โมโกรไซด์

โมโกรไซด์

ชื่อสามัญ Mogroside

ประเภทและข้อแตกต่างของสารโมโกรไซด์

โมโกรไซด์ (Mogrisides) เป็นสารที่ให้รสหวานตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม ไตรเตอร์ปีน ไกลโคไซด์ (Triterpene Glycosides) เป็นสารที่มีรสชาติหวานมาก (หวานกว่าน้ำตาลซูโครสประมาณ 150-300 เท่า) แต่ให้พลังงานต่ำและยังไม่มีผลกระทบต่อระดับอินซูลินในกระแสเลือด

            สำหรับลักษณะของสารโมโกรไซด์ ที่ผ่านการสกัดมาแล้วนั้นจะมีลักษณะเป็นผงสีเหลือง และสีขาว สามารถละลายน้ำได้เป็นอย่างดี ส่วนประเภทของโมโครไซด์นั้น พบว่ามีอยู่หลายประเภทอาทิเช่น Mogrol, โมโกรไซด์ IA1,โมโกรไซด์ IIE, โมโกรไซด์ IV, Mogroside V , โมโกรไซด์ VI โดยความแตกต่างกันนั้นจะเกิดจากการเจริญเติบโตของพืชผลไม้ที่เป็นแหล่งของสารโมโกรไซด์ กล่าวคือ ในขณะที่ผลไม้ที่ยังไม่สุกนั้น โมโกรไซด์จะเป็น mogrosides IA1 และ IIE ซึ่งมีรสขม และในระหว่างกระบวนการทำให้สุก จะได้รับไกลโคไซเลชั่น อย่างต่อเนื่องและเมื่อผลสุก mogrosides IA1 และ IIE จะถูกเปลี่ยนเป็นโมเลกุล mogroside IV และ V ซึ่งเป็นสารโมโกรไซด์ ที่มีรสหวานมาก และเป็น mogroside ที่นิยมใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารโมโกรไซด์

สำหรับแหล่งของโมโกรไซด์ที่สำคัญ คือ หล่องฮั่งก๊วย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการกัดสารโมโกรไซด์ โดยเริ่มจากนำผลหล่อฮั่งก๊วย ที่แห้งมาบดให้มีขนาดเล็ก จากนั้นทำการสกัดด้วยตัวทำละลาย แล้วนำเข้าเครื่องอบด้วยความร้อน แล้วจึงนำบรรจุแบบสุญญากาศ ก็จะได้สารสกัด mogroside ที่มีลักษณะเป็นผงสีขาว หรือ เหลือง ละลายน้ำได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการพบสารโมโกรไซด์ในพืชเถาอีกหลายชนิด เช่น มะระ เป็นต้น

สารโมโกรไซด์

ปริมาณที่ควรได้รับจากสารโมโกรไซด์

สำหรับขนาด และปริมาณของไมโกรไซด์ ที่ควรได้รับในแต่ละวันนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ หรือ ขนาดในการใช้อย่างแน่ชัดแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้สารโมโกรไซด์ก็ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) เมื่อปี พ.ศ.2553 ว่าสามารถใช้เป็นสารให้ความหวานได้อย่างปลอดภัย และยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงจากการใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ หรือ ในหญิงให้นมบุตร

ประโยชน์และโทษจากสารโมโกรไซด์

ในการนำสารโมโกรไซด์มาใช้ประโยชน์นั้น ปัจจุบันนิยมใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเช่นเดียวกับหญ้าหวาน ที่ให้พลังงานต่ำ และไม่มีผลต่อสารอินซูลินในเลือด แต่จะดีกว่าตรงที่มีกลิ่นที่หอมเหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน หรือ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก

            นอกจากนี้ยังนิยมนำมาใช้เป็นสารเพิ่มความหวานในอาหารและเครื่องดื่มในอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ อีกด้วย โดยจากการศึกษาพบว่าในปัจจุบันราคาของสารสกัดโมโกรไซด์ อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000 บาท เลยทีเดียว

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารโมโกรไซด์

มีผลการศึกษาวิจัยของโมโกรไซด์เกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายฉบับดังนี้

            มีรายงานการวิจัยฉบับหนึ่งพบว่าสาร mogrosides กระตุ้นการหลั่งอินซูลินของเบต้าเซลล์ในตับอ่อนและทำให้อินซูลินทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อทำการศึกษาในหลอดทดลอง

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร mogrosides ซึ่งสกัดได้จากหล่อฮั่งก๊วย แบบในหลอดทดลอง (in vitro) ในเซลล์แมคโครฟาจน์ RAW 264.7 ซึ่งถูกกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบด้วยการเติม Lipopolysaccharides (LPS) แล้วจึงเติมสารสกัด mogrosides เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งการเกิดกระบวนการอักเสบของหล่อฮั่งก๊วย และในเซลล์เนื้อเยื่อจากใบหนูของหนูเมาส์โดยทำการฉีดสารสกัด mogrosides เข้าที่ใบหูหนูก่อนกระตุ้นให้เกิดอาการบวมและอักเสบด้วยการฉีด 12-o-tetradecanoylophorbol-13-acetate (TPA) จากนั้นวัดการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดกระบวนการอักเสบด้วยวิธี RT-qPCR (Reverse transcription real-time polymerase chain reaction) และวิธี ELISA (Enzyme-linked immunosorbent assay) ผลการทดสอบพบว่าสารสกัด mogrosides มีผลลดระดับการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดกระบวนการอักเสบได้แก่ nitric oxide synthase (iNOS) cyclooxygenase-2 (COX-2) และ interleukine-6 (IL-6) นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มการแสดงออกของยีนส์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการป้องกันการอักเสบได้แก่ poly ADP-ribose polymerase family number 1 (PARP1), BCL2-like 1 (BCL2l1) transformation-related protein 53/p53 (TRP53), mitogen-activated protein kinase 9 (MAPK9) และ peroxisome proliferator activator receptor δ (PPAR δ) ซึ่งผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสารสกัด mogrosides จากหล่อฮั่งก๊วยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้

           ฤทธิ์ต้านเบาหวาน มีการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ต้านเบาหวานของสาร cucurbitane glycosides ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม mogrosides ที่แยกได้จากผลหล่อฮั่งก๊วย (Siraitia grosvenori) จำนวน 18 ชนิด ในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์มะเร็งตับของมนุษย์ (HepG2 cells) และเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน metformin พบว่าสารทุกตัวมีฤทธิ์ทำให้การเก็บกลูโคสเข้าสู่เซลล์ (glucose uptake) เพิ่มขึ้น โดยมีประสิทธิภาพสูงสุดที่ความเข้มข้น 1 μmol/L ซึ่งผลดังกล่าวเทียบเท่าหรือดีกว่ายา metformin ที่ความเข้มข้นเดียวกัน

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความเป็นพิษของโมโกรไซด์ พบว่าการรับประทานสารโมโกรไซด์ที่สกัดจากหล่อฮั่งก๊วยในรูปแบบของเครื่องดื่ม และอาหารมีความปลอดภัยสูง เช่นเดียวกับสาร mogrosides ซึ่งมีความเป็นพิษต่ำมาก ในการทดลองกับหนูเม้าส์โดยการให้เข้าทางกระเพาะอาหารพบค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 10 ก./กก. ส่วนผลการทดสอบการกลายพันธ์แบบย้อนกลับของ mogrosides พบว่าผลเป็นลบซึ่งบ่งชี้ว่าไม่มีการกลายพันธุ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

โครงสร้างสารโมโกรไซด์

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่ระบุว่าสารโมโกรไซด์มีผลดีในด้านต่างๆ ต่อสุขภาพ อีกทั้งยังมีการศึกษาความเป็นพิษที่ระบุว่าไม่มีพิษ หรือ มีพิษน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามในการใช้สารโมโกรไซด์ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สารสกัดชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ในระยะยาวได้ นอกจากนี้ควรระมัดระวังการบริโภคหล่อฮังก๊วยในผู้ที่ตับอ่อนทำงานผิดปกติ หรือทำงานหนักมากเกินไป เพราะหากรับประทานโมโกรไซด์ในปริมาณมาก ร่างกายสร้างอินซูลินมากเกินความต้องการ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง และอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะ หรืออาจเป็นลมหมดสติได้ ควรระมัดระวังการบริโภคหล่อฮังก๊วยในผู้ที่ตับอ่อนทำงานผิดปกติ หรือ ทำงานหนักมากเกินไป เพราะหากรับประทานโมโกรไซด์ ในปริมาณมาก ร่างกายอาจจะสร้างอินซูลินมากเกินความต้องการ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง และอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรืออาจเป็นลมหมดสติได้

เอกสารอ้างอิง โมโกรไซด์
  1. ฤทธิ์ต้านการอักเสบของหล่อฮั่งก๊วย (Momordica grosvenori).ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. วรรณดล เชื้อมงคล.สารให้ความหวาน:การใช้และความปลอดภัย.วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพปีที่ 3.ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2551.หน้า 161-168
  3. ฤทธิ์ต้านเบาหวานของสาระสำคัญจากหล่อฮั่งก๊วย.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. เครือวัลย์ พรมลักษณ์.Monk fruit (ผลหล่อฮังก๊วย) ทางเลือกใหม่ของสารให้ความหวานจากธรรมชาติ.ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
  5. นิศารัตน์ สุขเอม และ ปรัศนี ทับใบแย้ม.(2556).การใช้หล่อฮั้งก๊วยแทนน้ำตาลมะพร้าวในผลิตภัณฑ์วุ้นน้ำนมข้าวยาคู.รายงานวิจัย.คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคงพระนคร.
  6. หล่อฮั่งก๊วย.กระดาษถาม-ตอบ (ออนไลน์) .สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.เข้าถึงได้จาก http://www.wedplant.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=762
  7. Su X, Xu Q, Liang R, Tang Z, Wei Y. Experiments studies on the non-toxicity action of mogrosides. Shipin Kexue. 2005;26(3):221-4.
  8. Zhou Y, Zheng Y, Ebersole J, Huang CF. Insulin secretion stimulating effects of mogroside V and fruit extract of luo han kuo (Siraitia grosvenori Swingle) fruit extract. Yao Xue Xue Bao. 2009;44(11):1252-7.