บาโคไซด์

บาโคไซด์

ชื่อสามัญ Bacoside

ประเภทและข้อแตกต่างของสารบาโคไซด์

สารบาโคไซด์กลุ่มของเป็นสารที่สกัดได้จากธรรมชาติโดยเป็นสารที่จัดอยู่ในกลุ่ม tritepenoid saponin ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่มีฤทธิ์ต่อระบบการทำงานของสมอง รวมถึงระบบประสาทของสมอง สำหรับประเภทของสารในกลุ่มบาโคไซด์ นั้นสามารถจำแนกออกได้อีกหลายชนิดตามองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ และการแยกลักษณะโดยใช้เทคนิกสเปกตรัม (spectral techniques) จากสารสกัดจากแอลกฮอล์  อาทิ เช่น bacoside A (C41H68O13), bacoside A1 (A40H64O12), bacoside A2 (C46H74O17), bacoside A3 (C47H76O18), bacoside B (C41H68O13) และ bacoside C เป็นต้น โดยชนิดที่มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต่อระบบประสานมากที่สุดได้แก่ bacoside A, bacoside A3, bacoside B

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารบาโคไซด์

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าสารบาโคไซด์ เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติโดยแหล่ที่พบสารดังกล่าว คือ ส่วนต่างๆ ของพรมมิ (Bacopa monnieri Wettst.) ซึ่งเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในตำรายาไทย รวมถึงตำรายาอายุรเวทของอินเดียมาอย่างยาวนาน และมีผลการวิจัยทางด้านชีวภาพพรมมิพบว่าเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ที่น่าสนใจอยู่หลายด้านด้วยกัน เช่น ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง ฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ฤทธิ์ต้านการอักเสบรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยส่งเสริมการทำงานของหัวใจ (cardiotonic) ฤทธิ์ขยายหลอดลม ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

บาโคไซด์

ปริมาณที่ควรได้รับสารบาโคไซด์

สำหรับปริมาณของสารบาโคไซด์ ที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันนั้นในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การบริโภคอย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ก็รายงานการศึกษาวิจัยถึงขนาดการบริโภคอยู่หลายฉบับดังนี้

           มีการศึกษาวิจัยถึงผลของการรับประทานสารสกัดพรมมิ ในอาสาสมัครที่มีภาวะสูญเสียความจำ เนื่องจากอายุมาก (อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป) โดยให้อาสาสมัครรับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิขนาดวันละ 300-450 มก. ซึ่งในสารสกัดจะประกอบด้วย  bacosides อย่างน้อย 40% พบว่า อาสาสมัครมีทักษะในการเรียนรู้เกี่ยวกับการทดสอบความจำดีขึ้น และอีกการศึกษาหนึ่งมีการให้เด็กสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) รับประทานสารสกัดพรมมิ ขนาด 50 มก. ซึ่งจะประกอบด้วย bacosides 20% วันละ 2 ครั้ง มีผลช่วยให้เด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญส่วนการศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดพรมมิ ในอาสาสมัครสุขภาพดี ที่ได้รับสารสกัดพรมมิ ขนาด 300 มก./วัน ติดต่อ 15 วัน และตามด้วยขนาด 450 มก./วัน อีก 15 วันไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด แต่ในบางรายมีอาการคลื่นไส้และระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้และนอกจากนี้ในส่วนของบาโคไซด์ ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชื่อที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ยังระบุถึงขนาดและปริมาณในการใช้ดังนี้ อนุญาตให้ใช้ทุกส่วนของพรมมิมาทำการสกัดโดยวิธีบดผง สกัดด้วยน้ำและเอทานอล โดยให้มีขนาดอาการใช้ในกรณีบดผง คือ ไม่เกิน 800 มิลลิกรัม/วัน ส่วนสารสกัดให้ใช้ไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน

ประโยชน์และโทษของสารบาโคไซด์

สารบาโคไซด์โดยเฉพาะ bacoside A, bacoside B และ bacoside A3 เป็นสารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญ คือ ที่มีผลต่อระบบ ประสาทส่วนกลาง (neuropharmacological activity)  โดยมีรายงานว่าสาร bacoside ที่พบใน พรมมิมีสรรพคุณช่วยในการเรียนรู้และการจดจำ (cognition and memory functions) และมีบทบาทสำคัญในการลดความผิดปกติทางสมองที่มีผลทำให้ เกิดอาการชัก (convulsive disorders) และยังสามารถลดอาการวิตกกังวลลงได้ (anxiolytic effect) ได้ และยังสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ได้อีกด้วย ซึ่งสารหลักที่ออกฤทธิ์เพิ่มความจำที่มีปริมาณมากที่สุดเรียกว่า Bacoside A ที่ประกอบด้วย Bacoside A, Bacopaside ll, Bacopasaponin C และ Bacopaside   

           นอกจากนี้สารบาโคไซด์ A และ B ยังมีฤทธิ์เพิ่มการส่งสารสื่อประสาท การสร้างสารสื่อประสาท ต้านการสันดาปที่เกิดกับเซลล์ประสาท ปกป้องสมองจาก อนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดภาวะความจำเสื่อม ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะเข้าไปยับยั้งอะซิทิลโคลีนเอสเตอเรส (Acetylcholinesterase: AchE) ซึ่งเป็นสารที่ทำลายสารสื่อประสาท และหากในร่างกายมี AchE มากสารตัวนี้ก็จะทำลายสารเคมีที่สื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทไม่สามารถติดต่อกันได้จึงขาดข้อมูล พบว่า ผู้ที่มีอาการหลงลืม ความจำไม่ดี ผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ คนชรา ผู้ป่วย จะมี AchE มาก

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารบาโคไซด์

มีผลการศึกษาวิจัยของสารบาโคไซด์ เกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ หลายฉบับดังนี้ 

           ฤทธิ์ของสาร bacoside-A ต่อ GABA receptor และความจำของหนูที่มีภาวะชัก มีผลการศึกษาฤทธิ์ของผงแห้งของพรมมิซึ่งประกอบด้วยใบ ราก และลำต้นแห้ง สาร bacoside-A ซึ่งเป็นสารสำคัญที่แยกได้จากสารสกัดน้ำจากส่วนทั้งต้นของพรมมิ ในหนูแรทเพศผู้ ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการชักด้วยการฉีด pilocarpine ขนาด 350 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. เข้าทางช่องท้อง โดยแบ่งหนูเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการชัก กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการชักและได้รับผงแห้งของพรมมิ (150, 300 และ 500 มก. ของพืชสด/น้ำหนักตัว 1 กก.) กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการชักและได้รับสาร bacoside-A (75, 150 และ 300 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.) และกลุ่มที่ 5 เป็นกลุ่มที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการชักและได้รับยากันชัก carbamazepine (75, 150 และ 300 มก./น้ำหนักตัว 1 กก.) ทำการทดสอบเป็นเวลา 15 วัน พบว่าพรมมิและสาร bacoside-A ช่วยยับยั้งการลดลงของ GABAA receptor subunits เช่น GABAAα1, GABAAα5 และ GABAAδ ในสมองส่วนสเตรียตัม (striatum) การตรวจ performance ด้วย Y-maze พบว่า performance ที่ผิดปกติของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการชัก รักษาได้ด้วยพรมมิและสาร bacoside-A ทำให้ความผิดปกติของหนูลดลง และมีภาวะความใกล้เคียงกับหนูในกลุ่มควบคุม

          มีการศึกษาผลกึ่งเรื้อรัง (Subchronic) ของสารสกัดพรมมิต่อความสามารถในการเรียนรู้และความจำในหนูแรท ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์โดยการฉีดสาร colchicines  เข้าทางโพรงสมอง (i.c.v.) และกระตุ้นให้เกิดการบาดเจ็บของสมองส่วน nucleus basalis magnocellularis ด้วย การฉีดสาร ibotenic acid พบว่าการป้อนสารสกัดมาตรฐานจากพรมมิ ที่มีสาร bacoside A ประกอบอยู่ 82.0 ± 0.5%  ให้แก่หนูแรทขนาด 5 และ 10 มก./กก. น้ำหนักตัว นาน 14 วัน พบว่ามีผลช่วยลดการสูญเสียความจำ ป้องกันการลดลงของ Ach และระดับ muscarinic cholinergic receptor ที่เป็นตัวรับ Ach ในสมองบริเวณเนื้อสมองชั้นนอกของสมองส่วนหน้า (frontal cortex) และ hippocampus โดยพบว่าการป้อนที่ขนาด 10 มก./กก. น้ำหนักตัว จะเห็นผลชัดเจนทั้งในวันที่ 7 และ 14 ของการศึกษา ส่วนการป้อนที่ขนาด 5 มก./กก. น้ำหนักตัว จะเห็นผลในวันที่ 14 ของการศึกษา 

           และยังมีผลการศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ และการจดจำของหนูตะเภา (rat) ปกติ ที่ได้รับพรมมิและสารสกัดแอลกอฮอล์จากพรมมิ พบว่า มีผลเพิ่มการเรียนรู้และการจดจำได้เป็นอย่างดี (Y-maze test และ passive avoidance test) เมื่อเทียบกับหนูตะเภาที่ไม่ได้รับพรมมิและสารสกัดแอลกฮอล์จากพรมมิ ต่อมามีการค้นพบว่า สารที่ออกฤทธิ์เพิ่มการเรียนรู้ (cognition-facilitating effect) ในพรมมิ คือสาร bacosides A และ B ซึ่งเป็นสารที่จัดอยู่ในกลุ่ม saponins จึงมีการนำสารทั้ง 2 ชนิด นี้ในขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ฉีดเข้าทางหน้าท้องหนู พบว่าสามารถเสริมสร้างการเรียนรู้และการจดจำในหนูตะเภาปกติ ที่ทำให้เกิดความจำเสื่องชั่วคราว (amnesic effect) ด้วยสาร scopolamine, electroshock immobilization stress ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ tentioxidant มีรายงานวิจัยโดยการใช้สาร bacoside A ขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน ทางหน้าท้องหนูตะเภาที่ได้รับควันบุหรี่เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่า การต้านอนุมูลอิสระของสาร bacoside A  เกิดจากสาร bacoside A ไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในการขจัดอนุมูลอิสระ เช่น superoxide dismutase (SOD) catalase (CAT) glutathione peroxidase (GPX) และ glutathione reductase (GR) ในสมองหนูตะเภาได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) 

           ผลของสารสกัดพรมมิต่อภาวะดื้อมอร์ฟีน การทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด n-Butanol (n Bt-ext BM) จากส่วนเหนือดินของต้นพรมมิ (Bacopa monnieri ) ซึ่งประกอบด้วยสารสำคัญ Bacopaside A, Bacoside A3, Bacopaside ll และ Bacosaponin C ในหนูเม้าส์ที่ทำให้เกิดภาวะปวดด้วยแผ่นให้ความร้อน (Hot Plate method) โดยแบ่งเป็น การทดสอบฤทธิ์บรรเทาอาการปวดของ n Bt-ext BM โดยฉีด n Bt-ext BM เข้าทางช่องท้องหนูในขนาด 5, 10 และ 15 มก./กก. การทดสอบผลต่อฤทธิ์บรรเทาปวดของมอร์ฟีนร่วมกับ n Bt-ext BM โดยฉีด n Bt-ext BM เข้าทางช่องท้องหนูในขนาด 5, 10 และ 15 มก./กก. ร่วมกับการฉีดมอร์ฟีนขนาด 10 มก./กก. การทดสอบผลของ n Bt-ext BM ต่อภาวะดื้อมอร์ฟีน (หนูจะถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะดื้อมอร์ฟีนด้วยการฉีดมอร์ฟีนเข้าทางช่องท้องในขนาด 20 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5) โดยฉีด n Bt-ext BM เข้าทางช่องท้องหนูในขนาด 5, 10 และ 15 มก./กก. ร่วมกับการฉีดมอร์ฟีนขนาด 10 มก./กก. ทั้งแบบครั้งเดียว (acute) และแบบต่อเนื่อง (chronic) 6 วัน และการทดสอบการดื้อสารสกัดพรมมิโดยฉีด n Bt-ext BM ในขนาด 15 มก./กก. เป็นเวลา 7 วัน จากผลการทดลองทั้งหมดพบว่า n Bt-ext BM ทุกขนาดมีฤทธิ์บรรเทาปวด และการให้ n Bt-ext BM ร่วมกับมอร์ฟีนจะช่วยเสริมฤทธิ์ในการบรรเทาปวดให้มากขึ้น การให้ n Bt-ext BM ทั้งแบบครั้งเดียวและแบบต่อเนื่อง สามารถลดการแสดงออกและช่วยยับยั้งการเกิดภาวะดื้อมอร์ฟีนในหนูได้ นอกจากนี้พรมมิยังช่วยเสริมฤทธิ์บรรเทาปวดของมอร์ฟีนในหนูที่มีภาวะดื้อยามอร์ฟีนด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่พบการเกิดภาวะดื้อสารสกัดพรมมิเมื่อให้สารดังกล่าวในขนาด 15 มก./กก. เป็นเวลา 7 วัน

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยถึงผลการศึกษาความปลอดภัยในการใช้สาร bacosides ที่สกัดแยกได้จากพรมมิ ในขนาด 1.00 มิลลิกรัม และ 200 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดยาที่ให้ผลทางด้านเภสัชวิทยาในอาสาสมัครเพศชายที่สุขภาพดี พบว่าม่มีความเป็นพิษใดๆ ทั้งทางด้านโลหิตวิทยา (haematological) และชีวเคมี ( biochemical laboratory investigations) และไม่พบปฏิกิริยาอันไม่พึงประสงค์และผลข้างเคียงใดๆ

โคสร้างบาโดไซด์

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาสารบาโคไซด์ ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายๆ ด้านและในผลการศึกษาทางพิษวิทยา ก็ระบุว่าสารดังกล่าวไม่มีความเป็นพิษแต่อย่างใด แต่ในการใช้สารบาโคไซด์ก็ยังควรระมัดระวังในการใช้ เช่น เดียวกันกับการใช้สารสกัดชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่เหมาะสม ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนใช้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง บาโคไซด์

⦁ชาญชัย สาดแสงจันทร์.พรมมิสมุนไพร เพื่อสุขภาพสมอง.ธรรมศาสตร์เวชสารปีที่ 13. ฉบับที่ 3 เมษายน 2555.หน้า 554-560.

⦁พิชานันท์ ลีแก้ว.”พรมมิ” สมุนไพรรักษาอาการความจำเสื่อม.จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 29.ฉบับที่ 3 เมษายน 2555.หน้า 16-19

⦁ผลของพรมมิและสาร bacogide-A ต่อ GABA receptor และความจำของหนูที่มีภาวะชัก.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.

⦁เริงฤทธิ์ สัปปพันธ์. คู่มืออาหารเสริม. กรุงเทพฯ: เอ็มไอเอส; 2556.

⦁ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560

⦁ผลของสารสกัดพรมมิต่อภาวะดื้อมอร์ฟีน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสุมนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

⦁Falcao HS, Mariath IR. Diniz MF. Batista LM.Barbosa-Filho JM. Plants of the American continent with antiulcer activity. Phytomedicine 2008;15-132-46.

⦁Bhattacharya SK, Kumar A, Ghosal S. Effect of Bacopa monniera on animal models of Aizheimer’s disease and perturbed central cholinergic markers of cognition in rats. Research communication in pharmacology and toxicology 1999;4(3&4): ll/1-ll/12.

⦁Joshua Allan J, Demodaran A, Damodaran A, Deshmukh NS, Goudar KS, Amit A, Safety  evaluation of a standardized phytochemical extracted from Bacopa monnieri in Sprague-Dewley rats. Food Chem Toxicol 2007;45:1928-37.  

⦁Nemetchek, M. D., Stierle, A. A., Stierle, D. B., & Lurie, D. I. (2017). The Ayurvedic plant Bacopa monnieri inhibits inflammatory pathways in the brain. Journal of ethnopharmacology, 197, 92-100.

⦁Kamkaew N, Schlofeld CN, lngkanninan K Maneesai P, Pakington HC, Marianne Tare M, et al. Bacopa monnieri and its constrtuents is hypotensive in anaesthetized rats and vasodilator in various artery types. J Ethnopharmacol 2011;137:790-5. 

⦁Deepak BM,Amit A. The need for establishing identities of bacoside A and B . The putative major bioactive saponins of Indian medicinal plant Bacopa monnieri Phytomedicine 2004;11(2-3):264-8.

⦁Aribarsi K. Vari G. Balakrishna K Devi CS Effect of bacoside A on brain antioxidant status in cigarette smoke exposed rats Life Sci 2006;78:1378-84.

⦁Nuengchamnong, N., Sookying, S., & Ingkaninan, K. (2016). LC-ESI-QTOF-MS based screening and identification of isomeric jujubogenin and pseudojujubogenin aglycones in Bacopa monnieri extract. Journal of pharmaceutical and biomedical analysis, 129, 121-134.

⦁Chaturvedi RK, Flint Beal M Mitochondrial diseases of the brain Free Radic Biol Med 2013;63:1-29.

⦁Mathew J Peeyush Kumar T Khan RS Paulose CS. Behavioral deficit and decreased GABA receptor functional regulation monnieri and bacoside A Epilepsy Behav 2010;17:441-7.