โมกมัน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

โมกมัน งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โมกมัน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น โมกน้อย (ภาคกลาง, ภาคเหนือ), มูกมัน, มูกน้อย (น่าน, นครพนม), โมกมันเหลือง (สระบุรี), บักมัน (สุราษฎร์ธานี), แนแก, เส่ทือ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia arborea (Dennst.) Mabb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Wrightia tomentosa Roem. & Schult.
ชื่อสามัญ Ivory wood, Darabela, Karingi, Lanete
วงศ์ APOCYNACEAE

ถิ่นกำเนิดของโมกมัน

โมกมันเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการแพร่กระจายพันธุ์อยู่หลายทวีปในเอเชีย อาทิเช่น จีนตอนใต้ อินเดีย ศรีลังกา พม่า ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยพบทั่วทุกภาคของประเทศซึ่งมักพบในป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ และป่าโปร่ง ทั่วไปที่มีความสูงระดับน้ำทะเลจนถึง 1,600 เมตร ทั้งนี้ยังมีพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีบางท้องถิ่น เรียกว่า “โมกมัน” ซึ่งเป็นพืชในสปีชีส์ และวงศ์เดียวกัน แต่เป็นคนละชนิดกับโมกมัน ในบทความนี้ โดยโมกมันชนิดดังกล่าวมีชื่อว่า Wrightia pubescens R.Br. ซึ่งมีลักษณะของต้น และสรรพคุณทางยาที่คล้ายกันมาก


ประโยชน์และสรรพคุณโมกมัน

  • ช่วยรักษาธาตุไฟให้ปกติ
  • บำรุงธาตุไฟ
  • แก้โรคคุดทะราด
  • แก้โรคไต
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้ดีพิการ
  • ช่วยให้เจริญอาหาร
  • ฆ่าเชื้อรำมะนาด
  • ฆ่าพยาธิผิวหนัง
  • แก้เสมหะ
  • แก้จุกเสียด
  • แก้กำเดา
  • แก้โลหิต
  • แก้บิด
  • แก้ลมที่เรื้อรัง
  • แก้ลมสันดาน
  • แก้บวม
  • ขับพยาธิ
  • แก้ตกเลือด
  • แก้มูกเลือด
  • เป็นยาระบาย
  • ช่วยแก้พรรณดึกหรืออาการท้องผูก
  • แก้ลงท้อง
  • ขับโลหิตเสีย ขับเลือด
  • แก้โรคร้ายในท้อง
  • แก้เลือดร้อนอันคั่งอยู่ ในท้องให้ตก
  • ขับเหงื่อคนไข้
  • แก้ตับพิการ
  • แก้น้ำเหลือง
  • แก้ท้องมาน
  • แก้หืด
  • ฆ่าแมลงที่กินฟัน 

          โมกมัน ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมายดังนี้
           ⦁ ยอดอ่อนใช้ลวกจิ้มรับประทานได้ เนื้อไม้มีสีขาวนวลถึงขาวอ่อน มีเสี้ยนตรงเนื้อละเอียด และสม่ำเสมอเหนียวและแข็งพอประมาณ เลื่อยไสกบ ตกแต่งง่าย ขัดชักเงาได้ดี จึงมีการนำมาใช้กลึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ
           ⦁ เปลือกก็ให้เส้นที่นำไปใช้ทำกระดาษและใช้แทนใยจากฝ้ายได้ และยังสามารถนำมาสกัดทำเป็นสีย้อมเส้นไหมด้วย โดยจะใช้สีเขียวอ่อน (Milky green)
นอกจากนี้โมกมันยังได้รับความนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับตาม ตกแต่งสวนเพราะเป็นไม้ที่มีดอกหอม และยังโตเร็วทรงพุ่มสวย ให้ร่มเงาได้ดีอีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้โมกมัน

ใช้บำรุงธาตุไฟ ทำให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุทั้งสี่ แก้คุดทะราด แก้ดีพิการ แก้ท้องร่วง แก้โลหิต โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับเลือดเสีย แก้ลมสันดาน โดยใช้แก่นโมกมัน ไม้มาต้มกับน้ำ ใช้แก้น้ำเหลืองแก้ตับพิการ แก้โรคท้องมานโดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้รำมะนาด โดยใช้ฝัก และเมล็ด มาต้มกับน้ำอมกลั้วปาก

ลักษณะทั่วไปโมกมัน

โมกมัน จัดเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 8-20 เมตร (แต่ส่วนใหญ่จะสูง 10-15 เมตร) เรือนยอดรูปทรงกลมทึบ เปลือกสีขาว สีเทาอ่อนถึงน้ำตาล นิ่มคล้ายจุกไม้ก๊อร์ค แตกตามร่องตามยาวมีน้ำยางเหนียวสีขาว กิ่งใบและยอดอ่อนมีขนนุ่ม ปกคลุม ใบออกเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกันสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปรีป้อมหรือรูปไข่ กว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-18 เซนติเมตร ปลายใบแหลม หรือ เรียวแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบใบบางคล้ายแผ่นกระดาษ แผ่นใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 8-12 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร และมีขนสั้นนุ่มประปราย ดอก ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ความยาวช่อประมาณ 4-6 เซนติเมตร ดอกจะมีสีขาวอมเหลืองข้างนอกเป็นสีเขียวอ่อน มีกลิ่นหอมมีกลีบรองดอก และโคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ปลายกลีบแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ ผลออกเป็นฝักยาว 9-30 เซนติเมตร ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอก เป็นร่อง 2 ร่อง พื้นผิวฝักเกลี้ยงหรือขรุขระ ไม่มีรูอากาศภายในเมล็ดเป็นจำนวนมาก ฝักเมื่อแก่จะแห้งและแตกออกได้ เมล็ดเป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี หรือ รูปแถบสีเหลือง มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 12-16 มิลลิเมตร ที่ปลายด้านหนึ่งมีขนสีขาวเป็นพู่ติดอยู่ ซึ่งสามารถทำให้ปลิวไปตามลมได้ไกล

โมกมัน

โมกมัน

การขยายพันธุ์โมกมัน

โมกมันสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยม คือ การเพาะเมล็ดโดยมีวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกเช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นอื่นๆ ทั่วไป ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ โมกมัน สามารถ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภทและเป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบความชื้นปานกลาง และทนต่อความร้อนและแสงแดดได้ดี


องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของโมกมัน พบว่ามีสาระสำคัญหลายชนิด เช่น 2-hydroxy-6-methyoxy, benzoic acid, 4-hydroxybenzoic acid, conessine, conkurchin, ferulic acid, gentisic acid, kaempferol, ouercetin, sinapic acid, syringic acid, vanillic acid และ wrightiadione นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เปลือกต้น และยางยังมีสารแอลคาลอยด์ ชนิด Connesine อีกด้วย

โครงสร้างโมงมัน

การศึกษาทางเภสัชวิทยของโมกมัน

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของโมกมันที่ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้
           ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีการศึกษาประสิทธิภาพของใบโมกมัน ที่สกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ เมทานอล เอทิลอะซิเตต คลอโรฟอร์ม และน้ำ ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย แกรมบวกคือ S. aureus, B. subtilis และ B. cereus และแบคทีเรียแกรมลบ คือ E. coli, S. typhimurium และ K. pneumonia ด้วยวิธี well diffusion method พบว่า สารสกัดในชั้นต่างๆ สามารถต้านเชื้อได้ทุกชนิด โดยมีค่าการยับยั้งอยู่ระหว่าง 2-14 มิลลิเมตร ยกเว้นสารสกัดจากน้ำที่ต้าน ได้เพียงเชื้อ S. aureus, S. typhimurium และ K. pneumonia เท่านั้น
           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาต่างประเทศระบุว่าโมกมัน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านไวรัส แก้อาการแพ้ แก้อาการคัน ต้านเชื้อบิด ลดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ยับยั้งเอนไซม์ reverse trans criptase และต้านการสร้างหลอดเลือดใหม่ ในผู้ป่วยมะเร็งได้อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของโมกมัน

มีการทดสอบความเป็นพิษของโมกมัน ด้วยการฉีดสารสกัดส่วน ที่อยู่เหนือดินด้วยเอทานอลและน้ำ (ในอัตราส่วน 1:1) เข้าทางช่องท้องหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 125.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และเมื่อฉีดสารสกัดจากเปลือกต้นเข้าใต้ผิวหนังของหนูถีบจักรทดลอง ในขนาดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) จะเท่ากับ 8.065 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ข้อแนะนำและข้อควรระวังโมกมัน

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาด้านพิษวิทยาที่ระบุว่าโมกมันมีความเป็นพิษต่ำแต่การใช้โมกมันเป็นสมุนไพร สำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามสรรพคุณนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ยังไม่ควรใช้ โมกมัน เป็นยาสมุนไพรเพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เพียงพอส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนใช้ดมกมันเป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง โมกมัน

⦁ เต็ม สมิตินันท์, 2523, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย, กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ, 379 น.
⦁ พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. โมกมัน. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 165.
⦁ ศูนย์วนวัฒนวิจัยภาคเหนือ. 2555. พรรณไม้ในกระถางศูนย์วนวัฒนวิจัยภาคเหนือ. สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้. กรุงเทพฯ
⦁ นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร, 2539, สมุนไพรไม้พื้นบ้าน, สำนักพิมพ์ประชาชนจำกัด, กรุงเทพฯ, 895 น.
⦁ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. โมกมัน. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 650-651.
⦁ กร กรภัทรชัยกุล, ลัดดาวัลย์ รักษ์ธรรม. การขยายพันธุ์โมกมัน (Wrightia arborea (Dennst.) Mabb.) ในหลอดทดลองวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 23 ฉบับที่ 5 (ฉบับพิเศษ) กันยายน-ตุลาคม 2558. หน้า 833-845.
⦁ จำลอง เพ็งคล้าย, จรัล ฉ. เจริญผล, ลีนา ผู้พัฒนพงศ์ และธวัชชัย สันติสุข, 2518, ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจไทย ตอนที่ 1, ทำเนียบนายกรัฐมนตรี,กรุงเทพฯ, 245 น.
⦁ สมาคมป่าไม้แห่งประเทศไทย. 2526. ไม้และของป่าบางชนิดในประเทศไทย. กรมป่าไม้. กรุงเทพมหานคร.
⦁ ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. โมกมัน. หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1. หน้า 248.
⦁ รัตนา อิทรานุปกรณ์, 2547, การตรวจสอบและการสกัดแยกสารสำคัญจากสมุนไพร, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,กรุงเทพฯ, 215 น.
⦁ ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน.2539. โมกมัน. กรมป่าไม้. กรุงเทพมหานคร.
⦁ วิเชียร สุมันตกุล, 2542, หลักการปรับปรุงพันธุ์ไม้ป่าเบื้องต้น, เอกสารส่งเสริมและเผยแพร่ทางวนวัฒนวิทยา ปีที่ 1 เล่มที่ 2, ส่วนวนวัฒนวิจัยสำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ, 95 น.
⦁ โมกมัน. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 209.