สปิแลนทอล

สปิแลนทอล


ชื่อสามัญ Spilanthol, (2E, 6Z, 8E) –N- (2-methylpropyl) deca -2, 6, 8-trienamide

ประเภทและข้อแตกต่างสารสปิแลนทอล

สารสปิแลนทอล (spilanthol) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งคือ แอฟฟินิน (affinin) เป็นสารอัลคาไมด์ (alkamide) ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างกรดไขมันไม่อิ่มตัวกับส่วนของเอมีน (amine) และนับเป็นสารเคมีจากพืชอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความสนใจในการศึกษาเป็นอย่างมาก ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสารที่อยู่ในกลุ่ม โอลีฟินิค อัลคาไมด์ (olefinic alkamide) ชนิดเอ็น-ไอโซบิวทิลเอไมด์ (N-isobutylamide) มีสูตรโมเลกุล คือ C14 H23 NO มีน้ำหนักโมเลกุล 221.33 มีสมบัติทางเคมีเป็นของเหลว สีเหลืองจนถึงสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นเฉพาะตัว จุดเดือดอยู่ที่ 141-165 องศาเซลเซียส และมีจุดหลอมเหลวอยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส สามารถละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์แต่ไม่ละลายน้ำ ด่าง และกรด สำหรับประเภทของสารสปิแลนทอล นั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารสปิแลนทอล

สารสปิแลนทอล (spilanthol) จัดเป็นอีกสารหนึ่งที่สามารถพบได้ในธรรมชาติของไทย ได้แก่ ผักคราดหัวแหวน (Spilanthes acmella (L.) Murr.) รวมถึงพืชในต่างประเทศอีกหลายชนิด เช่น Spilanthes oleracea L., Heliopsis longipes (Gray) Blake, Spilanthes alba L. Herit และ Acmella oppositifolia (Lam.) Jansen เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการสกัดสารสปิแลนทอล มาใช้ประโยชน์กันย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปสารสกัดสปิแลนทอลชนิดน้ำ อีกด้วย

สารสปิแลนทอล

ปริมาณที่ควรได้รับสารสปิแลนทอล

สำหรับปริมาณ และขนาดของสารสปิแลนทอลที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้นปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้ เนื่องจากการใช้สารสปิแลนทอลนั้นจะเป็นการใช้มาเป็นส่วนผสมของยา และเครื่องสำอาง มากกว่าการนำมาใช้ประโยชน์โดยตรงในลักษณะสารเดี่ยว ดังนั้นขนาด และปริมาณ การใช้ยาและเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารสปิแลนทอล จึงขึ้นอยู่กับสูตรการผลิตของแต่ละบริษัทรวมถึงข้อกำหนดของสถาบันองค์กรอาหาร และยา ของแต่ละประเภทด้วย

ประโยชน์และโทษสารสปิแลนทอล

มีการนำสารสปิแลนทอล (Spilanthol) มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมสารเคมีควบคุมแมลง เป็นต้น โดยมีการนำสารสปิแลนทอลมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับก็บ่งชี้ว่าสารสปิแลนทอล สามารถลดการอักเสบและอาการปวดได้ดี รวมทั้งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่จึงมีการนำสารดังกล่าวมาใช้เป็นส่วนผสมในการลดอาการปวดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นและอาการปวดกล้ามเนื้อปวดศีรษะ และไข้รูมาติก โดยจะสามารถลดปวดได้เร็วและออกฤทธิ์อยู่ได้นาน เนื่องจากมีกลไกการลดความเจ็บปวดทั้งต่อ central pain และ peripheral nervous system ซึ่งการยับยั้ง central pain อาจจะเกิดจากลดการนำสัญญาณประสาทชนิด C-fiber ที่ dorsal horn ในไขสันหลัง ส่วนการยับยั้ง peripheral nervous system อาจเกิดจากหลายกลไก เช่น ลดปวดผ่านการยับยั้งเอ็นไซม์ cyclooxygenase (COX) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่สร้าง prostaglandins (PGS) ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งการอักเสบเป็นตัวการสำคัญของ peripheral sensitization ทำให้เกิดอาการปวดได้ และยังไปยับยั้งกระบวนการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับ lipooxygenase (LOX) และhistamine, serotonin, kinin ซึ่งจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังกล่าวจึงทำให้มีการนิยมนำสารชนิดนี้มาใช้เป็นยารักษาอาการปวดอักเสบ และยาชา รวมถึงนำมาใช้เป็นเครื่องสำอางที่ช่วยลดการอักเสบและช่วยต้านอนุมูลอิสระในปัจจุบัน

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารสปิแลนทอล

มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสปิแลนทอล ดังนี้

           มีการศึกษาการทดลองสกัดและศึกษาโครงสร้างของสารกลุ่มอัลคาไมด์ จากผักคราดหัวแหวน ด้วยวิธีโครมาโคกราฟีของเหลว-แมส สเปคโตร เมทรี (liquid chromatography-mass spectrometry) พบว่ามีสารในกลุ่มอัลคาไมด์ถึง 6 ชนิด ซึ่งมีชื่อและโครงสร้างต่างกัน และได้ทำการทดสอบรสชาติของสารประกอบทั้ง 6 ชนิด พบว่า สารประกอบชนิดที่ 1 (สปิแลนทอล) ให้รสเผ็ดร้อน (pungent taste) และให้ฤทธิ์ชาเฉพาะที่ (local anaesthesia) มากที่สุด

           มีการศึกษาในสัตว์ทดลองโดยฉีดน้ำคั้น สารสกัดด้วยน้ำความเข้มข้น 25% สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 95% ความเข้มข้น 10% จากลำต้นพร้อมใบและดอกผักคราดหัวแหวน (ซึ่งมีสาร Spilanthol เป็นองค์ประกอบสำคัญ) เข้าใต้ผิวหนังหนูตะเภา เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% ทดสอบความรู้สึกชาด้วยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น พบว่าน้ำคั้น สารสกัดด้วยน้ำ และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ทำให้หนูมีอาการชาทันที เช่นเดียวกับ lidocaine แต่ระยะเวลาการออกฤทธิ์สั้นกว่า เมื่อนำสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากส่วนเหนือดินความเข้มข้น 10% มาทดสอบกับเส้นประสาท siatic nerve ของกบ เปรียบเทียบกับ lidocaine 2% พบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ทำให้ชาได้เร็วกว่า lidocaine และเส้นประสาทที่ถูกทำให้ชาไปแล้วสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แสดงว่าสารสกัดไม่เป็นพิษต่อเซลล์ประสาท และเมื่อศึกษาดูผลของสารสกัดต่อการระคายเคืองเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกฉีดโดยใช้สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 10% ขนาด 0.1 มิลลิลิตร พบว่าภายใน 24 ชั่วโมง ไม่พบความผิดปกติของผิวหนังชั้นนอก แต่มีบวมเล็กน้อยใต้ผิวหนัง และมีการคั่งของหลอดเลือดฝอย มีการบวมและอักเสบ ในชั้นหนังแท้ (dermis) แต่ไม่พบเนื้อเยื่อตาย ความผิดปกติเหล่านี้หายไปเมื่อเวลาผ่านไป 7 วัน ในขณะที่ผิวหนังบริเวณที่ฉีด lidocaine 2% มีการบวมระหว่างเซลล์ และการคั่งของหลอดเลือดฝอยเช่นเดียวกับสารสกัด  และไม่พบความผิดปกติของเนื้อเยื่อหลังจากเวลาผ่านไป 7 วัน เช่นกัน

           ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ และยังมีการศึกษาทดลองทาสารสกัดด้วยเอทานอลจากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% ซึ่งมีสาร Spilanthol เป็นองค์ประกอบสำคัญบนปลายลิ้นของอาสาสมัครเปรียบเทียบกับยาชา lidocaine 10% แล้วกระตุ้นด้วยไฟฟ้า พบว่าสารสกัดออกฤทธิ์ทำให้ชาเร็วกว่าแต่มีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้นกว่า lidocaine ส่วนการทดสอบโดยการทาสารสกัดด้วยเอทานอล 95% จากผักคราดหัวแหวน ความเข้มข้น 10% ที่ในกระพุ้งแก้ม แล้วทดสอบอาการชาต่อเข็มจิ้มเทียบกับ lidocaine 10% พบว่าสารสกัดสามารถลดความเจ็บปวดจากเข็มจิ้มได้เทียบเท่ากับยาชา แต่มีการศึกษาในผู้ป่วยหญิง 200 คน โดยวางสำลีรองเฝือกที่หลังมือหรือแขนทั้ง 2 ข้าง ตรงที่จะแทงเข็มให้น้ำเกลือ โดยตำแหน่งตรงกันทั้ง 2 ข้าง ในคนเดียวกัน แล้วหยดแอลกอฮอล์ 70% ปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร บนสำลีข้างหนึ่ง และหยดสารสกัดจากผักคราดหัวแหวนปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร ลงบนสำลีรองเฝือกอีกข้างหนึ่ง แล้วจึงใช้เข็มเบอร์ 18 แทงตรงตำแหน่งที่ทายาไว้ข้างละเข็มเมื่อประเมินผลการระงับความเจ็บปวด พบว่า สารสกัดไม่สามารถระงับความเจ็บปวดจากการแทงเข็มให้น้ำเกลือได้ ซึ่งไม่แตกต่างจากการทาแอลกอฮอล์ 70% ทั้งนี้คาดว่าเนื่องจากสารสกัดไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้  แตกต่างกับเนื้อเยื่อบุผิวที่สารสกัดซึมผ่านได้ง่าย

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า สารสกัดด้วยเอทิลอะซีเตตจากผักคราดหัวแหวนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วนสารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มก็มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์แมคโครฟาจสายพันธุ์ RAW 264.7 ที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide โดยพบว่าสารสำคัญคือ spilanthol ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบคือ nitric oxide synthase และ cyclooxygenase -2 (COX-2) และยังมีการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดอาการปวดของสารสกัดผักคราดหัวแหวนที่สกัดด้วยน้ำ (ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ Spilanthol) โดยให้สัตว์ทดลองรับประทานขนาด 100, 200 และ 400 mg/kg และนำมาทดสอบโดยวิธี carrageenan-induced paw edema, acetic induced writhing response และ tail flick จากการทดสอบด้วย carrageenan-induced paw edema พบว่า สารสกัดขนาด 100, 200 และ 400 mg/kg มีฤทธิ์ลดการอักเสบได้ 52.6%, 54.4% และ 56.1% ตามลำดับเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p<0.01) และจากการทดสอบ acetic induced writhing test พบว่าสามารถลดอาการปวดได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p<0.01) รวมทั้งการทดลอง tail flick พบว่าสารสกัดผักคราดหัวแหวนสามารถลดอาการปวดได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p<0.05) แบบ dose dependent ในนาทีที่ 30 และ ชั่วโมงที่ 1, 2, 3 และ 4 หลังจากได้รับสารสกัดและมีฤทธิ์ลดปวดใกล้เคียงกับ pethidine จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่ากลไกที่สามารถต้านการอักเสบ เนื่องจากไปลดการสร้างสาร histamine, serotonin และ kinin ในช่วงแรกและในช่วงท้ายอาจจะเกิดจากการไปยับยั้งการหลั่ง prostaglandin รวมทั้งสารอื่นในผักคราดหัวแหวนยังมีกลไกการลดปวดโดยไปเพิ่ม pain threshold อีกด้วย อีกทั้งยังมีการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งความเจ็บปวดด้วยวิธี  acetic induce writhing test โดยให้สัตว์ทดลองรับประทานสารสกัดใบผักคราดหัวแหวนที่สกัดด้วย ethanol 80 % ขนาด 250 และ 500 mg/kg (ซึ่งมีสารสำคัญ คือ spilanthol) พบว่าสารสกัดผักคราดหัวแหวนทั้งสองขนาดสามารถลดอาการปวดได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม นอกจากนี้พบว่าสารสกัดขนาด 500 mg/kg  สามารถลดอาการปวดได้ใกล้เคียงกับ diclofenac เพราะสารสกัดผักคราดหัวแหวนไปลดอาการปวดได้ในช่วงแรกประมาณ 1-5 นาที เนื่องจากลดการนำสัญญาณประสาทชนิด C- fiber และสามารถลดอาการปวดได้ในช่วงกลางประมาณ 10 นาที จากการไปยับยั้ง cyclocxygenase และ lipooxygenase ทำให้ลดกระบวนการอักเสบในเนื้อเยื่อ รวมทั้งสามารถลดอาการปวดช่วงปลายประมาณ 20 นาที ขึ้นไปเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เนื้อเยื่อและการทำงานที่ dorsal horn ในไขสันหลัง

           ฤทธิ์ฆ่าแมลง มีการศึกษาฤทธิ์ฆ่าแมลงของสารสปิแลนทอลโดยได้ทำการศึกษากับแมลง Prodenia litura. Fab. แมลง Dactynotus carthami H.R.L. แมลงสาบ Perilaneta Americana L. และตัวอ่อนของยุง Culex quinquefasciatus ซึ่งผลการศึกษาพบว่าสปิแลนทอล ให้ฤทธิ์ที่ดีมากในการฆ่าตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของแมลงที่ทำการศึกษา ส่วนการศึกษาฤทธิ์ของสปิแลนทอลต่อหอยทากน้ำจืด Physaoccidentalis พบว่าสปิแลนทอลมีฤทธิ์ในการฆ่าหอยทากน้ำจืดได้ โดยมีค่า LD50 อยู่ที่ 100 μM

สารสปิแลนทอล

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าจะมีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารสปิแลนทอล ที่ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามการใช้สารสปิแลนทอลทั้งในรูปแบบยาต่างๆ รวมถึงเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ นั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สารสกัดชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ไม่ควรใช้สารดังกล่าวเพราะยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยในกลุ่มบุคคลดังกล่าว ส่วนผู้ที่ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนใช้สารสปิแลนทอลและผลิตภัณฑ์ที่มีสปิแลนทอลเป็นส่วนประกอบควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เสมอ


เอกสารอ้างอิง สปิแลนทอล
  1. ผักคราดหัวแหวน. ฐานข้อมูลสมุนไพร สาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. จุฬาภรณ์ กังสมัครศิลป์ และ ดวงดาว เตจ๊ะ. (2541) “การพัฒนาตำรับเจลยาชาเฉพาะที่จากผักคราดหัวแหวน” รายงานวิชาปัญหาพิเศษปริญญานิพนธ์เภสัชศาสตร์บัณฑิต” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  3. ภานิชา พงศ์นราทร. การทบทวนวรรณกรรมการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของผักคราดหัวแหวนในการระงับการอักเสบและอาการปวดของกล้ามเนื้อ. ศรีนครินทร์เวชสาร ปีที่ 31. ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-สิงหาคม 2559. หน้า 245-249
  4. เชวงเกียรติ แสงศิรินาวิน บุญสม วรรณวีรกุล พนัก เฉลิมแสนยากร. ฤทธิ์ชาเฉพาะที่ ของผักคราดหัวแหวน. รวบรวมผลงานวิจัย โครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิก (2525-2536), 2536:91-9. 
  5. อําไพ พฤติวรพงศ์กุล, เอื้อพร ไชยวรรณ, สุวรรณา เวชอภิกุล, วัชรีเนติสิงหะ สุนีย์จันทร์สกาว. อัลคาไมด์ที่มีฤทธ์ชาและน้ำมันจากผักคราดหัวแหวน. J Health Res 2008;22(2):97-9.
  6. Chakraborty A, Devi BRK, Rita S, Sharatchandra K, Singh TI. Preliminary studies on anti-inflammatory and analgesic activities of Spilanthesacmella Murr. in experimental animal models. Indian J Pharmacol 2004; 36: 148-50.
  7. Nagashima, M., Nakatani, N. (1992). LC-MS analysis and structure determination of pungent alkamindes from Spilanthes acmella L. flowers. Lebenism.-wiss.u-Technol., 25: 417-421.
  8. Hossain H, Shahid-Ud-Daula AFM, Jahan IA, Nimmi I, Hasan K, Haq MH. Evaluation of antinociceptive and antioxidant potential from the leaves of Spilanthespaniculata growing in Bangladesh, Int J Pharm Phytopharmacol Res 2012; 1: 178-86.
  9. John, T., Graham, K., Towers, G.H.N. (1982). Molluscidal activity of affinin and other isobutylamides from the asteraceae. Phytochemistry, 21(11) : 2737-2738.
  10. Dalal A, Tata M, Allegre G, Gekiere F, Bons N, Albe-Fessard D. Spontaneous activity of rat  Dorsalhron cells in spinal segments of sciatic projection following transaction of sciatic nerve or of corresponding dorsal roots. Neurosci 1999; 94: 217-28.
  11. Cristensen, L.P., Lam, J. (1991). Acetylenes and related compounds in Heliantheae. Phytochemistry, 30 (1) : 11-49.
  12. Biplab Kumar Das, Kaysar Ahmed, Azim Uddin, RajibBhattacharjee, Md. MamunAlamin, Antinociceptive activity of methanol extract of Spilanthespaniculata Linn. Turk J Pharm Sci 2014; 11: 137-44.
  13. Ramsewak, R.S., Erickson, A.J., A.J., Nair, M.G. (1999). Bioactive N-isobutylamides from the flower buds of Spilanthes acmella. Phytochemistry, 51 : 729-732.
  14.     Saengsirinavin C, Saengsirinavin S. Topical anesthetic activity of Spilanthes acmella extract in reducing injection pain. Ann Res Abstr, Bangkok: Mahidol University, 1988;15:26.
  15. Greger, H. (1984). Alkamides : structueral relationships, distribution and biological activity. Planta Medica, 50(5) : 366-375.
  16. Chakraborty A, Devi BRK, Rita S, Sharatchandra K, Singh TI. Preliminary studies on anti-inflammatory and analgesic activities of Spilanthesacmella Murr. in experimental animal models. Indian J Pharmacol 2004; 36: 148-50.
  17. Deshmukh, S.D., Borle, M.N. (1975). Studies on the insecticidal properties of indigenous plant products. Indian. J. Ent., 37(1) : 11-18.
  18. Saengsirinavin C, Nimmanon V. Evaluation of topical anesthetic action of Spilanthes acmella on human tounge. Ann Res Abstr, Bangkok: Mahidol University, 1988;15:25.
  19. Dickenson AH, Sillivan AF, Suncutaneous formalin-induced activity of dorsal horn neurons in  the rat: differential response to an intrathecal opiate administered pre or post formalin. Pain  1987; 30: 349-60.