โอลิโกนอล

โอลิโกนอล

ชื่อสามัญ Oligonol


ประเภทและข้อแตกต่างของสารโอลิโกนอล

สารโอลิโกนอลเป็นสารประกอบที่ได้จากธรรมชาติที่อยู่ในกลุ่มฟีนอลิก โดยจัดเป็นสารโพลีฟีนอลที่มีโมเลกุลเล็กที่สุด ที่ประกอบด้วยส่วนผสมของโมโนเมอร์ 6.4% และไดเมอร์ 9.8% โดยโอลิโกนอล เป็นสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่นๆ ซึ่งสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากถึง 60% เมื่อเทียบกับสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่น เช่น ฟลาโวนอลจากผลไม้ตระกูลส้ม หรือ โกโก้ ดูดซึมได้ 10-30% ในขณะที่เคอซิทินที่พบในแอปเปิ้ลมีอัตราดูดซึม 1-5% และแอนโทไซยานิดินในชาเขียว หรือ ตระกูลเบอรี่ที่สามารถดูดซึมได้เพียง 0.1% เท่านั้น สำหรับประเภทของสารโอลิโกนอลนั้นจากการศึกษาวิจัยพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารโอลิโกนอล

ดังที่ได้กล่าวในหัวข้อข้างต้นแล้วว่า สารโอลิโกนอล นั้นเป็นสารประกอบของโพลีฟีนอลที่ได้จากธรรมชาติ จากนั้นจึงมีการสังเคราะห์และผลิตขึ้นโดยการโอลิโกเมอร์ไรเซซันของโพลีฟีนอล ซึ่งประกอบด้วยโมโนเมอร์ประเภทคาเทชิน และโอลิโกเมอร์ของโปรแอนโธไซยานิดินโดยแหล่งขอสารประกอบต่างๆ ของโอลิโกนอล ที่ได้จากธรรมชาติ คือ ลิ้นจี่ (โดยเฉพาะส่วนเมล็ดของลิ้นจี่) ใบชา รวมถึงในเมล็ดองุ่น เป็นต้น

ปริมาณที่ควรได้รับสารโอลิโกนอล

สำหรับสารโอลิโกนอล นั้นจัดเป็นอาหารใหม่ (Novel food) ดังนั้นขนาดและปริมาณในการใช้สารดังกล่าวจึงยังไม่มีประวัติของขนาด การใช้บริโภคหรือใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้มีการออกหนังสือที่ระบุถึงขนาดและวิธีการใช้หรือเงื่อนไขในการใช้สารโอลิโกนอล ตามประกาศคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 376) พ.ศ.2559 เรื่อง อาหารใหม่ (Novel food) ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2559 ระบุว่า อนุญาตให้ใช้สาร Oligonol ที่สกัดจากผลลิ้นจี่และใบชาเขียว โดยให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปริมาณไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจากเป็นปริมาณที่ไม่เกินค่าความปลอดภัย

สารโอลิโกนอล

ประโยชน์และโทษสารโอลิโกนอล

จากการศึกษาวิจัย และทดลองรวมถึงมีการนำสารโอลิโกนอลไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้มีการระบุถึงประโยชน์ของสารโอลิโกนอล ดังนี้ สารโอลิโกนอลส่งผลต่อการลดปริมาณไขมันในช่องท้องและผู้มีภาวะอ้วนลงพุงเร่งการเผาผลาญและการดูดซึมไขมัน ลดการสะสมของไขมันในตับ เพิ่มการไหลเวียนระบบหัวใจและหลอดเลือดต่อต้านและกำจัดอนุมูลอิสระ เพิ่มความสดชื่น คลายความอ่อนล้าและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย ช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนบางอย่างของโรคเบาหวานและต่อต้านภาวะดื้ออินซูลินในผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยลดการอักเสบ ต่อต้านไข้หวัดใหญ่ และปกป้องผิวจากรังสียูวีที่เป็นอันตรายได้ เป็นต้น สำหรับความปลอดภัยของสารโอลิโกนอล นั้น ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นพิษของสาร Oligonol พบว่า การป้อนสาร oligonol จากผลลิ้นจี่ให้แก่หนูแรทขนาด 2,000มก./กก. เพียงครั้งเดียว ไม่ทำให้หนูตาย และไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติหรืออาการไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายของสัตว์ทดลองแต่อย่างใด และการป้อน สาร oligonol ขนาดวันละ 100, 300 และ 1,000 มก./กก. ให้แก่หนูแรทนาน 90 วัน พบว่า ไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่อพฤติกรรม ค่าทางชีวเคมีในเลือด และความเสียหายต่ออวัยวะภายใน ส่วนการศึกษาด้านความปลอดภัยในมนุษย์นั้น เนื่องจากสารดังกล่าวยังเป็นสารใหม่ที่เพิ่งมีการใช้ไม่นานมานี้ ดังนั้นจึงยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัย ระยะยาวในมนุษย์ซึ่งต้องอาศัยการค้นคว้าวิจัยการพิษวิทยาและด้านความปลอดภัยระยะยาวในอนาคตต่อไป

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของสารโอลิโกนอล

เนื่องจากสารโอลิโกนอลเป็นสารใหม่ที่มีการใช้เมื่อไม่นานนี้ ดังนั้นจึงมีการศึกษาวิจัยไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งในบทความนี้สามารถรวบรวมผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารโอลิโกนอลมาได้ไม่กี่ผลการศึกษาวิจัย ดังนี้

           มีการทดสอบผลของการรับประทานสาร oligonol จากผลลิ้นจี่ต่อภาวะความเครียดจากความร้อน (heat stress) ในอาสาสมัครเพศชายสุขภาพดีจำนวน 17 คน (อายุเฉลี่ย 21.6±2.1 ปี) โดยให้อาสาสมัครอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิประมาณ 26±0.5ºC มีความชื้นสัมพัทธ์ 60±3% และมีค่าความเร็วลมน้อยกว่า 1 เมตร/วินาที และให้ดื่มเครื่องดื่ม (500 มล.) ซึ่งประกอบด้วยสาร oligonol ปริมาณ 100 มก. หลังจากนั้น 60 นาที ให้อาสาสมัครลงไปแช่ตัวในน้ำที่มีอุณหภูมิ 42±0.5ºC นาน 30 นาที หลังจากนั้นให้ขึ้นจากน้ำอย่างรวดเร็ว ทำการวัดอุณหภูมิร่างกายของอาสาสมัครทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังแช่ตัวในน้ำ ผลจากการทดสอบพบว่า การได้รับสาร oligonol มีผลช่วยยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิร่างกายจากการลงไปแช่ในน้ำและการขึ้นจากน้ำอย่างรวดเร็วนอกจากนี้ ยังมีผลลดระดับของ prostaglandin E2 และ cyclooxygenase-2 ในเลือด ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะการอักเสบและเป็นไข้ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สาร oligonol จากลิ้นจี่สามารถยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิร่างกายซึ่งเกิดจากภาวะความเครียดจากความร้อนได้ และยังได้มีการศึกษาวิจัยในอาสาสมัครที่มีอายุระหว่าง 24-59 ปี และตรวจพบว่ามีไขมันในช่องท้องด้วยวิธี CT Scan จำนวน 18 ราย โดยให้อาสาสมัครรับประทานโอลิโกนอลวันละ 200 มก. นาน 2 เดือนครึ่ง พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับประทานโอลิโกนอล มีปริมาณไขมันในช่องท้องลดลงโดยเฉลี่ย 15% และยังพบว่าในอาสาสมัครที่อายุ 34 ปี ลดลง 30% ในขณะที่อาสาสมัครอายุ 25 ปี ลดลง 14.8% นอกจากนี้ไขมันใต้ผิวหนังก็ลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า โอลิโกนอลสามารถกระตุ้นความจำและลดการป่วยเป็นโรคความจำเสื่อมได้อีกด้วย

โครงสร้างสารโอลิโกนอล

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการใช้สารโอลิโกนอล ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สารสกัดชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ข้างผลิตภัณฑ์รวมถึงไม่ควรใช้เป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อีกทั้งเนื่องจากสารโอลิโกนอลเป็นสารใหม่ที่มีการใช้เมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการใช้ด้านต่างๆ มากกว่าปกติ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารดังกล่าว จนกว่าจะมีผลการศึกษาด้านความปลอดภัยอย่างแน่ชัดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 


เอกสารอ้างอิง โอลิโกนอล
  1. พิชานันท์ ลีแก้ว.“ลิ้นจี่” ผลไม้รสชาติดีและมีประโยชน์. บอกกล่าวเล่าเรื่องสมุนไพ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. ยุพารัตน์ โพธิเศษ, คมศักดิ์ พินธะ. สภาวะสารสกัดที่เหมาะสมและการทำแห้งสารสกัดเมล็ดลิ้นจี่. วารสารนเรศวรพะเยา วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 14. ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-กันยายน 2564. หน้า 105-115
  3. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 376 พ.ศ.2559 เรื่อง อาหารใหม่ (Novel food) ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2559
  4. Nishihira J, Sato-Ueshima M, Kitadate K, Wakame K, Fujii H. Amelioration of abdominal obesity by low-molecular-weight polyphenol (Oligonol) from lychee. J Functional Foods. 2009;(I): 341-348.
  5. Fujii H, Nishioka H, Wakame K, Magnuson BA, Roberts A. Acute, subchronic and genotoxicity studies conducted with oligonol, an oligomerized polyphenol formulated from lychee and green tea extracts. Food Chem Toxicol. 2008;46(12):3553-62.
  6. ทาคุยะซากุราอิ (มหาวิทยาลัย Kyorin ญี่ปุ่น) Biosci เทคโนโลยีชีวภาพ ชีวเคมี., 72(2), 463-476, 2008
  7. Park CH, Noh JS, Fujii H, Roh SS, Song YO, Choi JS, Chung HY, Yokazawa T. Oligonal, a low-molecular-weight polyphenol derived from lychee fruit, altenuates gluco-lipotoxicitymediated renal disorder in type 2 diabetiab/db mice. Drug Discov Ther. 2015; 9(1): 13-22.
  8. Shin YO, Lee JB, Song YJ, Min YK, Yang HM. Oligonol supplementation attenuates body temperature and the circulating levels of prostaglandin E2 and cyclooxygenase-2 after heat stress in humans. J Med Food. 2013;16(4):318-23.
  9. Choi YY, Maeda T, Fujii H, Yokazawa T, Hyun YK, Cho EJ, Shibamoto T. Oligonol improves memory and cognition under an amyloid β25-35-induced Alzheimer’s mouse model. Nutr Res. 2014; 34: 595-603.