หรือ ทรงกระบอกสีส้มแดง แตกออกได้เป็นพู 3 พู ด้านในมีเมล็ดสีน้ำตาลแดงอยู่ 3 เมล็ด

มหาหงส์

มหาหงส์

 มหาหงส์

การขยายพันธุ์มหาหงส์

มหาหงส์สามารถขยายพันธุ์ได้สองวิธี คือ การขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด ซึ่งเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ และอีกวิธีหนึ่ง คือ การแยกเหง้าปลูก ซึ่งเป็นวิธีการที่ยอดนิยมในปัจจุบัน เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว และมีอัตราการรอดสูง สำหรับการแยกเหง้ามหาหงส์ไปปลูกนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกับการแยกเหง้าพืชชนิดอื่นๆ ไปปลูก ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ นอกจากนี้มหาหงส์ สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ได้รับแสงแดดรำไรระหว่างพันธุ์ไม้ใหญ่และมีความทนทานต่อดิน ฟ้าอากาศ โรคและแมลงอีกทั้งยังเป็นพื้นที่อายุยืน ปลูกง่าย โตเร็ว แข็งแรง แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมหาหงส์เป็นพืชที่มีเหง้าใต้ดิน เมื่อปลูกได้ 2-3 ปี ควรรื้อกอปลูกใหม่ เพื่อให้ได้ต้นที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี จากน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าและดอกของมหาหงส์ ระบุว่า น้ำมันหอมระเหยจากเหง้า มหาหงส์จะเป็นของเหลวใส สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ประกอบด้วย beta-pinene, d-limonene, borneol และ linalool ส่วนองค์ประกอบหลักของน้ำมันหอมระเหยจากดอกว่านมหาหงส์มีสารสําคัญคือ (E ) -β-ocimene (28.7%),  linalool  (19.3%) และ 1,8-cineole   (14.5%) นอกจากนี้ ยังพบสาระสำคัญจากสารสกัดหยาบจากดอกมหาหงส์ ดังนี้

         alpha-Pinene, alpha-Phellan, a-Myrcene, 6-Methyl-5-Hepten-2-one 6,6-dimethylene-(1S)-Bicyclo[3.1.1]hepta 4-methyl-1-(1-methylethyl)-Bicyclo[3.1.0]hex-2-one, 1-methyl-4-(1-methyletyl)-1,3-Cyclohexadiene, D-Limonene, Eucalyptol, a-Ocimene, 3,7-dimethyl-1,3,7-Octatriene, c-Terpiene, 3-methyl-6-(1-methylethylidene)-Cyclohexen, Linalool, Terpinen-4, Terpinol, Caryophyllene, cis-a-Farnesen, alfa.-Copaene

 โครงสร้างมหาหงส์

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมหาหงส์

มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของมหาหงส์ ระบุว่ามี ฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบหลายชนิด โดยให้ผลการยับยั้งเชื้อในกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ดี เช่น Salmonella Typhi, Escherichai coli และมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา Candida albicans และ C. glabrata ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากเหง้ามหาหงส์มีฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรีย Bacilus subtilis และ Pseudomonas aeruginosa รวมถึงเชื้อรา Trichoderma sp. และ C. albicans ได้ นอกจากนี้ยังมีผลการทดสอบการยับยั้งแบคทีเรียด้วยวิธี Disc diffusion พบว่า น้ำมันหอมระเหยมหาหงส์สามารถยับยั้ง P. acnes และ S. epidermidis ได้ และพบว่า ยาปฏิชีวนะ Tetracycline ไม่สามารถยับยั้ง S. epidermidis ได้ แต่น้ำมันหอมระเหยมหาหงส์มีฤทธิ์ยับยั้งเท่ากับ 31.96mm. ซึ่งใกล้เคียงกับการใช้ยา Erythromycin และให้ผลการยับยั้งที่ดีกว่ายา Amoxicilin อีกด้วย และยังมีการศึกษาวิจัย  น้ำมันหอมระเหยจากเหง้าของมหาหงส์ เมื่อนำมาเตรียมเป็นโลชันกันยุงกัด พบว่าป้องกันการกัดของยุงลายสวนได้ 7.5 ชั่วโมง, ยุงก้นปล่อง 7.1 ชั่วโมง และ ยุงรำคาญ 5.8 ชั่วโมง

การศึกษาทางพิษวิทยาของมหาหงส์

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการนำมหาหงส์มาใช้เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณ ที่เหมาะสมไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร ไม่ควรใช้มหาหงส์ เป็นสมุนไพรประเภทรับประทานเพราะยังไม่มีรายงานการศึกษาด้านความเป็นพิษรวมถึงการศึกษาวิจัยในขนาดที่เหมาะสม

 

เอกสารอ้างอิง มหาหงส์
  1. ปิยะ เฉลิมกลิ่นและคณะ. 2546. หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย. จัดพิมพ์โดยโครงการ  BRT บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กเพลส จำกัด กรุงเทะฯ. 336 หน้า
  2. นิจศิริ เรืองศรี และธวัธชัย มังคละคุปต์.(2547).สมุนไพรไทย เล่ม 1. (พิมพ์ครั้งที่ 1) กรุงเทพมหานคร : บี เฮลท์ตี้
  3. ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์. ว่านมหาหงส์. คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 367. พฤศจิกายน 2552.
  4. อำพล บุญเพียร, วรินทร เชิดชูธีรกุล, วินัย สยอวรรณ. การศึกษาผลของการสูดดมกลิ่นน้ำมันดอกว่านมหาหงส์ต่อระบบประสาทอัตโนมัติ และอารมณ์ความรู้สึก. วารสารการพยาบาล กรมสาธารณสุข และการศึกษา ปีที่ 20. ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2562. หน้า 147-154
  5. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542. นานมีบุคส์พับลิเคชั่น 2546. 1,488 หน้า 840
  6. นลิน วงศ์ขัตติยะ และคณะ. ฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยจากมหาหงส์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของสิว. วารสารมหาวิทยาลัยนเรศวรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปีที่ 24. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2559. หน้า 25-31
  7. ชัชฎา แสนทิ, ชญาดา กลิ่นจันทร์, กฤษดา ปิติจะ. การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีเบื้องต้นขิงสารสกัดหยาบจากดอกมหาหงส์ด้วยเทคนิค Gas chromatography Mass Spectrometry. รายงานการสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร ครั้งที่1 22 กุมภาพันธ์ 2564. หน้า 846-851.
  8. มหาหงส์. ฐานข้อมูลสมุนไพร และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=86
  9. Joy, B., Rajan, A., & Abraham, E. Antimicrobial activity and chemical composition of essential oil from Hedychium coronarium. Pharmacology and Pharmaceutical Medicine, 21, 439-443.
  10. Joshi, S., Chanotiva, C.S., Agarwala, G., Prakasha, O., Panta, A.K. and Mathelab, C.S. (2008). Terpenoid compositions, and antioxidant and antimicrobial properties of the rhizome essential oils of different Hedychium species. Chem Biodivers, 5(2), 299-309.
  11. Sabulol, B., George, V., Dan, M., & Pradeep, N.S. Chemical composition and antimicrobial activities of the essential oils from the rhizomes of four Hrdechium species from South India. Journal of Essential Oil Research, 19, 93-97.
  12. DisnelysBaez , Jorge A. Pino & Diego Morales. (2011). Floral Scent Composition in Hedychiumcoronarium J. Koenig Analyzed by SPME. Journal of Essential Oil Research,23(3), 64-67.